พลันถึงวันที่ ๑ มกรา ประกาศิตก็ปรากฏ “ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ “เสด็จออกมหาสมาคมฯ” วันที่ ๕ “เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค”
และวันที่ ๖ เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท”
ดั่งสายอสนีบาตฟาดกลางกบาล ทำให้ @WassanaNanuam โพสต์เตือนใคร “เดินหน้าเลือกตั้ง ๒๔ ก.พ. ๖๒ ให้จบเรียบร้อย
มีรัฐบาลใหม่ให้ทัน ห้ามวุ่นวาย” ที่ซึ่งนักวิเคราะห์เจาะทะลวงกันไปว่า
ราชาภิเษกในขณะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง
คำพูดของประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่ว่าจะอยู่เพียงปีเดียวตามโร้ดแม้พ จึงไม่น่าจะมีอีกเป็นครั้งที่ ๖
เพราะกระแสพลังประชารัฐกำลังทำท่าจะเป๋
ทั้งที่ข้อมูลเชิงลบต่อความมีน้ำยาของรัฐบาล คสช. พลั่งพลูออกมาไม่ขาดระยะ
ล่าสุด ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานสภาพง่อยเปลี้ยของการค้าปลีกในต่างจังหวัด
“หืดจับ กำลังซื้อฟุบไม่ฟื้น” ในสามจุดที่เขาไปทำข่าวสอบสวน
อุดร : “ปีนี้กำลังซื้อน่าจะหายไป ๑๕%...เพราะเมื่อรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเหมือนการจุดพลุแล้วดับไป
ไม่เกิดความยั่งยืน...เพราะเมื่อรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเหมือนการจุดพลุแล้วดับไป
ไม่เกิดความยั่งยืน”
เชียงราย : “ตลอดปี ๒๕๖๑ มีสิ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีผ่านตัวเลขของธุรกิจทั่วไปซึ่งติดลบหมด”
เดชะบุญทีมหมูป่าอะคาเดมีมาช่วย
“ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเดินทางไปเยือนอย่างคับคั่ง
ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้า” หลังจากข่าวปฏิบัติการช่วย ๑๑
เยาวชนออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ดังกระหึ่มไปทั่วโลก
สงขลา : “พบว่าการค้าปลีกในปี ๒๕๖๑ ยอดขายได้ลดลง ๓๐%
ปัจจัยสำคัญคือภาคการเกษตร...ราคาตกต่ำ”
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสุมหัวคุยได้ความว่า “แม้จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว
แต่ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้เชิงบวก
เพราะปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาทางโครงสร้าง” แต่ภาครัฐ (โดย
คสช.) “ไม่สามารถควบคุมได้” กลับปล่อยให้ ‘ทุนขนาดใหญ่’ ลุกล้ำพื้นที่ท้องถิ่น
‘แย่งตลาด’ ผู้ประกอบการรายย่อย
แล้วไง ประชากรในละแวกชุมชนธุรกิจ ชักจะให้ใจกับ ‘เอกชนมืออาชีพ’
ทางเศรษฐกิจมากกว่า ‘ทหารการเมือง’ หรือพวกนักธุรกิจอวดเก่งการเมืองที่แอบหลังทหาร ปรากฏการณ์ ‘ฟันชั้ว’ ของฝ่ายการเมืองที่ถูกรัฐประหารก็ปรากฏอย่างเหมาะเจาะ
“เพื่อไทยปล่อยของโค้งสุดท้ายจริงๆ แล้วดันปล่อยพร้อมๆ
กับข่าวงานราชาภิเษกด้วย หลังจากวัดคะแนนความนิยมแล้ว ‘ชัชชาติ’
คือแม่เหล็กของแท้” ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ วิจารณ์กรณีข่าวกะฉ่อนที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะจัดวางอดีตรัฐมนตรีคมนาคมในรัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไว้เป็นแคนดิเดทอันดับ ๑ ในรายชื่อนายกรัฐมนตรี
“แต่เพื่อไทยไปไกลกว่านั้น แทนที่จะเสนอชัชชาติเป็น ‘single package’ กลับเสนอเป็น ‘team package’ คือ เลือกชัชชาติ
ได้สุดารัตน์พ่วงไปด้วย บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น
ไม่ต้องทำให้ฐานเสียงของแต่ละคนต้องกระทบมาก”
นัยว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อดีตรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งในปฐพีคนนี้ “เป็นทั้งภาพลักษณ์เพื่อไทย choice of
compromise เป็นทั้ง able technocrat ที่น่าจะทำให้คนที่ยังตัดสินใจไม่ได้
ก็ตัดสินใจได้ซะที - good strategy”
นักข่าวรุมถามคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จริงไหม จริงไหม ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยแบ่งรับว่า
“เป็นเรื่องที่ในที่ประชุมของพรรค
มีการพูดคุยกันแล้ว โดยจะทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกัน”
ตรงกับที่ชัชชาติเองประกาศว่า
“ในปีใหม่
2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้
ขอให้พวกเราทุกคน มีกำลังใจและกำลังกายที่แข็งแกร่ง พร้อมมาร่วมเป็นทีม Avengers
ที่จะลุย ศึกครั้งสุดท้าย The Final Battle นี้ ไปด้วยกันครับ”
ด้านสื่อสำนัก ‘ข่าวสด’ เสริมว่า “ผลโพลของพรรคเพื่อไทยล่าสุด
หากชู คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกฯ จะได้ ๑๙๐-๒๐๐
ที่นั่ง ขณะที่เป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะได้ ๒๒๐ ที่นั่ง
เลยมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์ในการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้าย”
เท่านั้นแหละภาพของตุลาการถนนลูกรังก็ผุดขึ้นมาบ้าง
ท่ามกลางอาการกระอักของผู้เสียภาษีในยุค คสช. ที่คณะรัฐประหารเอาเงินจากคลังไปทุ่มสร้างรถไฟความเร็วปานกลางจากจีน
โดยจะเริ่มที่ ๓.๕ กิโลเมตร ซ้ำราคาแพงหูฉี่
คำของชัชชาติที่ว่า “เวลามีมูลค่า-เวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด”
จึงสะท้อนก้องคลองผดุงกรุงเกษม (ที่นัยว่ามีเงินจมในนั้นบานตะไท) ขึ้นมาทันที
ในเมื่อปี ๒๕๓๖ มีการอนุมัติโครงการรถไฟรางคู่ทีจะใช้งบประมาณเพียง ๘ หมื่นล้านบาท
“มาวันนี้เราต้องใช้เงิน ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
และถ้าเราไม่ทำวันนี้...ต้องทำในอนาคต อาจจะต้องจ่าย ๒ ล้านล้านแล้วทำได้แค่รถไฟทางคู่ก็ได้”
ดูเหมือนว่า คสช. เก็บเอาคำลงท้ายนั้นมาปฏิบัติทุกกระเบียดนิ้ว
“แค่รถไฟทางคู่” นั่นไง