วันศุกร์, พฤศจิกายน 08, 2562

ช่วงชิงกันมันย้อย 'แก้รัฐธรรมนูญ' "จะเป็นเตะหมีเข้าปากมารไหมนั่น"


ช่วงชิงกันมันย้อยเลยไหมนี่ ตำแหน่งประธานกรรมาฯ ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ที่ ไฮแจ็ค กันเป็นทอดๆ พอประชาธิปัตย์อยากหล่อ เสนอตัว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจาก ชวน หลีกภัย ประกาศ ไม่ชอบ รธน.๖๐ ก็เกิดอาการกระสันต์จากพรรค พปชร.บ้าง

ชื่อของ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาโควต้าพลังประชารัฐโผล่แทรกแหกโค้งขึ้นมาพลัน เสียงจาก พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัล ดังขึ้นทันที “ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๖๐ ควรมาจากฝั่งพลังประชารัฐ”

ท่ามกลางข่าว (ไทยรัฐ) ที่ว่า ปชป.ล้อบบี้หนัก ขอให้ปิ๊สิดเป็นเถอะน่า “พล.อ.ประยุทธ์ คงเห็นความสามารถและศักยภาพการทำงานของนายอภิสิทธิ์เป็นอย่างดี เนื่องจากเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาสมัยนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ มาแล้ว”

เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราชเก็บเอาคำของหัวโจกรัฐบาล คสช.๒ ที่ว่า “ไม่ขัดข้อง” มาใช้เล่นเส้นข้ามห้วย “อยากให้ (นายกฯ) ส่งสัญญาณไปยังพรรคพลังประชารัฐพรรคหลักของรัฐบาล ให้เสียสละไม่สนับสนุนคนของพรรคมาแข่งขัน


จะออกหัว/ก้อย คุณพระคุณนางอย่างไรตามแต่ งานนี้ฟากรัฐบาลฉกเอาไปกำเสียแล้วกระมัง ถ้าอย่างนั้นจะกลายเป็น เสียงข้างมากลากไป วังวนเดิมๆดังที่อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อุดม รัฐอมฤต พูดจริงไม่ตั้งใจหรือเปล่า

“ต้องคิดให้รอบคอบ...ให้เสียงข้างมากในสภาเท่านั้นเป็นผู้แก้ไข อาจส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา” เขาอ้าง “ในอดีตที่เสียงข้างมากใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง” แล้วปัจจุบัน “กระแสขณะนี้มีทั้งการแก้รายประเด็น และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขทั้งฉบับ”

รายประเด็น “เช่น ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว หรือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี” ส่วน “การแก้ไขทั้งฉบับอาจเป็นการถอยหลังไปนับหนึ่งใหม่ และอาจสร้างความขัดแย้งในสังคม จึงอยากให้ทุกฝ่ายให้เวลากับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อน”


โถ ร่างมากับมือ จะให้รื้อทิ้งแล้วร่างใหม่ก็สุดแสนเสียดายละสิ ยังดีที่อุตส่าห์ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่อ้อมค้อมเหมือนพวก สว.ตู่ตั้งบางคน ที่ คสช.ให้กินเงินเดือนสองแสนไว้คอยยกมือเป็นฝักถั่วเท่านั้น เสรี สุวรรณภานนท์ คนหนึ่งละ
 
เจ้าของวลี (ฝอย) ทอง เผด็จการประชาธิปไตย ลั่นว่า “ไม่ได้หวงอำนาจ” แต่ไม่มีทางเล่นด้วยถ้าริดรอนอำนาจที่ คสช.ประทานให้มา จึงค้านด้านๆ ว่ายังไม่จำเป็นต้องแก้ เช่นกันกับ คำนูณ สิทธิสมาน ที่บอกไม่พบข้อบกพร่อง ที่เด่นชัด ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จากเบื้องต้นพรรคอนาคตใหม่จุดประกายไว้ตั้งแต่ปลายกรกฎาคม “เปิดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จัดการมรดกบาป คสช. ยกเลิก ม.๒๖๙-๒๗๒ และ ม.๒๗๙...เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๙ เขียนรับรองให้ประกาศคำสั่ง คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ”

หรือกรณีวุฒิสภาที่ “ขี่คอสภาผู้แทนราษฎรในหลายเรื่อง ได้แก่การแก้รัฐธรรมนูญ การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ หากปล่อยให้มีวุฒิสภาแบบนี้ต่อไป วุฒิสภาก็จะกลายเป็นกลไกของการสืบทอดอำนาจ”


เช่นนั้น ปณิธานของพรรคอนาคตใหม่จึงถูกเก็บขึ้นหิ้งรอไว้ไม่มีกำหนด แล้วเปิดช่องทางใหม่ ซึ่ง บังอรไม่บังเอิญ ทีม โคทม อารียา/อนุสรณ์ ธรรมใจสนับสนุนการส่งสัญญาณของประธานรัฐสภา ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย”  

ทั้งระบุด้วยว่า “แก้ไขระบบเลือกตั้งที่มีปัญหา ทบทวนบทบาทและที่มาของสมาชิกวุฒิสภา” และให้แก้ที่มาตรา ๒๕๖ ก่อน ข้อเสนอของ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ยังเลยไปถึงคุณสมบัติของผู้ที่มาทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
 
ซึ่ง บังเอิญไม่บังอร มีข้อหนึ่งที่ตรงกับความเห็นของพรรคเพื่อไทย คือต้องเป็นผู้ที่ “มีความสามารถในการประสานงานได้กับทุกฝ่าย” ในเมื่อ ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏรก็เพิ่ง “เสนอว่า คนที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นนักประสาน”

อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทยยังเพิ่มเติมด้วยว่า “สำหรับการเลือก กมธ. นั้น อยากให้ออกนอกกรอบ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองส่วนใหญ่ แต่น่าจะเปิดโอกาสให้คนนอก เช่น ภาควิชาการ ฯลฯ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วย”


จะเป็นเตะหมีเข้าปากมารไหมนั่น เห็นมีการเสนอชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ ไว้แล้วนะ