ร่างรธน.สู่จุดไคลแมกซ์สืบทอดอำนาจ ทำไม่ได้
ที่มา ไทยโพสต์
20 มีนาคม 2559
ในช่วงสัปดาห์หน้าตั้งแต่ 21 มี.ค.เป็นต้นไป การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ เข้าสู่ช่วงไคลแมกซ์สำคัญ เพราะนอกจากจะมีการยกคณะไปประชุมนอกสถานที่กันที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วง 23-26 มี.ค.แล้ว ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ กรธ.ก็จะหารือกันถึงข้อเสนอการร่าง รธน.ที่ คสช. โดยพลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช.ส่งถึง กรธ.ที่หลายเรื่อง ซึ่ง คสช.เสนอมาให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เช่น ส.ว.ชุดแรก 250 คน ให้มาจากการสรรหาทั้งหมด ซึ่งช่วงนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า คสช.มุ่งหวังผลทางการเมืองเพื่อ สืบทอดอำนาจ หลังการเลือกตั้ง ทัศนะจากนายทหารระดับสูงในกองทัพบก
พลเอกนคร สุขประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จาก 3 ตำแหน่งหลักในยุค คสช.แสดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของนายทหารผู้นี้ พลเอกนคร ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อเรื่องการร่าง รธน.ที่คนกำลังมองว่า คสช.กำลังรุกไล่ กรธ.อย่างหนัก
โดย พลเอกนคร-ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ระบุว่า การพิจารณาร่าง รธน.ในช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงที่ถึงจุดไคลแมกซ์แล้ว ถ้าเป็นหนังไทยก็คือหนังใกล้จะจบม้วนแล้ว ต้องดูว่าพระเอก ผู้ร้าย ตำรวจ จะสามารถทำให้ประชาชน คือคนดูหนังมีความสุขหรือไม่ จะจบแบบ Happy ending หรือพระเอกตาย รอบที่แล้วชุด ดร.บวรศักดิ์ พระเอกตาย รอบนี้ประชาชนจะมีความสุขหรือไม่ ช่วงไคลแมกซ์จึงอยู่ในช่วงนี้จนถึง 29 มี.ค.
พลเอกนคร-สปท. วิเคราะห์เหตุผลที่ คสช.ต้องการให้สภาสูงชุดแรก 250 คน มาจากการสรรหาและอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี หลังใช้ รธน.ฉบับ กรธ.ว่า คสช.เป็นฝ่ายดูแลบ้านเมือง จึงห่วงว่าหากยังกลับสู่รูปแบบเดิม ที่สุดท้ายบ้านเมืองก็อาจจมปลักแบบเดิม เหมือนตอนช่วงก่อน 22 พ.ค.57 เพราะการเปลี่ยนผ่านต้องดูความพร้อมหลายส่วน โดยเฉพาะความพร้อมของประชาชน ของนักการเมือง ที่ตอนนี้ คสช.เขามองว่า มันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนไปในทางที่จะมีเครื่องชี้แสดงให้เห็นว่ามันมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น คสช.เลยเสนอให้ กรธ.เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้มี ส.ว.สรรหา 250 คน
...ไม่แปลกใจที่ข้อเสนอของ คสช.จะถูกฝ่ายการเมืองออกมาต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะพยายามโจมตีว่าต้องการสืบทอดอำนาจ แต่หากมองในแง่ของคนรับผิดชอบบ้านเมืองที่ปฏิวัติรัฐประหารมา เขาก็ไม่อยากให้เสียของ อันนี้เราต้องดูเจตนาของ คสช.เขาก่อน เพราะหากเขาไม่มีเจตนาอะไรแอบแฝง มันก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามันก็ต้องมีอะไรที่จะสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า ประเทศชาติจะหลุดพ้นจากวงจรนี้แล้วเคลื่อนไปข้างหน้าได้
ผมก็เห็นด้วยกับ คสช.เพราะเขาก็ไม่ได้ต้องการจะสืบทอดอำนาจ เพราะช่วง 5 ปีมันก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เราก็ควรจะมี ส.ว.อย่างที่ คสช.ต้องการ ซึ่งที่ให้มี 250 คน อันเป็นกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ก็เพื่อเอาไว้คานและถ่วงดุล ยิ่งการที่ คสช.เสนอว่าให้ กรธ.ไปเขียนให้มีคณะกรรมการสรรหาที่เป็นกลางและเป็นธรรมมาพิจารณาสรรหาคนเป็น ส.ว.ชุดแรก 8-10 คน มันก็แสดงเจตนาว่าเขาไม่ได้ต้องการให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการเลือกหรือกำหนดตัวบุคคลโดย คสช. แต่ให้ กรธ.ไปเขียนมาว่าจะให้ใครมาเป็นกรรมการสรรหา เจตนาของ คสช.ดังกล่าว หากจะให้เป็นเช่นนี้ก็ต้องทำให้มีกรรมการสรรหาที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน
พลเอกนคร ย้ำว่า ข้อเสนอของ คสช.ดังกล่าว ถ้าเป็นโครงสร้างแบบนี้ ที่คนพูดกันไปว่า จะมีการแปลงสภาพสมาชิก สนช.ในตอนนี้ให้กลับเข้ามาเป็น ส.ว.สรรหาชุดแรกมันก็ไม่ใช่แล้ว มันก็เป็นการลดแรงกดดันไปได้ การโจมตีของฝ่ายการเมืองเวลานี้เขาก็ต้องโจมตีแน่ เพราะเขาเสียประโยชน์ แต่หากมองในภาพรวม มันก็อยู่ที่ กรธ.แล้วว่าจะออกแบบที่มาของกรรมการสรรหา ส.ว. 250 คนชุดแรกอย่างไร ก็คิดว่า กรธ.ก็คงน่าจะตอบสนอง
พลเอกนคร เสนอโมเดลว่า กรรมการสรรหา ส.ว.ชุดแรกดังกล่าวต้องมีความหลากหลาย ไม่ใช่ไปล็อกสเปกกันเข้ามา ที่ก็อาจให้กรรมการมีด้วยกัน 9 คน ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ ประธานศาลทั้งหมดทั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากนี้ก็ให้นำประธานกรรมการองค์กรอิสระอีก 5 แห่ง เช่น ประธาน ป.ป.ช.-ประธาน กกต.-ประธาน คตง.-ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะเป็น 9 คนแล้วมาเป็นกรรมการสรรหา ถ้าออกมารูปแบบนี้ก็จะทำให้การได้มาซึ่ง ส.ว.สรรหา 250 คนชุดแรกได้รับการยอมรับมากกว่าจะให้ ครม.-คสช.เป็นคนพิจารณาคัดสรร ไม่อย่างนั้นหากเช่นให้ทหารมาเป็น มันก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ
สำหรับคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็น ส.ว.สรรหาชุดแรก 250 คนในช่วงเปลี่ยนผ่าน จำเป็นต้องได้คนที่มีประสบการณ์ มีความมุ่งมั่นมาทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ เราก็ต้องกำหนดสเปกไปเลย เช่น สมมุติหากเป็นนักวิชาการ อาจต้องให้เป็นระดับศาสตราจารย์ขึ้นไป หากเป็นข้าราชการทำงานในภาครัฐก็ต้องระดับอธิบดีขึ้นไป หรือหากเป็นทหารก็ต้องระดับพลเอกขึ้นไป หรือหากมาจากภาคประชาสังคม ก็ต้องเป็นคนที่ทำงานในด้านนั้นๆ มากกว่า 30 ปี คนพวกนี้เมื่อเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เขาก็จะมีประสบการณ์มีมุมมองว่าปัญหาในบ้านเมืองเราต้องแก้ไขเรื่องไหน
แล้ว 250 คน ก็ต้องเลือกออกมาให้ครอบคลุมทุกฝ่าย ไม่ใช่มีแต่ทหารเป็นหลัก ที่จะถูกมองได้ว่าจะมาซ้ายหันขวาหัน ถ้าออกแบบโครงสร้างพวกนี้ออกมาได้ ก็จะทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ได้แก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายการเมืองได้
...ส่วนที่ คสช.เสนอให้ผู้นำเหล่าทัพ-ฝ่ายความมั่นคง 6 ตำแหน่ง เช่น ผบ.ทบ.ได้เป็น ส.ว.สรรหาโดยตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากดูตามความเป็นจริงแล้ว แค่ 6 เสียงในวุฒิสภาที่จะมี 250 เสียง ก็ไม่ได้มีสิทธิ์เด็ดขาดอะไร ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะหากให้ผู้นำทหารเขาได้เข้าไปอยู่ในรัฐสภาไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วย เวลามีอะไร เขาก็จะได้ไปพูดคุยร่วมกันกับฝ่ายการเมืองต่างๆ ในรัฐสภา ได้ทำความเข้าใจได้ชี้แจงกัน
คสช.เสนอแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องว่า คสช.จะสืบทอดอำนาจ เพราะตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ เขาก็มีการเปลี่ยนแปลงกันตลอด เกือบทุกปี บางทีก็ 2 ปีบ้าง ไม่ใช่ว่าคนเดียวจะมาอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี พอ ผบ.คนนี้ไป ผบ.คนใหม่ก็เข้ามา ในช่วง 5 ปี บางเหล่าทัพก็อาจมี ผบ.เหล่าทัพ 3-5 คนก็ได้ มันก็ไม่ใช่การสืบทอดของ คสช. เพราะใครจะไปรู้ ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ.จะมีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร
ที่ คสช.ขอมา เขาก็ขอแค่ 5 ปีแรก เพื่อการเปลี่ยนผ่าน ไม่ต้องการให้ประเทศชาติเสียโอกาส อย่างที่ให้ ส.ว.มีวาระ 5 ปี ซึ่งก็เท่ากับจะคร่อมวาระของสภาฯ ที่มี 4 ปีไปอีก 1 ปี ที่เสนอแบบนี้คงเพราะหากสภาฯ อยู่ 4 ปีแล้วเลือกตั้ง ส.ส.ชุดใหม่เข้ามา ส.ว.สรรหาชุดนี้ก็จะช่วยประคับประคองแล้วส่งมอบงานอะไรต่างๆ แล้วพอครบ 5 ปี ก็ค่อยไปเข้าสู่ระบบตามที่ กรธ.เขียนไว้ คือให้ ส.ว.มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มสาขาอาชีพ
พลเอกนคร กล่าวต่อไปว่า วิธีคิดของ คสช.ที่เป็นผู้ทำปฏิวัติรัฐประหาร รับผิดชอบบ้านเมืองมา เขาก็ต้องการให้เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่มันเกี่ยวโยงกันให้ไปได้ เพราะหากการเมืองมันไม่ดี สังคม เศรษฐกิจมันก็ไม่ดี หากมีความแตกแยก ก็ต้องทำให้การเมืองเข้มแข็ง คือทำให้ประชาชนที่เป็นส่วนหลักต้องมีความเข้าใจในหน้าที่ มีความรับผิดชอบ ต้องติดตามตรวจสอบการเมืองตลอดเวลา ไม่ใช่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งไม่กี่วินาทีแล้วก็ส่งทุกอย่างให้นักการเมืองจะไปทำอะไรก็ได้ อีกทั้งที่ คสช.ให้ ส.ว. 250 มาจากการสรรหาอยู่ 5 ปี ก็จะสัมพันธ์กับเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะการปฏิรูปต้องใช้เวลา ดังนั้น ช่วง 5 ปีดังกล่าวก็ต้องไปเร่งทำปฏิรูป โดยให้อยู่ในกรอบของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำลังจะออกมา
อย่างไรก็ตาม พลเอกนคร ประเมินว่า ทาง กรธ.เองคงไม่ให้อำนาจหน้าที่กับ ส.ว.ชุดแรก มีมากหรือเกินอำนาจไป ทาง กรธ.คงเขียนออกมาในระดับที่พอเหมาะพอสม ซึ่งก็อาจไม่ทำตามที่ คสช.เสนอความเห็นไป เพื่อไม่ให้หลักเกณฑ์ระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.มันผิดเพี้ยนไป จากระบอบประชาธิปไตยสากลเขาทำกัน
สำหรับข้อเสนอ คสช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้พรรคการเมืองต้องประกาศรายชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อในช่วงการเลือกตั้ง โดยเห็นว่าควรงดใช้แนวทางดังกล่าวไปก่อน โดยให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลนั้น เรื่องนี้ก็ไม่อยากออกความเห็นมาก เพราะเท่าที่ดู เรื่องที่มานายกรัฐมนตรีในร่างแรก ทาง กรธ.ก็เขียนออกมาได้ชัดเจน เรื่องนี้เป็นประเด็นรอง และจริงๆ แล้วเรื่องที่ กรธ.ให้ทุกพรรคการเมืองเปิดชื่อแคนดิ เดตนายกฯ 3 รายชื่อ พวกพรรคการเมืองเขาก็ไม่แฮปปี้อยู่แล้ว แล้วพอ คสช.เสนอมา ก็เหมือนกับฝ่ายการเมืองเขาก็เลยตีรวน ซึ่งจริงๆ แล้วการเลือกนายกรัฐมนตรี มันก็อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกใคร แต่บ้านเราก็เป็นแบบนี้ พอมีอะไรก็เอาเรื่องต่างๆ มาตีกันไป
ถามความเห็นในฐานะนายทหารว่า ทั้ง ครม.และ คสช.ดูจะยกเหตุผลเรื่องข้อเป็นห่วงในช่วงการเปลี่ยนผ่านขึ้นมาว่า ช่วง 5 ปีแรกจำเป็นต้องมีกระบวนการรองรับการเปลี่ยนผ่าน พลเอกนคร กล่าวตอบว่า ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไป ประเทศที่เขามีความมั่นคงทางการเมือง เขาจะไม่มีการเขียนในเรื่องการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะมาตรฐานการเมืองต่างประเทศ เขามีความมั่นคง ความมั่นคงคือประชาชน ต้องมีความเข้าใจในบทบาทของตัวเอง และนักการเมือง พรรคการเมืองเขาต้องรู้ว่าหน้าที่ของเขาตามระบอบประชาธิปไตย
ในช่วงที่ผ่านมา วัฒนธรรมการเมืองของไทยเรา ในด้านความพร้อม เช่น เรื่องของประชาชนต่อความตื่นตัว ตื่นรู้และการมีความเข้าใจให้ตระหนักถึงระบบประชาธิปไตยของเรายังไม่พัฒนาเท่าที่ประเทศที่เขาเจริญในระบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่า นักการเมือง พรรคการเมืองของเรา ยังไม่พัฒนาไปถึงไหนเลย เข้ามากี่ยุคกี่สมัย ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล มีอำนาจรัฐ ก็จะเห็นได้ว่า เขาก็ใช้ยุทธวิธี กรอบความคิดเก่าๆ คือเข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์ เข้ามาเพื่อให้เกิดความมั่นคงเฉพาะช่วงที่ตัวเองเป็นรัฐบาลเท่านั้น
ใน รธน.ของเรา ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน เมื่อเรายอมรับว่าพื้นฐานต่างๆ ของเรามันไม่เหมือนต่างประเทศ แล้วจะไปเขียนในร่าง รธน.ให้มันเป็นหลักสากลจริงๆ มันก็จะก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ ก็ต้องนำมาคิดกัน
การที่ ครม.-คสช.เสนอให้ กรธ.เขียนบางเรื่องไว้ในบทเฉพาะกาลก็เพราะว่า หากนักการเมือง พรรคการเมืองเราไม่คิดปรับปรุงวิธีคิดทางการเมือง สุดท้ายมันก็จะกลับมาสู่แบบเดิม ถึงต่อให้มี รธน. มีการเลือกตั้ง แต่เราก็จะได้นักการเมือง ที่เมื่อมีอำนาจจากการซื้อเสียง ประชาชนก็ขายสิทธิ์ ก็ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยของเราไม่มั่นคง ถึงเวลาก็ต้องมีความขัดแย้ง แล้วก็มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญแบบที่ผ่านมาไม่สิ้นสุด ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีข้อเสนอให้มีการกำหนดไว้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน
คสช.ในฐานะผู้บริหารประเทศ เขาคงมองว่าหากมีการเลือกตั้งเข้ามา แล้วปล่อยให้กระบวนการต่างๆ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป คือมีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือมีการเลือกตั้ง ส.ว. สุดท้ายวงล้อทางการเมืองก็จะกลับไปแบบเดิม อย่างเลือกตั้ง ส.ส. หากยังมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงแล้วก็ได้พวกกลุ่มเดิมเข้ามาโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนกันเลย มันก็จะทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่วงจรแบบเดิม
...การที่ ครม.-คสช.เน้นเรื่องระยะเปลี่ยนผ่าน ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้ช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ คสช.บอกว่าขอเวลา 5 ปี เพื่อสร้างมิติความมั่นคง แล้วพอหมด 5 ปีไปแล้วถึงค่อยเข้าสู่ระบอบปกติ เช่น ที่มา ส.ว.ก็ให้ทำตามอย่างที่ กรธ.เขาเขียนไว้ในร่างแรกที่ออกมาเมื่อ 29 ม.ค. คือให้มาจากการเลือกทางอ้อม 20 กลุ่มสาขาอาชีพ เพราะตอนนี้เราก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ที่จะให้เลือกไขว้กันเข้ามา 20 กลุ่มสุดท้ายแล้ว จะได้ ส.ว.ซึ่งเป็นที่เราต้องการจริงหรือไม่ เพราะที่มาซึ่ง กรธ.ออกแบบไว้อาจมีการครอบงำจากฝ่ายการเมืองให้เข้ามาได้ ต้องยอมรับว่ามันมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อยู่มาก คสช.จึงเสนอให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากสรรหาไปก่อน
ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าเราเอาตามหลักสากล คือให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราจะแน่ใจได้หรือไม่ว่า ส.ว.จะไม่ใช่พวกเดียวกับ ส.ส. อย่างตอนใช้ รธน.ปี 40 ที่ให้เลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด ก็ได้เครือข่ายพรรคการเมืองทั้งนั้น เป็นสภาผัวเมีย พอมาใช้ รธน.ปี 50 ให้มีทั้งสรรหาและเลือกตั้งตอนแรกก็เหมือนดูดี แต่พวกเลือกตั้งก็ยังอิงฐานเดียวกับพวก ส.ส.เหมือนเดิม แล้วพอไปทำงานร่วมกันกับ ส.ว.สรรหา ก็มามีปัญหาสภาพปลาสองน้ำ
- เสียงวิจารณ์ข้อเสนอของ คสช.และ ครม.เรื่องต้องการสืบทอดอำนาจเริ่มดัง แกนนำ คสช.เองก็ยอมรับว่า คสช.จะมาเป็น ส.ว.ก็ไม่เสียหายอะไร?
คนใน คสช.ก็มีคนมีความรู้ความสามารถที่เขาก็อาจได้รับการสรรหาเข้ามาเป็น ส.ว. แต่หากกระบวนการสรรหามีความหลากหลายและให้โอกาสกับทุกกลุ่มที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.เพื่อไปประคับประคองในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็มีโอกาสจะได้รับเลือกได้
ส่วนประเด็นที่ว่าสังคม หรือนักวิชาการไม่ค่อยเห็นด้วยนัก มีการไปพูดกันเรื่องจะสืบทอดอำนาจ ประเด็นนี้เราก็ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาทุกยุคสมัย ประชาชนไม่ไว้วางใจราชการในเกือบทุกเรื่อง เพราะว่าราชการไม่ทำตัวให้เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ไม่แก้ปัญหา ไม่ดูแลทุกข์สุขให้กับประชาชนอย่างแท้จริง เราก็คิดว่าถ้าเราจะใช้กระบวนการในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมันเป็นช่วงล่อแหลมเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเลือกตั้งเข้ามา ก็กลับมาแบบเดิม ปิดถนน เดินขบวน ก็ทำให้ประเทศไม่สามารถหลุดไปจากความชั่วร้ายทางการเมืองได้เสียที มันก็ลำบาก ประชาชนเขาก็ไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใจฝ่ายราชการเท่าไหร่ ดังนั้นการออกแบบเรื่องอำนาจหน้าที่ ส.ว.จึงเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อ คสช.เขาขอมาแล้ว เพราะผมคิดว่า คสช.เขาไม่คิดสืบทอดอำนาจหรอก เพราะถึงเวลาทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบ การเมืองเคลื่อนไปข้างหน้าได้
การสืบทอดอำนาจไม่สามารถทำได้ เพราะประชาชนจะไม่เอาด้วย เราก็ต้องจัดระบบการเมืองให้มันอยู่ในร่องในรอยให้มันเคลื่อนไปได้ แต่หากเรายังไม่สามารถจัดให้อยู่ในร่องในรอยได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็จะกลับมาอยู่ในวงจรเดิมๆ ได้
"ที่พูดกันว่าจะสืบทอดอำนาจ คิดว่าถ้าจะสืบทอดกันจริงๆ ทำยาก เพราะประชาชนไม่เอาด้วย ไม่ใช่ว่าจะมาสืบทอดกันได้ง่ายๆ เพราะประชาชนเขาก็ตรวจสอบอย่างหนักหน่วงหากจะมีการสืบทอดอำนาจ"
เราถาม พลเอกนคร-สมาชิก สปท. ที่เป็นอดีต กมธ.ยกร่างชุด ดร.บวรศักดิ์ ว่า ในยุคมีชัยและ กรธ.คนภายนอกมองกันว่าถูกกดดันจาก คสช.หนักมาก หนักกว่ายุค ดร.บวรศักดิ์ คำถามนี้ พลเอกนครออกตัวที่จะไม่แสดงความเห็น โดยกล่าวเพียงว่า เรื่องนี้ผมก็ไม่อยากลงรายละเอียดมาก เพราะผมก็เคยมีประสบการณ์ร่าง รธน.มาก่อนตอนชุด ดร.บวรศักดิ์ ผมจึงรู้ดีว่าในช่วงท้ายๆ ของการร่าง รธน.แบบตอนนี้ จะได้รับแรงกดดันมาก แต่ต้องยอมรับเลยว่าบารมีของท่านมีชัยมีบารมีสูง และคงเห็นประสบการณ์มาแล้วจากยุค ดร.บวรศักดิ์ อย่างที่นายมีชัยบอก หาก คสช.อยากได้อะไรก็ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรมาถึง กรธ. เพราะไม่มีลายลักษณ์อักษร เลยไม่รู้จะเอาจริงหรือไม่
...แบบนี้แสดงว่าอำนาจต่อรองของอาจารย์มีชัยมีมากกว่า ดร.บวรศักดิ์ จนทำให้ต้องมีการยื่นเรื่องมาเป็นลายลักษณ์อักษรมาได้ อย่างตอนชุด ดร.บวรศักดิ์มันก็มีแรงกดดัน ที่มาก็มาในรูปแบบต่างๆ เช่น ทางวาจาบ้าง ผ่านการส่งข่าวสารบ้าง แต่รูปแบบไม่เหมือนกัน เพราะทางนายมีชัยสามารถต่อรองให้ส่งมาเป็นลายลักษณ์อักษร
...ระยะเปลี่ยนผ่านหาก กรธ.รับข้อเสนอ ครม.-คสช.ก็ต้องเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล แต่บทหลักมันก็สามารถแก้ไขได้ แม้จะแก้ยาก แต่หากแก้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริงแล้ว ประชาชนเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ เช่น อีก 20 ปี ก็ค่อยไปแก้ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด มันก็ไปแก้ไขได้ในอนาคต เพียงแต่ขอให้ประชาชนเอาด้วย
สำหรับการประเมินว่าร่าง รธน.จะผ่านประชามติหรือไม่ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เห็นว่า นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันมาตลอดว่า อย่างไรก็ต้องทำให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 มั่นใจว่าโรดแมปนี้คงไม่เปลี่ยน นายกฯ รับปากกับประชาชนกับสังคมโลกไว้ ทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม
...ร่างจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ ปัจจัยขึ้นอยู่กับว่าสามารถจะทำความเข้าใจให้กับประชาชนได้หรือไม่ว่า เช่น ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่จะให้มี ส.ว.สรรหาช่วงแรก ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจว่าเรื่องนี้มีเหตุผลอย่างไร ทำไมต้องมี ส.ว.สรรหา
จุดสำคัญคือต้องทำให้มีการพูดคุยกันทุกภาคส่วน รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย ก็ให้นำมาคุยกัน ให้เข้าใจบทบาทของกันและกัน เช่นตอนนี้ก็บอกให้อยู่ในกรอบระดับหนึ่งไปก่อน แต่ต่อไปการจะทำกิจกรรมการเมืองแบบเดิม ก็ให้ทำได้ แต่ช่วงนี้ต้องทำให้เกิดความปรองดองก่อน
ดังนั้นการประเมินว่าร่างจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องดูหลัง 29 มี.ค. กรธ.มีการปรับแก้หรือไม่อย่างไร และหากปรับหรือไม่ปรับ กรธ.จะชี้แจงให้เกิดความกระจ่างชัดอย่างไร เพราะหาก กรธ.ไม่ปรับแก้ ก็อาจทำให้ทั้ง ครม.คสช.เขาก็อาจไม่มั่นใจว่า ในระยะเปลี่ยนผ่าน จะทำอย่างไร ต้องรอดูผลสุดท้ายของร่างที่จะออกมาจะมีการปรับแก้อย่างไรบ้าง
...ส่วนที่นักการเมืองร้องแรกแหกกระเชอตอนนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าเขาเป็นผู้เสียผลประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องฟังประชาชน คือเมื่อแก้หรือไม่แก้ ต้องชี้แจง ต้องตอบประชาชนให้ได้ แต่ถึงต่อให้ร่าง รธน.ไม่ผ่านประชามติ นายกรัฐมนตรีก็ต้องมีวิธีรองรับไว้แล้ว
คสช.เขาก็ต้องคิดไว้ล่วงหน้า เมื่อแผน 1 ไปไม่ได้ ก็ต้องไปใช้แผน 2 หากแผน 2 ไม่ได้ ก็ต้องแผน 3 เขาต้องมองไว้หลายช่องทางอยู่แล้วเพื่อไม่ให้เกิดทางตัน เพียงแต่ช่วงนี้ คสช.เขาก็มองว่าช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นหัวใจสำคัญ ก็อยากให้ทุกอย่างมันราบรื่น หากทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ยังมีการโวยวายอะไรแบบเดิมๆ สุดท้ายมันก็ปฏิรูปประเทศไม่ได้.
คสช.วางมือ แต่บางส่วนอาจต้องอยู่
ในช่วงสนทนาเมื่อถาม พลเอกนครผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ถึงทางลงจากอำนาจของ คสช.ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหลังใช้ รธน.ฉบับ กรธ. บทบาทของ คสช.จะเป็นอย่างไร เพราะดูจากข้อเสนอถึง กรธ.ที่ให้เขียนเรื่องที่มาและอำนาจของวุฒิสภาแล้ว แม้ คสช.จะลงจากอำนาจแล้ว แต่ก็ยังเกาะเกี่ยวอยู่ในโครงสร้างหลักในสภาสูงอยู่ คนจึงมองว่าหลังเลือกตั้ง คสช.ยังคงคุมอำนาจการเมืองอยู่
ประเด็นนี้ พลเอกนคร-สปท. กล่าวตอบว่า มันก็จะย้อนกลับมาในประเด็นเดิมที่แสดงความเห็นไว้ข้างต้น คือต้องดูว่า กรธ.จะเขียนร่าง รธน.เรื่องที่มา ส.ว.อย่างไร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า คสช.เมื่อถึงเวลา หมดวาระ เขาก็ต้องไป การไปของ คสช.ก็คิดว่าเขาก็ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองในระดับที่ประชาชนพอใจ คสช.ทำดี ประชาชนก็จะเป็นเกราะที่จะแสดงออกมาว่า คสช.ได้ตั้งใจทำงาน
เมื่อถึงเวลา คสช.เขาก็ต้องวางมือ ส่วนหลังจากนั้นแล้ว บางส่วนอาจจะไปเป็น ส.ว. หรือบางส่วนไปเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ
ขอเพียงแค่ในช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญต้องวางหลักกันให้ดีๆ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะกลับมาที่วงล้อมแบบเดิม คือแทนที่จะวิ่งออกจากหล่มโคลนที่ติดกันมานาน จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้หลุดจากตรงนี้ไป ทำให้มันเดินไปข้างหน้าให้ได้
สุดท้าย คสช.ก็ต้องถอนตัว วางมือ ออกไปแล้วปล่อยให้กระบวนการทางการเมืองมันหมุนไปสู่วงล้อปกติ เช่น ส.ว.ก็มาจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพ แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส.ว.ชุดแรกก็มาจากการสรรหาเสียเพื่อให้มาประคับประคอง ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก คสช.ก็อาจเข้ามามีส่วน ไปเป็น ส.ว.บ้างหากได้รับการสรรหา แต่หากจะไปเป็นรัฐมนตรีอะไรต่างๆ ก็คือต้องเข้าไปสู่ระบบการเมืองใหม่
ดังนั้น คสช.พอเลือกตั้ง เขาก็ต้องถอยออก เพียงแต่อาจมีบางส่วนยังอยู่ บางส่วนก็อาจไปเฝ้าดูอยู่ห่างๆ แต่ก็จะไม่มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบริหารแล้ว ปล่อยให้กระบวนการนี้เดินไป
พลเอกนคร ยังได้ประเมินสถานการณ์ภายในประเทศในช่วงการรณรงค์ประชามติว่า ก็วาดหวังไว้ว่าสถานการณ์ช่วงนั้นจะอยู่ในความสงบเรียบร้อย โดยความสงบเรียบร้อยก็อยู่บนเงื่อนไขคือร่าง รธน.ที่จะออกมา 29 มี.ค.จะเป็นที่พอใจของแต่ละกลุ่มอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เราจะไปหวังว่าร่าง รธน.อย่างเดียวจะทำให้เกิดผลในทางที่ดีทุกอย่างเลยก็ไม่ได้ ต้องสร้างให้เกิดความปรองดองขึ้นมา หากกระบวนการนี้มีมากเท่าไหร่ ความมั่นคงของวิถีทางประชาธิปไตย ในช่วงการทำประชามติหลัง 29 มีนาคม ก็จะมีมากเท่านั้น สำคัญเลยคืออย่ากันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะไม่เช่นนั้นฝ่ายนั้นจะไปอยู่ข้างนอก ก็ต้องนำมาอยู่ในวงมาคุยกัน มาลงสัตยาบันเพื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ทุกฝ่ายพร้อมที่จะเคลื่อน ทุกองคาพยพให้เกิดความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้าไปได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ต่อข้อถามว่าช่วงประชามติคงมีบางกลุ่มต้องหยิบยกบางประเด็นในร่าง รธน.มาเคลื่อนไหว เช่น เรื่อง ส.ว.สรรหา ไปพูดว่า คสช.สืบทอดอำนาจ เป็นร่าง รธน.ประชาธิปไตยครึ่งใบ พลเอกนคร เห็นว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ประเด็นคือเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา อย่างที่บอกเรื่องปรองดองเป็นเรื่องละทิ้งไม่ได้ พอเราไป ปล่อยให้เขาอยู่นอกวง ก็ทำให้เขาไปด่าเย้วๆ อยู่ข้างนอก แต่หากเราเรียกเขามาคุยกัน มาบอกว่าอันนี้เรายอมให้ได้แค่นี้ เรื่องนี้ยอมให้ได้แค่นี้ คุยกันให้เข้าใจ ว่าการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านในร่าง รธน.ของ กรธ.มันจะทำให้เกิดความราบรื่นได้อย่างไร คือให้ทุกฝ่ายมีส่วนถกแถลงร่วมกัน ตอนนี้เราดูเหมือนลืมเรื่องปรองดองไป เอาเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหลัก จนละทิ้งคนบางกลุ่มไป แต่หากนำมาคุยกันให้ตกผลึก มันก็คงจะทำให้สถานการณ์ข้างหน้ามีทิศทางที่ดีขึ้นกว่านี้.
รบ.แห่งชาติหลังเลือกตั้ง
พลเอกนคร-สปท. ให้ความเห็นถึงเรื่องความคืบหน้าการจัดทำ คำถามพ่วงประชามติ ซึ่งแม้ รธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 จะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นฝ่ายส่งคำถามพ่วงประชามติร่าง รธน.ไปให้สำนักงาน กกต. แต่ในร่างแก้ไข รธน.ปี 57 ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ไปแล้ว ก็เขียนเพิ่มให้ สปท.สามารถให้คำแนะนำต่อ สนช.ได้ แต่ สนช.ก็อาจจะรับฟังความเห็นดังกล่าวของ สปท.หรือไม่ก็ได้
ในประเด็นนี้ พลเอกนคร บอกว่า สมัยยังเป็นทั้ง กมธ.ยกร่าง รธน.ชุดที่แล้วและสมาชิก สปช. ตอนนั้น สปช.นำโดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็เสนอญัตติให้ สปช.ส่งคำถามพ่วงประชามติเรื่องการตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหลังการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องยุติไปเพราะร่าง รธน.ไม่ผ่าน สปช. โดยตอนนั้นก็เป็นคนหนึ่งที่ลงชื่อสนับสนุนเรื่องนี้ เรื่องคำถามพ่วงประชามตินั้น ก็เห็นว่าการปฏิรูปมันจะสำเร็จได้ต้องมีการสร้างความปรองดองควบคู่กันไปด้วย
...ถ้าเรามาดูกันให้ดี การตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ มันก็คือรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ ให้พรรคการเมืองมารวมกันเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบการเมืองและประเทศชาติ อย่างเช่นที่ให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยมาตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่นักการเมืองก็ออกมาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับจะให้พระอาทิตย์ไปขึ้นทางทิศตะวันตก
ที่เป็นแบบนี้ เพราะวัฒนธรรมการเมืองบ้านเรามันจ้องทะเลาะกันอย่างเดียว มันไม่ยอมเลยว่าบ้านเมืองเรามันมีปัญหาอยู่ ทุกฝ่ายก็ควรต้องลดทิฐิของแต่ละฝ่ายแล้วมารวมกัน มาคุยกัน แล้วมาออกแบบกันว่าจะทำอย่างไร
เรื่องรัฐบาลปรองดองก็มีนักวิชาการหลายฝ่ายเคยเสนอไว้ว่าให้นำนักการเมืองมาคุยกัน เพราะนักการเมืองก็ยังเป็นตัวหลักทางการเมือง หากไปกันเขาออกไป ให้ไปอยู่ข้างนอก หากเป็นเมืองนอกเคยเห็นไหม ตอน บารัค โอบามา แข่งกับฮิลลารี คลินตัน แต่แข่งเสร็จ โอบามาชนะ เขาก็นำฮิลลารี คลินตัน มาเป็น รมว.ต่างประเทศ มาทำงานด้วยกัน ทั้งที่เคยแข่งกันมา อันนั้นคือวัฒนธรรมการเมือง แต่ของเรามันยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ความปรองดองไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน มันเป็นเรื่องสำคัญ
การปรองดองก็เหมือนกับรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ คือนำพรรคใหญ่ๆ มาแล้วก็ให้เหลือบางพรรคไว้คอยตรวจสอบ แต่ช่วงนั้นการตรวจสอบอาจไม่เข้มข้น แต่ก็จะถูกตรวจสอบโดยประชาชน
...คำถามพ่วงประชามติเรื่องรัฐบาลปรองดอง หากประชาชนมีมติ คุณก็ต้องทำ หากใครไม่ทำก็ต้องนำพรรคอื่นมา ใครไม่ทำก็ไปเป็นพรรคตรวจสอบ เมื่อมันเป็นความต้องการของประชาชน เพราะเขาอยากให้เกิดการปรองดอง ให้แต่ละพรรคมาทำสักหนึ่งสมัย อยู่กันสี่ปี ทำให้เสร็จแล้วก็กลับไปใช้กระบวนการตามที่ รธน.ร่างไว้ก็ใช้ในรอบต่อไป ก็จะเป็นการสร้างพื้นฐานอันมั่นคงให้กับระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศ เมื่อมันเข้มแข็งแล้ว ทุกอย่างก็กลับไปสู้กันใหม่ในเวทีเลือกตั้ง การเมืองก็จะหมุนไปได้
แนวคิดนี้ พอผมนำเสนอออกไปก็มีนักการเมืองมาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มาบอกว่าคลุมฝูงชน จริงๆ เขาก็ควรต้องลดอัตตาตัวเอง คือให้ไปคุยกัน มาออกแบบกัน ซึ่งก็จริงคือ ลักษณะคำถามนี้จะไปทำให้กระทบกับตัวร่าง รธน.หลักบางส่วน แต่หากประชาชนเขาเอา แล้วผลการลงประชามติออกมา ทางกรรมการร่าง รธน.ก็ต้องไปปรับร่าง รธน.ให้สอดคล้องกับประชามติ
ก็เท่ากับผลประชามติจะออกมาคือ 1.เห็นชอบด้วยกับร่าง รธน.ให้ผ่านประชามติ 2.ให้มีการปฏิบัติตามคำถามพ่วง ซึ่งหากเป็นคำถามนี้ แต่การที่จะไปถามประชาชนก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจด้วย ว่าจุดประสงค์มันจะได้ผลดีอย่างไร และมีกระบวนการทำอย่างไร แนวคิดนี้เป็นการแก้ปัญหากันโดยฝ่ายการเมือง
พลเอกนคร กล่าวต่อไปว่า เรื่องคำถามประชามติ ท่าทีของ สนช.ตอนนี้มีการบอกกันว่าหากไปทำประชามติ เกรงจะทำให้มีปัญหาตามมา เช่นอาจสร้างความขัดแย้ง แต่เราก็ต้องไปดูวัตถุประสงค์หลักว่าทำไมเขาถึงเขียนให้มีการถามคำถามพ่วงประชามติซึ่งอยู่ใน รธน.ชั่วคราวปี 57 ที่ก็มีผู้เกี่ยวข้องอย่าง วิษณุ เครืองาม มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ก็อยู่ใน คสช. เมื่อเขียน รธน.ปี 57 มีการใส่เรื่องนี้ไว้ ก็แสดงว่าเขาก็มีจุดมุ่งหมายเรื่องการทำคำถามพ่วงอยู่ มีนัยการเมืองที่อยากจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ต้องการให้สะท้อนตอบต่อภาวะการเมืองของบ้านเราในขณะนี้
การเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมือง คสช.เขาก็คือการเมือง ดังนั้น คสช.ก็ควรจะพิจารณาดูว่าภาคส่วนไหนมันตกหล่นอยู่ ก็นำเขามาคุยกัน ให้เขามีส่วนร่วม มาคุยกัน ความปรองดองมันก็จะเกิด เช่น หากจะทำรัฐบาลผสม รัฐบาลขนาดใหญ่ แล้วจะให้ตรงไปเป็นจุดถ่วงดุลในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันก็ต้องคุยกัน เพราะหากปัญหาการเมืองที่มีอยู่ ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด สุดท้ายทุกอย่างก็จะย้อนกลับไปแบบเดิมก่อน 22 พ.ค.57
พลเอกนคร-สปท. ยังได้พูดถึงเรื่องกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สปท.ไปแล้ว และกำลังรอส่งให้รัฐบาลกับ สนช.พิจารณาว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย รัฐบาลใหม่เข้ามาก็มาล้มงานของรัฐบาลเก่า วัฒนธรรมการเมืองบ้านเรา อะไรที่ไม่ใช่ของตัวเอง ก็ไม่เอาด้วย เพราะกลัวถูกมองว่าลอกเลียนกัน กลัวเสียเชิง วิธีคิดแบบนี้ต้องเปลี่ยน
อย่างที่คนไปพูดกันว่าเราจะเป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชีย แต่ที่พูดกัน ถามว่าทำได้จริงไหมที่จะไปผลิตรถกัน เพราะต้องมีวัสดุต้นน้ำทั้งหมดในการผลิต เช่น เหล็ก แต่ของเราไปซื้อมาหมดเลยแล้วมาประกอบรถ แล้วก็ขาย ส่งออก แล้วมาบอกว่าไทยผลิตรถยนต์ได้มากที่สุด แต่เรื่องแบบนี้มันไม่ยั่งยืน มันก็ต้องมียุทธศาสตร์ เช่น เรื่องเกษตร ก็ต้องดูกันว่าพื้นที่แต่ละภาคจะทำอะไร ภาคไหนทำเกษตร เช่นปลูกผลไม้ ภาคไหนผลิตข้าว ต้องมียุทธศาสตร์รองรับ ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนไปที
แผนยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นกรอบ กว้างๆ ไม่ใช่รัฐบาลใหม่มาก็มาล้มเลย เพราะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส เสียงบประมาณ ต้องมีกรอบบังคับเอาไว้ด้วย ตอนนี้มีการพูดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประชาชนก็เลยไปคิดว่าจะไปครอบงำเขา มันก็ต้องทำให้เขาเข้าใจได้ชัดเจน ถ้าเขาเข้าใจก็จะทำให้คนเสียประโยชน์ นักการเมือง จุดประเด็นไม่ขึ้น ที่บอกจะไปครอบเขา มันก็ต้องมี ไม่อย่างนั้นที่ผ่านมาพอนักการเมืองเข้ามาแล้ว มีแผนงานนโยบายของตัวเอง เขาก็ไม่สนใจอะไรเลย มาทำประชานิยมอะไรต่างๆ มีคนทักท้วงแล้วว่าไม่ดีก็ไม่เชื่อ ก็ต้องมีเพื่อไม่ให้ต่างคนต่างทำแบบไร้ทิศทาง
เมื่อถามถึงการกำหนดแผนงานไว้ยาวนานถึง 20 ปี แม้จะมีการให้ปรับเปลี่ยนได้ทุกๆ 5 ปี แต่ก็ไปเป็นกรอบบังคับรัฐบาลแต่ละยุค พลเอกนคร แจงว่า ยุทธศาสตร์ชาติต้องกำหนดไว้ยาว แต่พอครบ 5 ปีก็ให้ปรับได้ หากตรงไหนคนเห็นว่าไม่ดี ทุกคนเห็นพ้องกันว่าต้องยกเลิกก็เลิกได้ แต่ไม่ใช่เลิกเพราะว่าพรรค ก.ไม่เอา ก็จะเลิก แบบนี้มันไม่ได้ แต่ต้องเลิกเพราะมันไปไม่ไหวจริงๆ
เช่นหากในแผนยุทธศาสตร์ชาติเรื่องยางพารา ถ้าเขียนแล้วปรากฏว่าสิ่งที่อยู่ในแผนมันไปไม่ได้ พอครบช่วง 5 ปี มันก็ต้องมาปรับกันใหม่ ส่วนที่เขียนกำหนดไว้ว่าหน่วยไหนไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติก็ถือว่ามีความบกพร่อง ก็ยังจำเป็น เพราะหากไม่เขียนเรื่องนี้ไว้ก็ไม่ทำ มันมีตัวอย่างให้เห็นอยู่ จึงไม่ใช่การครอบงำอะไร มันต้องขับเคลื่อนพร้อมกันไปหมดทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป
...แผนยุทธศาสตร์ชาติก็เหมือนอุโมงค์ ใหญ่ๆ เข้าไปแล้วก็ต้องถอนตัวหรือขยับได้ เช่น ทำไปแล้ว เรื่องนี้ยังทำไม่เสร็จต้องทำต่อ แต่เรื่องนี้ควรชะลอไว้ก่อน เพราะอีกบางเรื่องเร่งด่วนกว่าก็ต้องทำไปทำ หรือบางเรื่องดูแล้วไปไม่ได้ก็ต้องเลิก ต้องจบ ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่บังคับ นักการเมืองก็ยังมีอิสระ แต่ให้เอาตัวยุทธศาสตร์ชาติไปเป็นตัวกำหนดการบริหารประเทศ ไม่ใช่ไปกำหนดนโยบายกันสะเปะสะปะ ต้องกำหนดอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติด้วย ต้องมีกรอบบังคับในการพัฒนาให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า.
"ช่วงนี้เป็นช่วงถึงจุดไคลแมกซ์ ถ้าเป็นหนังไทยก็คือหนังใกล้จะจบม้วนแล้ว...จะจบแบบ Happy ending หรือพระเอกตาย รอบที่แล้วพระเอกตาย.ในแง่ของคนรับผิดชอบบ้านเมืองที่ปฏิวัติรัฐประหารมา เขาก็ไม่อยากให้เสียของ"
"คสช.เขาไม่คิดสืบทอดอำนาจ ถึงเวลาทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบ การสืบทอดอำนาจไม่สามารถทำได้ เพราะประชาชนจะไม่เอาด้วย ..ไม่ใช่ว่าจะมาสืบทอดกันได้ง่ายๆ"
...
ความเห็นจากชาวเน็ต...
ข้ออ้างมึงร้อยแปด ที่ผ่านมามันเปลี่ยนผ่านไม่ได้หรือไง ไอ้พวกรู้ดี
ไร้สาระ ... "ฉิบหายในอดีตเพราะตัวเองเป็นคนก่อ"
ข้ออ้างมึงร้อยแปด ที่ผ่านมามันเปลี่ยนผ่านไม่ได้หรือไง ไอ้พวกรู้ดี
ไร้สาระ ... "ฉิบหายในอดีตเพราะตัวเองเป็นคนก่อ"
แต่จะถามว่า ด้วยวิธีการอย่างนี้หรือ ถึงจะคุมได้
ไม่โง่ไปหน่อยฤา