กรณีสาววัย ๑๘ ถูกยึดพาสปอร์ตที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทางการไทยจะส่งตัวให้แก่รัฐบาลซาอุฯ
แต่เธอไม่ยอม ประกาศขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย ลงเอยด้วยการตัดสินใจของรัฐบาลไทย
ปล่อยให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติรับตัวไปดูแล
นั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาล คสช. ดังที่ ฟิล
รอเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ภาคพื้นเอเซียกล่าวชม พอรักษาหน้าได้บ้างสักครั้งต่างกับกรณีอื่นๆ
ไม่น้อยกว่า ๕ ราย โดยเฉพาะการส่งชาวอุยกูร์เกือบร้อยกลับไปสู่การถูกกดขี่ข่มเหงตามคำร้องของจีนเมื่อปี
๒๕๕๘
แต่กระนั้นก็แทบจะไม่ทันการ ในขณะที่กระแสตำหนิประเทศไทยได้แพร่ขยายไปอย่างไฟลามทุ่งทั่วโลกแล้ว
(ดูได้จากหน้าทวิตเตอร์ของสำนักข่าวอัลจาซีร่า https://twitter.com/AJEnglish/status/1082268112756576256)
“ไทยแลนด์เป็นแดนแห่งรอยยิ้ม” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล
ผบ.ตรวจคนเข้าเมืองกล่าวในรายงานของ นสพ.เดอะนิวยอร์คไทม์ (ตีพิมพ์เมื่อคืนวันที่
๗ มกราคม) “เราไม่ส่งใครสักคนกลับไปตายหรอก” บิ๊กโจ๊ก ฉายานายตำรวจไทยที่ครอบครัวของหญิงสาววัย
๑๙ ชาวอังกฤษซึ่งถูกข่มขืนที่เกาะเต่ารู้จักดี
“เราจะดูแลเธออย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” นั่นคือคืนพาสปอร์ตแล้วปล่อยตัวเธอไปอยู่ในความดูแลของ
UNHCR
ซึ่งได้ประสานกับสำนักสิทธิมนุษยชนนานาชาติ HRW และสถานทูตแคนาดาในกรุงเทพฯ จนเป็นผลสำเร็จ
นายพลสุรเชษฐ์ยังบอกด้วยว่า น.ส. ราฮาฟ โมฮัมเม็ด อัลคูนัน
สามารถ “ไปไหนๆ ในประเทศไทยได้” ในช่วงที่รอดำเนินการขอลี้ภัยไปยังประเทศที่สามตามกระบวนการของสำนักผู้ลี้ภัยยูเอ็น
ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ๕-๑๐ วัน
“จะไม่มีข้อแม้และข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น” แม้นว่าก่อนหน้าที่ทางการไทยเตรียมส่งตัวเธอให้แก่ซาอุดิอาราเบียตามคำขอ
“เป็นเพราะเธอไม่มีเงิน (ซื้อตั๋วเครื่องบินต่อไปยังที่อื่น) และกำลังประสบภัย...ครั้นเมื่อเราทราบว่าเหตุการณ์เปลี่ยนไป
เธอจะได้รับภัยและการคุกคามถ้าถูกส่งตัวกลับ ประเทศไทยยินดีต้อนรับเธอทันที”
ทว่า เหตุการณ์ตลอด ๔๘ ชั่วโมงก่อนหน้านั้น
ไม่ค่อยจะตรงกับที่บิ๊กโจ๊กจ้อมากนัก ไม่ตรงแม้แต่กับบางถ้อยคำของทั่นนายตำรวจคนขยัน
‘จับทุกงาน’ ในฐานะผู้ช่วยของรองหัวหน้า
คสช.ฝ่ายความมั่นคง คนนี้
ราฮาฟจับเครื่องบินไปกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์หลังจากที่เดินทางไปคูเวตกับครอบครัว
โดยไม่แจ้งให้บิดาซึ่งดำรงฐานะ ‘ผู้ปกครอง’
ตามกฎหมายของซาอุดิอาราเบีย ที่สตรีไม่สามารถทำอะไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเพศชายที่เป็นผู้ปกครอง
จะเป็นบิดา สามี พี่ชาย หรือญาติผู้ใหญ่ได้
เธอตั้งใจจะเข้ากรุงเทพฯ สักสองสามวันก่อนเดินทางต่อไปยังออสเตรเลียแล้วขอลี้ภัยอยู่ที่นั่น
เนื่องจากชีวิตที่ผ่านมาของเธอถูกข่มเหงโดยครอบครัว เพราะเธอไม่ชอบคลุมผ้าฮิญาบ
ไม่ต้องการนับถือศาสนา
แต่ครั้นเมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ
มีเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ไปดักพบที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง แล้วยึดเอาพาสปอร์ตของเธอไป
หลังจากนั้นปรากฏว่ามีตารางเดินทางของเธอกลับไปคูเวต
เธอจึงเข้าพักโรงแรมมิราเคิลในสนามบินสุวรรณภูมิ
กักตัวอยู่ในห้องและทำการส่งข้อความทวิตเตอร์บัญชี @rahaf84427714 ขอความช่วยเหลือจากทั่วโลก
กลายเป็นแฮ้ชแท็ก #SaveRahaf ที่มีคนติดตามเป็นหมื่นภายในวันเดียว
เธอบอกกับ ‘เดอะไทม์’ ว่าเธอวางแผนการหนีลี้ภัยนี้มาตั้งแต่อายุ
๑๖ ปี “พี่ชายและคนอื่นในครอบครัวเคยทำร้ายเธอ ช่วงหนึ่งเธอถูกขังในห้องคนเดียวนาน
๖ เดือนเพราะเธอตัดผมแบบที่ครอบครัวไม่ต้องการ”
“พ่อของดิฉันโกรธมากที่ฉันทำอย่างนี้
ฉันไม่สามารถเรียนและทำงานในประเทศของฉันเอง ฉันต้องการเป็นอิสระ
ได้เรียนและทำงานตามที่ต้องการ” ราฮาฟทวี้ตตอนหนึ่ง “พวกเขาต้องฆ่าฉันแน่ๆ
เพราะฉันหนีออกมา”
คอมเม้นต์หนึ่งบนทวี้ตของอัลจาซีร่าแสดงความเป็นห่วงว่า
“อย่าส่งเธอเข้าไปในสถานทูตซาอุฯ เชียวนา จำกรณี (การตายของ) จามาล คัสช็อกกี้
(นักข่าวอเมริกันเลือดซาอุฯ) ได้ไหม”
ด้านผู้การคนเก่งของไทยโพสต์แสดงกึ๋นตนเองถึงเรื่องราวของราฮาฟไว้ก่อนหน้าแล้วว่า
“ประเทศไทยมีเหตุผลในการผลักดันกลับครับ มิได้ผลักดันกลับไปตายตามที่ข่าว (ไทยรัฐ)
พาดหัว” บิ๊กโจ๊กย้อนสื่อ
“หากคนทั่วโลกที่มีปัญหา
อยากหนีเข้ามาอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมายจนล้นประเทศ ด้วยการอ้างเหตุผลเหมือนๆ กันแบบนี้
ท่านคิดว่าเจ้าหน้าที่ควรทำอย่างไรดี” เป็นคำถามครอบจักรวาลที่ไม่ต้องตอบ เพราะเป็นแค่สมมุติฐานในทางมะโนสาเร่
ไกลความจริง
แต่ก็มี
บก.ลายจุด หัวหน้าพรรคเกียน สมบัติ บุญงามอนงค์ ช่วยชี้ช่องให้ “ผู้การโจ๊กโต้ประเด็นนี้ไม่เคลียร์
เพราะผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ต้องการมาเมืองไทย เขานั่งเครื่องต่อไปออสเตรเลีย
แต่เราไปขัดขวางกระบวนการเดินทางต่อของเขา” เองต่างหาก
แบบนี้จะเรียกว่า ‘ธุระไม่ใช่’ ดีไหม
ดีกว่าใช้คำว่า ‘สร้างภาพหาเสียง’ เหมือนกับที่หัวหน้า
คสช. บอกว่าตอนนี้เป็นนักการเมืองเต็มตัว
เลยต้องใส่สูทปีนบันไดขึ้นไปช่วยทหารซ่อมหลังคาชาวบ้านเมืองคอน
หลังจากพายุปาบึกพ้นไปนานแล้ว