วันพุธ, มีนาคม 29, 2560

ธนาคารโลกเปิดรายงานวิเคราะห์ไทย แนะ 3 แนวทาง นำเศรษฐกิจไทย “กลับสู่เส้นทาง” เติบโตอีกครั้ง – ชี้ “ทำสิ่งที่ควรทำ” สำคัญกว่า “ใครเป็นคนทำ”



ภาพจาก Voice TV21
...

ธนาคารโลกแนะ 3 แนวทาง นำเศรษฐกิจไทย “กลับสู่เส้นทาง” เติบโตอีกครั้ง – ชี้ “ทำสิ่งที่ควรทำ” สำคัญกว่า “ใครเป็นคนทำ”






13 มีนาคม 2017
ที่มา Thai Publica

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 ธนาคารโลกเปิดตัวรายงานวิเคราะห์การพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ “กลับสู่เส้นทาง: ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” โดย ดร.อูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงความสำคัญของรายงานว่าแม้ว่าประเทศไทยจะเติบโตและประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ปัจจุบันการเติบโตได้ชะลอตัวลง ขณะที่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยยังมีประชาชนที่ยังยากจนอยู่ แม้จะไม่มากแต่ยังมีอยู่และเป็นคนส่วนใหญ่ของในประชาชนในชนบท ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวนี้ ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สร้างความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมโดยรวม

ธนาคารโลกเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหาคำตอบว่าต้นตอปัญหาคืออะไร โดยมองผ่านมุมมองทางเศรษฐกิจด้วยเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจให้ประโยชน์กับทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม สุดท้ายจะนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองและสังคม และในท้ายที่สุดจะเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในที่สุด

“รายงานฉบับนี้ เราพยายามหาคำตอบว่าอะไรคือโอกาสและความท้าทายของประเทศไทย โดยเน้นไปที่การนิยามจัดลำดับความสำคัญนโยบายที่ควรทำ เพื่อลดความยากจน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธนาคารโลก เพื่อให้ประเทศเติบโตเร็วขึ้น และมีความยั่งยืน เราเชื่ออย่างยิ่งว่าประเทศไทยมีโอกาสและศักยภาพที่จะทำสิ่งนี้ เพื่อเติบโตมากกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อเติบโตโดยที่คนยากจนหรือมีความเสี่ยงสามารถได้รับประโยชน์ไปด้วย และเรามองไปข้างหน้าที่จะพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ในรายงานนี้ต่อไป และหวังว่าจะเป็นการพูดคุยในระยะยาวต่อไปข้างหน้า” ดร.อูลริคกล่าว

ชี้ไทยเสียความสามารถทางการแข่งขัน


ด้าน ดร.ลาร์ส ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้ากลุ่มงานด้านความยากจนและการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้เขียนหลักของรายงาน กล่าวถึงรายงานว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมไปถึงความยากจนที่ลดลงค่อนข้างมาก

ปัจจุบันประเทศไทยยังมีคนยากจนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือคนที่มีการบริโภคต่ำกว่า 6.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ถึง 7.1 ล้านคนและมีคนที่แม้จะหลุดพ้นจากเส้นความยากจนแล้วแต่ยังมีความเสี่ยงที่จะกลับมายากจนอีกถึง 6.7 ล้านคน ขณะที่การเติบโตที่เคยสูงถึงปีละ 7% โดยเฉลี่ยในช่วงก่อนวิกฤติก็ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทั่วโลกจะประสบปัญหาการชะลอตัวลงเช่นกัน แต่ประเทศไทยถือว่าชะลอตัวลงอย่างมาก และสะท้อนสัญญาว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา และจากการประมาณการณ์ หากเป็นแบบนี้ต่อไป ประเทศไทยต้องการเวลาถึง 20 ปี เพื่อยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง

“ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เราคิดว่าจุดสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดคือ ประเทศไทยได้สูญเสียความสามารถการแข่งขันไป หากกลับไปดูเมื่อ 10 ปีที่แล้วข้อมูลจาก World Economic Forums หรือ WEF จะเห็นว่าบนตัวชี้วัด 12 เรื่อง ประเทศไทยถือว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในทุกด้านและโดดเด่น แต่มาปัจจุบัน จะเห็นว่าไม่ใช่ประเทศไทยถดถอยไป แต่กลับเป็นว่าประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่แข่งได้ทำสิ่งต่างๆ มากมายกว่าประเทศไทย พวกเขายกระดับตัวเองขึ้นมา” ดร.ลาร์สกล่าว



ดร.อูลริค ซาเกา (ซ้าย) และดร.ลาร์ส ซอนเดอร์การ์ด (ขวา)


4 ความเสี่ยงที่เคยเป็นโอกาส

ดร.ลาร์สกล่าวต่อไปว่า นอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะฉุดการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ได้แก่ 1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและส่งผลต่อเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับสูงและเป็นเครื่องมือลดความยากจนในช่วงประมาณปี 2543-2553 ซึ่งดัชนีราคาเติบโตถึง 70%

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยปีละ 4.3% ความยากจนของไทยได้ลดลงประมาณ 2.4% ต่อปี ซึ่งหากหักผลทางด้านราคา ความยากจนจะลดลงเฉลี่ยเหลือเพียง 1.9% ต่อปีเท่านั้น

2) สังคมผู้อายุ ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือมีประมาณ 11 ล้านคน โดยมีความท้าทายด้านแรก คือ กำลังแรงงานที่หายไปดังกล่าวจะชดเชยอย่างไร และด้านที่สอง คือ จะดูแลกลุ่มคนสูงวัยเหล่านี้อย่างไร

3) การเมืองที่ขาดเสถียรภาพและความตึงเครียดทางสังคม สร้างความไม่แน่นอนให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจและนักลงทุนไม่ต้องการ โดยจากการสำรวจของ WEF พบว่า ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลถือเป็นปัจจัยที่เป็นห่วงมากที่สุด 4 ปีติดต่อกัน ดังนั้น การเมืองที่อาจจะไม่แน่นอนยังสามารถเป็นความเสี่ยงในระยะต่อไปของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำต่อเนื่อง

4) ความแตกต่างและไม่เท่าเทียมของภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงเศรษฐกิจและโอกาส เช่น โอกาสในการศึกษา ซึ่งความตึงเครียดในสังคม

3 หนทางรอด “สร้างงาน-ลดความยากจน-ยั่งยืนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม”

ดร.ลาร์สกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยยังคงมีทางออกสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 แนวทาง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

1) การสร้างงานที่ดีเพิ่มขึ้น ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มการแข่งขันอย่างเสรี และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

2) การให้การสนับสนุนให้ ตรงเป้าหมายกลุ่มครัวเรือนจนสุดร้อยละ 40% เพิ่มมากขึ้น โดยการพัฒนาการศึกษาและทักษะของแรงงาน การดำเนินการนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคที่จ้างงานกลุ่มครัวเรือนจนสุด 40% ไว้เกือบครึ่ง และการจัดให้มีความคุ้มครองทางสังคมที่ฉลาดขึ้น มุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองแก่คนยากจน ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดในสังคมได้

3) การส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิผลมากขึ้น การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทดแทน

นอกจากนี้ การดำเนินการตามเส้นทางที่กล่าวถึงข้างต้นจำเป็นต้องมีองค์กรภาครัฐที่เข้มแข็ง เพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย จะต้องมั่นใจว่ามีองค์กรภาครัฐ (และบุคลากร) เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้มีการสร้างงานที่ดีเพิ่มขึ้น โดยองค์กรภาครัฐต้องแข็งแกร่งและสามารถนำเสนอแผนงานใหม่ๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย จัดการสนับสนุนให้ตรงเป้ากลุ่มครัวเรือนจนสุด 40% และดำเนินนโยบายและแผนงานเพื่อการเติบโตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม








“ทำสิ่งที่ควรทำ” สำคัญกว่า “ใครเป็นคนทำ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลไทยกำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะผูกมัดการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคต จะส่งผลต่อการพัฒนาระยะยาวหรือไม่ ดร.อูลริคกล่าวว่าควรจะแยกประเด็นดังกล่าวเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ อะไรคือสิ่งที่ “ควรทำ” ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของรายงานนี้ ขณะที่อีกประเด็นหนึ่งคือการนำสิ่งที่ควรทำไปปฏิบัติจริง สำหรับประเด็นหลัง ธนาคารโลกไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมีมุมมองต่อรูปแบบรัฐบาลที่นำแผนงานต่างๆ ไปปฏิบัติจริง ธนาคารโลกทำงานร่วมกับรัฐบาลของทุกประเทศในโลกโดยไม่สนใจรูปแบบของรัฐบาล เพราะธนาคารโลกเชื่อว่ารัฐบาลทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ สามารถทำงานได้ดีด้วยประชาชนภายในประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างหลายครั้งที่ประเทศประชาธิปไตยบางประเทศที่สามารถทำได้ดีและบางประเทศทำได้ไม่ดี เช่นเดียวกัน มีหลายครั้งที่รัฐบาลเผด็จการบางแห่งสามารถทำได้ดีและบางแห่งทำได้ไม่ดี

“ตอนนี้มีงานวิจัยที่กำลังทำอยู่พบว่าจริงๆ แล้วรูปแบบของรัฐบาลและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนไม่ได้เกี่ยวกับข้องกันโดยตรง ตรงนี้ทำให้เราให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศที่จะเลือกรูปแบบและปกครองตนเอง เราเชื่อว่ารัฐบาลไทย รวมไปถึงรัฐบาลในอนาคตจะสามารถปกครองตัวเองและสามารถผลักดันให้การปฏิรูปเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้ ซึ่งมีหลากหลายแนวทาง หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสังคมไทยและรัฐบาล ธนาคารโลกเพียงให้คำแนะนำจากประสบการณ์ที่ทำงานกับนานาชาติ” ดร.อูลริคกล่าว

ดร.อูลริคกล่าวต่อไปว่า จากที่เห็นในปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยได้เริ่มต้นจัดทำแผนงาน รวมถึงนำไปปฏิบัติจริงในหลายๆ เรื่อง โดยแต่ละเรื่องอาจจะใช้เวลาการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องการลดกฎเกณฑ์ให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น สามารถทำได้รวดเร็วกว่าการปฏิรูปศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลาหลาย 10 ปีกว่าจะเห็นผลลัพธ์ หรือมาตรการภาษี ซึ่งเริ่มทำไปแล้ว แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เป็นต้น

“ปัจจุบันประเทศไทยเป้าหมายที่จะเติบโตให้มากกว่าตัวเลขที่ธนาคารโลกประมาณการณ์ ซึ่งก็เพิ่มขึ้นมาในระยะหลังและหวังว่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งประเด็นต่างๆ ที่เสนอวันนี้คือสิ่งที่จะช่วยประเทศไทยต้องการ เพื่อจะไปให้ถึงได้ ซึ่งเราเชื่อว่าประเทศยังมีโอกาสที่จะทำได้และเชื่อว่าประเทศไทยจะทำ ถามว่ารับประกันหรือไม่ถ้าทำแล้วจะเพิ่มขึ้นจริง คงไม่ แต่ถ้าทำตาม นั่นหมายความว่าจะมีการพัฒนาระบบการศึกษาในทางที่จะเพิ่มทักษะของประชาชน ถ้ามีการพัฒนาภาคบริการที่เปิดมากขึ้น มีการลงทุนในระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี ในท้ายที่สุดก็จะมีงานมากขึ้น เพราะว่ามีคนที่มีทักษะมากขึ้นที่จะเข้ามารับงานส่วนนั้นไปทำ ภาพอีก 20 ปีข้างหน้าก็อาจจะเปลี่ยนไป อาจจะมีคนในภาคเกษตรลดลง เนื่องจากมีทักษะที่ดีขึ้นและทำงานที่ต้องการทักษะสูงได้ ขณะที่คนที่ยังอยู่ก็จะมีผลิตภาพมากขึ้นด้วย” ดร.อูลริคสรุป

รายงานฉบับเต็ม