รับปีใหม่!!! หนี้สาธารณะทุบสถิติทะลุ 6.8 ล้านล้านบาท!!!
BY BOURNE
ISPACE THAILAND
JANUARY 4, 2019
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเปิดเผยรายงานหนี้สาธารณะคงค้างเดือนพฤศจิกายน 2561 พบว่าหนี้สาธารณะมีปริมาณสูงเป็นสถิติ 6,808,753 ล้านบาท หนี้รัฐบาลมากถึง 5,525,947 ล้านบาท
- ปริมาณหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนั้น มากกว่าเดือนตุลาคมถึง 45,003 ล้านบาท ในขณะที่หนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้น 67,891 ล้านบาท
- เปรียบเทียบปริมาณหนี้สาธารณะล่าสุดกับเดือนแรกที่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศพบว่าเพิ่มขึ้นมากถึง 1,153,333 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ในขณะที่หนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้น 1,592,713 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นถึง 40.4%
ปีใหม่ 2562 นี้กระแสข่าวการเมืองที่กำลังร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี ก็คงหนีไม่พ้นกระแสการเลื่อนการเลือกตั้ง ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ หากมีการเลื่อนจริง จะเลื่อนออกไปเลือกตั้งในวันใด แต่สิ่งที่แน่นอนแล้ว คือ หนี้สาธารณะของประเทศไทย ได้ทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น ล่าสุดหนี้สาธารณะของไทยนั้นทะลุ 6.8 ล้านล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยรายงานหนี้สาธารณะคงค้างของไทยประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยระบุว่า หนี้สาธารณะคงค้างของไทยมีจำนวนสูงถึง 6,808,753 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,525,947 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 1,274,340 ล้านบาท และหนี้ของหน่วยงานรัฐอีก 8,465 ล้านบาท
โดยปริมาณหนี้สาธารณะเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ถือว่าทำสถิติสูงที่สุด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 พบว่ามีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 45,003 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ในขณะที่หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึง 67,891 ล้านบาทในระยะเวลา 1 เดือนเช่นกัน แต่หนี้สินของรัฐวิสาหกิจในเดือนพฤศจิกายน 2561 นั้นลดลงจากเดือนตุลาคม 2561 ที่ 21,847 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ หนี้สินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 นั้นส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการบริหารหนี้ โดยจำนวนหนี้ในส่วนนี้ของเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมากถึง 3,932,676 ล้านบาท ในขณะที่เดือนตุลาคม 2561 มีปริมาณ 3,867,176 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 65,500 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าปัญหาของหนี้สาธารณะไทย โดยเฉพาะในส่วนของหนี้รัฐบาล นั้นเป็นปัญหามาจากปริมาณหนี้สินในส่วนของเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการบริหารหนี้เป็นสำคัญ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากรัฐบาล คสช. ยังคงดำเนินนโยบาย และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเช่นนี้ หนี้สาธารณะและหนี้รัฐบาลอาจไม่ลดลง เพราะหนี้สาธารณะนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว
ที่สำคัญก็คือ หากเปรียบเทียบหนี้สาธารณะในเดือนพฤศจิกายน 2561 ย้อนหลังกับเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่รัฐบาลคสช. เข้ามาบริหารประเทศ พบว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากถึง 1,153,333 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 20.3% ในขณะที่หนี้รัฐบาลนั้นเมื่อเปรียบเทียบในเดือนพฤศจิกายน 2561 กับ เดือนมิถุนายน 2557 พบว่าเพิ่มมากขึ้นถึง 1,592,713 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นถึง 40.4%
สุดท้ายปริมาณหนี้สาธารณะ และหนี้สินของรัฐบาลในยุคที่ คสช. บริหารประเทศจะไปหยุดที่ปริมาณเท่าไหร่ คงต้องรอดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆก็คือรัฐบาลต่อไปที่ต้องเข้ามารับไม้การบริหารประเทศต่อจาก คสช. ต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วง และสภาพหนี้สินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมากอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!!!
Reference
http://www.pdmo.go.th/th/public-debt/debt-outstanding?ft=monthly&ms=6&ys=2014&me=11&ye=2018