วันพุธ, มีนาคม 08, 2560

“มรดกโลก” บทเรียนจากหลวงพระบาง





"บทเรียนจากหลวงพระบาง"

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส
โดย ปิยมิตร ปัญญา
มติชนออนไลน์
4 มี.ค. 60

เดนนิส ดี. เกรย์ วางกล้อง ละจากปากกาเพื่องานข่าวมาพักใหญ่แล้ว ขณะนี้ อดีตหัวหน้าสำนักข่าวเอพีประจำประเทศไทยรายนี้เพียงเขียนสิ่งที่อยากเขียนและรายงานในสิ่งที่ต้องการเป็นครั้งคราวเท่านั้น กระนั้น ทุกครั้งที่ปรากฏผลงานออกมาก็สะท้อนถึงความคร่ำคร่าของประสบการณ์ ความหลากหลายและแหลมคมของมุมมอง ที่สั่งสมมายาวนานนับตั้งแต่ยุคสงครามอินโดจีน

ผมพาดพิงถึง เดนนิส ดี. เกรย์ อีกครั้ง เพราะข้อเขียนล่าสุดของเขา

เดนนิสเขียนถึง “หลวงพระบาง” บอกว่าเป็น “สวรรค์ล่ม” เพราะ “ยูเนสโก” เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งผมถือว่าเป็นข้อเขียนว่าด้วย “มรดกโลก” ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยผ่านตามาในรอบหลายสิบปี

ข้อเขียนของเดนนิส นุ่มนวล ไม่แข็งกร้าว สะท้อนบุคลิกส่วนตัว แต่ครอบคลุมรอบด้าน และบ่อยครั้งที่ผมรู้สึกว่า หาเหตุผลและแง่มุมมาโต้แย้งสิ่งที่เขานำเสนอยากเหลือเกิน

สิ่งที่เดนนิสบอกเล่าเกี่ยวกับหลวงพระบาง เป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจยิ่ง แล้วก็เป็นบทเรียน

แต่จะทรงคุณค่ามากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับใครคือผู้เสพรับและเสพแล้วซึมซาบกับมันได้มากมายแค่ไหนครับ

หลวงพระบางเคยได้ชื่อว่าเป็น “เมืองที่อนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ดีที่สุดในละแวกอุษาคเนย์ด้วยกัน” ปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น แต่ เดนนิส ดี. เกรย์ สัมผัสได้ว่า มีบางอย่างหายไป หายไปชนิดไม่มีวันหวนกลับด้วยซ้ำ

หลวงพระบางถูกขึ้นทะเบียนเป็น “เมืองมรดกโลก” ของ “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” ที่เรียกกันติดปากว่า “ยูเนสโก” เมื่อปี 1995 ถือเป็น 1 ใน 1,052 พื้นที่ทั่วโลกที่ถูกนิยามว่าเป็น “สถานที่อันมีคุณค่าเป็นสากล” โดยสำนักงานด้านวัฒนธรรมของยูเอ็นแห่งนี้

นับตั้งแต่ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” เรื่อยมา เดนนิสบอกว่า หลวงพระบางก็ “ขายตัวเอง” ให้กับ “การท่องเที่ยว”

การได้เป็น “มรดกโลก” เป็นเสมือน “เครื่องหมายการค้าในระดับสากล” ที่ถูก “ขาย” ให้กับนักท่องเที่ยวนานาชาติ ในระดับเดียวกับสินค้า “แมสโปรดักชั่น” นักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก แล้วก็เปลี่ยนเป็นจำนวนมหาศาล โอกาสใหม่เกิดขึ้น กิจการใหม่ๆ เกิดขึ้น ผู้คนในท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น ชุมชนบางแห่งที่ตกอยู่ในสภาพซังกะตายอยู่ไปวันๆ เหมือนถูกปลุกเร้าด้วยพลังงานชนิดใหม่ให้คึกคัก เข้มแข็งขึ้น

แต่ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ค่อยๆ เลือนหายไป ถูกดูดกลืนไปกับ “ไฮเปอร์-คอมเมอร์เชียลไลเซชั่น” หรือการแปรสภาพไปในเชิงพาณิชย์ไม่หยุดหย่อนก็คือ “คุณลักษณะที่แท้ของตัวเมือง”

คนพื้นถิ่นไม่ใช้หลวงพระบางเป็นที่อยู่อาศัย เป็นสถานที่ในการใช้ชีวิตประจำวันอีกต่อไป ทยอยหายไปในทันทีที่ราคาทุกอย่างถีบตัวสูงขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็ฉกฉวยโอกาสทำธุรกิจใหม่ๆ ในทันทีที่มาถึง

เมื่อยูเนสโกปูพรม “ยินดีต้อนรับ” ให้กับหลวงพระบาง นักท่องเที่ยวก็แห่กันแบบไหลมาเทมาชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเวลาเดียวกันชาวหลวงพระบางในพื้นที่ก็ทยอยกันหายหน้าหายตาไปเรื่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยชาวลาวผู้มั่งคั่งจากนอกพื้นที่มากขึ้นและมากขึ้น

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะพบเห็นคนฝรั่งเศส ออสเตรเลียน อเมริกัน และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เดินทางเข้ามาแล้วได้แต่เสพรับวิถีที่ถูกปรุงแต่งให้เข้ากับความเป็นตะวันตกกลับไป

จังหวะชีวิตและวิถีพื้นถิ่นแต่ดั้งเดิมหดหายไปอย่างรวดเร็วยิ่ง

หลวงพระบางกลายเป็น “เมืองฟะหลั่ง” ไปในชั่วไม่กี่เพลา

เจ้านิดถาคง สมสนิท ราชนิกุลหลวงพระบางผู้พยายามอย่างหนักในการอนุรักษ์มรดกศิลป์ทั้งหลายในท้องถิ่น รำพันไว้ชวนสะท้อนใจ

“เมื่อคุณเปิดหน้าต่าง ลมสดใหม่ก็พัดโชยเข้ามา แต่ในเวลาเดียวกัน คุณก็ได้ยุงตามเข้ามาเหมือนกัน”

หลวงพระบาง รุ่มรวยด้วยมรดกทางด้านสถาปัตยกรรม ได้รับความคุ้มครองตามกฎระเบียบของยูเนสโก ซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้สถานที่ประวัติศาสตร์จำนวนนับไม่ถ้วนในเอเชียถูกกำจัดไปตามกาลเวลา

แต่บ้านเรือน และร้านค้า ขายสิ่งละอันพันละน้อยของพ่อแม่ ปู่ย่าในพื้นที่ใจกลางของประวัติศาสตร์แห่งนี้กลับถูกแปรสภาพไปหมดสิ้น

กลายเป็นเกสต์เฮาส์ ภัตตาคาร คาเฟ่ บาร์ หรือไม่ก็สำนักงานบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว

อดีตเรือนจำหลวง ถูกแปรสภาพเป็นโรงแรมหรู และที่ทำให้หัวเราะไม่ออกร้องไห้ลำบากก็คือ จุดที่เคยเป็นศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศสในเวลานี้กลายเป็น “โรงนวดฮิบิสคัส”

วิถีและจังหวะจะโคนของการใช้ชีวิตประจำวันที่แท้ของคนหลวงพระบาง ยากที่จะพบเห็นในทันทีที่ราคาทุกๆ อย่างทะยานขึ้นหลายเท่าตัว

ที่ดินผืนเล็กๆ ที่เคยซื้อขายกันในราคา 8,000 ดอลลาร์ (ราว 280,000 บาท) เมื่อ 3 ปีก่อน ในตอนนี้แพงระยับถึง 120,000 ดอลลาร์ (ราว 4,200,000 บาท)

ชาวเมืองทยอยขายพื้นดินของปู่ย่าตายาย ขยับขยายไกลออกไปจากตัวเมือง หรือไม่ก็ให้เช่าทรัพย์สินเก่าแก่ของตัวเองให้กับผู้คนหน้าใหม่ที่เดินทางเข้ามาถึง

ดังนั้น ในเวลาเดียวกับที่มีเสียงสรรเสริญเยินยอโครงการมรดกโลกของยูเนสโกที่ครอบคลุมสิ่งของ สถานที่ล้ำค่าที่ผู้คนรุ่นเก่าก่อนรังสรรค์เอาไว้ ซึ่งไม่มีอะไรมาทดแทนได้อีกแล้ว กับความงดงามอันหาค่ามิได้ของธรรมชาติจำนวนมากมายมหาศาลใน 163 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงานนี้ในปี 1972 เรื่อยมา

ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ยูเนสโกเกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกอยู่มากมายในระดับเดียวกัน

มาร์โก เดราโม ชาวอิตาเลียน นักเขียนว่าด้วยพัฒนาการของชุมชนเมือง ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ในทันใดที่เมืองไหนๆ ได้รับเลือกให้เป็น “มรดกโลก” เมืองนั้นก็เริ่ม “ตายลง” ทีละเล็กทีละน้อย

“(เมืองมรดกโลก) กลายเป็นเหมือนซากสัตว์ที่ถูกสตั๊ฟเพื่อเอาไว้วางโชว์ มีสภาพไม่ต่างไปจากสุสาน โดยมีหอพักให้ผู้คนเรียงรายอยู่โดยรอบ”

ดัลเลน ทิโมธี ผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา บอกว่า เมื่อทบทวนโครงการยูเนสโกในภาพกว้างแล้ว พบว่ามรดกโลกของชนพื้นเมืองดั้งเดิมของยูเนสโกทั่วโลก ถูกทำให้กลายเป็น “สินค้าโภคภัณฑ์” สำหรับ “คนนอก”

“แทนที่ทุกอย่างจะยังคงอยู่ในความควบคุมของผู้คนที่เป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่แท้จริง กลับกลายเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไร้อำนาจไป”

มาร์โก เดราโม เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลวงพระบางและอีกหลายๆ มรดกโลกว่า “ยูเนสโกไซด์”

การเข่นฆ่าทำลายของยูเนสโก!

เมชทิลด์ รอสเลอร์ ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการมรดกโลกของยูเนสโก ยอมรับว่าระหว่างผลประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นกับสิทธิของนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ซึ่งจำเป็นต้อง “แบ่งปันกัน” นั้น มีเพียงแค่เส้นบางๆ ขีดเป็นกรอบจำกัดอยู่เท่านั้น

กระนั้น เธอก็ยังยืนยันว่ายูเนสโกเน้นย้ำให้ความสำคัญกับ “วัฒนธรรม” ในส่วนที่เป็นนามธรรมที่จับต้องมองเห็นได้ยาก มากกว่าที่จะให้ความสำคัญแค่กับ “อิฐและหิน” เท่านั้น

ข้อโต้แย้งก็คือว่า สถานที่อันเป็นมรดกโลกนั้นหลายต่อหลายแห่ง อยู่ในสถานะเดียวกันกับพีระมิดแห่งอียิปต์ แกรนด์แคนยอนในสหรัฐอเมริกา หรือสโตนเฮนจ์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวคือ ไม่ว่าจะอยู่ในรายชื่อมรดกโลกของยูเนสโกหรือไม่ก็ตาม ก็ยังดึงดูดผู้คนมหาศาลให้เดินทางมาท่องเที่ยวอยู่ดี

รอสเลอร์ชี้ว่า “แมสทัวริสม์” คือปรากฏการณ์หนึ่งของศตวรรษที่ 21 แต่เธอก็ยอมรับเช่นกันว่า การประทับตรา “มรดกโลก” ก็กลายเป็นตัว “จุดระเบิด” ให้ยอดนักท่องเที่ยวพุ่งเป็นติดจรวด

โดยเฉพาะเมื่อเป็นแหล่งมรดกโลกใน “ประเทศกำลังพัฒนา”

ในกรณีของหลวงพระบาง เมืองที่ประชากรทั้งสิ้นมีราว 50,000 คน เมื่อปี 2014 จำเป็นต้องรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศถึงมากกว่า 530,000 คน และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นแบบพรวดพราดอีกต่างหาก

รอสเลอร์ยกอุทาหรณ์ต่อว่า โรงทอผ้าไหมโทมิโอกะ ในญี่ปุ่น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเพิ่มขึ้นราว 400 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ถูกเลือกให้กลายเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้

รัฐบาลนานา รวมทั้งบริษัทบริการการท่องเที่ยว ล่วงรู้ถึงประโยชน์อันเกิดจากการเป็น “มรดกโลก” ดี และใช้เรื่องนี้เป็น “ยุทธวิธีการตลาด” สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ นักท่องเที่ยวจำพวกหนึ่งที่เป็นกลุ่มย่อยแตกออกจากนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เรียกกันว่า “ดับเบิลยูเอชเอส แบ็กเกอร์”

ตัวอย่างเช่น คนอย่าง เอลส์ สล็อท ที่บอกว่าเป้าหมายหนึ่งในชีวิตของเธอคือ การไปเที่ยวแหล่งมรดกโลกให้ครบถ้วน ตอนนี้ทำสถิติเอาไว้ที่ 587 แหล่งแล้ว!

รอสเลอร์เปิดเผยข้อเท็จจริงชวนคิดเอาไว้ว่า

“ตอนนี้เราเหมือนถูกถล่มด้วยคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนกับอินเดีย นอกเหนือจากบรรดาประเทศในยุโรปทั้งหลาย ซึ่งสนใจเรื่องนี้เสมอ” เหตุผลเป็นเพราะ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจใหญ่หลวงมาก แม้แต่ในยุโรปก็เถอะ”

นั่นทำให้เกิด “แรงกดดันทางการเมือง” ขึ้นตามมา แล้วก็ทำให้สถานที่ซึ่งถูกเลือกให้เป็นมรดกโลกบางแห่ง “ได้รับความเห็นชอบก่อนหน้าที่จะมีความพร้อมที่เหมาะสม”

แน่นอน รอสเลอร์ไม่ลืมย้ำไว้ด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วการขึ้นทะเบียนสถานที่ใดๆ เป็นมรดกโลก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยูเนสโก

หากแต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมรดกโลก ที่เป็นตัวแทนของ 21 ชาติสมาชิก

ในกรณีหลวงพระบาง เจ้านิดถาคง สมสนิท ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบริการการท่องเที่ยว ชาวเมืองหลวงพระบาง หรือแม้แต่ภิกษุสงฆ์เอง ไม่ได้มีความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะทะลักเข้ามาทันทีทันใดของนักท่องเที่ยว แม้มีการติดประกาศ หรือแจกจ่ายเอกสารข้อความ เรียกร้องให้นักท่องเที่ยวเคารพต่อขนบประเพณีพื้นถิ่น พฤติกรรมละเมิดยังมีให้เห็นอยู่ดกดื่น

มีตั้งแต่คำขอให้จัด “ค็อกเทลปาร์ตี้” ยามอัสดงที่วัดบนยอดเนิน มีแม้กระทั่งบางรายจ่อกล้องถ่ายรูปใส่ภิกษุยามบิณฑบาตตอนย่ำรุ่ง ชนิดขอบเลนส์ห่างจากใบหน้าเพียงไม่กี่นิ้ว

กระนั้น เมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ที่ หลวงพระบางยังได้ชื่อว่าโดยรวมแล้วดำเนินการตามข้อบังคับว่าด้วยสถานที่มรดกโลกของยูเนสโกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงการห้ามใช้วัสดุใหม่ๆ อย่างเช่น หน้าต่างกรุกระจก แต่ให้ใช้วัสดุดั้งเดิมในการบูรณะวัดวาอาราม

ถึงตอนนี้มี 48 สถานที่มรดกโลก ที่ถูกใส่ไว้ในบัญชี “เสี่ยง” ที่คุณค่าจะสูญเสียหรือถดถอยลงไปด้วยน้ำมือของมนุษย์ และ/หรือธรรมชาติ รวมทั้ง สถานที่เกิดของพระเยซูในเบธเลเฮม และบึงเอฟเวอร์เกลดในฟลอริดา

ที่น่าสนใจคือ มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ถูกปลดออกจากสถานะมรดกโลก

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ในบัญชีมรดกโลกยาวเหยียดนั้น มีแหล่งมรดกโลกอีกมากมายเหลือเกินที่ยังไม่ดำเนินการแม้แต่จะเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์

ดัลเลน ทิโมธี จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ชี้ว่ายูเนสโกน่าจะแข็งกร้าวมากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อบังคับให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับ พื้นที่มรดกโลกในบัญชีเสี่ยงหลายแห่งควรถูกปลดทิ้งไป เพื่อ “ทำให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ตื่นตัวและหันมาแก้ไขสิ่งที่ผิดๆ”

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยูเนสโก มีอำนาจบังคับใช้ข้อบังคับของตัวเองน้อยมาก รอสเลอร์เองเน้นว่า ยูเนสโกไม่มีทั้งเงินและคนในอันที่จะแก้ปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้นเป็นปัญหาใหญ่นี้ ไม่มีแม้ว่าแหล่งมรดกโลกจะถูกทำลายไปก็ตามที

ในทรรศนะของเธอ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจึงมีเหตุผลสำคัญมาจาก “ปฏิบัติการของรัฐบาล” แต่ละประเทศทั้งสิ้น

ที่หลวงพระบาง ความรู้สึกของผู้คนพื้นถิ่นผสมผสานกัน ระหว่างความภาคภูมิที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ บวกกับความพึงพอใจในโอกาสมีงานทำ มีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้นและการถูกรบกวนจากภายนอก กับข้อกำหนดเข้มงวดของยูเนสโก

ทองคูน สุดถิวิลัย ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ชาติพันธุ์วิทยาและศิลปะดั้งเดิมในหลวงพระบาง ยอมรับว่า แม่เธอขายบ้านเดิมไปแล้ว ได้ราคาดีด้วย ครอบครัวจึงต้องอพยพออกไป ชีวิตก็ดีขึ้นในบางแง่

“แต่เราคิดถึงย่านที่อยู่เดิมเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงบางครั้งดี บางครั้งก็ไม่ดีนัก”

ฟรานซิส เองเกิลมานน์ อดีตที่ปรึกษายูเนสโก ที่ใช้ชีวิตอยู่ในหลวงพระบางมายาวนาน บอกว่า คนหลวงพระบางไม่น้อยยอมรับว่าสูญเสียความรู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” ของชุมชนไป ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัดวาอาราม ไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของพิธีการ หรือเทศกาลใดๆ อีกต่อไป เช่นเดียวกับความรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเจ้าของในเมืองเก่าแก่ที่เคยเป็น “ของพวกเขา”

เป็นความรู้สึกสูญเสียที่ยากนักจะฟื้นให้กลับคืนมา

เองเกิลมานน์บอกเอาไว้ว่า ในการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น

“เรารักษาสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายของหลวงพระบางเอาไว้ได้ แต่เราสูญเสียจิตวิญญาณของมันไปแล้ว”