เกมแห่งอำนาจ (
Game of Power)
ชำนาญ จันทร์เรือง
หลายๆคนคงสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยในปี
2559 นี้ ทั้งๆที่ดูเหมือนว่า คสช.จะสามารถกุมอำนาจไว้ได้โดยเด็ดขาด
แต่ก็มีแรงกระเพื่อมและความขัดแย้งภายในที่หลุดออกสู่สาธารณะเป็นระยะๆ
ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งความดำเนินคดี
พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษและนายทหารคนสนิท
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับ
พรบ.คอมพิวเตอร์เพราะว่ามีการส่งไลน์เกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หรือกรณีเกี่ยวกับการที่นายมีชัย
ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลบฉากการเข้าร่วมประชุมแม่น้ำห้าสายในวันที่
7 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าหากเข้าร่วมฯกลัวจะถูกผูกมัดตนเองในการร่างรัฐธรรมนูญ
จนเป็นที่มาของกระแสข่าวว่า กรธ.ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอที่จะให้มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในระยะเวลาห้าปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
(ถ้าผ่านประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 59) จน คสช.ต้องมีหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันความต้องการนี้
และมีข่าวออกมาว่านายมีชัยอาจลาออกจากการเป็นประธาน กรธ.หากถูกกดดันมากเกินไป
ซึ่งจะนำความยุ่งยากตามมาเกินกว่าจะคาดคะเนได้
ทั้งหมดทั้งปวงนี้เมื่อวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้วก็ไม่ได้ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด
เพราะล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ ‘เกมแห่งอำนาจ’ ดีๆนี่เอง โดยที่ ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell) ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า “การเมือง
เป็นเรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด
และอย่างไร”
อำนาจ (power)
ในที่นี้หมายถึง
พลังอะไรบางอย่างที่จะสามารถบังคับให้คนหรือกลุ่มบุคคลที่มีพลังน้อยกว่ากระทำตามที่ตนต้องการ
ฉะนั้น อำนาจจึงเป็นสิ่งที่หอมหวนและน่าพิสมัยเป็นยิ่งนัก
บางรายถึงกับเสพย์ติดจนไม่ลืมหูลืมตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงทั้งหลาย
เกมส์
(games) หมายถึง สถานการณ์ที่มีการแข่งขัน (หรือการขัดแย้ง)
ระหว่างกัน ตั้งแต่ ๒ ฝ่ายขึ้นไป ที่ใช้กันมากได้แก่ เกมในการกีฬา
ส่วนในการเมืองก็เช่นเดียวกันเพราะมีสถานการณ์แห่งการขัดแย้งและการแข่งขันคล้าย ๆ
กับเกมในการกีฬา
ทฤษฎีเกมนี้เริ่มนำมาเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1928
โดยนักคณิตศาสตร์ชื่อ จอห์น ฟอน นิวแมน (John Von Newmann) ที่นำมาอธิบายเรื่องการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ จนทำให้เขาได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาของทฤษฎีเกม
โดยทฤษฎีเกมนี้จะเป็นการศึกษากระบวนการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ขัดแย้งกัน (conflict
situations) โดยเราสามารถแบ่งเกมส์ออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท
คือ
1) เกมส์ที่มีผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum
games) เป็นเกมที่ผลรวมผลได้ของผู้ชนะมีค่าเท่ากับผลรวมความเสียหายที่ผู้แพ้ได้รับ
และที่หนักที่สุดคือผู้ชนะได้หมดที่เราเรียกว่า “The winner takes all” ซึ่ง ผู้เสียจะสูญเสียไปทั้งหมด
เกมชนิดนี้จึงเป็นเกมที่ต้องต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง
แพ้ไม่ได้เพราะถ้าแพ้ก็อาจหมดตัวไปเลย
2) เกมส์ที่มีผลรวมไม่เป็นศูนย์ (nonzero-sum
games) เป็นเกมส์ที่มีกลยุทธ์ที่ผลได้ของผู้ชนะมีค่าไม่เท่ากับความเสียหายที่ผู้แพ้ได้รับ
ในเกมชนิดนี้ผู้แข่งขันทุกคนอาจเป็นผู้ชนะ (win-win) หรือในทำนองกลับกันก็อาจจะเป็นผู้แพ้
(loss-loss) ทั้งหมดก็ได้
จากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อนำมาวิเคราะห์กับสถานการณ์บ้านเมืองของไทยเราในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีผู้เล่นเกมแห่งอำนาจ
ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่าย ใหญ่ ๆ คือ
1) ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหาร
ซึ่งแบ่งเป็น 2 ฝ่ายย่อยๆ คือ ฝ่ายเอาทักษิณ เช่น ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและนปช. กับฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ
เช่น ฝ่ายประชาชนและนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบอำนาจนิยม(authoritarianism) ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหารก็ตาม
2) ฝ่ายที่เอารัฐประหาร ซึ่งแบ่งเป็น
2 ฝ่ายย่อยๆ อีกเช่นกัน คือฝ่ายหนุนทหารกับฝ่ายหนุนอำมาตย์
ซึ่งกำลังต่อกรกันอย่างหนักในปัจจุบัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการที่ฝ่ายหนุนทหารพยายามเสนอให้มี
สว.ที่มาจากการสรรหา เพราะเชื่อว่าจะสามารถแทรกแซงได้ง่ายกว่าการพยายามเพิ่มอำนาจศาลทั้งหลายของฝ่ายหนุนอำมาตย์
ซึ่งฝ่ายหนุนทหารคิดว่าแทรกแซงได้ไม่สะดวกนัก มิหนำซ้ำคุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ยังออกมาให้สัมภาษณ์ทางทีวีเมื่อ
7 มีนาคมอีกว่า การหาคนมาเป็นนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์นั้นหาไม่ยาก
และก็คงมิใช่ความบังเอิญอย่างแน่นอนที่คุณอานันท์ ปันยารชุน จะไปพูดให้แก่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ
(FCCT) ในวันที่ 23 มีนาคมนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อเรานำทฤษฎีเกมเข้ามาวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่า
เกมแห่งอำนาจของการเมืองไทยนี้มีปัจจัยที่จะต้องนำมาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อประกอบในกลยุทธ์ที่จะใช้ต่อสู้เพื่อแย่งชิงและรักษาอำนาจที่ว่านั้น
มีปัจจัยแตกต่างและมากกว่าบ้านอื่นเมืองอื่นพอสมควร
ที่ว่าแตกต่างจากบ้านอื่นเมืองอื่นก็คือ
โดยปกติแล้วการตัดสินเกมแห่งอำนาจเพื่อชัยชนะทางการเมืองในบรรดาประเทศประชาธิปไตยทั่ว
ๆ ไปแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดก็คือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบและรักษากติกาก็คือองค์กรที่จัดการเลือกตั้ง
และองค์กรตุลาการที่พิจารณาพิพากษาคดีในกรณีที่มีปัญหาในด้านความชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น
แต่ของไทยเรานอกเหนือจากปัจจัยที่ว่ามานี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องนำมาพิจารณาอีก
อาทิ กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ กลุ่มพลังอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบ
ตลอดจนผู้คนที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในสังคม ฯลฯ
ฉะนั้น
ทฤษฎีเกมแห่งอำนาจที่จะใช้อธิบายการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในวิกฤติการณ์ของการเมืองไทยในคราวนี้
จึงอธิบายได้ว่า มิใช่เป็นเพียงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายที่เอากับไม่เอารัฐประหารเท่านั้น
แต่ยังเป็นการต่อสู้แย่งชิงกันในระหว่างกลุ่มย่อยลงไปอีกชั้นหนึ่ง
ผลของการแพ้ชนะในการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้จึงมิใช่
zero-sum games หรือ the
winner takes all แต่จะเป็น nonzero-sum games เพราะจวบจนถึงปัจจุบันนี้ยังมองไม่เห็นว่าใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากชัยชนะในการต่อสู้ในครั้งนี้
มีแต่มองเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น
(loss-loss) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อประเทศชาติ
ซึ่งเปรียบเสมือนเวทีของการเล่นเกมแห่งอำนาจนี้ต้องพลอยได้รับผลแห่งความเสียหายอย่างมิอาจประเมินได้
เพราะเหตุแห่งการที่ผู้เล่นเกมหวังมุ่งแต่เพียงชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่ตามมานั่นเอง
--------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 16
มีนาคม 2559