วันพฤหัสบดี, มีนาคม 30, 2560

ฉันใดก็ฉันนั้น ระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากพลเมืองที่เข้มแข็ง

ไม่มีรัฐใดที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งโดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

ชำนาญ จันทร์เรือง

หนึ่งในบรรดาข้อถกเถียงในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทยที่ผ่านมาก็คือ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวความคิด จังหวัดจัดการตนเองที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น บนพื้นฐานของ self determination rights หรือสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

ซึ่งบางฝ่ายได้โต้แย้งว่าต้องพัฒนาการเมืองการปกครองหรือประชาธิปไตยในระดับชาติเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาพัฒนาการปกครองท้องถิ่นทีหลัง กอรปกับนายกรัฐมนตรีได้ออกมาย้ำเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มี.ค 60 ที่ผ่านมาอีกว่า ยังไม่พร้อมกระจายอำนาจปกครองตนเองเพราะยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน

แต่ผมกลับเห็นตรงกันข้าม เพราะผมเชื่อว่าไม่มีรัฐใดที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งโดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ดังคำกล่าวของ Konrad Adenauer  อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีที่ว่า No state without city”  ซึ่งหากแปลตรงตัวก็คือ “ไม่มีรัฐใดที่ไม่มีเมือง”

ความหมายที่แท้จริงคือ “ไม่มีทางที่การเมืองการปกครองในระดับชาติ (state) จะเข้มแข็งได้ หากปราศจากการปกครองท้องถิ่น (ในที่นี้หมายถึงเมืองหรือcity ซึงรวม town, township, municipality ฯลฯ) ที่เข้มแข็ง” นั่นเอง

การปกครองท้องถิ่นคืออะไร
ได้มีปรมาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ได้ให้คำจำกัดความไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Daniel Wit, William A. Robson, William V. Hollowway ฯลฯ ซึ่งสามารถสรุปความได้ว่า

การปกครองท้องถิ่นหมายถึงการปกครองของชุมชนหนึ่งๆ ซึ่งมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ภายในชุมชนตามขอบเขตอำนาจที่ได้รับ (กรณีรัฐเดี่ยว) หรือความเป็นอิสระ (กรณีรัฐรวม) จากรัฐบาลกลางหรือส่วนกลาง

โดยจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล, มีสิทธิตามกฎหมายในการตรากฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่างๆ, ตลอดจนมีงบประมาณที่มาจากการจัดเก็บภาษีและรายได้ในรูปแบบต่างๆ ภายในท้องถิ่นของตนเอง, สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในการปฏิบัติงานเป็นของตนเอง”

การปกครองท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร

1) เป็นการให้การศึกษาและฝึกฝนทางการเมือง (Providing Political Education and Training)
การปกครองท้องถิ่นเป็นหนึ่งในรูปแบบของการศึกษาเรียนรู้ทางการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละครั้งย่อมเป็นช่วงเวลาและบรรยากาศของการเรียนรู้ทางการเมืองเป็นอย่างดียิ่ง เช่น การรณรงค์หาเสียง, การประกาศและตรวจสอบนโยบาย ฯลฯ  ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้สิทธิในการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเอง และพัฒนายกระดับสูงขึ้นจนถึงระดับชาติต่อไป

2) เป็นการส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วม (Promoting Citizenship and Participation)
การปกครองท้องถิ่นเป็นการส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้อย่างใกล้ชิด เพราะการเมืองระดับชาติประชาชนมีความรู้สึกว่าไกลตัว แต่การปกครองท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างแนบแน่นมากกว่า โอกาสที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองย่อมมีความเป็นไปได้สูง

เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองที่มีความเข้มแข็งในทางการเมืองและตระหนักถึงสิทธิประโยชน์และความสำคัญของตนในทางการเมือง ฉะนั้น การปกครองท้องถิ่นจึงช่วยยกระดับและขยายไปสู่ความเข้มแข็งในทางการเมืองระดับชาติต่อไป

3) เป็นความเท่าเทียมทางการเมือง (Political Equality)
เมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองในระดับชาติแล้ว การปกครองท้องถิ่นสร้างความเท่าเทียมทางการเมืองมากกว่า เพราะประชาชนทุกคนในท้องถิ่นมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างทั่วถึงและกว้างขวางกว่าการเมืองระดับชาติ
4) มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง (political Stability)
การปกครองท้องถิ่นเปรียบเสมือนการให้การศึกษาทางการเมืองด้วยการให้ประชาชนมีประสบการณ์ในการเลือกผู้นำที่ตนไว้วางใจ ซึ่งความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลนับเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ

5) ก่อให้เกิดความรับผิดชอบ (Accountability)
การปกครองท้องถิ่นก่อให้เกิดความรับผิดชอบ สร้างการตรวจสอบและถ่วงดุลของประชาชนที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะอยู่ใกล้ชิดกับตนเอง จึงได้รู้เห็นความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ได้ดี เช่น มีบ้านหลังใหญ่ขึ้น มีรถยนต์ราคาแพงขึ้น ฯลฯ

6) สามารถสนองตอบต่อความต้องการ (Responsiveness)
เนื่องจากสภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจึงต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น การสนองตอบของระบบการเมืองต่อข้อเรียกร้องหรือ ความต้องการของท้องถิ่นจึงสอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ระบบการเมืองคำนึงถึงปัจจัยนำเข้า (Input) หรือข้อมูลนำเข้าที่ป้อนเข้าสู่ระบบการเมืองแล้วแปรรูปเป็นปัจจัยนำออก (Output) ที่ตรงกับข้อเรียกร้องและความต้องการของท้องถิ่น

ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น” นั่นเอง

น่าเสียดาย ไทยเรามีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเรื่องของการกระจายอำนาจมาโดยลำดับ จวบจนปัจจุบันนับได้ถึง 48 จังหวัดที่ได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง อาทิ ปัตตานีมหานคร ระยองมหานคร ภูเก็ตมหานคร ขอนแก่นมหานคร ฯลฯ

และในที่สุดอดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้มีการแนวความคิดที่จะเสนอร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตนเองฯ เพื่อที่จะใช้เป็นกฎหมายกลางสำหรับทุกๆ จังหวัด จะได้ไม่ต้องไประดมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแบบที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการมา จนมีการยื่นร่างพรบ.ระเบียบบริหารเชียงใหม่มหานครฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อ 26 ตุลาคม 2556 โดยมีรองประธานสภาฯ ไปรับร่างพรบ.ฯ และรายชื่อถึงกว่า 12,000 คนด้วยตนเองถึงที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ร่างพรบ.ฯ ต้องมาสะดุดหยุดอยู่เมื่อเกิดการยุบและยึดสภา

มิหนำซ้ำยังมีการพยายามที่จะลดทอนอำนาจและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองท้องถิ่น ในรูปแบบต่างๆ สารพัดวิธี โดยลืมไปว่าการกระจายอำนาจนั้นคือคำตอบของการปรองดองและสมานฉันท์

เพราะการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ประกอบไปด้วยผู้คนจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายและทุกสีที่เห็นความจำเป็นของการกระจายอำนาจ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ “การไม่กระจายอำนาจ ย่อมไม่ใช่การปฏิรูป” และย่อมไม่ใช่การปรองดองสมานฉันท์อย่างแน่นอน

โลกเขาไปถึงไหนๆ แล้ว การพยายามที่จะฝืนกระแสโลก โดยพยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นในปัจจุบันที่กำลังทำกันอยู่ ย่อมที่จะฉุดรั้งประเทศไทยให้ล้าหลังจนเกินกว่าที่จะแก้ไขเยียวยาได้โดยง่าย

อย่าลืมนะครับว่า ระบอบเผด็จการจะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากผู้นำที่เข้มแข็ง ฉันใด ระบอบประชาธิปไตยก็จะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากพลเมืองที่เข้มแข็ง ฉันนั้น

-------------
หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 29 มีนาคม 2560