วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 03, 2558

มาดูวิธีคิด ตอบคำถามยามประเทศเข้าตาจน ของประดาผู้บริหารรัฐกิจลิ่วล้อรัฐบาล คสช. กันสักนิด





มาดูวิธีคิด ตอบคำถามยามประเทศเข้าตาจน ของประดาผู้บริหารรัฐกิจลิ่วล้อรัฐบาล คสช. กันสักนิด

จากการที่สำนักบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยในกิจการบินของไทยลงไปอยู่ในประเภทสอง (category 2) ตามระเบียบความปลอดภัยทางการบินนานาชาติ (IASA) ซึ่งหมายความว่า

ประเทศไทยไม่มีระเบียบกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อการกำกับดูแลสายการบินเป็นอย่างต่ำที่สุดของมาตรฐานนานาชาติ หรือองค์กรกำกับควบคุมการบินของไทย ในลักษณะเดียวกับเอฟเอเอ สำหรับความปลอดภัยในด้านการบิน บกพร่องอย่างหนึ่งใดหรือหลายอย่าง

ความบกพร่องเหล่านี้ได้แก่ ความชำนาญทางด้านเทคนิค บุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดี การจัดเก็บข้อมูล หรือระเบียบการในการตรวจสอบ

คำประกาศของเอฟเอเอระบุว่า เครื่องบินของไทยที่ได้รับอนุญาตให้บินเข้าสหรัฐได้อยู่ขณะนี้ สามารถที่จะดำเนินกิจการบินต่อไปได้ แต่ทางสหรัฐจะไม่ออกใบอนุญาตใหม่ให้เครื่องบินไทยบินเข้าสหรัฐ จนกว่ามาตรฐานความปลอดภัยของไทยจะได้รับการปรับขึ้นมาเป็นประเภทหนึ่งอีกครั้ง

(http://www.faa.gov/news/press_releases/news_story.cfm…)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล คสช. ตอบข้อซักถามที่สนามบิสสุวรรณภูมิเมื่อเดินทางกลับจากการประชุมที่ปารีสว่า “ยอมรับเรื่องนี้กระทบถึงความเชื่อมั่นในรัฐบาลเหมือนกัน”

“ดังนั้น ขอให้ทุกคนร่วมมือนำความสงบสุขมาสู่ประเทศ อย่าได้พยายามหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เพราะทำอย่างนั้นมันแก้วิกฤตไม่ได้”

ถ้อยคำสวยหรู (rhetoric) แต่ว่าไม่เกี่ยวเลยสักนิด กับการที่กฎระเบียบและสมรรถภาพของบุคคลากรในเรื่องความปลอดภัยทางการบิน ด้อยกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ บอกว่าการลดลำดับโดยเอฟเอเอกระทำทั้งๆ ที่กรมการบินพลเรือนของไทยได้ปรับแยกบทบาทหมวกสองใบที่เคยสวมพร้อมกัน โดยเป็นทั้งผู้ประกอบการบินและผู้กำกับควบคุม ออกจากกันแล้วเชียวนา

“แสดงว่าปัญหาการบินของไทยอยู่ที่คุณภาพของบุคคลากรทางการบิน ที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยฉับไว”

บางคนบนโซเชียลมีเดียบ่นว่าสถิติเครื่องบินตก และปัญหาทางการบินของไทย ไม่มีปรากฏเหมือนชาติอื่น แล้วสหรัฐมาประกาศอย่างนี้เหมือนกลั่นแกล้งกัน

เช่นนี้คงต้องดึงหูให้ไปดูข่าวเมื่อเดือนมิถุนายน เมื่อองค์กรการบินมหาชนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ได้ชักธงแดงแจ้งเตือนไว้แล้วว่า ประเทศไทยมาตรฐานตกไปอยู่ในหมู่การบินไม่ปลอดภัย ระนาบเดียวกับแองโกล่า บอสวาน่า จิบูติ อีริเทรีย จอร์เจีย ไฮติ คาซัคสตาน เลบานอน มาลาวี เนปาล เซียร่าลีออน และอุรุกวัย

ผลอันนั้นทำให้สายการบินของไทยถูกจำกัดเส้นทางบินไปสู่จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมาแล้ว




อาการซ้ำร้ายเกิดจากการที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย สายการบินของไทยสายเดียวที่มีใบอนุญาตบินเข้าสหรัฐ กลับแสดงเก่งว่าการดาวน์เกรดจากสหรัฐ ไม่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจและอัตราผู้โดยสารของการบินไทย

เพราะว่าการบินไทยได้ยุติเส้นทางบินเดียวที่เคยบินไปนครลอส แองเจลีส ของสหรัฐ มาตั้งแต่เดือนตุลาคมโน่นแล้ว

ฟังเขาว่าสิผู้บริหารใหญ่สายการบินที่ขาดทุนต่อเนื่องมาสี่ปี และปี ๕๘ นี้คาดว่าจะขาดทุนอีกกว่า ๒ หมื่นล้านบาท

แม้แต่นายพาที สารสิน ประธานอำนวยการนกแอร์ ยังยอมรับว่าผลกระทบจากการดาวน์เกรดทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง นำไปสู่การที่ชาติอื่นๆ จะจำกัดจำนวนเที่ยวบินจากไทยต่อไปข้างหน้า

เช่นเดียวกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคม ยอมรับเช่นกันว่าปัญหาของไทยอยู่ที่การขาดบุคลากรที่มีคุณภาพในด้านการบิน ทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยมีแต่ด้อยถอยลง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังก้าวเอาก้าวเอา ไปข้างหน้า

(http://www.bangkokpost.com/…/pm-orders-quick-fix-of-safety-…)

อย่างนี้แล้วบรรดาพวกคลั่งชาติคลั่งราชวงศ์เกินกว่าความพอดียังจะชวนกันรณรงค์ขับไล่ทูตอเมริกันคนใหม่ เพียงเพราะเขาพูดว่า การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ของไทย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนปนอยู่

เหล่าคนที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นี้ ทั้งคณะทหาร คสช. อัยการ ตำรวจ และผู้พิพากษา ล้วนแต่มีส่วนทำให้จุดยืนทางด้านสิทธิมนุษยชนของไทยมัวหมอง เป็นปัญหาบุคคลากรขาดคุณภาพในระดับสากล เช่นเดียวกับด้านการบิน




แม้กระทั่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศของรัฐบาล คสช. ก็ยังตกร่องเดียวกันนั้นจนได้ เมื่อคณะทูตานุทูตเข้าเยี่ยม

แล้ว “มีการแสดงความกังวลประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ในประเทศไทย”

นายดอนตอบว่าประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฏหมายนี้อยู่ แต่แทนที่จะให้เหตุผลตู่ๆ แบบว่าพระมหากษัตริย์ไม่อาจจัดการกับคนที่ให้ร้ายดูหมิ่นได้ ฝ่ายความมั่นคงและศาลเลยต้องช่วยกันยำ อะไรทำนองนั้น

นายดอนกลับบอกว่า “เชื่อว่ามีคนที่มีปัญหาและอยู่ในเรือนจำเพียงไม่ถึง ๑๐ คนเท่านั้น คณะทูตควรสนใจคนอีก ๖๗ ล้านคนที่อยู่นอกคุกมากกว่า”

ไม่น่าเชื่อว่าบุคคลากรชั้นนำในทางรัฐกิจของไทย ที่ได้เห็น ได้ผ่าน global civilization มามากแล้ว จะคิดได้แค่นี้

ประการแรกประเทศที่มีการกดขี่ข่มเหง persecutions ต่อประชาชนแม้คนเดียวก็ถือว่าด้อยคุณภาพแล้ว อีกอย่างหนึ่งคดี ๑๑๒ ไม่ได้มีไม่ถึงสิบอย่างที่นายดอนละเมอ เฉพาะนับแต่คณะทหารนายเหนือหัวของดอนเข้ามาปกครอง ก็เข้าไป ๑๖ รายแล้ว ของเก่าตกค้างอีกเท่าไหร่

ไม่เช่นนั้นสำนักข่าวเอเจ๊นต์ฟรองเปรส หรือเอเอฟพี จะมอบรางวันเคทเว็บบ์ ผู้สื่อข่าวดีเด่นในสถานการณ์ลำบากให้แก่ มุทิตา เชื้อชั่ง บรรณาธิการข่าวเว็บไซ้ท์ของประชาไท จากการเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ละหรือ




โดยเฉพาะในการแสดงความคิดเห็นจากการที่ได้รับรางวัล มุทิตาบอก เธอเชื่อว่า

“หากวัฒนธรรมการตั้งคำถาม การยอมรับความแตกต่าง การถกเถียง ได้มีโอกาสเติบโตและรับการพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้นในสังคมไทย ท้ายที่สุดสถาบันกษัตริย์และสังคมโดยรวมก็น่าจะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

(http://news.voicetv.co.th/thailand/293877.html)

นี่เป็นแนวคิดเดียวกันกับเนื้อหาในถ้อยปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนายกลิน เดวี่ส์ ทูตสหรัฐคนใหม่ เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ของไทย ที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายวสิษฐ์ เดชกุญชร นำไปบิดประเด็นเพื่อการห้อยโหนสถาบันฯ ของตน