วันพุธ, มีนาคม 22, 2560

เรือดำน้ำจีน...ถูกและดีมีจริงหรือ? พูดยังกะซื้อกางเกงลิง (สุดคุ้ม ซื้อ 2 แถม 1)





เรือดำน้ำจีน...ถูกและดีมีจริงหรือ?


30 ส.ค. 2559
ที่มา คมชัดลึก

ถึงวันนี้น่าจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยกำลังจะมีเรือดำน้ำเข้าประจำการแล้ว โดยกองทัพเรือได้ผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเรียกได้ว่าเข้าใกล้ความสำเร็จเต็มที หลังจากลูกประดู่ต้องรอมานานกว่า 20 ปี

ที่ผ่านมามีประเทศที่เสนอตัวเข้าประกวดราคาขายเรือดำน้ำให้แก่กองทัพเรือไทยจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน รัสเซีย และจีน ซึ่งสุดท้ายไทยตัดสินใจเลือกจีน

โดยเรือดำน้ำที่อยู่ในกระบวนการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดหาอยู่นี้ เป็นรุ่น Yuan Class S-26T โดยจัดซื้อทั้งโครงการจำนวน 3 ลำ ราคารวม 3.6 หมื่นล้านบาท





เรือดำน้ำรุ่น S-26T เป็นรุ่นพิเศษที่จีนต่อขึ้นสำหรับประเทศไทยเท่านั้น พัฒนาจาก Yuan Class Type 039A ตัวเรือมีขนาดยาว 77.70 เมตร กว้าง 8.60 เมตร ระวางขับน้ำขณะดำ 3,200 ตันเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า

การจัดซื้อจัดหาที่ใช้งบประมาณสูงถึง 3.6 หมื่นล้านบาท จึงไม่ได้มีแค่ตัวเรือเท่านั้น แต่สิ่งที่จะได้ควบคู่กันมาก็คือการฝึก การสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ซึ่งจีนรับปากว่าจะเพิ่มให้ รวมทั้งอุปกรณ์ท่าเรือ

ส่วนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะติดตั้งมาด้วยเป็น “ส่วนควบ” นับว่าน่าสนใจ เพราะมีทั้งตอร์ปิโด, อาวุธปล่อยนำวิถี และขีปนาวุธต่อต้านเรือ หรือ ASM ที่หมายถึง Anti-Ship missile ซึ่งเรือดำน้ำที่ประจำการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเราหลายประเทศไม่มีมิสไซล์แบบนี้

นอกจากนั้นยังมีระบบที่เรียกว่า AIP หรือ Air Independent Propulsion system ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้เรืออยู่ใต้น้ำได้ต่อเนื่องถึง 21 วัน โดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อชาร์จไฟ นับว่าเป็นรุ่นที่อยู่ใต้น้ำได้นานที่สุดของเรือดำน้ำที่ไม่ได้ใช้ระบบนิวเคลียร์เป็นพลังงาน ขณะที่เรือดำน้ำปกติจะดำน้ำได้นาน 7-10 วันเท่านั้น

ประวัติศาสตร์เรือดำน้ำไทย

หลายคนอาจไม่ทราบว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำ เพราะเราเคยมีเรือดำน้ำมาแล้ว แถมยังมีเป็นชาติแรกในอาเซียน และชาติที่ 2 ในเอเชียด้วย

เรือดำน้ำที่เคยเข้าประจำการในกองทัพเรือไทยตั้งแต่ปี 2480 ต่อโดยบริษัทญี่ปุ่น มีจำนวน 4 ลำด้วยกัน คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำได้ปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้ง กระทั่งปลดประจำการทุกลำในปี 2494 เนื่องจากปัญหาขาดแคลนอะไหล่ และญี่ปุ่นแพ้สงคราม

หลังจากนั้นกองทัพเรือก็ว่างเว้นการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการมานานเกือบ 70 ปี ขณะที่มิตรประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศพากันจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการกันอย่างคึกคัก แต่กองทัพเรือก็ไม่ย่อท้อ และได้เตรียมความพร้อมตลอดมา โดยเมื่อปี 2556 ได้ก่อสร้างอาคารกองเรือดำน้ำ และศูนย์ฝึกยุทธการเรือดำน้ำ รวมทั้งเครื่องจำลองการฝึกเรือดำน้ำ มูลค่ารวมเกือบ 1,000 ล้านบาท ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานเมื่อปี 2557

ปัจจุบัน กองเรือดำน้ำ ขึ้นบังคับบัญชากับกองเรือยุทธการ มีคำขวัญที่น่าเกรงขามว่า “อำนาจใต้สมุทร พลังยุทธ์ที่วางใจได้” โดยวันที่ 4 กันยายนของทุกปี ถือเป็น “วันเรือดำน้ำไทย” ซึ่งสาเหตุที่ถือเอาวันดังกล่าวก็เพราะเป็นวันที่เรือดำน้ำ 2 ลำแรกต่อเสร็จ และขึ้นประจำการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2480 นั่นเอง

เรือดำน้ำ...อาถรรพณ์ลูกประดู่

ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2538 กองทัพเรือไทยมีโครงการจัดหาเรือดำน้ำ โดยได้รับข้อเสนอน่าสนใจจากหลายประเทศ ทั้งเยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศส และรัสเซีย แต่โครงการนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะติดทั้งเรื่องงบประมาณและปัญหาการเมือง

ในปี 2553 มีการตั้งเป้าว่าจะจัดซื้อเรือดำน้ำ 6 ลำ จากเยอรมนี เป็นเรือดำน้ำมือสองที่ผ่านการปรับปรุงสมรรถนะแล้ว แต่โครงการก็พับไป จนมาถึงปี 2557 มีการปรับแผนใหม่ โดยเปลี่ยนมาเป็นการซื้อเรือดำน้ำใหม่เอี่ยม 1 ลำ ตัวเลือกคือเรือที่ต่อในเยอรมนีหรือเกาหลีใต้ แต่สุดท้ายโครงการก็พับไปอีกเช่นกัน

กระทั่งปี 2558 กองทัพเรือตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำ S-26T จำนวน 3 ลำจากจีน วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท และคราวนี้น่าจะใกล้ความจริงมากที่สุด โดยมีการตั้งงบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560

ข้อมูลเปิดจากกองทัพเรือยืนยันว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนครั้งนี้ได้ผ่านการศึกษามาเป็นอย่างดี ตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำจากทั่วโลก การตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำจากจีนตอบโจทย์ทั้งเรื่องงบประมาณ, สเปก, ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ยืนยันว่าได้พิจารณาทุกมิติ และคุ้มค่าการลงทุนอย่างแน่นอน

นับจากนี้ลูกประดู่จึงรอลุ้นอยู่อย่างเดียวว่าจะมีเหตุการณ์พลิกผันเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ เพราะทหารบกก็มีรถถังรุ่นใหม่ๆ ไว้ป้องกันข้าศึก, ทหารอากาศก็มีเครื่องบินขับไล่ทันสมัย เหลือเพียงกองทัพเรือที่มีแค่กองเรือดำน้ำ แต่ไม่มีเรือดำน้ำของจริงให้ได้ใช้

ถ้าพลาดอีกก็คงเป็นเรื่องแปลกแต่จริง!

คำถามถึงเรือดำน้ำจีน


จะว่าไปแล้วไม่มีใครปฏิเสธความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำ เพราะประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางทะเลที่ต้องดูแลมากมาย แม้ไทยจะไม่ได้มีภัยคุกคามทางทะเลโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีเรือดำน้ำแล้วเกือบทุกประเทศ

ฉะนั้นความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ แต่ประเด็นที่ต้องหาข้อยุติให้ได้ก็คือ เรือดำน้ำจากจีนที่กำลังอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดหา เหมาะสมกับภารกิจและคุ้มค่าการลงทุนด้วยมูลค่าที่สูงถึง 3.6 หมื่นล้านบาท หรือไม่

การจะค้นหาความเหมาะสมและความคุ้มค่า ต้องเริ่มจากความเข้าใจในภารกิจของเรือดำน้ำเสียก่อน เพราะมายาคติของเรือดำน้ำในความเข้าใจของคนทั่วไปก็คือ ต้องเป็นเรือลำใหญ่ และดำน้ำได้ลึกๆ นานๆ ถึงจะดี แต่นั่นไม่ใช่ความจริงเสมอไป

เรือดำน้ำนั้นมุ่งปฏิบัติภารกิจใต้ท้องทะเล สาเหตุที่ต้องดำน้ำก็เพื่อสอดแนม อาจรุกเข้าไปในเขตของประเทศคู่ขัดแย้งเพื่อเตรียมยุทธบริเวณ เช่น วางทุ่นระเบิด โจมตีหน้าท่า หรือแม้แต่ส่งมนุษย์กบขึ้นฝั่ง

การมีเรือดำน้ำ โดยเฉพาะเรือที่มีศักยภาพสูง คือการป้องปรามก่อนเกิดความขัดแย้ง เพราะเรือดำน้ำเปรียบเหมือนผี คู่ต่อสู้ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน คู่ต่อสู้จึงต้องใช้ทรัพยากรหลายอย่างในการป้องกัน ถือเป็นการเสริมพลังอำนาจทางยุทโธปกรณ์เพื่อป้องปรามคู่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ทั่วโลกใช้ บางทีจึงไม่ได้นำมารบกันจริงๆ

ฉะนั้นจุดเด่นสำคัญของเรือดำน้ำ คือ การซ่อนพราง เคลื่อนที่ฉับไว ปราดเปรียว และมีความเหมาะสมกับยุทธบริเวณ

แต่ด้วยขนาดของเรือดำน้ำจากจีน รุ่น S-26T ซึ่งมีข้อมูลล่าสุดจากทีมวิศวกรจีนว่า มีขนาดยาวถึง 77.70 เมตร กว้าง 8.60 เมตร และมีระวางขับน้ำขณะดำถึง 3,200 ตัน ย่อมสวนทางกับจุดเด่นและภารกิจของเรือดำน้ำที่ไทยต้องการ

“ลำใหญ่-ดำน้ำนาน” ดีจริงหรือ?

เป็นที่ทราบกันดีว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของทุกเหล่าทัพ ต้องมีการจัดทำ “แนวคิดทางยุทธการ” และมีเอกสารที่เรียกว่า staff requirement ซึ่งการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือก็มีการดำเนินการเช่นกัน แต่ดูเหมือนเอกสารนี้จะไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน

เพราะคุณลักษณะของเรือดำน้ำที่ไทยต้องการ พิจารณาจากภารกิจ พื้นที่ อุปกรณ์ ดุลยภาพกำลังรบ ขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ และเหตุผลความจำเป็น ได้ข้อสรุปออกมาว่า เราต้องการเรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียว ระวางขับน้ำมากกว่า 1,000 ตัน แต่ไม่เกิน 2,000 ตัน มีอาวุธตอร์ปิโด และอาวุธปล่อยนำวิถี

สาเหตุที่เราต้องการเรือดำน้ำขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะยุทธบริเวณของกองทัพเรือไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยและชายฝั่งของประเทศเพื่อนบ้าน มีระดับน้ำลึกต่ำกว่า 60 เมตรทั้งสิ้น ยิ่งใกล้ชายฝั่ง ความลึกยิ่งลดลงเหลือเพียง 25-30 เมตร

แต่เรือดำน้ำขนาดใหญ่ อย่าง S-26T ต้องการน้ำลึกถึง 60 เมตรขึ้นไปจึงจะสามารถปฏิบัติการได้อย่างคล่องตัว ฉะนั้นหากนำมาใช้ในอ่าวไทยจะปฏิบัติการได้ค่อนข้างจำกัดมาก นอกจากนั้นระวางขับน้ำที่มากกว่าแบบอื่นโดยเฉลี่ยถึง 1,000 ตัน จะทำให้การควบคุมเรือเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากโมเมนตัมสูงมาก

ฉะนั้นหากได้เรือขนาดใหญ่เกินไปก็จะทำภารกิจได้แค่บางอย่าง เช่น ต่อสู้กับเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำด้วยกัน แต่ในส่วนของภารกิจหาข่าวในพื้นที่ข้าศึก, วางทุ่นระเบิดหน้าท่า หรือส่งมนุษย์กบขึ้นฝั่ง ไม่สามารถปฏิบัติการได้

สำหรับจุดเด่นของเรือดำน้ำจีน ที่เรียกว่า ระบบ AIP หรือ Air Independent Propulsion system ที่เรียกเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศ ซึ่งจีนโฆษณาว่าสามารถดำน้ำนานถึง 21 วันโดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาชาร์จแบตเตอรี่นั้น

ข้อด้อยของระบบ AIP ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงก็คือ AIP เป็นระบบเสริม ไม่ใช่ระบบหลัก เรืออยู่ใต้น้ำได้นานจริง แต่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำมาก คือประมาณ 3 นอต หรือ 5.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ความเร็วในโหมดปกติ ทำได้ถึง 18 นอต หรือ 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สรุปก็คือ ระบบ AIP เป็นระบบเฉื่อย เหมาะสมกับบางสถานการณ์ แต่เมื่อตัวเรือใหญ่มากก็มีปัญหาเรื่องการซ่อนพรางอยู่ดี

ที่สำคัญ ภารกิจของเรือดำน้ำต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเป็นระยะเพื่อสื่อสารกับหน่วยเหนือ และถือโอกาสนั้นชาร์จแบตเตอรี่ เพราะการอยู่ใต้ทะเลไม่สามารถติดต่อด้วยวิทยุสื่อสารได้ และที่ผ่านมาเคยมีเรือดำน้ำที่ดำไปนานๆ แล้วเครื่องดีเซลดึงอากาศในเรือไปใช้จนหมด กำลังพลตายยกลำมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.2003

ถูกจริงหรือแถมน้อย?

ส่วนประเด็นเรื่องราคา ที่สะท้อนความคุ้มค่าของการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนนั้น ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารเสนอราคาของบริษัทจากจีน พบว่าสิ่งที่กองทัพเรือไทยจะได้รับภายใต้วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท คือ เรือดำน้ำ 3 ลำ, การฝึกร่วม, การสนับสนุน และลูกตอร์ปิโดลูกจริง 4 ลูก ลูกฝึก 2 ลูก

ส่วนอุปกรณ์ที่ต้องจ่ายเพิ่มถ้ากองทัพเรือไทยต้องการ คือ ระบบส่งกำลังบำรุงรวม, อะไหล่ 2 ปี, เครื่องฝึก Simulator, ลูกตอร์ปิโดเพิ่มเติม และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือ หรือ Anti-Ship missile ที่รู้จักกันในตัวย่อ ASM

เมื่อเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำจากประเทศอื่นที่เสนอราคาเข้ามาพร้อมกัน จะได้เรือ 2 ลำ การฝึก ระบบส่งกำลังบำรุงรวม, อะไหล่ 2 ปี, การปรับปรุงท่าเรือและอู่ซ่อม, เครื่องฝึก Simulator และลูกตอร์ปิโดถึง 16 ลูก

ทั้งหมดนี้คือคำถามที่มีต่อโครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำจากจีน ซึ่งในเรื่องงบประมาณอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนในแง่ของความเหมาะสมต่างๆ กับภารกิจ เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลต้องตัดสินใจ!

ooo







Atukkit Sawangsuk