วันศุกร์, มีนาคม 25, 2559
ตัดวงจรทางการเมือง
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
มติชนออนไลน์
24 มี.ค. 59
จากเหตุผลทางประวัติศาสตร์และโครงสร้างอำนาจทางการเมือง บวกกับความคิดที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยของโลก หลายสิ่งได้เปลี่ยนไป วันข้างหน้าเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับการศึกษา ได้รับการเรียนรู้ สื่อสารมวลชนที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกสถานที่อย่างทั่วถึง ระบบสื่อสารที่รวดเร็วฉับไวและราคาถูก ทำให้ไม่มีพื้นที่ใดเป็นชนบทอีกต่อไป การเข้าออกโยกย้ายถิ่นฐานทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือที่เรียกกันว่า “คนชั้นรากหญ้า” หรือ “grass root people” มีความสามารถเพิ่มขึ้นจากเรื่องเศรษฐกิจที่เดิมเป็นเรื่องรูปธรรม นำไปสู่สิ่งที่เป็น “นามธรรม” เช่น สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมทางการเมือง
สิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ คนชั้นสูงที่อยู่ในกรุงเทพฯไม่ตระหนัก คิดแต่เพียงว่าคนรากหญ้าพวกนี้ไม่มีสติปัญญาที่จะเลือกผู้ปกครองของตนเองได้ คอยแต่จะ “ขายเสียง” เท่านั้น จึงเป็นโอกาสให้นายทุนพรรคการเมืองสามารถใช้เงินซื้อเสียงเข้ามาเป็นรัฐบาล ถอนทุนคืน บ้านเมืองเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนเชื่อว่าพวกตนเท่านั้นที่ “จงรักภักดี” ผู้ที่เห็นต่างเป็นพวกที่ไม่จงรักภักดี เท่ากับเป็นการผลักให้ “คนรากหญ้า” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองโดยสันติวิธี ซึ่งเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีที่สันติ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นโดยผ่านความรุนแรง
การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีเหตุผล คาดเดาไม่ได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยอารมณ์และไม่ใช้เหตุผล มักจะเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่งซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครเลย
การยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อหวนไปสู่รัฐบาลและการเมือง “แบบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ตามรัฐธรรมนูญปี 2521 เป็นความปรารถนาที่เป็นไปได้ยากเสียแล้ว เพราะเวลาที่ผ่านมากว่า 35 ปี ผู้คนก็เป็นคนละรุ่นแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นหลักของบ้านเมืองก็จากไป หรือไม่ก็มีความอาวุโสมากเกินกว่าจะติดตามความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีโอกาสจะแสดงออกทางการเมืองตามธรรมชาติได้
การที่จะต้องมีระบบการเมืองเปิด วาทกรรมที่ว่าถ้าเปิดแล้วก็จะเกิดการแตกแยก เอาชนะคะคานโดยใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันนั้น เป็นสมมุติฐานที่ไม่เป็นความจริง เหตุการณ์ชุมนุมกันข้างถนน ความรุนแรงระหว่างประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย เกิดขึ้นเพราะกองทัพไม่ทำหน้าที่ของตนที่ถูกต้อง หรือไม่ก็เป็นฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังเสียเอง เพราะกองทัพตั้งตนเป็น “อิสระ” จากรัฐบาลและคอยหาโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลเสียเอง
ถ้าจะให้มีการเริ่มต้น สิ่งแรกคือผู้นำกองทัพต้องมีจิตใจเป็นนักประชาธิปไตย มีอุดมการณ์ที่จะเป็นผู้พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งแม้ไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่ก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การปฏิเสธระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยอ้างวาทกรรมดังกล่าว จึงเป็นการก้าวล่วงของผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบอบเผด็จการทหาร หรือเสียประโยชน์จากระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือมีความรู้สึกทาง “ชนชั้น” อย่างรุนแรง เพราะทนไม่ได้กับกิริยามารยาท ทัศนคติ ความไม่โปร่งใส ของนักการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สิ่งเหล่านี้ตนมองไม่เห็นจากรัฐบาลทหาร ที่ตนคิดว่ามาจากชนชั้นเดียวกัน
กลับไปสู่ฐานะที่ควรจะเป็น “กองทัพ” ในระบอบประชาธิปไตยทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตย เอกราช บูรณภาพของดินแดนของประเทศ ในกรณีพิเศษก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ปกป้องคุ้มครองภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือความสงบเรียบร้อย เมื่อได้รับการร้องขอจากรัฐบาล เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินและเกินกำลังของพนักงานตำรวจ
ข้ออ้างมาตรฐานที่ใช้สร้างกระแสปูทางไปสู่การปฏิวัติรัฐบาล 3 ข้อ คือ รัฐบาลปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ดี, รัฐบาลปล่อยให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง, รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ปล่อยให้มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ ก็ควรเป็นเรื่องของรัฐบาลในขณะนั้นที่จะต้องดูแลป้องกันภัยพิบัติ เป็นภาระหน้าที่ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายตรงข้ามได้เสนอทางเลือก ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือยิ่งไปกว่านั้นก็เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้มีการยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่
การถูกตรวจสอบจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนให้ความสนใจ เอาใจใส่ผู้แทนของตนว่าได้ทำหน้าที่สมกับที่ได้รับมอบหมายหรือไม่
ในพื้นที่ต่างจังหวัดอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น การมีผู้แทนราษฎรเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นการถ่วงดุลข้าราชการประจำจังหวัดของตน เป็นผู้ที่ผลักดันให้มีโครงการพัฒนาในจังหวัด เป็นปากเสียงให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในท้องถิ่น แต่บางครั้งก็มักจะได้ยินว่ากระทำผิดฐาน “ผู้มีอิทธิพล” ทำการค้ายาเสพติดและของหนีภาษี หรือการค้ามนุษย์ ซึ่งเกินกำลังของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง กองทัพในประเทศกำลังพัฒนาอาจจะช่วยเสริมกำลังของเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นรัฐบาลเสียเอง
จุดอ่อนและข้อบกพร่องต่างๆ ของระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่เราประสบนั้น ประเทศที่ประชาธิปไตยหยั่งรากลึกก็ต้องผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาทั้งสิ้น สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ในที่สุดประชาชนก็สามารถควบคุมราชการและนักการเมืองของเขาได้
คนไทยได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่าคนอินเดีย ไม่น้อยกว่าคนปากีสถาน ไม่น้อยกว่าคนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รายได้ต่อหัวก็สูงกว่าประเทศเหล่านั้น ปัญหาทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงก็มีกันอยู่ทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่มาเลเซียและสิงคโปร์ จนอาจจะถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่น่ารังเกียจของเอเชีย ที่มีเหตุผลมาจากประวัติศาสตร์ ที่มีผีสาง เทวดา นางไม้ เจ้าป่าเจ้าเขา แม้แต่พระพุทธรูป ผู้คนก็ยังอุตส่าห์ไปติดสินบน ขอโชคขอลาภ ซึ่งไม่มีในสังคมตะวันตก เราได้ผ่านขั้นตอนของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีในช่วง พ.ศ.2521-2535 แต่ต่อมาหลังจากนั้น มาสะดุดหยุดลงเมื่อมีการรัฐประหารปี 2549 ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกลับย้อนไปสู่การเมืองปี 2521 อีก ถึงแม้จะพยายามกลับไปก็จะทำไม่ได้ จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เราเรียกกันติดปากว่า “พฤษภาทมิฬ” อีก
หากจะนำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญทั้งหมด 20 ฉบับ บทบัญญัติจะดีไม่ดีก็แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมได้ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ร่างโดยผู้แทนฯของประชาชนชาวไทย
การตั้งเป้าหมายกีดกันพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก แม้จะพยายามอธิบายก็ไม่มีใครฟัง ไม่มีทางได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
การตัดวงจร “ปฏิวัติรัฐประหาร-เลือกตั้งประชาธิปไตย” ที่วนเวียนเป็นวัฏจักรนี้ สามารถทำได้โดยการนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติม 2559 มาใช้ได้ทันที การดึงรั้งถ่วงการคืนอำนาจให้ประชาชนในยุคนี้ ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อการที่จะเกิดความเสียหาย ความสูญเสีย ไม่ช้าก็เร็ว
จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้หากร่างฉบับปัจจุบันไม่ผ่านประชามติ ก็จะเป็นเรื่องที่จะไปกันใหญ่ ความชอบธรรมจะหมดไปในทันที
ประชาชนจะถามหาผู้รับผิดชอบ