วันจันทร์, มีนาคม 21, 2559

รู้ยัง!... ประเทศไทยกำลังเข้าช่วง "เปลี่ยนถ่าน"




สองนครา บ้าปฏิรูป ชอบปฏิวัติ (รัฐประหาร) ยุคเปลี่ยนผ่าน หลงทาง ถอยหลัง วังเวง

ในสภาพบ้านเมืองละล้าละลัง เศรษฐกิจวิเวกอับเฉา สังคมแตกระแหงแม้กระทั่งในแวดวงพุทธศาสนา การเมืองติดกับวาทกรรมความดีเหนือกว่าความเสมอภาค

คนจำนวนมากพยายามตั้งคำถามหาคำตอบ เพื่อทำความเข้าใจว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” จุดที่ชาวนาต้องขายที่ดินทำกินเพื่อปลดหนี้ ขณะที่ “สินค้าไฮเอ็นด์ขายดี ไม่มีวันตาย”

แต่แท้จริงกลับเป็นภาวะกระเสือกกระสนหาทางออกจากปลัก ในสภาพแปลกแยกอย่างร้าวฉานต่อกันสองฝั่ง ภายใต้ครอบงำแห่งข้อจำกัดกีดกั้นการไปสู่โลกทัศน์เปิดกว้าง ที่เรียกว่า ‘กะลา’ นั่นต่างหาก

เว็บข่าวทางเศรษฐกิจการเงินจากญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่วันเพิ่งทำให้คณะทหาร คสช. เต้นเร่า ทั้งตัวหัวหน้า ‘ตุ๊ดตู่’ และลิ่วล้อ ‘ไก่อู’ ออกมาตอบโต้ฟาดฟันสะเปะสะปะต่อข้อมูลอัตราส่งออกปีที่แล้วลดฮวบเกือบเท่าตัว

'นิคเคอิ' เสนอบทความใหม่จี้จุดอักเสบในเศรษฐกิจไทยที่ว่า “อ่างข้าวประเทศไทยเต็มปรี่ด้วยหนี้”

(http://asia.nikkei.com/…/Ec…/Debt-fills-Thailand-s-rice-bowl)

เมื่อวันเสาร์ (๑๙ มีนา) ที่ผ่านมา นักข่าวนิคเคอิลงพื้นที่เก็บข้อมูลรายงานจากบ้านปลาบู่ จังหวัดมหาสารคาม ภาคอีสานของไทย

“มีป้ายบอกขายที่ดินกว่า ๔๐ แห่งตลอดแนวเส้นทางสายหลักราว ๑๐๐ กิโลเมตร ผ่านท้องทุ่งนาซึ่งจำนวนมากปกคลุมด้วยดินฝุ่นสีน้ำตาลแห้งกรัง อันเกิดจากภาวะแล้งน้ำโดยผลกระทบของปรากฏการณ์เอลณีโญ่”

Marwaan Macan-Markar ผู้เขียนเอ่ยถึง พายุ ล่องกลั่น (Phayu Longklan) หญิงชาวนาวัย ๕๑ ปี ที่ต้องตัดที่นาหนึ่งในห้าของเธอขายในราคา ๖ แสนบาทเพื่อนำไปใช้หนี้ก้อนหนึ่ง

แล้วยังมีหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ค้างอยู่อีก ๒ แสนบาท ที่เธอกู้มาเพื่อซื้อวัสดุเครื่องมือประกอบการทำนา รถมอเตอร์ไซค์สามคัน และเป็นค่าเล่าเรียนของลูกสามคน

จะโดยบังเอิญหรือว่าปะเหมาะอย่างไรสุดแท้แต่ เรื่องราวของพะยูไปพ้องกับข้อความบนโซเชียลมีเดียที่เล่าต่อๆ กันว่า ครอบครัวชาวนาความรู้แค่จบ ป.๔ ส่งลูกเรียนปริญญาโท 




ลูกเรียนจบเริ่ดหรูแล้วไปช่วย กปปส. เป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ เรียกหารัฐประหารจนสำเร็จ

บัดนี้สองปีให้หลัง ต้องตกงานเพราะบริษัทย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ก็ยังบ่นอู้ไม่วายว่าบ้านเมืองเลวร้ายเพราะ ‘ระบอบทักษิณ’

โพสต์เฟชบุ๊คดังกล่าวปิดท้ายว่า “หรือมันอย่างที่ว่า ขายข้าว ขายนา ขายวัว ส่งควายเรียน”

บทความนิคเคอิยังกล่าวถึงข้อวิเคราะห์ที่ว่าชาวนาต้องนำที่ดินออกขาย เป็นอาการวิกฤตในท้องที่ซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัยถึง ๖๗ ล้านคน เกิดสภาพหนี้ครัวเรือนล้นพ้นตัวจนอาจเกิดความล่มจมได้ทั้งภูมิภาค

“นักวิจัยสหประชาชาติประเมินว่าอัตราร้อยละของชาวนาไทยที่ยังเป็นเจ้าของผืนนาทำกินลดลงอย่างหนัก จาก ๔๔ % ในปี ๒๕๔๗ ไปสู่ ๑๕ % ในปี ๒๕๕๔

ในปี ๒๕๕๖ ชาวนาไทยเป็นเจ้าของที่ดิน ๒๘ % ของพื้นที่เพาะปลูก ๒๔ ล้านเฮ็คตาร์ (หรือประมาณ ๑๕๐ ล้านไร่) ตามสถิติของกรมเศรษฐกิจการเกษตร

ภัยแล้งปัจจุบันทำให้ผลิตผลเสียหาย ชาวนาต้องขายที่ใช้หนี้ มูลค่าหนี้สะสมของชาวนาไทยรวมแล้วขณะนี้ถึง ๓๓๘,๓๖๐ ล้านบาท ทั้งนี้ตามข้อมูลของ Local Action Link องค์กรวิจัยเพื่อยุทธศาสตร์ที่เพ่งเล็งปัญหาเดือดร้อนของชาวนาไทย”

“ปีที่แล้วอัตราส่วนระหว่างหนี้สินครัวเรือนกับผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขึ้นถึง ๘๔.๒ % สูงที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกฉียงใต้...

หนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในภาคอีสานอยู่ที่ ๗๘,๖๔๘ บาท ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ ๘๒,๕๗๒ บาท”

ขณะที่ “รายได้เฉลี่ยรายเดือนต่อครัวเรือนของชาวอีสานอยู่ที่ ๑๙,๑๘๑ บาท ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ ๒๕,๑๙๔ บาท” เช่นกัน

การกู้ยืมของชาวนาไม่ได้ผ่านสถาบันการเงินปกติเสมอไป ในปี ๒๕๕๘ ชาวนาเกือบ ๑๕๐,๐๐๐ รายกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ (loan sharks) เป็นจำนวนถึง ๒๑,๕๙๐ ล้านบาท เงินที่กู้มาไม่น้อยใช้ไปกับการมีรถปิ๊คอัพ ตู้เย็น และโทรทัศน์

“การที่สามารถกู้เงินได้กลายเป็นบางสิ่งที่แสดงฐานะสำหรับชาวนา” ดุษฎี อายุวัฒน์ (Dusadee Ayuwat) อาจารย์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว “พวกเขามองว่าเป็นเสรีภาพในการหาความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวเมือง”

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อตอนที่ยังไม่ได้ยกเลิกไป “ทำให้ชาวนาอย่างบุญเพชรทำการกู้ยืม ด้วยความมั่นใจว่าเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จแล้วจะมีรายได้ถึง ๓ แสนบาททุกปี




งบประมาณสนับสนุนรายปีของรัฐบาล ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ก่อให้เกิดการจับจ่ายอย่างขนานใหญ่ในชนบท จนอัตราจีดีพีเพิ่มขึ้นถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ตามรายงานของธนาคารโลก”

รัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ก็ประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่โตเพียง ๒.๘ % ในปี ๒๕๕๘ ด้วยแนวคิดเพิ่มปริมาณการบริโภคเพื่อยกระดับอัตราจีดีพีเหมือนกัน

“ปลายปีที่แล้วรัฐบาลเสนอโครงการช่วยชาวนาด้วยการอุดหนุนเงินสดโดยตรง ประกอบไปกับมาตรการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายในชนบทอีกครั้ง หลังจากที่ซบเซาไปเมื่อยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว”

ชาวนาไทยมีจำนวน ๔๐ % ของตลาดแรงงาน ในขณะที่กิจการภาคเกษตรเป็นเพียง ๑๐ % ของผลิตผลมวลรวมในประเทศ

“ชาวนาถูกมอบภาระให้มากกว่าขนาดน้ำหนักของตน แทนที่จะเป็นผู้ผลิตข้าว แต่กลับจะให้เป็นผู้บริโภคขนาดใหญ่”

นักวิจัยต่างชาติของบรรษัทจัดการทางการเงินนานาชาติแห่งหนึ่ง ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามให้ความเห็น “มันมาลงเอยที่การสนับสนุนแนวคิดว่าพลังในการซื้อของชาวนาสำคัญต่อการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

“นักวิจัยอื่นบางคนชี้ว่า การทุ่มงบประมาณแจกฟรีแก่ชาวนาที่มีหนี้ล้นพ้นตัวล่าสุดนี้ ไม่ใช่การให้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ หากแต่เป็น ‘กลเม็ดเจ้าเล่ห์’ เพื่อให้เกิดการซื้อขายในชนบทเพิ่มขึ้นใหม่อีกเท่านั้นเอง

มันแสดงให้เห็นแจ้งชัดว่า ใครกันแน่ที่ฮุนต้าเอียงหูฟัง”

เรื่องราวของความเดือดร้อนในหมู่ชาวนา และข้อกังขาต่อโครงการจับจ่ายงบประมาณกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อเพิ่มจีดีพีนั้น ผลลัพท์แท้จริงไปสู่เกษตรกรหรือว่านายทุนอุตสาหกรรมค้าปลีกกันแน่

แต่แล้วกลับได้เห็นความย้อนแย้ง ‘ตลกร้าย’ จากรายงานในสื่อไทยชิ้นหนึ่ง

“แพงแค่ไหนก็ซื้อ เศรษฐีไทยเงินหนา ไม่ระคายพิษเศรษฐกิจ”

(http://www.posttoday.com/analysis/report/422534)





บทวิเคราะห์เศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์เมื่อวาน (๒๐ มีนาคม) บอกว่า “ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซึมเซาเหงาหงอย นักธุรกิจน้อยใหญ่ต่างถอดใจกับกำลังซื้อที่หดตัวอย่างรุนแรงจนเข็นไม่ขึ้น

จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาไม่ฟื้นตัว การส่งออกติดลบมา ๒-๓ ปี การลงทุนที่ชะงักงัน มนุษย์เงินเดือนเริ่มฝืดเคืองในรายจ่าย แต่ดูเหมือนบรรดาเศรษฐีผู้มีรายได้สูงในประเทศไทยกลับมิระคายผิวแม้แต่น้อย”

ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่เศรษฐีที่ไหนๆ ย่อมไม่ระคายเคืองต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยังคงจับจ่าย ‘ไฮเอ็นด์’ กันในชีวิตความเป็นอยู่และ lifestyles ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถยนเฟอรารี่สีเหลืองราคา ๒๐๐ ล้านบาท รวมภาษี หรือซื้อลำโพงชั้นดียี่ห้อรอเจอร์และฮาร์เบ็ธ มูลค่าเพิ่มคู่ละเหยียบแสน

แต่ถ้าจะลงเอยว่า “กำลังซื้อระดับบนยังคงแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในตัวหลักสำคัญในการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ” ละก็ฟังยาก คงต้องมีตัวเลขมาสนับสนุนมากกว่านี้อีกเยอะ

อีกทั้งคำกล่าวอ้างของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลทหาร ที่ว่าอัตราการว่างงานของไทยในช่วงที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ยังคงรักษาระดับต่ำแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์อยู่ได้เรื่อยมา

จนทำให้ “ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก”

(http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/691418)





น่าจะเป็นการกล่าวแบบ เอาดีเข้าว่า เอามันเข้าไว้ หรือไม่ ในเมื่อตัวเลขที่โฆษกไก่อูใช้อ้าง มาจากสำนักงานประกันสังคมเป็นหลัก จำนวน ‘ผู้รอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน’ สำหรับระบบประกันสังคมของประเทศไทยนั้นมิได้ใช้เป็นตัวแทนแรงงานส่วนใหญ่ได้

แรงงานในประเทศไทยจำนวนมากเป็นแรงงานนอกระบบ โดยที่ไม่ได้เป็นแรงงานต่างชาติเสมอไป บ้างก็เป็นแรงงานทดแทน คือฤดูกาลหนึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรม อีกฤดูการอยู่ในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งแรงงานในส่วนของกิจการค้าย่อย ประเภทรถเข็นและเปิดท้าย

เหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่นอกระบบประกันสังคม อันมากพอจะตั้งข้อสังเกตุว่าทำให้ระบบประกันสังคมไม่ได้ชี้วัดสภาพแรงงานทั้งมวลของชาติหมด

อย่างไรก็ดีอัตราการว่างงานในประเทศไทยอยู่ที่หลักไม่เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์นั้น จัดว่าต่ำเมื่อเทียบเคียงกับหลายๆ ประเทศอย่างแน่นอน แต่จะสะท้อนความกินดีอยู่ดีของคนในชาติได้เพียงใดมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายใช้ประกอบการวิจัย

สภาพคล่องและภาระหนี้สินในครัวเรือนเป็นมิติที่สำคัญ ขาดไม่ได้สำหรับใช้ในการวินิจฉัย

การอ้างว่าอัตราว่างงานต่ำแล้วทำให้ประเทศไทยมีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ก็เหมือนดั่งพูดลอยๆ ว่า “ถ้าปากไม่หิว ย่อมแสดงว่าท้องอิ่ม”

ซ้ำร้ายการปิดกั้นข้อมูลทางลบด้วยวิธีห้ามเสนอข่าวไม่ดี เช่นที่โฆษกไก่อูบอกว่า “ที่สำคัญจะต้องไม่บั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาของประชาชนและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ” นั่นไม่ใช่หนทางหลุดจากบ่วงอัปลักษณ์ไปได้

การให้ข้อเท็จจริงไม่หมด และสร้างข้อมูลเท็จแบบที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คสช. ทำมาตลอดนั่นแหละ ทำให้ คสช. หมดความน่าเชื่อถือในสายตาประเทศคู่ค้าที่พัฒนาแล้ว โดยประชาชนคนไหนก็ไม่สามารถช่วยกู้คืนให้



สิ่งหนึ่งที่ คสช. และลิ่วล้อในกระทรวงต่างประเทศอาจแกล้งทำลืม หรือไม่รู้ไม่ชี้ แต่บรรดาประชาชนทั้งหลายไม่ว่าฝ่ายหนุนหรือฝ่ายไล่ คสช. จะต้องคำนึงไว้

จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่รัฐสภาอียูประกาศเป็นญัตติเอาไว้ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ก็คือ

(http://www.europarl.europa.eu/sides/getDoc.do…)

“Q : ที่ซึ่งอียูได้ระงับการเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรีแบบทวิภาคี (FTA) ซึ่งได้ริเริ่มกระบวนการตั้งปี ๒๕๕๖ เอาไว้ก่อน และที่ซึ่งอียูได้ปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (PCA) ซึ่งเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖

จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยบริหารประเทศ ที่ซึ่งอียูเป็นคู่ค้าอันดับสามของไทย” และ

“๒๐. สนับสนุนให้คณะกรรมการและองค์กรกิจกรรมภายนอกแห่งยุโรป (EEAS) ยังคงรักษาระดับการกดดันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยกลับสู่วิถีการปกครองในทางประชาธิปไตย

คอยย้ำเตือนต่อประเทศไทยในเรื่องนี้ว่า จะหวังใดๆ ในการปรับปรุงเรื่อง FTA และ PCA ระหว่างอียูกับประเทศไทย ตราบเท่าที่คณะปกครองของทหารยังคงกุมอำนาจอยู่ต่อไป”

ก็คงเป็นเวลาอย่างเร็วอีก ๕ ปี อย่างไม่เร็วนักสัก ๒๐ ปี หากข้อเสนอให้มีวุฒิสภาสรรหาของ คสช. ๒๕๐ คน ราวครึ่งหนึ่งของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับกำกับรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะประกาศในวันที่ ๒๙ มีนาคมนี้