วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 10, 2562

ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย





ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย


6 Nov, 2019
ที่มา เวป stock2morrow.com


ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังปรับโครงสร้างเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ (modern economy) สังคมไทยเองก็ปรับโครงสร้างเหมือนกัน โดยทำให้มีการขยายตัวของเขตเมือง และเกิดมีชนชั้นกลาง หรือ Middle Class มากยิ่งขึ้น และทุกประเทศก็มีโครงสร้างคล้ายๆ กัน คือ

  1. มีมหาเศรษฐี หรือคนรวย เหลือกินเหลือใช้ ... คนไทยที่รวย 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 60% ของประเทศ
  2. มีชนชั้นกลาง ซึ่งแบ่งเป็น ชนชั้นกลางระดับบน ที่มีรายได้สูง มีความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ หรือเป็นลูกจ้าง ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร กับ ชนชั้นกลางระดับล่าง ที่แม้จะมีความสะดวกสบายในการมีชีวิตอยู่ในสังคมเมือง แต่ต้องทำงานหนักและต้องต่อสู้เพื่อรักษาตำแหน่งหน้าที่การงาน ย้ายงานบ่อย มีรายได้ประจำ แต่อยู่แบบเดือนชนเดือน และมีหนี้สินสูง
  3. ส่วนชนชั้นแรงงาน หรือชาวไร่ชาวนา ที่มีรายได้น้อย ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะว่า มีชีวิตอย่างขัดสน หาเช้ากินค่ำ มีหนี้สินล้นพ้น ต้องปากกัดตีนถีบอยู่ตลอดเวลา
.
กล่าวโดยรวมแล้ว ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของไทยมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน และขึ้นเร็วกว่า สูงกว่ารายได้

นอกจากนี้ อัตราค่าครองชีพที่เป็นจริงก็ยังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศมาก ทำให้ครัวเรือนไทยต้องก่อหนี้สินสูง โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท เกือบ 80% ต่อจีดีพี สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และติดอันดับ 11 ของโลก

การที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนรวยทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ แต่การที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศกินดี อยู่ดี รวมทั้งยกระดับชนชั้นกลางให้เข้มแข็งและมีจำนวนมากขึ้น เป็นเป้าหมายสำคัญ ทั้งเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถในการบริหารประเทศ

จึงต้องพูดถึงเรื่องของชนชั้นกลางโดยเฉพาะ

เพราะว่าชนชั้นกลางเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า

และเพราะว่าชนชั้นกลางคือกลุ่มสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

ชนชั้นกลางเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เพราะได้พิสูจน์ในหลายประเทศที่เจริญแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฯลฯ ว่าชนชั้นกลางคือกลุ่มสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

แต่นโยบายของรัฐบาลไทยในแต่ละยุค จะให้ความสนใจกับการสร้างฐานของชนชั้นกลางให้มีความเข้มแข็งอย่างเพียงพอหรือไม่ ยังเป็นคำถาม

เพราะดูเหมือนว่านโยบายของรัฐบาลมักจะเอาใจเฉพาะคนรวย หรือบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากกว่าจะสนใจคนชั้นกลางหรือคนจน

อาจจะเพราะไปเชื่อว่าคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งไทยและเทศเป็นผู้ที่ลงทุนหลักที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน GDP โดยเชื่อว่าเมื่อ GDP เติบโตแล้ว เศรษฐกิจก็จะดี และคนในภาคสังคมอื่นๆ จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย

แต่ว่าตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่เติบโตนั้น ไม่ได้ช่วยในการกระจายรายได้ หรือให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คงจะมีก็แต่คนรวยเท่านั้น ที่นับวันมีแต่จะรวยขึ้นๆ ทำให้เมืองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
.
World Economic Forum เมื่อเดือน ตค ที่ผ่านมา ระบุว่าปีนี้ไทยได้อันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 40 จากทั้งหมด141 ประเทศ โดยลดลงจากอันดับที่ 38 ในปี 2561

ที่สำคัญคือเขาให้คะแนนความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศของเราต่ำมาก เนื่องจากตลาดในประเทศถูกผูกขาดโดยทุนขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ทำให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถเติบโต และขยายธุรกิจได้ยาก

คนรวย บริษัทใหญ่ บริษัทต่างชาติ ได้รับประโยชน์หลักจากนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษด้านการลงทุน สัมปทาน ภาษี รวมทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภคที่รองรับการลงทุน ภาษีนิติบุคคลก็อยู่ที่ 20% ทั้งยังมีวิธีการทางบัญชี เพื่อประหยัดการจ่ายภาษีให้ได้มากที่สุด

ส่วนชนชั้นกลางกลับถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่เสียภาษีหลักให้กับประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

คือเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะถูกหัก ณ ที่จ่ายทุกเดือน ภาษีรายได้ส่วนบุคคลอยู่ระดับสูงสุดอยู่ที่ 35% สูงกว่าอัตราภาษีของนิติบุคคลที่เป็น 20% และเขายังกำหนดให้คนมีเงินได้ต่อปี 4 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 35% … 4 ล้าน 100 ล้าน พันหมื่นแสนล้าน อัตราภาษีเท่ากันหมด แถมยังต้องจ่ายภาษีทางการค้า ภาษีธุรกิจ และภาษีทางอ้อมอื่นๆ ให้กับภาครัฐ รวมทั้ง VAT 7% เมื่อจับจ่ายซื้อของและบริการ

ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลาง ทั้งผู้ที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ และพนักงานบริษัท หรือองค์กร ล้วนเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศ เป็นผู้สร้างอุปสงค์ที่เรียกว่าเป็นพลวัตของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน เพราะเป็นผู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนท์ ซื้อรถยนต์ ซื้อมอเตอร์ไซด์ ซื้อมือถือ ซื้อตู้เย็น ทีวี ซื้ออาหาร ช้อปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า ส่งลูกเรียนหนังสือ ไปเที่ยว และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

ถ้าไม่มีชนชั้นกลาง การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะไม่มี

ชนชั้นกลางเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศ จึงเป็นพลวัตของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน เพราะเป็นผู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนท์ ซื้อรถยนต์ ซื้อมอเตอร์ไซด์ ซื้อมือถือ ซื้อตู้เย็น ทีวี ซื้ออาหาร ช้อปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า ส่งลูกเรียนหนังสือ ไปเที่ยว และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

ดังนั้น ถ้าไม่มีชนชั้นกลาง การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะไม่มี

จากการสำรวจของ Facebook เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าชนชั้นกลางของไทยมีสูงถึง 49 ล้านคน หรือ 73% ของคนทั้งประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางในต่างจังหวัด

เพราะพวกเขาเข้าถึงเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และโลจิสติกส์ที่มากยิ่งขึ้น
.
สรุปได้ว่า เศรษฐกิจจะอยู่ไม่ได้ จะไม่สามารถพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิตัล หากขาดการบริโภค หรือการมีส่วนร่วมของชนชั้นกลาง

แต่จากรายงานล่าสุดที่ประเมินฐานะเศรษฐกิจไทยโดย IMF พบว่าแม้ไทยจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในเชิงมหภาคอยู่ในระดับที่มั่นคง แต่มีปัญหาเรื่องการดูแลสวัสดิการของประชาชนโดยรวม เนื่องจากไม่มีโครงข่ายรองรับทางสังคมที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มประสิทธิภาพของการแข่งกัน การลดความเหลื่อมล้ำ และการให้ทุกคนมีโอกาสได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ

เพราะแม้ว่าเราจะมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคสำหรับคนรายได้น้อย รวมไปถึงโครงการประกันสังคมสำหรับผู้ทำงาน แต่สวัสดิการทางสังคมเหล่านี้ยังไม่พอ ทั้งยังไม่แน่ใจว่าโครงการเหลานี้จะมีเงินพอกับรายจ่ายในอนาคตหรือไม่

ในขณะที่ข้าราชการจะมีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีเงินบำนาญไว้ใช้ยามปลดเกษียณ หรือผู้ที่เป็นพนักงานของบริษัทเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) รองรับ แต่ว่าก็เป็นเรื่องของการสมัครใจทำของแต่ละบริษัท โดยนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ

แต่ยังมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ชนชั้นกลางที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก ไม่มีความมั่นคงทางการเงินเมื่อยามเกษียณ

นโยบายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ กบช. ที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีเงินออมสำหรับวัยเกษียณโดยรัฐบาลไม่ต้องออกเงินมาช่วย ก็มีปัญหา มีอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ยังไม่คลอด จึงน่าเสียดายและน่าเสียใจที่เรียกร้องกันมาเกิน 30 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เป็นแหล่งเงินออมเพื่อเป็นการลงทุน ตลอดจนเพื่อการดูแลสวัสดิการของชนชั้นกลางและชั้นล่างในขณะที่สังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

จนป่านนี้แล้ว กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีเงินออมสำหรับวัยเกษียณโดยรัฐบาลไม่ต้องออกเงินมาช่วย ยังไม่คลอดออกมาเสียที จึงน่าเสียดายและน่าเสียใจที่เรียกร้องกันมาเกิน 30 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีแหล่งเงินออมเพื่อการดูแลสวัสดิการของชนชั้นกลางและชั้นล่างในขณะที่สังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

มาวันนี้ ในภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ชนชั้นกลางต้องช่วยตนเอง ไม่สามารถจะหวังพึ่งการฝากเงินกับธนาคารเพื่อได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยได้ ดังนั้น การเข้าถึงการลงทุนในตลาดทุนจึงเป็นทางออก
.
แต่ปรากฎว่านโยบายการส่งเสริมการลงทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่กำลังจะหมดอายุในปีนี้จะไม่มีการต่ออายุ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีอะไรมาทดแทนเพื่อให้นักลงทุนที่เป็นชนชั้นกลางมีทางเลือกในการออมและการลงทุนระยะยาว เพื่อเป็นสวัสดิการความมั่นคงในอนาคต หรือไม่
.
การละเลย หรือการมองข้ามความสำคัญของชนชั้นกลางในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้เกิดแรงเสียดทานในสังคมในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดความคิดเห็นที่แบ่งเป็นฝัก เป็นฝ่าย เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงจากคนรุ่นใหม่ ดูได้จากผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากนี้จะไม่เป็นผลดีโดยรวมของประเทศในระยะยาว

เราได้เห็นตัวอย่างของการประท้วงที่ฮ่องกง ที่มีสาเหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำ ค่าครองชีพที่สูงแพงลิบลิ่ว และราคาของที่อยู่อาศัยที่ไกลเกินความฝันที่จะเป็นจริง เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือ 4-5 บริษัทเท่านั้น ทำให้ชนชั้นกลางของฮ่องกงจำนวนมากต้องออกมาประท้วง ทำลายข้าวของ ทำให้อนาคตของฮ่องกงมืดมน

ในเมื่อเราไม่ต้องการให้ไทยเหมือนฮ่องกง รัฐบาลก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทำให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ ทั้งการให้โอกาสกับทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางและผู้ที่มีรายได้น้อย … อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยต่อไปอีก
.
ดังนั้น นโยบายการคลังและสังคมจึงจะต้องรองรับโครงข่ายรองรับทางสังคม ที่ต้องครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา สิทธิประโยชน์ทางภาษี การมีกองทุนสวัสดิการต่างๆ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ การสาธารณสุข และที่สำคัญไม่น้อย คือ การเข้าถึงตลาดทุนที่เป็นแหล่งเงินออมและเงินลงทุนที่มีแรงจูงใจ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตสำหรับคนไทย

เพราะหากคนส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ไม่มีกำลังซื้อ แล้วต่อไปใครจะไปซื้อไปใช้บริการภาคธุรกิจ ใครจะเสียภาษีให้รัฐบาลนำไปหล่อเลี้ยงระบบราชการกับการพัฒนาประเทศ
.

วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด