วันศุกร์, มีนาคม 24, 2560

ทำไมคนชั้นกลางไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย - ‘ธร ปีติดล’ และ ‘ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์’ สองนักวิชาการหนุ่มแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามตอบคำถามว่าด้วย กปปส.





ทำไมคนชั้นกลางไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย

สมคิด พุทธศรี เรื่อง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ภาพ (ม็อบ กปปส.)

ที่มา เวป 101 World
Mar 23, 2017

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ “กปปส.” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคงจะไม่เป็นการกล่าวเกินไปนัก หากจะบอกว่ามวลชนกลุ่มนี้เองที่คอยสนับสนุนค้ำยันระบอบ คสช. ตลอดช่วงเกือบ 3 ปีมานี้

กระนั้น สิ่งที่ กปปส. ทิ้งไว้ให้สังคมไทย ไม่ได้มีเพียงรัฐบาลทหารและนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทรโอชา เท่านั้น หากแต่ยังทิ้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองไว้มากมาย เช่น กปปส. คือใคร เติบโตมาเช่นไร เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเหตุผลใด อะไรคือคุณค่าที่ยึดถือ เป็นต้น หากเราต้องการเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองไทยและมองหาทางออกร่วมกัน การตอบคำถามเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

‘ธร ปีติดล’ และ ‘ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์’ สองนักวิชาการหนุ่มแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามตอบคำถามว่าด้วย กปปส. ข้างต้นผ่านงานวิจัยเรื่อง เข้าใจบทบาททางการเมืองของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย: กรณีศึกษาจากปรากฏการณ์ กปปส. งานชิ้นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรารู้จัก กปปส. มากขึ้นเท่านั้น หากยังเป็นการทบทวนพัฒนาการของเศรษฐกิจและการเมืองไทยในรอบ 30 ปีหลังด้วย

สมคิด พุทธศรี กองบรรณาธิการ 101 ชวน ‘ธร’ และ ‘ชานนทร์’ เล่าเรื่องงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ให้เราฟังเป็นที่แรก

“ทำไมชนชั้นกลางระดับบนของไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย?” – เราถาม

มาฟังคำตอบจากทั้งคู่กัน

.....

คนชั้นกลางสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่

ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามองประชาธิปไตยว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองแค่ไหน …


ที่มาที่ไปของงานวิจัยชิ้นนี้คืออะไร

ธร : งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง การเมืองของคนดี : ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน ‘ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย’ ซึ่งมีอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย เป็นหัวหน้าโครงการ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โครงการนี้จะว่าไปก็เป็นภาคต่อของโครงการวิจัยเรื่อง ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ที่อาจารย์อภิชาตทำร่วมกับอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร และอาจารย์นิติ ภวัครพันธ์ แต่งานวิจัยชุดนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษา ‘คนเสื้อแดง’ ส่วนงานชุดนี้เราให้ความสนใจกับ ‘คนเสื้อเหลือง’ ซึ่งก็เน้นเฉพาะ ‘กปปส.’ อีกทีหนึ่ง

ในภาพใหญ่ของโครงการ พวกเราพยายามตอบคำถามว่า ‘ปรากฏการณ์ กปปส.’ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีลักษณะแบบไหน ใครเป็นคนที่เข้าร่วม เข้าร่วมเพราะอะไร พูดง่ายๆ คือ เราต้องการทำความเข้าใจกลุ่ม กปปส.

แล้วงานในส่วนของอาจารย์ทั้งสองศึกษาโจทย์เรื่องอะไรเป็นการเฉพาะ

ธร: งานของผมกับชานนทร์จะดูเรื่อง ‘ที่มา’ โดยมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า กปปส. เป็นขบวนการที่มีคนชั้นกลางระดับบนเป็นสมาชิกหลัก เราก็เลยตั้งคำถามว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร เติบโตมาอย่างไร แล้วทำไมถึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ กปปส. ซึ่งเรามองว่าเป็นขบวนการที่มีจุดยืนทางการเมืองที่ไปกันไม่ค่อยได้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นกระบวนการหลัก



ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ทำไมเราต้องทำความเข้าใจคนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลางระดับบน

ธร: เมื่อสัก 25 ปีที่แล้ว ช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คำอธิบายเกี่ยวกับคนชั้นกลางและประชาธิปไตยที่ทรงพลังคือ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เราเชื่อว่าคนชั้นกลางในเมืองมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพลังในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่สูงกว่าคนชนบทซึ่งยังติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์ ในตอนนั้น คนชั้นกลางถูกมองว่าเป็นความหวังของประชาธิปไตย ในทางทฤษฎีก็เชื่อกันแบบนี้ คือถ้าคุณจะพัฒนาประชาธิปไตยได้ จำเป็นต้องขยายฐานคนชั้นกลาง โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง

วิกฤตการเมืองในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา มันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับความคาดหวังเหล่านี้ ถ้ามองกันแบบหยาบๆ เรามีการเมืองแบบสีเสื้อ โดยที่ฐานของกลุ่มแดงคือมวลชนจากต่างจังหวัดและคนชั้นกลางระดับล่าง เป็นขบวนการทางการเมืองที่ความต้องการหลักอย่างหนึ่งคือทำให้กระบวนการการเลือกตั้งถูกใช้ในการเลือกรัฐบาล ในขณะที่กลุ่มเหลืองซึ่งต่อมาวิวัฒนาการเป็น กปปส. โดยมีฐานสนับสนุนอยู่ที่คนชั้นกลางระดับบนในเมือง กลับเป็นฐานตรงข้ามกับกลุ่มแดงในเชิงจุดยืนด้านการเมือง โดยเฉพาะจุดยืนที่ไม่ยอมรับคุณค่าของกระบวนการเลือกตั้ง

สิ่งนี้เองที่ผลักดันให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วความเข้าใจที่ผ่านมาเกี่ยวกับคนชั้นกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะคนชั้นกลางระดับบน ว่าเป็นพลังสนับสนุนประชาธิปไตย จริงๆ แล้วถูกต้องแค่ไหน


ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ชานนทร์: ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีงานที่ศึกษา ‘คน’ ในฐานะที่เป็น ‘คนชั้นกลาง’ ทางเศรษฐกิจมาก คำว่า ‘คนชั้นกลางระดับบน’ กับ ‘คนชั้นกลางระดับล่าง’ ก็เป็นแนวคิดที่เพิ่งมาใหม่ แต่ก่อนเราจะรู้จักแค่คนชั้นล่าง คนชั้นกลาง หรือคนรวยเท่านั้น

ในช่วงหลังเริ่มมีแนวคิดที่บอกว่า จริงๆ แล้วคนตรงกลางแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยที่กลุ่มหนึ่งไม่ได้จนแบบยากจน ในขณะที่อีกกลุ่มมีฐานะดีกว่าแต่ก็ไม่ได้เป็นคนร่ำรวยขนาดนั้น ทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันพอสมควรทั้งในเชิงฐานะ วิถีชีวิต และภูมิลำเนา แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่มีงานอธิบายคนกลุ่มนี้มาก เลยคิดว่างานชิ้นนี้น่าจะมาช่วยเติมเต็มงานวิชาการในเรื่องนี้ได้บ้าง

ในเรื่องคนชั้นกลางกับประชาธิปไตย ประเทศอื่นเจอคำถามแบบเดียวกับเราไหม หรือว่าคนชั้นกลางระดับบนของไทยถือเป็นกรณีพิเศษ

ธร: ประเด็นศึกษาที่ผมอ่านเจออยู่บ่อยๆ คือ กรณีคนชั้นกลางของจีน ซึ่งมีคนศึกษาไว้ค่อนข้างมาก อ่านๆ ดูแล้ว ผมก็คิดต่อเหมือนกันว่าพอจะมีส่วนคล้ายกับของไทย

ในกรณีของจีน คนตั้งคำถามว่า ถ้าคนชั้นกลางขยายตัวแล้ว พวกเขาจะเป็นฐานทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งถ้าเป็นจริง ป่านนี้คนชั้นกลางในจีนต้องลุกขึ้นมาสู้กับการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ไปแล้ว แต่นี่แทบไม่มีเลย กลับกลายเป็นว่าคนชั้นกลางในเมืองของจีนนั่นแหละที่เป็นฐานสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ อินเดีย คนชั้นกลางอินเดียในเมืองค่อนข้างมีจุดยืนแบบอนุรักษนิยม และมีแนวโน้มที่จะเลือกนักการเมืองที่ไม่ใช่ ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ เท่าไหร่ นิยมนักการเมืองที่เน้นแนวทางชาตินิยม นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องเจอปัญหาคนชั้นกลางกับประชาธิปไตยในลักษณะคล้ายกัน

แล้วอะไรคือความต่างในกรณีของไทย

ธร: กรณีของไทยน่าสนใจเป็นพิเศษ อย่าลืมว่าตอนนี้ประเทศไทยปกครองโดยรัฐบาลทหาร ถ้าดูกันแบบละเอียดเลยจะเห็นว่า ประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกันกับไทยทั้งในเชิงรายได้และระดับการพัฒนาไม่มีประเทศไหนที่ปกครองโดยทหารแล้ว การที่คนชั้นกลางระดับบนกลายเป็นพลังหลักหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ ยิ่งทำให้คำถามเกี่ยวกับคนชั้นกลางระดับบนของไทยเป็นคำถามที่ควรจะต้องตอบเป็นพิเศษ





ตอนที่ลงมือทำวิจัยจริงๆ เราตั้งโจทย์กับ กปปส. อย่างไร เพราะจากที่เล่ามาเหมือนว่าทฤษฎีกับโลกจริงดูจะไม่สอดคล้องกันนัก

ธร: ทุกวันนี้ ในเชิงทฤษฎีก็มีงานที่บอกว่าคนชั้นกลางกับประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันเป็นคู่เสมอไป มันมีทฤษฎีอีกชุดหนึ่งที่บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นกลางกับประชาธิปไตยเป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง หรือที่เรียกว่า ‘Contingent Approach’

พูดแบบง่ายๆ คือ กรอบคิดแบบนี้มองว่าคนชั้นกลางจะสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามองประชาธิปไตยว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองแค่ไหน ดังนั้น การวิเคราะห์จึงสนใจหลายปัจจัย เช่น คนชั้นกลางมีความเป็นอิสระหรือพึ่งพิงรัฐ คนชั้นกลางมองฐานะความเป็นอยู่ของตัวเองอย่างไร คนชั้นกลางมีความแนบแน่นกันเป็นชนชั้นแค่ไหน รวมไปถึงว่าคนชั้นกลางมองความมั่นคงและความไม่มั่นคงของตัวเองอย่างไร

งานวิจัยชิ้นนี้ก็ตั้งโจทย์ตามแนวทางนี้?

ธร: ใช่ งานของเราก็ศึกษาบนฐานตัวแปรพวกนี้ พูดง่ายๆ คือ เราพยายามขุดลงไปใน Contingent Approach โดยใช้บริบทของไทย อย่างแรกคือเรื่องเศรษฐกิจกับรัฐซึ่งอันนี้ อ.ชานนทร์เป็นคนขุดลงไปดูว่าเส้นทางการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้คนชั้นกลางระดับบนขยายตัวอย่างไร ขยายตัวตอนไหน พวกเขาโยงกับนโยบายรัฐอย่างไร

ต่อมาส่วนที่ผมเป็นคนพยายามขุด คือเข้าไปศึกษาว่า พวกเขายึดโยงกันเป็นชนชั้นขนาดไหน มองความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและรัฐอย่างไร และอะไรคือสภาพที่พวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคาม (threat) ที่สำคัญกับพวกตน

เราค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้างจากการศึกษาภูมิหลังความเป็นมาทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางระดับบน

ชานนทร์: โจทย์ในเรื่องนี้มีคำถามย่อย 2 คำถาม คำถามแรกคือ คนชั้นกลางระดับบนมีคุณลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ส่วนคำถามที่สอง คือ คนชั้นกลางระดับบนได้รับดอกผลทางเศรษฐกิจตลอดกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างไร อะไรที่ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่นในกระบวนการพัฒนา

คุณลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของคนชั้นกลางระดับบนเป็นอย่างไร

ชานนทร์: ผมขอเน้นเฉพาะความแตกต่างที่สำคัญจากคนชั้นกลางระดับล่าง อย่างแรกคือ คนชั้นกลางระดับบนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอรู้กันอยู่แล้ว แต่ที่งานวิจัยพบเจอเพิ่มเติม คือ ไม่ใช่ทุกคนเป็นคนเมืองดั้งเดิม แต่เมืองเป็นที่ฟูมฟักพวกเขา นั่นคือ เดิมทีกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้เป็นคนชั้นกลางระดับบนมาก่อน แต่ว่าการมาอยู่ในเมืองก่อน หรือหาที่หาทางให้ตัวเอง จัดการตัวเองให้มาอยู่ในเมืองได้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังทะยานทำให้คนกลุ่มนี้เติบโตได้เร็ว

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องการศึกษา การศึกษาของคนชั้นกลางระดับบนกับคนชั้นกลางระดับล่างมีความแตกต่างกัน แต่ไม่ได้ต่างกันมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ เช่น เราชอบมองว่าคนชั้นกลางระดับบนต้องจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่แบบนั้น คนชั้นกลางระดับบนส่วนใหญ่ได้เรียนหนังสือไม่เกินระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างแล้ว คนชั้นกลางระดับบนก็เข้าถึงการศึกษาระดับสูงกว่าโดยเฉลี่ย

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ความแตกต่างที่แท้จริงของคนชั้นกลางระดับบนกับคนชั้นกลางระดับล่างในมิติการศึกษาคืออะไร

ชานนทร์: ถ้ามองผ่านประวัติศาสตร์การพัฒนาจะเห็นว่า คนชั้นกลางระดับบนมีพลวัตในเรื่องการศึกษาค่อนข้างสูงเพราะสามารถเรียนต่อเรียนเพิ่มได้ นอกจากนี้ ลักษณะสำคัญของคนกลุ่มนี้คือสามารถส่งผ่านการศึกษาขั้นสูงให้กับคนรุ่นหลังของตัวเองได้เมื่อเทียบกับคนรุ่นหลังของคนชั้นกลางระดับล่างที่ส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาอยู่ในระดับกลางเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้มีนัยยะสำคัญต่อความเหลื่อมล้ำในอนาคตด้วย

แล้วเรื่องอาชีพเป็นอย่างไร

ชานนทร์: เรื่องอาชีพก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนพลวัตของการเปลี่ยนแปลง เดิมทีสังคมไทยเป็นสังคมที่คนจำนวนมากอยู่ในภาคการเกษตร แต่ว่าในยุคแรกๆ คนชั้นกลางระดับบนคือคนสามารถจัดการตัวเองให้ออกจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคการผลิตอื่นได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่ามันเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย

เมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตก็มีความต้องการงานประเภทวิชาชีพและงานทักษะขั้นสูงมากขึ้น กลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในเมืองและมีการศึกษาอยู่แล้วก็จะได้ประโยชน์จากโอกาสงานที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคนชั้นกลางระดับบนเป็นคนที่มีวิชาชีพขั้นสูงทั้งหมด แต่จะบอกว่าคนที่อยู่ในวิชาชีพขั้นสูงส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นนี้





ทุกคนได้ประโยชน์ ทุกคนวิ่งไปข้างหน้าหมด

แต่คนชั้นกลางระดับบนเติบโตเร็วกว่า วิ่งได้เร็วกว่า


ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีของการพัฒนา คนชั้นกลางระดับบนก่อร่างสร้างตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร

ชานนทร์: ข้อมูลที่ใช้ศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2524-2556 เพราะเป็นชุดข้อมูลที่เข้าถึงได้ ส่วนช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เราไม่มีข้อมูลอยู่ในมือ จึงอาศัยการสำรวจวรรณกรรมเป็นหลัก

ในยุคแรกเริ่มของการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ คือราวปี พ.ศ. 2505-2525 สัดส่วนคนจนในไทยลดลงอย่างรวดเร็วมาก จากเกือบ 60% ลดลงเหลือประมาณ 30% แต่ว่าถ้าเราดูข้อมูลแบบละเอียด กลับกลายเป็นว่าคนจนที่สุดได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจน้อยมาก พูดอีกแบบคือ การพัฒนาในช่วงแรกช่วยลดระดับความยากจนได้มากก็จริง คือสามารถพาคนจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจน แต่ก็มีอคติกับคนที่จนที่สุด

ในช่วงปี พ.ศ. 2524-2556 เราแบ่งเส้นชัยออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ในช่วง 10 ปีแรก หรือในช่วงปี พ.ศ. 2524-2535 เป็นช่วงที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่เราพบก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากการที่คนชั้นกลางระดับบนเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ในช่วงนั้น คนทุกกลุ่มได้ประโยชน์ แต่ว่าการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่เท่ากัน คนชั้นกลางระดับบนได้มากกว่าเพื่อนใช่ไหม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ชานนทร์: ใช่ ทุกคนได้ประโยชน์ ทุกคนวิ่งไปข้างหน้าหมด แต่คนชั้นกลางระดับบนเติบโตเร็วกว่า วิ่งได้เร็วกว่า เหตุผลก็เพราะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคหลายตัวที่เอื้ออำนวย เช่น อัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อต่อการส่งออก ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่น้อยลง และการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลชัดเจนต่อคนที่อยู่ใน ‘ชัยภูมิที่ดีกว่า’ เช่น อยู่ในเมือง ทำงานเป็นผู้ประกอบวิชาชีพขั้นสูง เป็นพนักงาน เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งคุณลักษณะนี้เป็นของคนชั้นกลางระดับบน

แล้วหลังจากปี 2535 เกิดอะไรขึ้น

ชานนทร์: ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำโดยรวมลดลง ถ้าเปรียบเทียบระหว่างคนชั้นกลางระดับล่างกับระดับบน จะมีช่วงที่คนชั้นกลางระดับล่างสามารถไล่กวดคนชั้นกลางระดับบนได้อยู่สองช่วงด้วยกัน ช่วงแรกคือช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (พ.ศ. 2535 – 2540) หลายคนอาจจะแปลกใจ เพราะช่วงหลังรัฐบาลชาติชายจนถึงก่อนวิกฤตเป็นช่วงเศรษฐกิจบูม คนชั้นกลางระดับบนน่าจะเติบโตได้ดี แต่จริงๆ แล้วกลับเป็นช่วงที่คนชั้นกลางระดับล่างเติบโตไล่ขึ้นมาได้ด้วย

หลังปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤต กลับกลายเป็นว่าคนชั้นกลางระดับล่างเป็นกลุ่มคนที่ฟื้นฟูตัวเองได้ช้ากว่าคนชั้นกลางระดับบน แล้วสุดท้ายกว่าจะมาเจอช่วงที่ได้เวลาไล่กวดอย่างจริงจังอีกทีคือหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงปี พ.ศ. 2556

ถ้ามองเฉพาะช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544-2549) ข้อมูลบอกอะไรเราบ้าง

ชานนทร์: ช่วงรัฐบาลทักษิณน่าสนใจตรงที่ว่า ระดับความเหลื่อมล้ำระหว่างคนชั้นกลางระดับล่างกับระดับบนลดลงเล็กน้อย แต่คนที่ได้ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจเพิ่มเร็วไม่ใช่กลุ่มคนที่จนที่สุด แต่เป็นพวกคนชั้นกลางระดับล่างบางกลุ่มคือเป็นพวกซีกบนๆ หน่อย พูดอีกแบบก็คือ คนชั้นกลางระดับล่างบางส่วนเท่านั้นที่เติบโตได้เร็วในยุคทักษิณ ส่วนคนชั้นกลางระดับบนไม่ได้เติบโตได้เร็วมากนักในช่วงนี้

เกิดอะไรขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ทำไมความเหลื่อมล้ำในประเทศดูคล้ายจะลดลง ทำไมคนจนและคนชั้นกลางระดับล่างเหมือนจะได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ชานนทร์: ปัจจัยด้านอาชีพมีความสำคัญที่สุด คนชั้นกลางระดับล่างส่วนใหญ่ที่ยังผูกติดกับภาคการเกษตร ก่อนปี พ.ศ. 2543 คนกลุ่มนี้เติบโตได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเผชิญกับภาวะราคาสินค้าทางการเกษตรผันผวนอยู่ตลอดเวลา

แต่ว่าในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ราคาสินค้าเกษตรมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนชั้นกลางระดับล่างหรือคนจนไล่กวดคนข้างบนได้มากขึ้น ในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2549 จนถึง พ.ศ. 2556 ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รวมทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายแทรกแซงกลไกราคาสินค้าเกษตรในหลายรัฐบาลส่งผลอย่างสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายแทรกแซงราคาตลาดสินค้าเกษตรเช่นกัน นโยบายเหล่านี้ช่วยทำให้รายได้ของคนที่อยู่ในภาคเกษตรดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ไล่กวดตามคนข้างบนขึ้นมาได้

นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงพื้นที่ก็มีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เพราะเป็นช่วงที่กระบวนการกระจายอำนาจกำลังเกิดขึ้นตามหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้รัฐบาลส่วนกลางจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2556

แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า งานวิจัยนี้ไม่ได้ศึกษาว่ามันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรงเลยหรือไม่ แต่ก็พอจะเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องในช่วงเวลาเดียวกัน

เรามีสมมติฐานว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นผลจากส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ อาจารย์บอกว่าหลังปี 2549 คนชั้นกลางระดับล่างได้ประโยชน์จากนโยบายมาก แต่ทำไมเขาก็ยังไม่เอารัฐบาลนอกเครือข่ายทักษิณอยู่ดี ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เรื่อยมา ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังดำรงอยู่

ธร: ต้องบอกว่างานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาคนชั้นกลางระดับล่างเสียทีเดียว มันเกินขอบเขตของเรา แต่จริงๆ มีส่วนที่โยงเข้ากับงานในส่วนที่ผมทำ เพราะช่วยทำให้เห็นว่า การที่คนจะให้การสนับสนุนทางการเมืองนั้นไม่ได้ทำงานแบบง่ายๆ ไม่ใช่ว่าถ้าเราเห็นว่านโยบายช่วงนี้มีประโยชน์กับตัวเอง ก็จะหันไปสนับสนุนรัฐบาล มันทำงานผ่านกลไกที่ซับซ้อนกว่านั้น

กลับมาสู่เรื่องคนชั้นกลางระดับบนกับประชาธิปไตย ข้อค้นพบทั้งหมดในงานส่วนแรกบอกอะไรเราในเรื่องนี้

ชานนทร์: งานส่วนของผมยืนยันสมมติฐานที่บอกว่า กลุ่มคนชั้นกลางระดับบนเติบโตรวดเร็วมากในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2535 โดยเฉพาะช่วงรัฐบาลพลเอกเปรมและพลเอกชาติชาย แต่ว่าในช่วงหลังจากนั้น คนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เติบโตเร็วกว่าคนชั้นกลางระดับบนตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ธร: งานของอาจารย์ชานนทร์ทำให้เรารู้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของคนชั้นกลางระดับบนเป็นอย่างไร พวกเขาโตขึ้นมาภายใต้สภาพแบบใด ภายใต้นโยบายแบบไหน วิ่งเร็วกว่าคนอื่นเพราะอะไร

แต่ว่ามันยังมีคำถามที่ค้างอยู่ ถึงแม้เราจะรู้สภาพแวดล้อมในชีวิตของคนชั้นกลางระดับบน แต่เรายังไม่รู้ว่า พวกเขามองสิ่งเหล่านี้อย่างไร นี่เป็นงานในส่วนที่ผมทำ ถ้าเรารู้ ก็พอจะเข้าใจต่อไปได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ได้ยึดโยงตัวเองเข้ากับแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย

ยกตัวอย่างที่อาจารย์ชานนทร์เจอว่าคนชั้นกลางระดับบนโดนไล่กวด เราก็ตั้งคำถามขึ้นมาต่อว่า การโดนไล่กวดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขารู้สึกถูกคุกคามหรือไม่ หรือยังมีอะไรอื่นอีกที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งคุกคาม ‘การเมืองที่ดี’ ของเขา

อาจารย์สัมภาษณ์เชิงลึก ชาว กปปส. หลายคน อะไรคือโจทย์ที่ใช้ทำงาน

ธร: มันยังอยู่ในฐานของตัวแปรที่พูดไปก่อนหน้านี้ อย่างแรกเลยก็คือเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจกับคนชั้นกลางระดับบน จากงานของอาจารย์ชานนทร์ทำให้เราพอทราบว่า คนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทยโตเร็วในช่วงปี พ.ศ. 2524-2535 นั่นหมายความว่า คนที่อยู่ในกระแสการเติบโตกลุ่มนี้มักจะเกิดในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โตในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ถึงพลเอกเปรม และเริ่มสร้างกิจการในสมัยพลเอกเปรมถึงพลเอกชาติชาย

ทีนี้เราก็ลองเลือกไปคุยกับคนกลุ่มนี้ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) ถามเขาว่ามองการเติบโตของตัวเองอย่างไร ที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เราพบคือ เขาไม่ค่อยรู้สึกว่าความสำเร็จในชีวิตของตัวเองผูกโยงกับการมีอยู่ของรัฐเลย ซึ่งทำให้เราตั้งคำถามว่า การที่เราเคยเชื่อว่า คนชั้นกลางระดับบนเข้าร่วม กปปส. และสนับสนุนทหาร เพราะคิดถึงสถานการณ์แบบในอดีตที่เคยได้ประโยชน์ จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราคงต้องขุดไปที่กลไกที่ซับซ้อนกว่านั้น





เราเจอคนชั้นกลางระดับบนกลุ่มใหญ่เลยที่สะท้อนภาพให้เห็นว่ามันไม่มีโครงสร้างอะไรให้ยึดถือในช่วงที่เขาเติบโต

นี่คือโมเมนต์อันเหมาะเจาะที่รัฐจะใช้ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ จนพวกเขายึดเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ตัวเอง


อาจารย์กำลังจะบอกว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวกำหนดรสนิยมทางการเมือง?

ธร: ความสัมพันธ์เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการสนับสนุนรัฐบาลแบบเผด็จการนั้น ไม่สามารถให้น้ำหนักโดยตรงไปที่นโยบายเศรษฐกิจขนาดนั้น แน่นอนว่า เมื่อฐานะทางเศรษฐกิจของเราเติบโต คนก็อาจจะรู้สึกว่าช่วงนั้นดี มันก็คงมีส่วน แต่การที่คนชั้นกลางระดับบนมองว่าตัวเองไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ หรือได้น้อยมาก ทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อว่า แล้วทำไมคนชั้นกลางระดับบนถึงผูกพัน (attach) กับรัฐแบบเผด็จการ

เราไปเจอว่าคำอธิบายที่น่าจะดีกว่า ซึ่งมองไปที่ห้วงการเติบโตของเขาว่ามีโครงสร้างอะไรให้ยึดโยงแค่ไหน ผมพบว่า คนชั้นกลางระดับบนโตมาในลักษณะที่ต่างคนต่างโดดเดี่ยว แยกขาดจากสิ่งอื่น (isolate) ในแง่หนึ่ง ต้องบอกว่าคนรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกและอาจเป็นรุ่นเดียวที่เติบโตได้รวดเร็วขนาดนี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นคนจีนในกรุงเทพฯ เป็นลูกหลานของคนจีนอพยพ แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาต้องโตมาด้วยโครงสร้างที่อัตลักษณ์ความเป็นจีนอพยพถูกกดทับเอาไว้ และโครงสร้างทางชนชั้นที่ยังไม่ก่อตัว

ในการทำวิจัย เราเจอคนชั้นกลางระดับบนกลุ่มใหญ่เลยที่สะท้อนภาพให้เห็นว่ามันไม่มีโครงสร้างอะไรให้ยึดถือในช่วงที่เขาเติบโต นี่คือโมเมนต์อันเหมาะเจาะที่รัฐจะใช้ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองเข้าไปให้แก่คนกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพ จนพวกเขายึดเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ตัวเอง

แล้วคนชั้นกลางระดับบนผูกตัวเองเข้ากับอุดมการณ์แบบไหน

ธร: ถ้าเราดูบริบทที่คนชั้นกลางระดับบนโตมาจะเห็นว่า อุดมการณ์ที่รัฐป้อนให้ประชาชนเป็นอุดมการณ์ที่ไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตยเท่าไรนัก เป็นอุดมการณ์แบบสมัยพลเอกเปรม เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หัวใจสำคัญของการเมืองไทยในยุคนั้นไม่ใช่การทำให้ประชาธิปไตยที่มีนักการเมืองเป็นตัวหลักประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญคือการพยายามรักษาโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมเอาไว้ให้ได้ ซึ่งก็คือโครงสร้างแบบกึ่งเผด็จการ ตรงนี้แหละที่สำคัญ ในภาวะที่คนชั้นกลางกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็เคว้งคว้าง ไม่มีอะไรให้ยึด พวกเขาก็รับเอาอุดมการณ์ที่สนับสนุนโครงสร้างการเมืองแบบนี้เข้าไปเต็มๆ

มาถึงตรงนี้อาจมีคนเริ่มสับสน เพราะอาจารย์ชานนทร์ชี้ว่า ในด้านหนึ่งคนชั้นกลางโดนไล่กวดทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจารย์ธรกลับบอกว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคม

ชานนทร์: เมื่อไปถามคนชั้นกลางระดับบนเรื่องการถูกไล่กวดทางเศรษฐกิจแบบตรงๆ เราจะไม่ได้คำตอบนั้น แม้กลุ่มคนข้างล่างจะเติบโตได้ดีขึ้นแต่ฐานะทางเศรษฐกิจของทั้งสองกลุ่มก็ยังมีความแตกต่างอยู่พอสมควร

ธร: การที่คนข้างล่างเติบโตขึ้นมาในทางเศรษฐกิจไม่ได้คุกคามพวกเขาเท่ากับการที่คนข้างล่างมีสิทธิ์ทางการเมือง มีสิทธิ์เลือกคนมาเป็นรัฐบาล พูดอีกแบบคือ เขาไม่ได้มองว่า การมีคนมาไล่กวดทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องแย่ แต่การเมืองที่เปลี่ยนไปเพราะคนข้างล่างเข้ามามีบทบาทหลักต่างหาก เป็นการเมืองที่ไม่ดี

ถ้าอย่างนั้น เราจะอธิบายการที่ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางระดับบนเคยไปไกลกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบได้อย่างไร อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

ธร: ตอนนั้นผมก็โตไม่ทัน เลยไม่มีประสบการณ์ตรง แต่ขอพูดในฐานะคนที่ได้ไปอ่านสำรวจวรรณกรรมมาบ้าง มันก็มีชุดคำอธิบายอยู่ที่บอกว่า คนชั้นกลางระดับบนไม่ได้เชียร์ประชาธิปไตยอะไรมากมายหรอก พวกเขาแค่รู้สึกว่าทหารแบบตอนนั้นไปต่อไม่ได้แค่นั้นเอง

แล้วเราอธิบายเรื่องคนชั้นกลางระดับบนกับขบวนการต่อต้านทักษิณ ชินวัตรอย่างไร

ธร: ทัศนคติของคนชั้นกลางระดับบนกับการต่อต้านทักษิณมีรูอยู่อันหนึ่ง คนชั้นกลางระดับบนมักจะหยิบเอาประเด็นประชานิยมหรือคอร์รัปชันมาใช้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าอันนี้เป็นประเด็นที่ก้าวหน้า เช่น เขาไม่อยากได้นักการเมืองที่คอร์รัปชัน มองว่านโยบายประชานิยมเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งจริงๆ ประเด็นพวกนี้เป็นแนวคิดสมัยใหม่นะ

แต่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คนที่ต่อต้านทักษิณมักจะเอาแนวคิดพวกนี้ไปผสมกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองรับมาตั้งแต่อดีต พูดอีกแบบคือ พวกเขาผสมแนวคิดนี้กับความเชื่อที่ว่าปัญหาหลักของการเมืองคือนักการเมืองเป็นคนไม่ดี เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงคอร์รัปชัน เขาจะให้น้ำหนักกับการต่อต้านนักการเมืองเป็นพิเศษ แต่กลับไม่ค่อยมองด้วยมาตรฐานแบบเดียวกันกับกลุ่มที่เข้ามามีอำนาจทางการเมืองกลุ่มอื่น เช่น ทหาร

แม้กระทั่งการต่อต้านนโยบายประชานิยม ก็ยังผสมกับฐานคิดเดิมปนกันไป นั่นคือ มองว่าประชานิยมเป็นเรื่องของนักการเมืองที่พยายามทำให้คนชั้นล่างโลภ ประชานิยมทำลายความสงบสุขของสังคมไทยแบบดั้งเดิม ทำลายสังคมชนบทที่คนมีความพอเพียงในตัวเอง ดังนั้นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่มีศีลธรรมจะต้องรักษาโครงสร้างนี้เอาไว้ อาจบอกได้ว่า การต่อต้านทักษิณลึกๆ แล้วอยู่บนฐานคิดทางการเมืองแบบเก่าของไทย เพียงแต่ถูกผสมเอาแนวคิดที่ทันสมัย อย่างเช่นคอร์รัปชันและประชานิยม ผสานเข้ามาด้วย





การต่อต้านทักษิณลึกๆ แล้วอยู่บนฐานคิดทางการเมืองแบบเก่าของไทย

เพียงแต่ถูกผสมเอาแนวคิดที่ทันสมัย อย่างคอร์รัปชันและประชานิยม ผสานเข้ามาด้วย


งานวิจัยชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจคนชั้นกลางระดับบนของไทย ถ้าโจทย์คือการพยายามทำให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนมาสู่เส้นทางประชาธิปไตย จะต้องทำอย่างไร

ชานนทร์: ผมยังคิดว่ากลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ขัดแย้งน่าจะมีจุดร่วมอะไรบางอย่าง คือถ้าจะต้องดึงคนจำนวนมากให้หันมาใส่ใจ “ระบบการเมืองแบบใหม่” ก็น่าจะต้องเป็นระบบที่มีความรับผิดชอบ ระบบที่ลงโทษคอร์รัปชัน ซึ่งก็ต้องเป็นระบบที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี และจริงๆ แล้วระบบนี้ก็คือระบบประชาธิปไตยนี่แหละ

ธร: ผมไม่ค่อยมีความหวังนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าจะพูดอะไรที่คิดต่อจากงานวิจัย ผมคิดว่า ด้วยสภาพความจริงที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับช่วงที่คนชั้นกลางระดับบนเติบโตมา พวกเขาก็อาจยังมีพื้นที่ที่ให้เราสามารถชักจูงเชิงอุดมการณ์ได้ อาจจะมีช่องว่างอยู่บ้างให้เราผลักดันแนวคิดที่มองว่าประชาธิปไตยควรเป็นหัวใจของระบบการเมืองได้