วันพฤหัสบดี, มีนาคม 30, 2560

หมดสิ้นแล้วละ ศักดิ์ศรีความน่าเชื่อถือของ คสช. และลิ่วล้อ





เอาสมยาไหนดีสภาแห่งนี้ ‘ส่งเกลียด’ หรือ ‘ซ่นเกลือก’ สมาชิกเข้าประชุมไม่ถึง ๕๐ ดันมีเสียงโหวตตั้ง ๑๕๓

สนช. ผู้คร่ำหวอดการเมือง เคยวนเวียนเป็นโน่นเป็นนี่ในสังกัดพรรคการเมืองนับโหล ลุกขึ้นพูดหยามอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่เรียกร้องให้นับองค์ประชุมเพราะเห็นคนโหรงเหรง

นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ลุกขึ้นแย้งนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลว่า “ไม่สามารถนับองค์ประชุมตามที่ขอได้ เพราะสภาแห่งนี้เป็นสภาอันทรงเกียรติ ไม่เหมือนสภาปาหี่ที่เคยเป็นในสมัยของท่าน”

(http://news.voicetv.co.th/thailand/475581.html)





ทั้งที่จริง สภาซึ่ง คสช. ไล่ตั้งอย่าง สนช. นี่ ‘ป๊ะห่วย’ หาไหนเทียบได้แล้วทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แบบว่ามีสมาชิก ๗ คน (รวมทั้งน้องนายกฯ ที่ได้รับเหรียญสดุดี) ขาดประชุมค่อนสมัย แถมเป็นสภาที่มีวันหยุด ๓ อาทิตย์ต่อเดือน

เอาง่ายๆ ดูได้จากที่นายมหันต์นรก (พยางค์หลังอ่านเสียงกล้ำ) ยังมีหน้าบอกว่า “ผู้แถลงมีหน้าที่แถลงปิดคดีเท่านั้น ท่านไม่มีสิทธิใดๆ” ที่จะเรียกร้องให้นับองค์ประชุม

เสร็จแล้วมีการเชิญคู่กรณี (ทั้ง ป.ป.ช. และ นายสุรพงษ์) ออกจากห้องประชุม แล้วที่มีอยู่ไม่ถึง ๕๐ คนก็สุมหัวกันถกเข้มข้น ได้มติจนแล้วจนรอด ๑๔๙ เสียงอีกครั้งว่า “ไม่ให้บุคคลภายนอกเสนอนับองค์ประชุม”

(https://voicefromthais.files.wordpress.com/…/ccpr_c_tha_co_…)

ก็เพราะสภานิติบัญญัติ ‘แห่งชาติ’ ทำหยำเป เกลือกๆ เกลียดๆ กันอย่างนี้ ‘สห’ ประชาชาติเขาถึงต้องออกแถลงเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ‘อีกครั้ง’ เช่นกันว่า

“๘. รัฐภาคี (ไทย) ควรที่จะสำรวจตรวจตราให้ดีต่อมาตรการต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้ผ่านทางรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของมาตรา ๔๔ ๔๗ และ ๔๘ ให้ต้องตรงกับพันธกรณีที่มีต่อปฏิญญา (สากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ)

และต้องให้เกิดความมั่นใจด้วยว่ามาตรการต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงมาตรา ๒๗๙ จักต้องสอดคล้องกับพันธกรณีที่มีต่อปฏิญญาฯ

รวมทั้งพันธกรณีที่ต้องให้การเยียวยาอย่างเหมาะสมแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

(CCPR_C_THA_CO_2_27020_E ฉบับภาษาไทยที่ CCPR_C_THA_CO_2_27020_TH_FINAL)

นอกจากนั้นถ้อยแถลง ‘ข้อสังเกตุเชิงสรุป (Concluding observations) ต่อรายงานตามวาระฉบับที่สองของประเทศไทย’ ยังแสดงความไม่วางใจต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยด้วยว่า

“๑๐. รัฐภาคีควรที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถปฏิบัติพันธกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอิสระ และสอดคล้องกับกติกาปารีส (มติที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ๔๘/๑๓๔ ภาคผนวก)”





มิใยที่กระบวนการยุติ (เป็น) ธรรม ‘ชื่อเสีย’ ไปก้องโลก ดังที่สื่อตะวันตกรวมทั้งสำนักข่าวเอพีตีพิมพ์บทความตำหนิคดีที่ทายาทกระทิงแดง นายวรยุทธ อยู่วิทยา เมาสุราขับรถสปอร์ตเฟอรารี่ชนตำรวจจราจรเสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๕๕

ผ่านมาเกือบ ๕ ปีแล้วคดีไม่คืบไปไหน แถมผู้ต้องหากลับลอยนวลท่องเที่ยวต่างประเทศเพลิดเพลินใจ

(http://nanasara.org/forum/showthread.php?tid=6349)





หรือกระทั่งคดีทหารยศจ่าสิบเอกวิสามัญฆาตกรรมเด็กหนุ่มชาวลาหู่แล้วทางการพยายามยัดข้อหาค้ายาบ้าในขณะนี้ ทั้งที่พยานหลายปากยืนยันว่าผู้ตายถูกซ้อมทนไม่ไหวจึงวิ่งหนี กลับถูกยิงด้วยปืนเอ็ม ๑๖ เข้าข้างหลัง

ก็มีตัวอย่างเพิ่งปรากฏสดๆ ร้อนๆ ที่กลุ่มรณรงค์ปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดจากจังหวัดตรัง กำลังจะยกขบวนกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมชุมนุมเรียกร้องกับ ‘พีมู้ฟ’





กลับถูกตำรวจนอกเครื่องแบบพยายามสกัดกั้นด้วยการเอายาซองเสพติดแอบโยนไว้แล้วยัดข้อหามียาบ้า ยังดีที่กลุ่มจับได้จึงพากันประจานจนเจ้าหน้าที่ต้องถอยไป

(http://www.matichon.co.th/news/512837)

หมดสิ้นแล้วละ ศักดิ์ศรีความน่าเชื่อถือของ คสช. และลิ่วล้อ ที่ครองเมืองกันด้วยการตระบัดลิ้นปลิ้นปล้อน ทับถมความเดือดร้อนให้แต่กับฝักฝ่ายที่เห็นต่าง ด้วยการบีบคั้น กลั่นแกล้ง อ้างกฎหมายกดขี่ทำร้าย แม้กระทั่งขูดรีด