วันอังคาร, ธันวาคม 01, 2558

112 The series ชาญวิทย์ : อุดมการณ์อันยาวนาน กับใบปลิวเอกสารที่รอการพิสูจน์





โดย แอนดรอมิดา มูร์กาตาเดร์
ILAW

แม้ในปี 2558 ชาญวิทย์ จะมีอายุ 60 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังคงเป็นคนที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ไม่ต่างจากสมัยหนุ่มๆ ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์เดือนตุลา ทั้งปี 2516 และ 2519 จนต้องสูญเสียอิสรภาพ ในครั้งนี้ (ปี 2558) ชาญวิทย์ต้องสูญเสียอิสรภาพอีกครั้ง เมื่อใบปลิวที่เขาแจกในงานชุมนุมทางการเมืองที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อปี 2550 ถูกมองว่าเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ชาญวิทย์เป็นชาวจังหวัดพัทลุง เขาจบการศึกษามัธยมปลาย จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในปี 2516 เขาสอบเข้าคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ แต่ก็เรียนไม่จบ เนื่องจากเป็นโรคเครียด จึงลาออกขณะเรียนอยู่ปี 3 เพื่อไปรักษาตัว

ชาญวิทย์สนใจการเมืองและทำงานเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาสังคมมาตลอด เขาเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขาเคยถูกศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้จำคุกมาแล้วครั้งหนึ่ง

หลังออกจากคุกในช่วงปี 2520 เขาเข้าร่วมกับศูนย์นิสิตนักศึกษาภาคเหนือและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชาญวิทย์เล่าถึงอุดมการณ์ของเขาในขณะนั้นว่า เขาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หลังรัฐบาลพล.อ.เปรม มีคำสั่งที่ 66/2523 นิรโทษกรรมให้กับผู้ร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ยอมเข้ามอบตัว ชาญวิทย์ก็หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในเดือนพฤษภาคม 2535 ชาญวิทย์เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง โดยร่วมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นผลให้เขาถูกจับกุมและถูกขังที่เรือนจำคลองเปรม 3 วัน ช่วงปี 2539 ชาญวิทย์เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ติดตามกฎหมายจากรัฐสภาให้กับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

หลังการรัฐประหาร 2549 ชาญวิทย์วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน และทำใบปลิวออกแจกจ่าย เนื่องจากต้องการให้เจตนารมณ์ของคณะราษฎรเกิดขึ้นจริง นั่นคือ "ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย"

ใบปลิวที่ชาญวิทย์แจก ยาว 5 หน้า มีกล่าวถึงบุคคลในพระบรมวงศานุวงศ์ บุคคลสำคัญ และนักการเมือง อย่างน้อย 13 คน มีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมอยู่ด้วย เนื้อหาของใบปลิวมีลักษณะเป็นการพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ และมีการวิเคราะห์พฤติกรรมในอดีตของบุคคลต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับโชคชะตา

และใบปลิวเจ้าปัญหาทำให้ชาญวิทย์ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในปี 2551 ระหว่างสู้คดี ชาญวิทย์ได้รับการประกันตัว แต่ต่อมาเขาไม่มารายงานตัวตามนัดศาล ทำให้กลายเป็นผู้ต้องหาหนีคดี และถูกออกหมายจับ

เดือนมีนาคม 2558 มีเหตุปาระเบิดศาลอาญา ชาญวิทย์มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยด้วย เขาถูกจับอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งก่อนถูกจับกุมเขาไปเป็นวิทยากรประเด็นประชาธิปไตย ให้กลุ่มประชาชนในจังหวัดขอนแก่น และมักแจกใบปลิวเพื่อเผยแพร่แนวคิดในประเด็นต่างๆ เป็นประจำ

ในคดีปาระเบิด นอกจากมือระเบิดสองคนที่ถูกจับจากที่เกิดเหตุ ซึ่งให้การรับสารภาพไปแล้ว ชาญวิทย์และบุุคคลอีกอย่างน้อย 20 คนที่อยู่ในกลุ่มไลน์เดียวกัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตามจับตัวได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่ให้การปฏิเสธ ในจำนวนนี้ได้รับการประกันตัว 1 คน

ระหว่างถูกควบคุมตัวในคดีปาระเบิดศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเขากลับมาดำเนินคดี 112 อีกครั้ง หลังคดีถูกจำหน่ายชั่วคราวไปกว่า 7 ปี


"ผมต้องการให้สถาบันฯ มีความมั่นคงขึ้นตามเอกสารชิ้นนี้ " และ "ประเมินสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น” ชาญวิทย์เบิกความไว้ตอนหนึ่ง ในวันสืบพยานที่ศาลจังหวัดนนทบุรี เมื่อเดือนกันยายน 2558

จากใบปลิว 1 ชุด อัยการฟ้องชาญวิทย์โดยแยกเป็นความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 4 กรรม คือ การหมิ่นประมาท 1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช 4) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ซึ่งชาญวิทย์บอกกับศาลว่า เขาประเมินและวิจารณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์สังคมและโหราศาสตร์ที่ศึกษามา และไม่เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่จะทำให้สถาบันมั่นคงขึ้นดังเช่นโมเดลของประเทศญี่ปุ่น โดยข้อมูลบางส่วนมาจากเอกสารที่ได้จากงานศพ พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช และรวบรวมจากที่อื่นๆ

ชาญวิทย์ยังต่อสู้ในประเด็นองค์รัชทายาทนั้นครอบคลุมถึงพระองค์ใดบ้างด้วย โดยเขาระบุว่า ตามกฎหมายมาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลนั้นกำหนดให้องค์รัชทายาทเป็นชายเท่านั้น จึงไม่ครอบคลุมถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาตามที่โจทก์ฟ้อง

“การแจกใบปลิวเป็นปฏิบัติการทางการเมืองอย่างหนึ่ง ผมเป็นพลเมืองผมจึงต้องนำเสนอแนวคิดต่อสังคม ไม่อาจนั่งเฉยๆ" ชาญวิทย์แถลงต่อศาลเพื่อย้ำถึงจุดประสงค์ที่ทำ

"ไม่มีครอบครัว อยู่ตัวคนเดียวมาตลอด" เขาพูดด้วยบุคลิกเด็ดเดี่ยว และท่าทีที่มั่นใจในตัวเองสูง เมื่อถามถึงครอบครัวและอุดมการณ์ที่ต่อสู้ หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ชาญวิทย์ขอสัมผัสมือกับผู้มาร่วมฟังการพิจารณาคดีในศาล เป็นสัญญาณถึงมิตรไมตรีต่อกันก่อนจากลา

“ไม่เป็นไร ข้างนอกกับข้างในก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ต่างแค่ขนาดของกรง” เขากล่าวกับเพื่อนที่ตามไปฟังการพิจารณาคดี เมื่อถามถึงสภาพการคุมขังข้างใน นับถึงก่อนการพิพากษาเขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มากว่า 8 เดือนแล้ว และยังต้องต่อสู้คดีปาระเบิดศาลอาญาอีกคดีหนึ่งที่ศาลทหาร

ในมุมมองจากผู้สังเกตการณ์ หากจะมีสัจธรรมใดมาข้องเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านพบมาหลากเหตุการณ์ของชาญวิทย์ เรื่องของเขาคงเหมือน "เกมการเมือง" ที่ย่อมมีขึ้นมีลงอยู่เสมอ

* 1 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดนนทบุรี จะอ่านคำพิพากษาคดี 112 ของชาญวิทย์

อ่านรายละเอียดคดีของชาญวิทย์ --> http://freedom.ilaw.or.th/th/case/660
อ่าน 112 The series ตอนอื่นๆ --> http://freedom.ilaw.or.th/node/162

ooo




เห็นสลิ่มกับทหารบอกต้องการอนุรักษ์มาตรา 112 ให้คงเดิม
ชอบพูดกันว่าต้องมีมาตรานี้ "เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์"

แต่แท้จริงแล้วมาตรา 112 ฉบับที่ "เป็นต้นแบบใช้ในปัจจุบัน"
ถูกปรับปรุงขึ้นจาก "คณะรัฐประหารของ สงัด ชลออยู่ปี 2519"
โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี" เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" และระดับโทษนี้ถูกใช้มาถึง "ปัจจุบัน"


ซึ่งทำให้ไม่สามารถรอลงอาญาได้ ต้องเอาเข้าคุกสถานเดียว
ปรับให้เป็นกฏหมายสำหรับกำจัดศัตรูทางการเมืองได้โดยง่าย

ที่สำคัญคือ มาตรา 112 ที่ คสช. ใช้ในการจับกุมปัจจุบันนั้น
ผิดหลัก "กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" อย่างชัดเจน

=======================

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนที่โดนมาตรา 112 จะต้องโดนนั้น คือ

"ผู้ถูกตั้งข้อหามักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
ถูกกระทำเหมือนคนที่ถูกตัดสินว่าผิดไปเรียบร้อยแล้ว
และถูกคุมขังในเรือนจำหลายเดือนก่อนมีการไต่สวนในชั้นศาล และคำพิพากษาส่วนใหญ่เป็นการลงโทษอย่างรุนแรง"

ไม่ว่าคุณจะบริสุทธิ์หรือไม่ต้องถูกขังคุกเป็นเดือนหรือเป็นปี
กว่าจะได้พิจารณคดี ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นชีวิตคุณก็พินาศ
เสียทั้งการงาน เวลา ชีวิต และทรัพย์สิน ถูกต้องไหม?

นอกจากนี้มีคดี 112 ที่สร้าง "หลักฐานเท็จที่เป็นไปไม่ได้"
จาก "เจ้าหน้าที่รัฐ" เพื่อใช้ในการเอาผิดประชาชน
โดยที่ถูกจับได้แล้วนั้นก็ไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

หาข้อมูลได้ที่นี่
https://www.facebook.com/stopfakethailand/posts/856294497800634:0

========================

ปัจจุบันกฏหมายมาตรานี้ถูกฟ้องร้องจาก "คนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่เสียหาย"ในมาตรา 112 ได้เช่น นายทหารชั้นสูงฟ้องร้องคนที่ผิดกฏหมายมาตรา 112

กรณีนี้ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนที่เจตนาบิดเบือนไม่ประสงค์ดีแอบอ้าง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ถูกใช้ไปในทางที่ผิดได้ง่าย เป็นกฏหมายที่อาศัย" การตีความ" สูง

มีช่วงหนึ่งคณะนิติราษฏร์หรือใครก็ตามที่มีแนวคิดการ
"ปรับปรุงแก้ไขให้มาตรา 112 ทันสมัยต่อโลก"
จะโดนอีกฝ่ายกล่าวหาเป็นพวก "ล้มเจ้า" โดยทันที
ซึ่งนั่นไม่ถูกต้องเลย

=======================

หลังจากการรัฐประหารของคสช. ก็ออกประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
ทำให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารหากผิดมาตรา 112

และสามารถถูกอุ้มเงียบเข้าคุกทหารได้เลยเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้โอกาสขึ้นศาลต่อสู้คดี ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการ"ติดเชื้อในกระแสเลือด" ราวกับเป็นมาตราที่เสกคนให้หายไปจากสังคมได้

ยกตัวอย่างคดี 112 สมัย คสช. เช่น คดีของนายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ที่โพสต์ 6 ข้อความ ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวม 60 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี สูงสุดเท่าที่เคยมี

======================

เชื่อว่าเรื่องมาตรา 112 นี้ คุณ Somsak Jeamteerasakul
รู้ดีกว่าทางเพจหยุดดัด ใครสนใจก็ลองไปอ่านที่แกเขียนได้

อ้างอิง

https://th.wikipedia.org/…/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B…

http://www.prachatai.com/journal/2011/12/38272
http://www.isranews.org/…/thaireform-…/item/13552--112-.html

ที่มา
หยุดดัดจริตประเทศไทย