วันศุกร์, มีนาคม 24, 2560

ทหารทำอะไร หรือห้ามทำอะไรได้บ้างในระบบการเมืองสหรัฐฯ





พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู : ทหารทำอะไร หรือห้ามทำอะไรได้บ้างในระบบการเมืองสหรัฐฯ


โดย พงศกร รอดชมภู
22 มีนาคม พ.ศ.2560
มติชนสุดสัปดาห์


ในประเทศที่มีประชาธิปไตยมั่นคง การเมืองจะมีวาระและมีเสถียรภาพ ความเจริญจะมีความมั่นคง ภัยคุกคามและปัญหาต่างๆจะถูกแก้ไขได้รวดเร็ว แม้ว่าบางครั้งจะมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือเป็นที่กังขาบ้าง แต่ด้วยการมีวาระชัดเจนหรือมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ประชาชนก็สามารถเลือกทิศทางของชาติได้ใหม่เสมอโดยไม่ติดกับดักอยู่กับความถดถอยเหมือนประเทศเผด็จการทั่วไป

ในการสร้างประชาธิปไตยนั้น เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยในอนาคต จึงขอนำแนวทางในการอนุญาตให้ทหารของตนทำหรือห้ามทำอะไรบ้างของประเทศสหรัฐฯ มาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปเมื่อมีโอกาสได้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงในอนาคต

สิ่งที่รัฐให้ทหารสหรัฐฯทำได้มีดังต่อไปนี้คือ

สามารถลงทะเบียน ลงคะแนนเสียง แสดงความเห็นส่วนตัวต่อผู้ลงสมัครได้

สามารถส่งเสริมและให้ทหารผู้อื่นไปลงคะแนนเสียงโดยที่ไม่กระทบต่อผลหรือขัดขวางผลการเลือกตั้ง

สามารถร่วมประชุมทางการเมืองได้เมื่อไม่สวมเครื่องแบบ

สามารถเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง หากหน้าที่นั้นไม่ใช่เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง ไม่รบกวนการปฏิบัติหน้าที่ทางทหารและต้องไม่ใส่เครื่องแบบโดยได้รับอนุมัติแล้วเท่านั้น และห้ามรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบมอบหมายอำนาจแก่ผู้อื่น

สามารถลงนามในคำร้องให้มีการเสนอกฎหมายหรือคำร้องให้เสนอชื่อผู้สมัครฯ เมื่อการลงนามนั้นไม่ผูกมัดให้เกี่ยวข้องกับการฝักใฝ่กิจกรรมทางการเมือง เป็นการกระทำในฐานะพลเมืองธรรมดาและไม่ใช่เป็นตัวแทนของกองทัพ





สามารถเขียนหนังสือถึงหนังสือพิมพ์เรื่องความเห็นส่วนตัวต่อประเด็นสาธารณะหรือผู้ลงรับสมัครฯ ถ้าหนังสือนั้นไม่เกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงที่จัดตั้งอยู่หรือ หรือชักชวนให้มีการลงคะแนนสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใครหรือฝ่ายใด ถ้าหนังสือนั้นระบุว่าเป็นทหารประจำการ จดหมายนี้ต้องแสดงให้ชัดเจนว่าเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้นไม่เกี่ยวกับทางราชการ

สามารถบริจาคเงินให้กับองค์กรทางการเมือง พรรคการเมืองหรือชุมชนที่สนับสนุนผู้สมัครฯหรือตัวผู้สมัครตามรายชื่อ ตามที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนด

สามารถแสดงเครื่องหมายทางการเมืองบนรถส่วนตัวได้
สามารถเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนทางการเมือง การประชุม การรณรงค์ การโต้วาที การประชุมใหญ่ หรือร่วมชมใดๆที่ไม่มีการใส่เครื่องแบบ และเมื่อไม่มีอิทธิพลหรือมีการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ การอนุมัติหรือการรับรองนี้อาจถูกถอดถอนได้หากมีเหตุผลเพียงพอ

สามารถเข้าร่วมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้
ในส่วนของข้อห้ามนั้น เป็นดังต่อไปนี้

ห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมระดมทุน รณรงค์ ประชุมใหญ่ บริหารจัดการรณรงค์หรือโต้วาที ไม่ว่าจะในนามของตัวเองหรือผู้อื่นโดยไม่มีการกล่าวอ้าง มีการสนับสนุน การอนุมัติหรือรับรองอย่างเป็นทางการ และการมีส่วนร่วมที่เกินกว่าการเป็นผู้ชมปกติ

ห้ามใช้อำนาจที่เป็นทางการ อิทธิพลหรือแทรกแซงการเลือกตั้ง มีผลกระทบต่อการทำงานหรือผลการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการลงคะแนนต่อผู้สมัครคนใดหรือประเด็นใด หรือต้องการหรือเรียกร้องทางการเมืองจากผู้อื่น

ห้ามยอมหรือเป็นเหตุในการพิมพ์บทความการฝักใฝ่การเมือง หนังสือ หรือรับรองการลงนามหรือลายลักษณ์อักษรที่เรียกร้องการลงคะแนนให้หรือไม่ลงคะแนนต่อพรรคการเมือง ผู้สมัครฯ หรือหัวข้อใดๆ อย่างไรก็ตาม การเขียนหนังสือต่อบรรณาธิการนั้นทำได้

ห้ามทำงานอย่างเป็นทางการให้กับการสนับสนุนกับสมาคมทางการเมือง

ห้ามพูดต่อการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับพรรคการเมือง ผู้สมัครหรือหัวข้อการอภิปราย

ห้ามมีส่วนร่วมในรายการทางวิทยุ โทรทัศน์หรืออื่นๆ หรือกลุ่มสัมมนาในการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการเมืองใด ผู้สมัครหรือหัวข้อใด

ห้ามทำการสำรวจความเห็นทางการเมืองภายใต้การสนับสนุนการเมืองใด หรือกลุ่มหรือทำการแจกจ่ายเอกสารทางการเมือง





ห้ามทำการบรรยายธรรมหรือทำหน้าที่ใดให้กับคณะกรรมการทางการเมืองหรือผู้สมัครฯระหว่างการรณรงค์ หรือวันลงคะแนน หรือหลังจากลงคะแนนในระหว่างกระบวนการยุติการเลือกตั้ง

ห้ามเรียกร้องหรือร่วมในการหาทุนในที่ทำการราชการใดๆ รวมถึงกำลังสำรองในประเด็นทางการเมืองหรือผู้สมัครฯใดๆ

ห้ามเดินขบวนหรือร่วมในขบวนของพรรคการเมือง

ห้ามแสดงเครื่องหมายทางการเมือง ตราหรือโปสเตอร์ขนาดใหญ่บนรถส่วนตัว

ห้ามแสดงเครื่องหมายสังกัดทางการเมือง โปสเตอร์ ตรา หรืออื่นใดต่อสาธารณะในที่พักในค่ายทหาร แม้ว่าจะเป็นที่พักซึ่งเป็นส่วนการพัฒนาของเอกชนก็ตาม

ห้ามมีส่วนร่วมในการจัดตั้งใดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้รับการขนส่งไปยังที่ลงคะแนนหากว่าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ผู้สมัครหรือประเด็นทางการเมือง

ห้ามขายบัตรหรือกิจกรรมในเรื่องสนับสนุนการเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อระดมทุนของพรรคการเมืองและการหาทุนในลักษณะเดียวกัน

ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในฐานะผู้แทนเป็นทางการของทหาร นอกจากเป็นการร่วมพิธีที่เป็นทางการของการประชุมระดับชาติของพรรคการเมือง ที่คณะกรรมการเลือกตั้งรับรองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้อำนาจไว้

ห้ามทำการรณรงค์ให้บริจาคหรือรับบริจาคหรือเรียกร้องให้มีการบริจาคจากทหารประจำการ

ห้ามทำการทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงความมั่นคงเกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือหลีกเลี่ยงข้อบังคับนี้

มาตรา ๘๘ ของข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ห้ามนายทหารใช้คำพูดเหยียดหยามผู้บังคับบัญชาหากฝ่าฝืนเป็นความผิดอาญาและต้องขึ้นศาลทหาร และในทางเทคนิคแล้วรวมถึงนายทหารนอกราชการด้วยในกรณีถ้าถูกเรียกมาประจำการ

มาตรา ๑๓๔๔.๑๐ กิจกรรมทางการเมืองโดยกำลังพลของกองทัพในขณะประจำการ ทั้งพลทหารและนายสิบจะมีความผิดอาญาตามมาตรา ๙๒ ในเรื่องขัดคำสั่งหรือข้อบังคับ

ห้ามทำงานในตำแหน่งใดๆฝ่ายการเมืองพลเรือนหากเป็นตำแหน่งจากการเลือกตั้ง จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโดยข้อเสนอแนะของวุฒิสภาหรือ เป็นตำแหน่งในฝ่ายบริหารที่ยกเว้นไว้ตามกฎหมายอื่น

ห้ามทำงานในตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายพลเรือน ยกเว้น เป็นพลทหารที่ทำหน้าที่รับรองเอกสาร หรือเป็นคณะกรรมการโรงเรียน หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและหน่วยวางแผนของเขตใกล้เคียง โดยที่เป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถทางทหารและไม่มีการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ทางทหาร





กล่าวโดยย่อคือ ทหารประจำการของสหรัฐฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในกรณีใดๆ ตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม และในทางการเมืองฝ่ายการเมืองที่เป็นพลเรือน คือผู้บังคับบัญชาของทหาร ดังนั้นจึงห้ามนายทหารพูดดูหมิ่นในทางใดๆต่อผู้บังคับบัญชาที่เป็นพลเรือนหรือในความหมายของไทยคือนักการเมืองที่มาเป็นรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีและมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในกรณีของสหรัฐฯ หรือรัฐมนตรีผู้เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเช่นตามรัฐธรรมนูญสหพันธ์ฯ เยอรมนี เป็นต้น ส่วนในระดับชั้นประทวนและพลทหารก็มีโทษในฐานะขัดคำสั่งหรือขัดขืนต่อข้อบังคับไป ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งสามระดับ

ในประเทศที่ฝ่ายการเมืองเป็นเผด็จการและใช้กำลังทหารเพื่อกดขี่ประชาชนเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์นั้น ทหารจะฝักใฝ่ทางการเมืองมากเพราะมีส่วนได้เสีย การเชียร์พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่นิยมทหารจึงเป็นเรื่องปกติ และมักจะพาประเทศชาติไปสู่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจทุกที่ไปเพราะการใช้อำนาจบังคับนั้น ไม่อาจอยู่รอดในระบบการแข่งขันในเวทีตลาดโลก

ธุรกิจผูกขาดบางแห่งอาจอยากให้ทหารเป็นฝ่ายตน และสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตนเพราะมีกำลังพลในสังกัดมาก แต่ก็มักพบว่าการลงคะแนนเสียงในหน่วยทหารเพื่อสนับสนุนผู้นำของตนมีไม่มากนัก สุดท้ายก็ต้องใช้กำลังและคำสั่งทางทหารยึดอำนาจทำรัฐประหารซ้ำซาก จนประเทศยากจนลง

ด้วยเหตุนี้ประเทศที่เจริญแล้วเช่นสหรัฐอเมริกา จึงกำหนดขีดเส้นระหว่างทหารกับการเมืองออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อให้การเมืองมีการแข่งขันอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพส่งผลให้ได้คนที่ประชาชนเลือก คนที่ประชาชนเลือกเป็นคนดีเสมอเพราะคนส่วนใหญ่ได้ช่วยกันคัดกรองแล้ว

เมื่อประเทศไทยผ่านพ้นเวลาชั่วคราวนี้ไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว (แน่นอนว่าการเลือกตั้งไม่ได้หมายถึงเป็นประชาธิปไตยหากมีฝ่ายแต่งตั้งเข้ามามากๆ) การกำหนดบทบาทระหว่างทหารกับการเมืองนั้น เป็นสิ่งจำเป็น