ขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๒ แล้ว ท่ามกลางการวาดหวังว่า อีกไม่เกินสองเดือนข้างหน้าประชาชนจะได้มีสิทธิมีเสียงในทางการปกครองเสียที
ผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่แม้จะไม่ ‘free & fair’ อย่างแท้จริงก็ยังดี
ตามวิถีไทยๆ ที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด”
สิ่งที่บางคนยังกังวลว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก
จากท่าทีของ กกต. ลิ่วล้อ คสช.ที่ว่าจะพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทันบ้าง กกต.
ยังไม่เคยรับปากแน่นอน (ยังไม่มีการกำหนดวัน) จะต้องเลือกตั้งวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์
ฉะนั้นถ้าต้องเลื่อนก็ไม่เห็นจะเป็นไร (คำของผู้เขียน)
จากข้อความบนทวิตเตอร์สะดุดตาชิ้นหนึ่งถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่
๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ “เกิดเหตุระเบิดพร้อมกันหลายจุดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ส่งผลต่อการนับถอยหลัง” (@beaver_ch5) แล้วมี ‘รีทวี้ต’
(@iamasiam14) ตอบว่า “ปีนี้ก็ต้องระวัง เพราะมีคนบางจำพวกอยากเลื่อนเลือกตั้ง”
ดูเหมือนจะหมดห่วงเรื่องนั้นไปได้บ้าง แม้จะมีระเบิดหลายครั้งในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา
แต่ก็เกิดในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้
อันเป็นเหตุการณ์เกือบจะปกติในยุคสมัยการครองอำนาจของ คสช.
จึงไม่น่าจะมาใช้อ้างเลื่อนเลือกตั้งสะดวกนัก
กระนั้นก็ดี ถึงจะเชื่อได้ว่า ๒๕๖๒ แล้ว มีเลือกตั้งแน่ๆ
ปีนี้ แต่วิบากกรรมของฝ่ายต้องการเลือกตั้งและครรลองประชาธิปไตยสากลก็ยังไม่หมดไป ‘ไอลอว์’ เสนอบทความชวนให้สำเหนียกว่า “The bumpy
road ahead หนทางข้างหน้ายังไม่ง่าย” นักนะ
เนื่องจาก คสช. หรือคณะทหารที่ยึดอำนาจเมื่อกว่าสี่ปีที่แล้ว
(และในปี ๒๕๔๙) ยังกุมอำนาจหลายอย่างเหนือการดำเนินชีวิตทางการเมืองของประชากร
อย่างเช่นคำสั่ง คสช. ฉบับที่ ๓/๒๕๕๘ แม้จะได้มีการ ‘ปลดล็อค’ ยกเลิกข้อ ๑๒ เพื่อให้มีการหาเสียงทางการเมืองได้แล้ว
ก็เป็นเพียงยกเลิกประเด็นห้ามชุมนุมเกินห้าคนเท่านั้น แต่
คสช.ยังคงมี “อำนาจการเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังไว้เจ็ดวัน
อำนาจทหารที่จะบุกค้นที่อยู่อาศัย พาหนะ รวมถึงการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน” อยู่ต่อไป
โดยที่อำนาจข้อนี้
“เป็นอำนาจที่
คสช. ใช้เป็นเครื่องมือหยุดยั้งการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
บางครั้งก็อ้างว่าเป็นการเอาตัวมาเพื่อ ‘ปรับทันศนคติ’ หรือการ ‘เชิญตัวมาพูดคุย’”
รวมทั้ง “การคุมตัวบุคคลในค่ายทหาร
เช่น
กรณีการควบคุมตัวกลุ่มคนเสื้อดำที่แสดงออกเกี่ยวกับกิจกรรม ‘Bike อุ่นไอรัก’ ในวันที่
๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ไม่น้อยกว่า ๗ คน หลังปล่อยตัวออกมาแล้วทหารก็ยังใช้อำนาจซ้ำควบคุมตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวมาแล้ว
4 คน กลับเข้าไปที่ค่ายทหารอีกครั้ง”
อีกตัวอย่างเพิ่งเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้เองหลังจากการปลดล็อคการเมืองไปแล้ว
เมื่อ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุ๊ค
(เมื่อ ๓๑ ธันวา) แจ้งว่า
ตนกลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ (๒๕ ธ.ค.) มีชายนิรนามสองคนคอยติดตามตลอดเวลา
รุ่งขึ้นอีกสองวันมาอีก “ตั้งแต่เช้ายันช่วงดึก มีการตามถ่ายรูป คอยถามเจ้าของร้านรวงต่างๆ
ที่พวกเราไป...ราวกับพวกเราเป็นอาชญากรคนหนึ่ง”
เขาชี้ว่าการส่งเจ้าหน้าที่คอยติดตามเช่นนี้ไม่ใช่ “เรื่องปกติที่เราควรชินชากับมัน”
รัฐไม่ควรที่จะ “ใช้อำนาจของตนในการสอดส่องชีวิตของประชาชนในประเทศนี้ ได้อย่างตามอำเภอใจ”
อำนาจอีกอย่างที่ไม่ได้ยุติไปพร้อมกับการปลดล็อคทางการเมืองดังที่
‘ไอลอว์’ ชี้ก็คือ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ ๒๕๕๘
ที่ให้ชุมนุมได้แต่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงหน้า ๒๔ ชั่วโมง และห้ามชุมนุมในระยะ
๑๕๐ จากพระราชวัง และข้อห้ามหยุมหยิมอื่นๆ เช่น ห้ามปิดหน้า
พรบ. นี้ คสช.มักใช้ควบกับ คำสั่งที่ ๓/๒๕๕๘ “โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ
ข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้”
ครั้นเมื่อยุติข้อ
๑๒ ของคำสั่งดังกล่าวไปแล้ว เชื่อว่า “พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ก็จะกลายเป็นเครื่องมือหลักของรัฐสำหรับจัดการการชุมนุม
ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกบังคับใช้อย่างเข้มข้นขึ้นอีกเรื่อยๆ ในปีหน้า”
ส่วนอีกกรรมวีธีที่
คสช.จะใช้กดดันไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตน เป็นการใช้ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ.๒๕๖๐ ที่มักใช้ควบกับข้อหา ม.๑๑๒ (ซึ่งในปี ๒๕๖๑
มีการใช้น้อยลงอย่างผิดหูผิดตา ดู https://freedom.ilaw.or.th/blog/1122018) และ ม.๑๑๖ ข้อหายุยงปลุกปั่น หรือ ‘อั้งยี่’
ไอลอว์แจงว่า
พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๔ (๒) นี้ ถูกนำมาใช้อย่างพลิกแพลงเพื่อจะเอาผิดกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของ
คสช. ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งสิ้น ๔๔ คน ๒๓ คดี เฉพาะปี ๒๕๖๑ มีถึง ๒๕ คน ๑๒
คดี
“ในจำนวนนี้เป็นคดีของนักการเมือง
๓ คดี คือคดีของวัฒนา เมืองสุข ที่วิจารณ์ คสช. กรณีซื้อดาวเทียมไธอา (THEIA), คดีของพิชัย นริพทะพันธุ์ วิจารณ์
คสช. เรื่องการดูด ส.ส. และคดีของธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) กับแกนนำพรรคอนาคตใหม่จากการไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์
คสช. เรื่องการดูด ส.ส.”
สองสามกรณีที่คัดลอกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งไอลอว์ชี้ให้เห็นว่า
สำหรับฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ถึงจะมีเลือกตั้งในปีใหม่นี้ก็ยังหนีไม่พ้นถูก
คสช.รังควาญ