วันอังคาร, มีนาคม 21, 2560

การเปิดโอกาสให้ศาล ‘ยำใหญ่’ ตามอำเภอใจ มีต้นทุนที่ต้องจ่าย





“เหิมเกริมสุดๆ” ทีนิวส์พาดหัวข่าวเรื่องที่วัฒนา เมืองสุข เขียนถึง “ปัญหาใหญ่ที่เกิดในประเทศเราตรวจสอบไม่ได้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากศาล เพราะไม่ตรวจสอบอำนาจคณะปฏิวัติ”

แล้วยังเสนอว่าถ้าได้รับเลือกตั้ง จะตั้งระบบลูกขุน ให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบศาล ถ้าพบว่าผิดก็เอาเข้าคุก

ว่าตามมาตรฐานอารยะสากล ถือเป็นแนวคิดแบบก้าวหน้าในเรื่องสิทธิและเสรีภาพมหาชนธรรมดาๆ ไม่ได้เหิมเกริมอะไร อย่างที่พวกอึ่งอ่างในครอบกะลาร้องระงมยามฝนพรำ

หากเกิดมีหน่วยงานของรัฐใดล่วงล้ำเหยียบย่ำสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานอันเป็นของปวงชนนั่นสิ จึงจะเรียกว่า ‘เหิมเกริม’ เสียยิ่งกว่า

วันนี้ (๒๑ มีนา) มีการเบิกความไต่สวนคดีที่ศาลขอนแก่นฟ้องไผ่ ดาวดินในข้อหาแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑๐ ของบีบีซีไทย ในความผิด ม.๑๑๒ ก็มีเพื่อนนักศึกษาของผู้ต้องหาและเพื่อนร่วมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ไปให้กำลังใจนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กันหลายกลุ่ม จำนวนไม่ได้มากมายอะไร





แต่ทหารส่งกำลังไปประจำการรักษาความสงบนับร้อยนาย ไม่เท่านั้นศาลเองนำแผ่นป้ายข้อความประกาสขนาดใหญ่ไปติดไว้หน้าศาล “ห้ามบุคคลประพฤติตนไม่เรียบร้อย หรือกระทำการอันเป็นการก่อความวุ่นวาย”

“อันเป็นการ” วลีนี้ในสาระบบการตีความของศาลไทย อาจหมายถึงการถ่ายรูปบรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดี หรือการที่ผู้เข้าไปนั่งฟังการพิจารณา “จ้องมองหน้าผู้พิพากษาและอัยการ” ก็ได้

หากแต่ประกาศนี้มิได้เจาะจงเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นภายในศาลเท่านั้น การทำอะไร อันเป็นการก่อความวุ่นวาย รวมถึงที่บริเวณภายนอกด้วย ถ้านำเอกสารแบบใดที่มีข้อความ “ในเชิง” ดูหมิ่นศาลและกระบวนการยุติธรรม หรือยุยงส่งเสริมให้คนอื่นทำ ก็โดนเหมือนกัน

“รวมถึงการถ่ายภาพอาคารศาล ป้ายชื่อศาล และบริเวณศาลในลักษณะดังกล่าวด้วย” ประกาศข้อ ๓. เขียนไว้จริงจัง (หมายถึงห้ามเอาไปล้อเลียนด้วยน่ะ)

ออ แล้วก็ (ศาลไม่ได้เอ่ยถึงไว้บนแผ่นป้าย) แต่มีรายงานว่า นักศึกษาที่พากันไปให้กำลังใจไผ่เมื่อเขาถูกนำตัวไปศาลครั้งก่อน บัดนี้ถูกศาลขอนแก่นดำเนินคดีเพิ่มอีกสามคน รวมเป็นทั้งหมดขณะนี้ ๗ คน รวมทั้ง ‘จ่านิว’ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

ปะเหมาะเคราะห์ร้าย เมื่อวันก่อนมีนักวิชาการกฎหมายไปเสวนากัน เรื่องนี้พอดี “เผยการไม่ให้ประกันในคดี ๑๑๒ ศาลใช้เหตุผลโดยไม่มีกฎหมายระบุ” ใครจะวิเศษเท่าศาลไทยเป็นไม่มี ตัดสินโดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับก็ได้ ตลก. เสียอย่าง

ส่วนหนึ่งในการเสวนา ‘คำพิพากศาล’ ในภาคส่วนเกี่ยวกับ ‘สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี ๑๑๒’ ซึ่งบรรยายโดย อจ.สาวตรี สุขศรี แห่งคณะนิติศาสตร์ มธ. อ้างถึงกติการะหว่างประเทศเทียบเคียงกับหลักกฎหมายไทย





แล้วพบว่าศาลไทยในกรณีนี้ (โดยเฉพาะที่ขอนแก่น) มิได้เดินตามแนวเนื้อความแห่งตัวบทกฎหมายสักนิด

หลักปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑๑ (๑) ผู้ต้องหาได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ จนกว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะสามารถพิสูจน์ได้เป็นที่สุดว่ามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา

กติการะหว่างประเทสว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๙ (๓) มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมตัวผู้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี แต่ให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยมีหลักประกัน

หลักการคุ้มครองบุคคลที่ถุกคุมขัง ขององค์การสหประชาชาติ ข้อ ๓๘ ผู้ต้องหาคดีอาญาพึงมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

เช่นเดียวกับหลักกฎหมายไทยเรื่อง “บุคคลต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาแล้วว่าได้กระทำความผิด” ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งปี ๔๐ และ ๕๐ กับในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา

รัฐธรรมนูญ ๔๐ บอกไว้จะจะเลยว่า “ผู้ต้องขังหรือจำเลยมีสิทธิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว” ตามบทบัญญัติมาตรา ๔๐ (๗)

ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๐๘/๑ กำหนดเหตุผลสำหรับการที่ศาลจะไม่ยอมปล่อยตัวชั่วคราวไว้ค่อนข้างละเอียด ว่าต้องมีเหตุอันควรเชื่อได้ ๕ อย่าง คือ จะหนี ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตราย ไม่น่าเชื่อถือ และเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนดำเนินคดี

บางกรณี เช่นสองประเด็นท้ายนี่เปิดโอกาสให้ศาล ‘ยำใหญ่’ ตามอำเภอใจได้ง่ายๆ เลยทีเดียว

อจ.สาวตรีพูดอย่างละเอียดลงลึกไปในคดีที่ศาลขอนแก่นดึงดันไม่ยอมปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ ดาวดิน ถึง ๗ ครั้ง เขาต้องถูกควบคุมตัวทั้งที่ยังไม่มีการฟ้องคดีมากว่าสองเดือน

“ไม่ใช่ ต่อให้ท่านเชื่อมั่นว่าไม่ผิด แต่ไม่มีความแน่นอนเลย เพราะทุกวันนี้การตีความมันขยับเพดานตลอด ถามว่าขนาดเชื่อมั่นว่าตนเองบริสุทธิ์ก็ไม่กล้าสู้ แถมฝากความหวังกับพยานหลักฐานก็ไม่ได้ เพราะไม่สามารถออกไปแสวงหาพยานหลักฐานได้” อจ.สาวตรีกล่าวตอนหนึ่ง

“แต่การทำแบบนี้บ่อยๆ มันมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ด้านหนึ่งรัฐอาจกดปรามประชาชนได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนกลับไปยังกระบวนการยุติธรรม ต่อศาล ต่อผู้พิพากษา หรือต่อสถาบัน

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันบิดเบี้ยว บิดพริ้วกฎหมาย เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมา ประชาชนเห็น

ต้นทุนที่คุณต้องเสียคือความเสื่อมศรัทธา ทุกวันนี้ศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด สถาบันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้น ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ก็เพราะมีกระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้นั่นเอง

การกดปรามพฤติกรรมคน คุณอาจทำได้ แต่กดความคิดคน คุณทำไม่ได้”

(http://prachatai.org/journal/2017/03/70652)