วันพฤหัสบดี, มกราคม 03, 2562

‘เลื่อน-ไม่เลื่อน’ คงไม่ถึง 'ลงแดง' อย่าง 'ยูกาลา' ว่า แต่ถ้าไม่ 'ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง' ดั่งคำประยุทธ์ละก็ ไม่ใช่ความ ‘ศิวิไล’ แน่


เลื่อน-ไม่เลื่อน เลือกตั้ง ถ้าจะว่าตามประสาพวกเลือดสีไม่แดง (น้ำเงิน) อย่าง Chulcherm ยูกาลา “ไหนๆ ก็ทนรอกันมาได้ หากจะลงแดงตายกันก็ให้มันรู้กันไป” คงได้มั้ง เลื่อนเดือนสองเดือนไม่เท่าไรหรอก

ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเอาตามใจทั่นอย่างเดียวมันไม่ไหว ในภาพลักษณ์ทางสากล เพราะการอยู่ใน ยุคกะลา มันน่าเกลียดน่าชังสำหรับพลโลกทั้งมวล จะทำเป็นไม้หลักปักขี้เลนเอนไปเอนมา ก็ ครอบได้อย่างเก่งแค่ครึ่งๆ กลางๆ ของ ๖-๗ สิบล้าน

ตอนนี้ทั้งพระทั้งเจ้าเอากันใหญ่ เลือกตั้งก่อนวันพระราชพิธี พระว่า “ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ขณะที่ เลือดเจ้าบอก “กกต.สมควรเลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสร็จสิ้น ซึ่งจะเป็นการเหมาะสมที่สุด”

“คำพูดเป็นนายของตัวเอง” สำคัญที่สุด แม้จะพริ้วได้อย่าง ไอทู้บ ยังดีกว่า จุลเจิม Yugala อ้าง “รัฐบาล คสช. (ของประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับสนองงานพระราชพิธี...จนกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะแล้วเสร็จ”

แค่เขาต้องการให้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจของคณะทหารเป็นชุดสนอง พระบรมราชโองการอาจทำให้ “ประเทศไทยจะได้เริ่มศักราชแห่งสุวรรณภูมิแดนศรีวิไล” แบบ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เจ้าของรังสิตโพล อ้างไว้
 
แต่ความเป็น ศิวิไลในความหมายของรากศัพท์ ‘civilize’ (or ‘civilise’) หมายถึงความ “เจริญแล้ว พัฒนา มีการศึกษา ขัดเกลาแล้ว และตาสว่าง” ตามนิยามแห่งพจนานุกรม และในความทัดเทียมนานาประเทศราช

ดร.อาทิตย์ อ้างว่า “มิควรที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งทางการเมืองขึ้น เพราะจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก และไม่สามัคคีปรองดองกัน” ฟังไม่ขึ้น ในเมื่อการเลือกตั้งเป็นหน้าต่างของประชาธิปไตย (เหมือนผลแอ็ปเปิ้ลของดวงเนตร)

ทั้งๆ ที่อาทิตย์ยอมรับว่า “กฎเกณฑ์กติกาในการเลือกตั้งก็ยังไม่เป็นธรรมประชาธิปไตยเหมาะสมกับประเทศไทยดีพอ” ก็ตามที ก็ในเมื่อคนที่เสียเปรียบ (พรรคการเมืองทั้งหลาย) เขายังฮึดสู้

ใจคอพวกที่ได้เปรียบจะกินทั้งยวง มันไม่ตะกรามไปหน่อยหรือ


คราวนี้มาดูสิว่าวิชาพริ้วนักการเมืองสายตะหานเขาว่าไร “ทุกอย่างตนยังยึดและยืนยันตามโรดแมป คือหลังจาก พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ที่ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ธ.ค.๖๑ แล้วเราต้องนับไปอีก ๑๕๐ วันจะต้องให้มีการเลือกตั้ง”
 
คือวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เป็นอย่างเร็วที่สุด ถ้าอย่างช้าก็โน่นต้นถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็ตรงกับกำหนดงานราชาภิเษกพอดี ทางที่ควรต้องให้ก่อนพระราชพิธีฯ จะดีกว่าหลังพระราชพิธี เพราะจะได้ไม่เลื่อนเป็นครั้งที่ ๖ ทำให้เสียสัตย์ชาติตะหาน ที่ปฏิญานกันนักหนาต้อง เสียชีพแทน

ทั่นนายกฯ (คนที่ปากบอกไม่อยากเป็นต่ออีก แต่ภาษากายเห็นระริกระรี้เหลือหลายกับการจะกลับมาเป็นนายกฯ ใหม่ โดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง ไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แค่รอพวกพรรคลิ่วล้อเอาเสลี่ยงมาหาม) ถึงได้ดิ้นปลิ้นไปได้

การเลือกตั้งนั่นไม่ใช่เรื่องของผม แต่ “เป็นเหตุเป็นผลของ กกต.ซึ่งตนก็ยังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง” ทว่าตนไม่วายแก้เกี้ยว ขอให้ใจเย็นๆ วันนี้อยู่กับฉันไปก่อน เธอจะรีบไปไหน” วันนี้ยังไม่ตัดสินใจจะลงสังกัดใด ถึงวันพรุ่งตัดสินใจเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

“ขอศึกษาดูก่อน ตอนนี้อยากให้ประชาชนได้ศึกษาแนวทางของแต่ละนโยบายพรรคการเมืองก่อน ไม่ใช่ดูเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ” อ้างอีกด้วย “บางทีกล่าวซ้ำกับสิ่งที่เราทำไปแล้ว และเอาไปขยายในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้”

แกพูดถึงพรรคไหนสุดจะเดา แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ค่อนข้างชัดแหระว่าแซะใคร “เราก็ศึกษาดูว่านโยบายพรรคนี้เป็นไปได้หรือไม่ เช่นเรื่องจะให้ทุนการศึกษาจะได้หรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ตนเป็นรัฐบาลอยู่ ก็รู้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณเป็นอย่างไร

ฉะนั้นถ้าเราพูดไปแล้วทำไม่ได้ อย่างนี้มันเสียหาย” เข้าใจตรงกันนะ ประโยคท้ายเป็นเรื่องตัวเองจะเปิดหน้าเล่นเมื่อไร ไม่ใช่เกี่ยวกับนโยบายการศึกษา แต่ถ้าเลือกตั้งจะเลื่อน-ไม่เลื่อน ถึงอย่างไรยังทำคู่ขนานกันไปได้กับราชาภิเษก


เป็นอัน ๒๔ กุมภา ท่าจะแน่ แต่พวกที่ออกมาวุ้ยว้ายให้เลื่อน ไถ่ถามกันมาดีแล้วยังก่อนจะอ้าปากพ่น ถึงที่สุดก็ต้องยืมคำประยุทธ์ (คนละเรื่องแต่ความหมายเดียวกัน) นั่นละมาสยบ “ขอให้ซื่อสัตย์ต่อตัวเองกันหน่อยแล้วกัน”