WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง และอดีตรอง ผบ.ตร. ถูกดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน
จากฟ้าสู่เหว ย้อนชีวิต “คนทำผิด” ใกล้ชิดเบื้องสูง
6 มีนาคม 2017
ที่มา BBC Thai
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ไม่ใช่กรณีแรก ที่อดีตคนเคยใกล้ชิดเบื้องสูงถูก "พบความผิด" จนชะตากรรมต้องพลิกผัน เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งนายพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ครอบครัวอัครพงศ์ปรีชา รวมไปถึงหมอหยอง เคยเผชิญมาก่อนหน้านี้
จากกรณี พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ และอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน มาถึงล่าสุด นายชิดพงศ์ ทองกุม อดีตผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ ที่ถูกศาลทหารตัดสินให้จำคุก เป็นเวลา 4 ปี 18 เดือน
นี่คือตัวอย่างของบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับสถาบันเบื้องสูง แล้วต่อมาถูก "พบความผิด" ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่พลิกผัน บีบีซีไทยชวนย้อนรอยคดี เปิดแฟ้มข่าวเก่าของบุคคลสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบ 3 ปี
NURPHOTO/NURPHOTO VIA GETTY IMAGES
ปัจจุบัน นายพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก. ถูกศาลตัดสินให้จำคุกไปแล้ว 7 คดี รวมโทษจำคุก 36 ปี 3 เดือน
พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์
จากยศ พล.ต.ท. และตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) หลายปี ปัจจุบันเขาถูกถอดยศเป็นแค่ "นาย" ถูกศาลตัดสินให้จำคุกไปแล้ว 7 คดี รวมโทษจำคุก 36 ปี 3 เดือน ถูกอายัดทรัพย์ไปแล้วกว่า 1.5 พันล้านบาท
นายพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ มีศักดิ์เป็นญาติกับ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตพระวรชายาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร
ช่วงดำรงตำแหน่ง ผบช.ก. นายพงศ์พัฒน์มีชื่อเสียงจากการคลี่คลายคดีสำคัญๆ จนมีอนาคตทางราชการที่สดใส ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลง ช่วงปลายปี 2557 เมื่อเขาและคนสนิทถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมไปถึงกฎหมายฟอกเงิน
NURPHOTO/NURPHOTO VIA GETTY IMAGES
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ขณะนั้น (ที่สองจากขวา) นำแถลงผลการจับกุมและตรวจค้นทรัพย์สินของนายพงศ์พัฒน์และเครือข่าย
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ขณะนั้น ระบุว่า พฤติกรรมของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กับพวก มีการแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อผลประโยชน์จาก "การแต่งตั้งโยกย้าย บ่อนการพนัน และขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน"
ต่อมา ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของคนในเครือข่ายนายพงศ์พัฒน์ รวม 15 จุด ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบเงินสกุลไทยและต่างชาติ ทองคำ รวมถึงวัถตุโบราณและของมีค่า มูลค่ารวมกันนับพันล้านบาท โดยทรัพย์สินบางส่วนถูกเก็บไว้ในเซฟใต้ดินภายในบ้านพักของนายพงศ์พัฒน์
ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อายัดทรัพย์สินของนายพงศ์พัฒน์กับพวกถึง 3 ครั้ง รวมมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นครั้งแรก อายัดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ครั้งที่สอง อายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และครั้งที่สาม อายัดทรัพย์สิน 3 พันรายการ 2.7 หมื่นชิ้น รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
JACK HILL/AFP/GETTYIMAGES
หลังครอบครัวถูกดำเนินคดี พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ก็ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ และกลับไป "ปฏิบัติธรรมอย่างเงียบๆ" ในบ้านพักที่ จ.ราชบุรี
"อัครพงศ์ปรีชา" ครอบครัวท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์
สืบเนื่องจากการดำเนินคดีกับนายพงศ์พัฒน์ นำไปสู่การขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดในคดี 112 เพิ่มเติม ทั้งตำรวจและพลเรือน รวมถึงผู้ที่มีนามสกุล "อัครพงศ์ปรีชา" ที่เป็นนามสกุลพระราชทาน จำนวน 6 คน ประกอบด้วยนายอภิรุจ, นางวันทนีย์, นางสุดาทิพย์, นายณรงค์, นายณัฐพล และนายสิทธิศักดิ์ ซึ่งทั้งหมดต่างเป็นคนในครอบครัวของ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึกแจกแจงว่า นายอภิรุจและนางวันทนีย์ เป็นบิดาและมารดาของ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ อีก 3 คนถัดมาเป็นพี่น้อง ส่วนคนสุดท้ายเป็นหลาน (ลูกของนางสุดาทิพย์)
ภายหลังครอบครัวถูกดำเนินคดี ในวันที่ 12 ธ.ค. 2557 ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่ประกาศ การขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์ของ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ก่อนเปลี่ยนกลับไปใช้นามสกุลเดิมคือ "สุวะดี"
ข้อความสุดท้ายที่ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์สื่อสารต่อสังคมไทย ก็คือจดหมายที่ขอ "ปฏิบัติธรรมอย่างเงียบๆ" ในบ้านพักที่ จ.ราชบุรี และหลังจากนั้นสตรีสูงศักดิ์ก็ไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะอีก
ในปี 2558 ศาลได้ตัดสินให้จำคุกสมาชิกครอบครัว พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ทั้งหมด ด้วยอัตราโทษที่แตกต่างกัน
ข้อมูลจากสื่อไทยหลายสำนักระบุว่า กรณีพ่อแม่ของ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศม์ ศาลชี้ว่ามีการแอบอ้างเบื้องสูงไปข่มขู่คู่กรณี ส่วนนางสุดาทิพย์ ศาลชี้ว่าเป็นผู้กำหนดเมนูอาหารในลักษณะผูกขาดในวังศุโขทัย แต่เมื่อกระทำผิดมักแอบอ้างเบื้องสูง ให้จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน ขณะที่นายณรงค์ นายณัฐพล และนายสิทธิศักดิ์ ศาลชี้ว่ามีการใช้ปืนขู่บังคับผู้เสียหายให้ไปเจรจาลดหนี้ ให้จำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/GETTY IMAGES
นายสุริยัน อริยวงศ์โสภณ หรือหมอหยอง ถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ในคดี 112 ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา เนื่องจาก "ติดเชื้อในกระแสเลือด"
หมอหยอง
นายสุริยัน อริยวงศ์โสภณ หรือหมอหยอง ป็นนักโหราศาสตร์ชื่อดัง ได้รับพระราชทานนามสกุล "สุจริตพลวงศ์" ในโอกาสวันคล้ายวันเกิด เมื่อปี 2551 มีความหมายว่า เผ่าพันธุ์ที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพลังแห่งความสุจริต แต่ต้องมาติดคุกด้วยข้อกล่าวหาพัวพันทุจริต และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นายสุริยันมีบทบาทสำคัญในการจัดงาน "Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่" ก่อนถูกจับกุมฐานตกเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 ช่วงปลายปี 2558 และถูกนำไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำชั่วคราว ในค่ายทหารของมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) แต่ท้ายสุด คดีนี้ก็ไม่มีคำตัดสิน เพราะนายสุริยันเสียชีวิตลงก่อน
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อ้างคำพูดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมขณะนั้นว่า เหตุที่นายสุริยันเสียชีวิตเนื่องจาก "ติดเชื้อในกระแสเลือด"
ภาพจำสุดท้ายของนายสุริยันต่อสาธารณชน คือชายผมสั้นเกรียน หน้าตาอิดโรย ในมือถือถุงยาจำนวนหนึ่ง ถูกหิ้วปีกไปขึ้นศาลทหารเพื่อขออำนาจฝากขังในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ
อดีตข้าราชบริพารอื่นๆ
นอกเหนือจากกลุ่มบุคคลข้างต้น ยังมีอดีตข้าราชบริพารหรือผู้เคยใกล้ชิดกับสถาบันเบื้องสูงจำนวนหนึ่ง ที่ต้องเผชิญชะตากรรมใกล้เคียงกัน โดยข้อมูลทั้งหมดสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา อาทิ
พล.ต.พิสิฐศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้บังคับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภฯ ถูกปลดออกจากราชการ ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชฯ
พ.ต.ปฏิภาณ เกษมสุวรรณ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ถูกปลดออกจากราชการ และถูกถอดยศทหาร
พ.อ.สรัศวิน โพธิทอง ถูกปลดออกจากราชการและถูกถอดยศทหาร
ร.อ.ศิริพงษ์ ผลวัฒนะ ถูกปลดออกจากราชการและถูกถอดยศทหาร
เป็นต้น
...
นายกรัฐมนตรีไม่แสดงความเห็นกรณี พล.ต.อ.จุมพล ถูกไล่ออกจากราชการ
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย คือใคร?
เพิ่มเติม -- พล.ต.อ.จุมพล รับสารภาพคดีรุกป่าทับลาน