วันศุกร์, พฤศจิกายน 08, 2562

“เส้นทางเศรษฐี” ของกองทัพไทย บทความที่ต้องอ่านจากประชาไท



https://prachatai.com/journal/2019/11/85052


นอกจากร้อง “อู้หูววววว” เวลาเห็นตัวเลขทรัพย์สินของนายพลทั้งหลาย บางคนแสดงความไม่พอใจแล้วจบ บางคนสืบเสาะถึงการได้ทรัพย์สินนั้นในระดับตัวบุคคล แต่สืบให้ตายก็คงสืบได้ไม่ครบ ประชาไทจึงชวนทำการวิเคราะห์กันในภาพใหญ่ถึง “เส้นทางเศรษฐี” ของกองทัพไทย ไล่กันตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แม้มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร แต่ก็ยังเห็นร่องรอยเดิมชัดเจน ทั้งระบบงบประมาณและช่องทางอื่นที่หนังสือ “ทุนสีกากี” (Khaki Capital) ของพอล แชมเบอร์ รวบรวม

“เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด”

https://prachatai.com/journal/2019/11/85052




๏ งบความมั่นคงในงบประมาณรวม 2563

งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเป็นงบก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตลอดแทบทุกปี เรื่องนี้สัมพันธ์กับอำนาจของกงองทัพที่มีต่อรัฐบาลเช่นกัน ดังเช่นที่สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชี้ว่า งบกระทรวงกลาโหมไม่เคยถูกรัฐสภาตัดลดเลยตลอดประวัติศาสตร์ ยกเว้นครั้งเดียวในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งในตอนท้ายก็มีการอนุมัติเพิ่มเติมอยู่ดี

หากดูงบประมาณปี 2563 แยกตามรายกระทรวง พบว่า กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรมากสุดเป็นอันดับที่ 3 อยู่ที่ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,226.8 ล้านบาทจากปี 2562 (ข้อมูลเมื่อ 5 ก.ย. 2562)

เมื่อแยกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ พบว่า ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงได้รับการจัดสรรงบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของงบประมาณทั้งหมดในปี 2563 โดยมีการจัดเรียงลำดับดังนี้

- การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.66 แสนล้านบาท หรือ 23.9% ของงบทั้งหมด
- การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5.7 แสนล้านบาท หรือ 17.9%
- การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 5.04 แสนล้านบาท หรือ 15.8%
- ค่าดำเนินการภาครัฐ 4.31 แสนล้านบาท หรือ 13.5%
- ความมั่นคง 4.28 แสนล้านบาท หรือ 13.4%
- การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.8 แสนล้านบาท หรือ 11.8%
- การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.18 แสนล้านบาท หรือ 3.7%

อิทธิพลกองทัพถดถอยลงช่วงสั้นๆ หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬและวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่สภาพทางเศรษฐกิจบังคับให้ต้องปรับลดงบประมาณ หลังรัฐประหารปี 2549 แนวโน้มงบประมาณกลาโหมก็เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ

แล้วงบกลาโหมแต่ละปีเอาไปทำอะไรกันบ้าง? พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นปีหลังรัฐประหารของ คสช.พบว่า งบกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับมีรายการรายจ่ายเป็นหมวดหมู่ ดังนี้ แผนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ แผนงานดำเนินการตามกรอบข้อตกลงของประชาคมอาเซียน
แผนงานเทิดทูน พิทักษ์และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ แผนงานเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ดี คำถามตัวใหญ่และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหน่วงที่สุด เห็นจะเป็นงบในการจัดหาอาวุธที่มักมีข้อครหาเรื่องความ(ไม่)จำเป็นและการคอร์รัปชัน เช่น

กรณีซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH-6i จากสหรัฐฯ กองทัพบกไทยมีดีลตั้งแต่ปี 2554 แต่เพิ่งได้รับอนุมัติขายจากกลาโหมสหรัฐฯ ในปี 2562 โดยไทยซื้อทั้งหมด 8 ลำพร้อมอาวุธและอุปกรณ์เสริม คิดเป็นเงิน 4.2 พันล้านบาท แต่ในปี 2557 เอกสารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าขายรุ่นเดียวกัน 24 ลำ (มากกว่าไทย 3 เท่า) พร้อมเครื่องมือสนับสนุนภาคพื้นดินให้กับกองทัพซาอุฯ 7.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดราคาอุปกรณ์ต่างๆ ปลีกย่อยทั้งในส่วนของกองทัพไทยและซาอุฯ

กรณีการจัดซื้อ GT200 และ ALPHA6 ระหว่างปี 2548-2553 รวม 1,354 เครื่อง มูลค่า 1,135 ล้านบาท ต่อมาทดสอบแล้วว่า GT200 ใช้งานไม่ได้ ราคาในอังกฤษก็ต่างจากที่ขายให้กองทัพไทย 7 เท่า (200,000 บาท กับ 1,400,000 บาท) กระนั้น คนในกองทัพยังยืนยันว่า ใช้ได้! ขณะที่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจากอังกฤษถูกลงโทษจำคุกในข้อหาฉ้อโกงไปแล้ว สำหรับในไทย มีเพียงผู้แทนจำหน่ายเท่านั้นที่ได้รับโทษจำคุก 9 ปี ชดใช้ค่าเสียหาย 6.8 ล้านบาท



๏ นายพลผู้มั่งคั่งในการเมืองยุคปัจจุบัน
เริ่มต้นด้วยการย้อนอดีตเบาๆ ในช่วงรัฐบาล คสช.

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีทหารชั้นนายพลทั้งที่เกษียณแล้วและยังทำงานอยู่ทั้งสิ้น 143 คนจากทั้งหมด 250 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5-9.5 ของจำนวนนายพลทั้งประเทศ

รายงานประจำปี 2558 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสดงบัญชีทรัพย์สินของสมาชิก สนช.ที่ติดยศนายพล เรียงลำดับตามเหล่าทัพ บก-เรือ-อากาศ มีรายได้ต่อปีประมาณ 1.92 ล้านบาท 1.95 ล้านบาท 2.09 ล้านบาท แต่เมื่อดูสินทรัพย์รวมทั้งหมดของนายพล เรียงลำดับตามเหล่าทัพ บก- เรือ-อากาศ หลังหักหนี้สินแล้วพบว่ามีราว 5.8 พันล้านบาท 2.2 พันล้านบาท และ 1.2 พันล้านบาท

บุตรและคู่ครองของนายพลเหล่านั้นก็มีความมั่งคั่งจนน่าอิจฉา สินทรัพย์รวมทั้งหมดของคู่สมรสมีทั้งสิ้น 2.7 พันล้าน นายพลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับหนึ่งระบุว่าคู่ครองของเขาถือสินทรัพย์ทั้งสิ้น 720 ล้านบาทจากสินทรัพย์ที่ยื่นบัญชีรวม 802 ล้านบาท ทั้งนี้ร้อยละ 43 ของคู่สมรสที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดระบุตัวเองว่ามีอาชีพเป็น “แม่บ้าน” ที่ไม่มีรายได้

คำถามคือ ข้าราชการทหารที่เป็นข้าราชการมั่งคั่งขนาดนี้ได้อย่างไร บางส่วนอาจเป็นมรดก แล้วส่วนที่ไม่ใช่?? เราคงไม่ขุคคุ้ยกันเป็นรายบุคคล แต่จะชวนดูรายได้ของกองทัพโดยรวมซึ่งย่อมต้องเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้อยู่ในกองทัพ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

แน่นอนว่า การเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของทหารโดยตรง เป็นช่องทางหนึ่งที่เราต่างเห็นเด่นชัด แต่เส้นทางเศรษฐี (ของทหาร) นั้นมีอีกหลายแบบ มันมีอะไรบ้าง ส่งผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตยอย่างไร จะแก้ไขเงื่อนปมนี้อย่างไร เราอาจพบร่องรอยของคำตอบในรายงานพิเศษชิ้นนี้




๏ คลื่นความถี่ของกองทัพ

คลื่นความถี่ที่ใช้ในการแพร่ภาพกระจายเสียงในระบบวิทยุ โทรทัศน์ แต่เดิมนั้นกองทัพเป็นเจ้าของเป็นส่วนใหญ่ และเอกชนต้องขอสัมปทาน ซึ่งเอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์

ข้อมูลเมื่อปี 2545 ระบุว่า กองทัพถือครองธุรกิจที่ใช้คลื่นความถี่จำนวนมาก ทั้งสถานีวิทยุโทศทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ที่สัมปทานคลื่นความถี่ให้สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 รวมถึงสถานีวิทยุ 245 แห่ง จากทั้งหมด 524 แห่ง

เมื่อแยกการถือครองตามหน่วยงานจะพบว่า กองทัพบกถือครองอยู่ 127 สถานี กองทัพเรือ 21 สถานี กองทัพอากาศ 36 สถานี ตำรวจ 44 สถานี กระทรวงกลาโหม 3 สถานี กองบัญชาการสูงสุด 14 สถานี ข้อมูลในปี 2557 พบว่า กองทัพยังถือครองคลื่นความถี่ทั้งแบบ AM และ FM รวม 201 สถานี

ในยุคทีวีดิจิทัลแบบปัจจุบัน กองทัพบกก็ยังมีแหล่งรายได้จากสถานีส่งสัญญาณหรือ MUX ที่ทีวีดิจิทัลจะต้องใช้เพื่อแพร่ภาพกระจายเสียงที่อยู่กับ ททบ.5 โดยมีค่าเช่าใช้ในรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) 3.5 ล้านบาท/เดือน และช่องประเภทความคมชัดสูง (HD) 10.5 ล้านบาท/เดือน

ข้อมูลเมื่อ เม.ย. 2562 พบว่ามีช่องที่ใช้ MUX ของ ททบ.5 มีจำนวน 14 ช่อง ดังนี้

HD 5 ช่อง - ช่อง 7, อมรินทร์ทีวี, พีพีทีวี และช่อง 5
SD 9 ช่อง - เวิร์คพอยท์, โมโน, จีเอ็มเอ็ม 25, สปริง 26, เนชั่นทีวี, ทรูโฟร์ยู, ทีเอ็นเอ็น, นิวทีวี และไบรท์ทีวี
เมื่อคำนวณตามอัตราข้างต้นจะพบว่า ททบ. 5 ได้เงินค่าเช่า MUX เดือนละ 84 ล้านบาท รายได้ดังกล่าวยังไม่นับรวมรายได้จากโฆษณา มีการรวบรวมข้อมูลว่า กสทช. เปลี่ยนให้ ททบ. 5 มีโฆษณาเฉลี่ยได้ชั่วโมงละไม่เกิน 12 นาที 30 วินาที จากเดิมชั่วโมงละ 8-10 นาที ถือเป็น “เสือนอนกิน” ที่หารายได้โดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น

หลังปี 2535 มีความพยายามปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ นำมาซึ่งมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ พร้อมให้มีการจัดตั้ง กสทช. องค์กรอิสระเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการ ทีวี วิทยุ โทรคมนาคม โดย กสทช. ชุดแรกเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2554

ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 กสทช. วางแผนว่าจะต้องเรียกคืนคลื่นที่รัฐถือครองทั้งหมดภายในปี 2560 แต่ท้ายที่สุด รัฐบาล คสช. ก็ออกคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ชะลอการเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุตามแผนแม่บทของ กสทช. และให้เลื่อนไปอีก 5 ปี

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐที่ต้องส่งคืนคลื่นล้วนมีท่าทีอิดออดและประวิงเวลา กองทัพบกเองก็มีท่าทีเช่นนั้นโดยอ้างเหตุผลด้าน ‘ความมั่นคง’ ดูได้จากแผนแม่บทของกองทัพบก ปี 2556–2560




๏ วัฒนธรรมนายพลนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ-เอกชน

ทหารนั่งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจมานานแล้ว ในชิ้นงาน ความลับสาธารณะของไทย: ความมั่งคั่งของทหารและรัฐ โดยอุกฤษณ์ ปัทมานันท์และไมเคิล เค. คอนเนอร์ (2019) รวบรวมข้อมูลว่า สายสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มเห็นชัดในช่วงเผด็จการทหารและระบบราชการเป็นใหญ่ในปลายทศวรรษ 2480 ถึงต้นทศวรรษ 2510 ยุคแรกเริ่ม เจ้าสัวคนไทยเชื้อสายจีนมีปัญหาเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติจึงมักเชิญนายทหารไปนั่งเป็นบอร์ด และถือหุ้นของบริษัทด้วยเพื่อแลกกับการคุ้มครองทางการเมือง เช่น ตระกูลค้าข้าวแบบหวั่งลีหรือตระกูลล่ำซำ ธนาคารศรีอยุธยาของตระกูลรัตนรักษ์ หรือธนาคารกรุงเทพฯ ของตระกูลโสภณพณิช

ในช่วงเวลาที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารยาวนาน คนมีสีเหล่านั้นยิ่งสวมหมวกผู้บริหารหลายใบ

พล.ต.อ.กฤษณ์ ศรีวราห์ และจอมพลประภาส จารุเสถียร นั่งเป็นผู้อำนวยการของบริษัทถึง 44 และ 50 บริษัทตามลำดับในช่วงปลายทศวรรษ 2500 จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ลงทุนในหลายธุรกิจ ถือหุ้นในหลายธนาคารและควบคุมรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ 2490-2516

หลังสฤษดิ์เสียชีวิตในปี 2506 จอมพลประภาส จารุเสถียร จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นทหารในมุ้ง ‘สี่เสาเทเวศร์’ สืบทอดอิทธิพลในโลกธุรกิจต่อ กลุ่มสี่เสาฯ มีอิทธิพลในธุรกิจภาคการเงิน 12 แห่ง ภาคอุตสาหกรรม 15 แห่ง ภาคการค้าอีก 10 แห่ง ช่วงปี 2506 -2516 ถนอม-ณรงค์ กิตติขจร และประภาส เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนถึง 137 แห่ง ประภาสเป็นกรรมการในบอร์ดธนาคารถึง 5 แห่ง ในขณะที่ถนอมผู้พ่อเป็นนายกฯ

ในปี 2559 งาน ทุนสีกากี: เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนภิสา ไวฑูรเกียรติ และพอล แชมเบอร์ส นำเสนอว่ามีทหารอยู่ในบอร์ดอำนวยการรัฐวิสาหกิจถึง 42 แห่งจากทั้งหมด 56 แห่งที่ยังดำเนินกิจการอยู่ คิดเป็นจำนวนคนทั้งสิ้น 102 คน

ล่าสุด ในปี 2562 เมื่อลองสืบค้นจากเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พบว่า ยังมีทหารนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดอำนวยการทั้งสิ้น 51 คน ในรัฐวิสาหกิจ 27 แห่งจาก 55 แห่ง

ในช่วงปี 2475-2531 ตำแหน่งที่นั่งทหารในบอร์ดรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นโควต้าที่มีการแบ่งเอาไว้แล้ว ทหารที่นั่งบอร์ดจะมีรายได้จากการเป็นกรรมการ สัดส่วนทหารในรัฐวิสาหกิจและบอร์ดบริษัทเอกชนต่างๆ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งมีที่มาส่วนหนึ่งจากระบบทุนนิยมอุปถัมภ์พวกพ้องและความไม่โปร่งใส จนภาคการเงินและธุรกิจต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการทำระบบบอร์ดบริหารให้เป็นอิสระมากขึ้น ทหารที่ยังเหลืออยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ จึงมักมีตำแหน่งเป็น “กรรมการอิสระ”