วันเสาร์, มีนาคม 26, 2559

พงศ์เทพถามเจ็บ คสช.ที่จะมาเป็น ส.ว.มีความรู้ด้านกฎหมายมากมายหรือ? + 'ปริญญา' ซัด ส.ว.ลากตั้ง ทำประเทศถอยหลัง สร้าง 'สภาขุนนาง'





พงศ์เทพถามเจ็บ คสช.ที่จะมาเป็น ส.ว.มีความรู้ด้านกฎหมายมากมายหรือ?

ที่มา มติชนออนไลน์
11 มี.ค. 59

“พงศ์เทพ” คาใจปม คสช.เป็น ส.ว. ถาม คสช.หมายถึงนายพลหรือรวมสมุนด้วย แล้วเข้ามาแล้วมาทำอะไร ถ้ามาผ่าน กม.มีความรู้ด้าน กม.มากมายหรือ?

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้อเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องให้ คสช.เป็น ส.ว. 5 ปี ว่า จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ส.ว.มีอำนาจหน้าที่อะไร และที่บอกว่า คสช.นั้น คุณหมายถึงสมาชิก คสช.ที่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้พูดถึงสมุนบริวารด้วยใช่หรือไม่ อีกประการหนึ่งคือ คสช.จะเข้ามาทำอะไร

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนกำลังจับตาดูว่า ส.ว.จะมีอำนาจเหมือนปี 21 ไหม แล้วการที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบที่คนเขาไม่ใช้กันนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร ความต้องการรัฐบาลผสมที่อ่อนแอจะนำพาประเทศไปไม่ได้ เพราะในอนาคตรัฐบาลจะไม่กล้าทำอะไรเลย ถ้าไม่ใช่รัฐบาลที่องค์กรอิสระเคารพเกรงใจ เพราะจะกังวล เนื่องจากผลคือออกทั้งคณะ ในขณะที่โลกวันนี้เปลี่ยนเร็ว การแข่งขันสูง เราจะต้องทำอะไรด้วยความรวดเร็ว แล้วถามว่ารัฐบาลจะทำอะไรได้บ้าง

“สรุปคือ ต้องถามว่า 1.คสช.หมายถึงอะไร หมายถึงนายพลที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ขณะนี้ หรือรวมบริวารด้วย และ 2.คสช.จะเข้ามาทำอะไร และมีอำนาจหน้าที่อะไร ถ้าเข้ามาผ่านกฎหมาย ก็ต้องถามว่า สมาชิก คสช.มีความรู้มากมายที่จะเข้ามาทำกฎหมายหรือ การจะทำอะไรต้องดูงาน และจัดคนให้เหมาะสมกับงาน ถ้าเอาคนทั้งกระบิเข้ามาโดยไม่สนอะไรเลย ก็เท่ากับการสืบทอดอำนาจอย่างที่คนเขาแคลงใจกันนั่นเอง” นายพงศ์เทพกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นายพงศ์เทพกล่าวว่า 1.ในหลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นไม่ได้อยู่แล้วที่อำนาจจะไปอยู่กับหน่วยใดหน่วยหนึ่ง 2.ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ยึดโยงกับประชาชน และ 3.คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เราลองเอาไปให้นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศศึกษาดูสิว่าเป็นกลางเพียงใด นอกจากนี้ ขณะนี้สังคมยังคงมีความแคลงใจในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการตั้งลูกเมียหรือญาติพี่น้องมาช่วยงาน ฯลฯ ซึ่งศาลยังคลายความแคลงใจตรงนี้ไม่ได้เลย






ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
25 มี.ค. 2559

"ปริญญา" ชี้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำพรรคใหญ่คะแนนลดลง พรรคขนาดกลางได้คะแนนมากขึ้น ทำพรรคเล็กเสียเปรียบ ซัด ร่างฯ "มีชัย" ทำลาย สิทธิเสรีภาพ จวก ส.ว.ลากตั้ง ทำประเทศไทยย้อนยุค สร้าง "สภาขุนนาง"

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 59 สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (สพต.) ได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "รัฐธรรมนูญใหม่กับการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง" โดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งแบบปันส่วนผสม พรรคขนาดใหญ่คะแนนลดลง พรรคขนาดกลางจะได้มากขึ้น แต่พรรคขนาดเล็กต้องส่งผู้สมัครทุกเขตเลือกตั้ง มิฉะนั้นจะไม่ได้คะแนนมาคำนวณ ส.ส.ที่พึงได้ จึงถือว่าเสียเปรียบมาก เหมือนเป็นการบังคับให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครทุกเขต ซึ่งผู้สมัครบางคนเป็นผู้สมัครที่ไม่ได้หวังชนะเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองต้องส่งเพื่อให้ได้คะแนนมาคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พรรคควรได้ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด แม้ยังมีเวลาที่จะปรับแก้อยู่ แต่เชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะไม่ปรับแก้ในเรื่องนี้

ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวที่ กรธ. ให้เหตุผลว่าเพื่อให้เลือกง่าย แต่ตนคิดว่ายิ่งจะเป็นปัญหาทำให้ประชาชนสับสน เพราะประชาชนคุ้นเคยกับการใช้กาบัตร 2 ใบมาพอสมควร อีกทั้งมีปัญหาว่าถึงเวลาเลือกตั้ง ประชาชนชอบ ส.ส.จากพรรคหนึ่ง แต่ไม่อยากเลือกนายกฯ ที่อีกพรรคหนึ่งเสนอมา จะทำอย่างไร สิทธินี้ของประชาชนหายไปจะทำอย่างไร

นายปริญญา กล่าวต่อว่า ขณะที่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.บอกว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แม้ไม่ได้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริง ร่างของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ทำลายระบบประกันสิทธิเสรีภาพที่มีการพัฒนาให้มีความทันสมัย แต่เพิ่มเรื่องของความมั่นคงเข้าไป ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนใส่คำพวกนี้ลงไปเพื่อจำกัดสิทธิของประชาชน ส่วนที่มา ส.ว.นั้น เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ต้องคิดก่อนว่าจะมี ส.ว.เพื่อให้มาทำอะไร ที่ คสช.ให้เหตุผลว่าต้องการให้ ส.ว.มาขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศ แล้วเสนอที่มาของ ส.ว.ให้ กรธ.พิจารณาจนเป็นที่มาของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล ส่วนตัวก็เห็นว่าดี เป็นการขอกันตรงๆ แต่เป็นห่วงเรื่องอำนาจ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของส.ว.ทั่วโลกเริ่มต้นจากการสรรหาสู่การมาจากการเลือกตั้ง แต่ของประเทศไทยย้อนยุคกลับไป การได้ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลเรียกได้ว่านี่คือ "สภาขุนนาง"

"อย่าลืมว่าความชอบธรรมของ คสช.ในการเข้ามามีอยู่เพียงประการเดียว คือเพราะความชอบธรรมของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งต่ำ ซึ่งพวกเราจะต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง และคนที่คิดว่าคสช.จะเข้ามาอย่างสั้นๆ ผมขอพูดด้วยความเคารพว่าถ้าเขียนให้คสช.เป็นผู้แต่งตั้งส.ว. คสช.จะกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง เพราะคสช.จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และดูเหมือนเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง" นายปริญญา กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า เท่าที่ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เหมือนมีการคุยกันแล้ว อย่าลืมว่าคสช.มีไพ่อีกใบหนึ่งคือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ได้ขึ้นมาใช้ ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นคงต้องรอดูคำถามพ่วงของ สนช.ว่าตัวคำถามจะสามารถจูงใจให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านหรือไม่ด้วย แต่ทั้งนี้เชื่อว่า คสช.จะเลือกทางที่มีผลให้คนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการไม่รับจะเกิดปัญหามากกว่า