https://www.youtube.com/watch?v=85Fcbofk7y0
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : เสียชีพอย่าเสียสิ้น (5 มี.ค. 59)
Published on Mar 5, 2016
รายละเอียดรายการ : http://www.thaipbs.or.th/Puey
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ในวัยเพียง 26 ปี ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนทุนอยู่ที่อังกฤษ ตัดสินใจขัดคำสั่งรัฐบาลไทย ไม่เดินทางกลับประเทศ และร่วมกับเพื่อนนักเรียนไทยก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษขึ้น ก่อนที่จะได้รับภารกิจสำคัญ นั่นคือการลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยโดยการกระโดดร่ม เพื่อหาทางติดต่อกับ "ปรีดี พนมยงค์" หัวหน้าเสรีไทยภายในประเทศ
ในภาวะความเป็นความตายเท่ากันเช่นนี้ ป๋วยเลือกที่จะเดินหน้า และปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติอย่างไม่ลังเล
อะไรทำให้ชายหนุ่มนักเรียนนอกผู้กำลังมีอนาคตสดใส ตัดสินใจเสี่ยงชีวิตและเดินหน้าเข้าสู่สงคราม อะไรทำให้ลูกจีนนาม "ป๋วย" ผู้นี้ สามารถเติบใหญ่กลายเป็นบุคคลสำคัญของไทย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการเมือง และอะไรทำให้สามัญชนผู้นี้สามารถยืดหยัดในความเป็นคนตรงท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉลได้
ร่วมสำรวจความกล้าหาญของชายหนุ่มผู้ใช้ชีวิตอย่างไม่ "เสียดายโอกาส" ผู้นี้ไปกับ จอน อึ๊งภากรณ์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, วรากรณ์ สามโกเศศ, ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อรัญ ธรรมโน, พระไพศาล วิสาโล และสรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ
.....
https://www.youtube.com/watch?v=x2X_ienDr5A
ThaiPBS
Published on Mar 12, 2016
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" เดินทางกลับสู่ประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งเศรษฐกิจและการเมืองไทยถูกผูกขาดโดยกลุ่มนายทหารและตำรวจ ในฐานะข้าราชการ ป๋วยต้องขัดแย้งกับผู้มีอำนาจหลายครั้ง ทั้ง "พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์" รวมไปถึง "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์" ความขัดแย้งซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของชีวิตและครอบครัว
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ "อำนาจเป็นธรรม" ป๋วยเลือกที่จะไม่โอนอ่อนผ่อนตาม และตัดสินใจยืนข้างความซื่อตรงและความถูกต้อง เหนือความปลอดภัยและผลประโยชน์ลาภยศส่วนตัว
อะไรทำให้สามัญชนผู้นี้ยืนหยัดในความเป็นคนตรงอยู่ได้ในสังคมอันแสนคด อะไรทำให้อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยผู้นี้ สามารถปลูกเมล็ดพันธุ์ความกล้าหาญทางจริยธรรมให้เติบใหญ่ในธนาคารแห่งประเทศไทยได้ อะไรทำให้เทคโนแครตผู้นี้กลายมาเป็นสถาปนิกทางเศรษฐกิจคนสำคัญที่สุดในเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ และอะไรทำให้ป๋วยหันกลับมาวิพากษ์ผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง
ร่วมสำรวจผลงานทางเศรษฐกิจ และความซื่อสัตย์ของ "คนตรงในประเทศคด" ผู้นี้ไปกับ เสนาะ อูนากูล, อัมมาร สยามวาลา, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, อภิชาต สถิตนิรามัย, พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม, วรากรณ์ สามโกเศศ, อรัญ ธรรมโน และสุรพล เย็นอุรา
.....
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : สันติประชาธรรม (19 มี.ค. 59)
https://www.youtube.com/watch?v=DjA4xwm0-hc
ThaiPBS
Published on Mar 20, 2016
"ป๋วย อึ๊งภากรณ์" เข้ารับตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2518 แต่ผ่านไปเพียง 1 ปีเศษ วันที่โศกสลดที่สุดวันหนึ่งในสังคมไทยก็มาถึง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ป๋วยต้องลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกจากประเทศไทย กลายเป็นอีกหนึ่งคนดีที่ประเทศนี้ไม่ต้องการ
คำถามสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยก็คือ เพราะเหตุใด "ป๋วย" ข้าราชการระดับสูงคนสำคัญ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้สร้างคุณูปการมหาศาลให้กับสังคมเศรษฐกิจไทย จึงพลิกผันจากคนดีในสายตาของชนชั้นนำ กลายเป็นบุคคลอันตรายที่ต้องถูกกำจัดให้พ้นทาง
ร่วมสำรวจโศกนาฏกรรมของประเทศ และโศกนาฏกรรมของชายผู้ยึดมั่นในหลัก "สันติประชาธรรม" ผู้นี้ไปกับ นิตยา มาพึ่งพงศ์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, จอน อึ๊งภากรณ์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และพระไพศาล วิสาโล
....
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : เหลียวหลัง แลหน้า (26 มี.ค. 59)
https://www.youtube.com/watch?v=vE0MgbmM7mA
ThaiPBS
Published on Mar 26, 2016
หลังต้องออกจากประเทศไทยไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป๋วยใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปทั่วโลกเพื่อบอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้น แต่ผ่านไปเพียงไม่ถึง 1 ปี โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตก็เกิดขึ้นกับป๋วยอีกครั้ง
ในวัย 61 ปี ป๋วยเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้พูดและเขียนไม่ได้ และต้องใช้ชีวิตในความเงียบต่อมาจนสิ้นชีวิต
ความเงียบของอาจารย์ป๋วยบอกอะไรแก่สังคมไทย และเราได้ยินเสียงอะไรใน 22 ปีแห่งความเงียบงันนั้น
ร่วม "เหลียวหลัง" พินิจความสำเร็จและล้มเหลวของชายผู้พร้อมด้วย "ความจริง ความดี ความงาม" และ "แลหน้า" มองหาโจทย์ที่ชายผู้นี้ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ไปกับ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์, อัมมาร สยามวาลา, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, วรากรณ์ สามโกเศศ, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, เสนาะ อูนากูล, ยงยุทธ ยุทธวงศ์, อรัญ ธรรมโน, พระไพศาล วิสาโล และจอน อึ๊งภากรณ์