เรื่องแถไถต้องยกให้ คสช. แถเป็นครั้งคราวเมื่อรู้ตัวแล้วแก้ไขพออนุโลมได้ ถ้าไถดะตะบัน ดันขึ้นสันดอนจนเป็นสันดาน แล้วไม่เพียงแก้ต่างและแก้ตัว กลับขู่เข็ญหมายแก้แค้นนี่รับไม่ไหว
เป็นอย่างนั้น คนก็จะหันไปหากองกำลังที่สาม สี่ ห้า ก่อปฏิบัติการซ้อนแล้วซ้อนเล่าไม่จบสิ้น
เมื่อวาน (๑๘ มีนาคม) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไปพูดไว้ที่อุดรฯ “ขออย่าได้มองว่ารัฐบาลจะสืบทอดอำนาจ...
ขอเพียงอย่างเดียวคือในบทเฉพาะกาล ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเมื่อบ้านเมืองมีปัญหา ให้เข้ามาดูแลช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยคิดว่าจะให้ประเทศเดินหน้าไปได้ประมาณ ๕ ปี”
(http://www.lokwannee.com/web2013/?p=208954)
ที่พูดนั่นละคือปัญหา แค่ประโยคสั้นๆ ก็เต็มไปด้วยการถูไถมากมายหลายประเด็น หนึ่ง บทเฉพาะกาลนานมากไป ๕-๖ เดือนพอทนไหว สอง ปัญหาของบ้านเมืองก็พวกทั่นๆ นั่นแหละที่ก่อ สาม การดูแลที่ผ่านมาสองปี มีแต่จะดิ่งลงไปทุกอย่าง ทุกทาง จะให้ไว้ใจปล่อยตามใจทั่นอีกห้าปี แล้วจะมีเหลืออะไร
อย่างกรณีที่สำนักข่าวทางการเงิน ‘นิเคอิ’ ของญี่ปุ่น ประเมินว่าการลงทุนต่างชาติในไทยลดวูบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์มติชนเอามาถอดความเสนอให้ประชาชนรับรู้ ‘บิ๊กตู่’ ไม่พอใจ สับไม่ยั้ง
“เขียนมาได้อย่างไรว่าเศรษฐกิจการลงทุนตกต่ำถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์...คราวหน้าหากเขียนเช่นนี้อาจจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการ ซึ่งตนกำลังให้ฝ่ายกฎหมายดูอยู่
เพราะถือว่าเขียนเผยแพร่ข้อความที่ไม่มีข้อเท็จจริง เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้”
(http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)
“ไม่มีข้อเท็จจริง” อย่างไร ต้องตามไปดูที่โฆษกเอกจอมปั้นหลักฐานออกมาเสริม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โต้ไว้ตั้งแต่วันก่อน อ้างว่ารายงานข่าวเอาข้อมูลของปี ๕๘ เปรียบเทียบกับปี ๕๗ (จึงพบว่าลดลง ๙๐ เปอร์เซ็นต์) ไม่ถูกต้อง
“เพราะในปี ๒๕๕๙ รัฐบาลได้เพิ่มประเภทกิจการและปรับสิทธิประโยชน์เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน...ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูง”
(http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)
นั่นละที่น่าจะเรียกว่า “ไม่มีข้อเท็จจริง” มากกว่า เพราะการ “คาดว่า” เอามาใช้ปรักปรำไม่ได้ (ตามมาตรฐานตลาดการค้าเสรีนานาชาติ ไม่ใช่มาตรฐานศาลไทย)
และมาตรการเอื้อการลงทุนที่ว่ารัฐบาล คสช. ลงมือทำในปี ๒๕๕๙ นี่ก็เพิ่งเริ่มมาได้เพียงไตรมาสแรก ยังไม่เห็นผลเป็นตัวเลขประจักษ์ ประยุทธ์เอาไปใช้ด่าสื่อเสียแล้ว แถมข่มขู่จะจัดการ ‘แก้แค้น’ เสียอีกด้วย
อีกกรณีที่ประยุทธ์จวกสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสไว้แหลกราญ กรณีรายงานสถานการณ์น้ำแล้ง ใครๆ ก็รู้ว่ามันเป็นวิกฤตแล้ว หน้าที่ของรัฐบาลอยู่ที่ต้องจัดการแก้ไข จะได้มากได้น้อยก็ต้องตั้งหน้าทำ ไม่ใช่คอยแต่แก้ตัว (แบบนักเลง)
“ผมไม่ได้ว่า แต่ก็ต้องรู้ว่าช่องไทยพีบีเอส ใช้งบประมาณภาษีของรัฐ ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ อย่านำเสนอข้างเดียว...
ให้คนด่ารัฐบาล แล้วแบบนี้สมควรจะใช้เงินของรัฐบาลหรือไม่ มันต้องใช้เงินของรัฐให้เกิดความคุ้มค่า ให้ประเทศชาติปลอดภัย”
นี่พูดเหมือนผู้นำประเทศปิด เช่นพม่าในอดีตและเกาหลีเหนือปัจจุบัน ไม่ยอมเปิดกะลาดูโลกกว้าง (สักครั้งก็ยังดี) ว่าทีวีสาธารณะ อย่างเช่น พีบีเอสในสหรัฐ ที่ของไทยเลียนแบบแม้กระทั่งชื่อนั้น ถึงจะรับงบประมาณช่วยเหลือจากรัฐ (อีกส่วนประชาชนบริจาค) ก็ไม่มีหน้าที่ต้องชะเลียร์รัฐบาล แต่เสนอความรู้ความเห็นรอบด้าน จึงจะคุ้มค่า
ประยุทธ์ และ คสช. ควรต้องฟังความเห็นหลากหลายเสียบ้าง อย่าง สุวรรณา จิตประภัสสร์ อดีตกรรมการนโยบาย และอดีตสมาชิกสภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอส เขียนความเห็นสาธารณะถึงประยุทธ์ผ่านทางเฟชบุ๊คว่า
“อันที่จริงแล้ว ดิฉันอยากเห็นท่านนายกสั่งการให้สื่อของรัฐที่ใช้เงินภาษีเช่นเดียวกัน นำเสนอข่าวปัญหาประชาชนให้มากกว่านี้ ครอบคลุมกว่านี้ เพื่อทำให้กลไกทุกภาคส่วนของรัฐได้ทำงานเพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ที่เป็นจริง”
“ดิฉันหวังว่าท่านจะให้ความสำคัญคุณค่าสื่อสาธารณะที่ต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอีกช่องทางหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือของประชาชนที่สามารถสื่อกับรัฐได้อย่างอิสระ ปราศจากการกดดันของภาครัฐหรือทุน”
(http://prachatai.org/journal/2016/03/64716)
การปิดปากสื่อด้วยอำนาจพิเศษจากการรัฐประหาร (และ/หรืออำนาจเงินโฆษณา อย่างที่สุวรรณาเอ่ยถึง) “เพื่อให้การทำงานของตนเองและพรรคพวกราบรื่น ปราศจากความคิดเห็นที่แตกต่าง”
ไม่ได้ทำให้ผ่อนคลายวิกฤตของชาติได้ดีขึ้นมาอีกกี่มากน้อย ตราบเท่าที่ฝีมือการบริหารจัดการยังด้อยอยู่อักโข
คสช. ก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าอาการถดถอยของความเจริญเติบโตในชาติที่เป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้มีอยู่สองอย่าง คือเรื่องปากท้องของประชาชนทั่วไปทั้งมวลประการหนึ่ง กำลังงวดเข้าไปทุกๆ วัน มองไม่เห็นภาพแห่งการฟื้นฟูในอนาคตอันใกล้ มีแต่คำพูดประดิษฐ์สวยหรูเจื้อยแจ้วของผู้นำ ไม่สามารถวัด ‘ความน่าจะเป็น’ อันแท้จริงได้
กับสภาพแห่งภาวะจิตใจในด้านสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมทางสังคม ที่ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งกว่าครึ่งของผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เมื่อยังไม่ถูกครอบครองโดยอำนาจเผด็จการทหาร ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ถูกจ้วงจาบปรักปรำอยู่สม่ำเสมอ ในสายตาของผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ใช้อำนาจตุลาการ
ถ้อยแถลงของนายไซอิด ราอัด อัล ฮัสเซียน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ต่อการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓๑ ในกรุงเจนีวาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว (๑๐ มีนาคม) กล่าวถึงประเทศไทยว่า
“ข้าพเจ้าขอกระตุ้นให้ (ประเทศไทย) เร่งผ่านกฎหมายต่อต้านการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย” โดยด่วน
(รายละเอียดพากษ์ไทยจาก http://news.voicetv.co.th/thailand/338556.html)
นั่นต่างหากที่รัฐบาล คสช. ควรต้องรีบรับไปดำเนินการ เพราะเป็นข้อแม้เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารที่เป็นอยู่ขณะนี้มีค่าควรแก่การกุมอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ดังมีพวกอดีต สว.ขอส่วนบุญเอ่ยอ้าง
กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยนี้ เป็นที่ ‘กังวล’ ของชุมชนนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมากในระยะสองปีที่ทหารครองเมือง เนื่องแต่ทางปฏิบัติที่แม้แต่ศาลยุติธรรมก็ยังสยบให้แก่สิทธิพิเศษปลอดจากการรับผิด หรือ impunity ของชนชั้นสูงไทย และการเสาะหาตรรกะยัดใส่เพื่อจะเอาผิดแก่พวกแหวกประเพณีที่ถูกกล่าวหา anti-establishment
หรือกระทั่งเรื่อง ‘ความปลอดภัยของพยาน’ ดังที่เว็บไซ้ท์ Lawyer Herald รายงานการดำเนินคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในประเทศไทย ซึ่งเริ่มเมื่อวันอังคาร (ที่ ๑๕ มี.ค.)
“กลุ่มสิทธิมนุษยชนหวั่นเกรงว่าพยานในคดีจะไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองจากตำรวจ”
(http://www.lawyerherald.com/…/security-witnesses-feared-tha…)
และอีกกรณี ‘คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเซีย’ ออกแถลงเรียกร้องกรณีนายใช่ บุญทองเล็ก นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ถูกสองคนร้ายขับมอเตอร์ไซค์ไปบุกยิงสังหารชีวิตที่บ้านพักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
แต่ขณะนี้ทราบว่าทางการไทยได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคนเดียวที่ควบคุมตัวไว้ไปเสียแล้ว
นายใช่เป็นเกษตรกรชาวบ้านชุมชนไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ. สุราษฎร์ธานี ที่ต่อสู้กับนายทุนผู้บุกรุกที่ดินจนศาลพิพากษาความผิดแล้วยังไม่มีการบังคับคดี นายใช่กลับถูกลอบยิงเสียชีวิตไปก่อน
ศาลจังหวัดเวียงสระให้เหตุผลในการปล่อยตัวผู้ต้องหาว่า เป็นเพราะพยานโจทก์ไม่สามารถชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้ และปืนกับหมวกของกลางที่พบในบ้านของจำเลย ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของ
(http://www.humanrights.asia/…/urgent-appe…/AHRC-UAC-021-2016)
หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ดังที่ทนาย อานนท์ นำภา เขียนเล่าคดีก่อการร้ายที่มีแกนนำ นปช. เป็นจำเลย พยานโจทก์ให้การปรักปรำแกนนำ นปช. ว่าใช้ความรุนแรง เบิกความซัดว่าเห็นแกนนำกินข้าวกับเสธ.แดง
ทนายจำเลยจึงซักพยานว่าพูดอย่างนี้เพราะเวลามาศาลมีทหารตามมาคุมอยู่ใช่ไหม พยานปฏิเสธครั้งแรกว่าคนที่ตามเป็นน้องชาย พอทนายถามจี้จึงเปลี่ยนไปเป็นญาติห่างๆ ครั้นซักต่อเกาะติดก็ยอมรับว่าใช่ เป็นทหารคอยตามดูเวลาเบิกความ
(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1051913311516731&id=100000942179021)
ลักษณะแห่งความลักลั่นในทางการพิจารณาคดี อันเป็นที่ครหาต่อศาลไทยในระยะหลังๆ บางคดีเกี่ยวข้องผู้เสียหายชาวต่างชาติ เช่นคดีฆ่าสองหนุ่มสาวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า เป็นข่าวครึกโครมในต่างประเทศว่าศาลไทยพิพากษาประหารชีวิตสองแรงงานพม่าเป็นแพะรับบาป
เหล่านี้ต่างหากที่ฉุดความก้าวหน้าของประเทศไทยให้ชงักงันและถอยหลัง ประดุจดังแผลกลัดหนองที่ต้องกรีดแผลเปิดใส่ยา หากจะเอาแต่ปิดคลุมซ่อนไว้ รังแต่จะเน่าเฟะกำเริบอักเสบจนต้องตัดอวัยวะทิ้งก็เป็นได้