วันจันทร์, มีนาคม 13, 2560

เปิด “คำถาม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN และ “คำตอบ” รัฐบาลไทย ก่อนเวทีทบทวน ICCPR ที่เจนีวา



การประชุมทบทวนการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ที่เจนีวา ในสมัยประชุมที่ 119 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.60 (ภาพจาก CCPR Centre‏)


เปิด “คำถาม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN และ “คำตอบ” รัฐบาลไทย ก่อนเวทีทบทวน ICCPR ที่เจนีวา

มีนาคม 11, 2017
By TLHR

ก่อนหน้าการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รอบของประเทศไทย ในวันที่ 13-14 มีนาคม นี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รัฐบาลไทยได้จัดส่งรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐ ตามที่ไทยเป็นภาคีกับกติการะหว่างประเทศนี้ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ชุด ICCPR เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 แต่เนื่องจากเป็นการส่งรายงานล่าช้าไปจากรอบกำหนดส่งตั้งแต่ปี 2552 ทำให้เนื้อหาในรายงานของรัฐบาลไทยแทบทั้งหมดเป็นการรายงานสถานการณ์ในประเทศก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อปี 2557 (ดู 10 ข้อควรรู้ก่อนการประชุม ICCPR)

จนเดือนสิงหาคม 2559 ทางคณะกรรมการฯ ได้จัดส่งประเด็นคำถามเพิ่มเติมต่อรัฐบาลไทย โดยมีประเด็นคำถามจำนวน 28 ข้อ ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ตามกติกา ICCPR รวมไปถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่สัมพันธ์กับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งในประเด็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การนำพลเรือนขึ้นพิจารณาในศาลทหาร การใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. สถานการณ์ในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมต่างๆ

จากนั้น รัฐบาลทหารได้จัดส่งคำตอบให้กับคณะกรรมการฯ ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยไล่เรียงตอบในประเด็นคำถามทั้ง 28 ข้อของคณะกรรมการฯ และเอกสารคำถาม-คำตอบเหล่านี้จะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมที่เจนีวาที่กำลังจะมาถึง ต่อไปนี้เป็น “คำถาม” ของคณะกรรมการฯ บางส่วน และ “คำตอบ” ของรัฐบาลไทยโดยสรุป โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์หลังการรัฐประหาร และการใช้อำนาจของคสช.-เจ้าหน้าที่ทหาร

ประเด็นการบังคับใช้ ICCPR โดยศาลและองค์กรรัฐ

คำถามของคณะกรรมการฯ: ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้กติกา ICCPR ในระบบกฎหมายภายในหรือไม่ ศาลได้นำข้อบทของกติการะหว่างประเทศนี้มาใช้ในการตีความกฎหมายภายในประเทศหรือไม่ รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ในกติกา ICCPR ท่ามกลางผู้พิพากษา พนักงานอัยการ และทนายความหรือไม่ อย่างไร

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่ากติกา ICCPR ได้รับการรองรับในกฎหมายหลายฉบับในประเทศไทย ตั้งแต่มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ของประชาชน ทั้งยังคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้

รัฐบาลระบุอีกว่าแม้จะไม่ได้เป็นประเพณีในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมในไทยที่จะบังคับใช้กติการะหว่างประเทศต่างๆ โดยตรงก่อนชั้นศาล แต่โดยพื้นฐาน หลักการทางสิทธิมนุษยชนใน ICCPR ได้รับการสนับสนุนและพิจารณาโดยศาล โดยได้ยกตัวอย่างสองกรณี ได้แก่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4/2556 ที่อ้างอิงถึงข้อ 14 (3) ใน ICCPR มาใช้ตีความ พ.ร.บ.ความร่วมมือในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 กรณีอนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ที่ศาลในต่างประเทศได้ โดยศาลเห็นว่ามาตรานี้ขัดแย้งต่อหลักการต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย และทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้คดีหรือได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยผู้ที่ตนเลือก หรือตรวจสอบพยานหลักฐานที่กล่าวหาตน และในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12/2555 กรณีพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 ซึ่งศาลได้มีการอ้างอิงถึงหลักการที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามข้อ 14 (2) ของ ICCPR

ประเด็นการลอยนวลพ้นผิด


คำถามของคณะกรรมการฯ: กรุณาอธิบายถึงมาตรการที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขการลอยนวลพ้นผิด (impunity) สำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และทำให้เกิดกระบวนการรับผิด โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ส่งผลในทางปฏิบัติให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดกับผู้กระทำซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารด้วยหรือไม่ อย่างไร

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการลอยนวลพ้นผิด หากเจ้าหน้าที่รัฐก่ออาชญากรรม บุคคลนั้นจะต้องมีความรับผิด และถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและตามบทลงโทษทางกฎหมาย ทุกกรณีจะถูกสอบสวนและพิจารณาคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยก

รัฐบาลได้อธิบายกับคณะกรรมการฯ ถึงการทำงานของศาลปกครอง ที่มีอำนาจพิจารณาคดีการใช้อำนาจในทางบริหารของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ และได้ยกกรณีตัวอย่างสองกรณีในเดือนตุลาคม 2559 เป็นตัวอย่างการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ กรณีเจ้าหน้าที่ทหารที่จังหวัดยะลา ซึ่งกระทำผิดโดยการซ้อมพลทหารใหม่จนถึงแก่ความตาย ได้ถูกถอดยศ และให้ออกจากกองทัพ และกรณีศาลปกครองสูงสุดจังหวัดสงขลาได้มีคำวินิจฉัยให้สำนักนายกรัฐมนตรี (ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกอ.รมน.) จ่ายค่าชดเชยให้แก่เหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน ในระหว่างถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในค่ายทหารที่จังหวัดนราธิวาส

ส่วนในกรณีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รัฐบาลระบุว่าไม่ได้ส่งผลให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐโดยทางพฤตินัย ทั้งในคำสั่งและมาตราดังกล่าวระบุเงื่อนไขว่าเจ้าหน้าที่จะได้รับการยกเว้นโทษเมื่อกระทำการโดย “สุจริต” ปราศจากอคติ หรือไม่กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่กระทำการนอกเหนือกฎหมาย ใช้อำนาจเกินขอบเขต แม้ภายใต้คำสั่งของคสช. ก็จะต้องรับผิดชอบสำหรับการกระทำนั้น โดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารทำงานร่วมและสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยังคงรับรองสิทธิที่จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาล หากเกิดความเสียหายจากการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย



ภาพจากสำนักข่าว Asian Correspondent


ประเด็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเลี่ยงพันธกรณีตาม ICCPR

คำถามของคณะกรรมการฯ: กรุณาอธิบายถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในไทย ว่าเป็นไปตามกติกา ICCPR หรือไม่ อย่างไร ทั้งในทางเหตุผลการประกาศ และขอบเขตของการของดเว้นสิทธิ ทั้งหลังยกเลิกกฎอัยการศึก ยังคงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเลี่ยงพันธกรณีในบางข้อสำหรับบางพื้นที่ของไทย เช่นในจังหวัดชายแดนใต้หรือไม่

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าไทยได้แจ้งต่อรัฐภาคีของกติกา ICCPR เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ผ่านเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ เรื่องการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และการของดเว้นสิทธิภายใต้ข้อ 4 (1) ของ ICCPR โดยสิทธิที่ของดเว้นภายใต้ข้อ 12 (1) สิทธิในการโยกย้ายและเลือกถิ่นที่อยู่, ข้อ 14 (5) สิทธิที่จะได้รับการทบทวนการลงโทษจากศาลที่สูงขึ้นไป, ข้อ 19 สิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงออก และ ข้อ 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

ส่วนสิทธิที่ไม่งดเว้น ได้แก่ ตามข้อ 6 สิทธิในชีวิต, ข้อ 7 สิทธิที่จะไม่ถูกซ้อมทรมาน, ข้อ 8 (1) และ (2) สิทธิที่จะไม่ถูกเอาตัวเป็นทาส, ข้อ 11 สิทธิจะไม่ถูกจำคุกเพราะไม่ชำระหนี้, ข้อ 15 หลักการไม่มีความผิด โดยไม่มีกฎหมาย, ข้อ 16 สิทธิที่จะได้ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และข้อ 18 สิทธิในมโนสำนึก ของ ICCPR โดยการแจ้งเตือนดังกล่าวมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557

รัฐบาลระบุว่าเนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน การงดเว้นสิทธิดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันการกระทำที่จะสร้างความแตกแยกและแบ่งขั้วในสังคม แต่รัฐบาลก็ตระหนักว่าคำสั่งบางอย่างจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน จึงพยายามให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะดำเนินการโดย “สุจริต” เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม และจะมีการทบทวนคำสั่งต่างๆ สม่ำเสมอ

รัฐบาลยังมีมาตรการที่อนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพได้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้การงดเว้นสิทธิจะยังมีผล เช่น การยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557, การยกเลิกกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 หรือการประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ในกรณีกฎอัยการศึกเป็นการยกเลิกทั่วประเทศ ยกเว้นในพื้นที่ 31 จังหวัด 185 อำเภอ ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกอยู่ตั้งแต่ก่อนวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 แล้ว

ประเด็นการซ้อมทรมาน

คำถามของคณะกรรมการฯ: กฎหมายไทยกำหนดนิยาม และมาตรการในการเอาผิดทางอาญากับการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือไม่ อย่างไร และในกรณีของน.ส.กริชสุดา คุณะแสน ทางฝ่ายรัฐมีการสอบสวนหรือไม่อย่างไร ต่อข้อร้องเรียนเรื่องการถูกบังคับควบคุมตัว และซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหารในเดือนพฤษภาคม 2557

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลไทยระบุว่าได้มีการร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย ซึ่งมีกำหนดนิยามการซ้อมทรมาน ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งไทยเป็นภาคี และตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ที่ไทยได้ร่วมลงนาม แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

ส่วนในกรณี น.ส.กริชสุดา คุณะแสน รัฐบาลไทยระบุว่าเธอถูกจับกุมในที่พักที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 การจับกุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงโดยการใช้อาวุธสงครามในกรุงเทพฯ ช่วงก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเชื่อมโยงกับการจับกุมผู้ครอบครองอาวุธผิดกฎหมายที่จังหวัดสมุทรปราการก่อนหน้านั้น โดยกองทัพบกยืนยืนว่าระหว่างควบคุมตัว น.ส.กริชสุดาได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ ภายใต้การสอบสวนที่โปร่งใส โดยไม่ได้มีการบังคับขืนใจ และมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงผู้หญิงที่ดูแลเธอ โดยน.ส.กริชสุดาได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยกรณีระเบิดในกรุงเทพฯ และการใช้ความรุนแรงที่จังหวัดตราดได้เพิ่มเติม ต่อมา เธอมีความต้องการจะอยู่ในการควบคุมต่อไป เนื่องจากกังวลต่อความปลอดภัยจากการให้ข้อมูลของเธอ

หลังจากการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เธอได้เดินทางออกนอกประเทศ และในเดือนสิงหาคมได้เผยแพร่คลิปวิดีโอระบุว่าเธอถูกซ้อมทรมาน ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ และถูกควบคุมตัวโดยมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แต่หลังจากการสอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเพิ่มเติม ศาลอาญาได้ออกหมายจับน.ส.กริชสุดาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ในข้อหาครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย และพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะโดยปราศจากเหตุผลอันควร โดยวันที่ 18 สิงหาคม ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเองยังได้เชิญเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลในกรณีน.ส.กริชสุดา โดยกสม.ได้มีคำแนะนำไปทางเจ้าหน้าที่รัฐให้พิจารณาความเหมาะสม และใช้มาตรการเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการซ้อมทรมานในการระหว่างการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล



กรณีน.ส.กริชสุดา คุณะเสน ที่เปิดเผยเรื่องการถูกทรมานและถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ระหว่างการถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 28 วัน


ประเด็นการจับกุม-ควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.


คำถามของคณะกรรมการฯ:
กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งประกาศใช้โดยคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558, 5/2558 และ 13/2559 โดยอธิบายว่ากฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกติกา ICCPR หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในข้อ 7, 9 และ 10 ของกติกา

นอกจากนั้น กรุณาอธิบายว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 กำหนดให้มีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (habeas corpus) ซึ่งเป็นไปตามข้อ 9 ของกติกา ICCPR หรือไม่ ทั้งการอนุญาตให้ควบคุมตัวบุคคลในสถานที่อย่างไม่เป็นทางการในคำสั่งนี้ สอดคล้องกับ ICCPR หรือไม่ อย่างไร และมีหลักประกันให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิจะแจ้งให้สมาชิกในครอบครัวทราบว่าถูกควบคุมตัวและสามารถเข้าถึงทนายความและแพทย์นับแต่ช่วงที่เริ่มมีการจับกุมหรือไม่ รวมทั้งเหตุใดจึงต้องมีการขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารให้เหมือนกับเจ้าพนักงานตำรวจ

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558, 5/2558, 13/2559 ไม่ได้สร้างอำนาจพิเศษให้เจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ยังใช้อำนาจภายใต้กรอบกฎหมายเดิม ทั้งประมวลกฎหมายอาญา และวิธีพิจารณาความอาญา

กรณีของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 มีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามอาชญากรรมที่เป็นระบบ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด หรือการค้าอาวุธ ซึ่งธรรมชาติของอาชญากรรมประเภทนี้มีความซับซ้อน และเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจ ดังนั้นจึงเพิ่มความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ การให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าช่วยดำเนินการจะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมนี้ ทั้งคำสั่งนี้ยังคงให้ใช้กระบวนการยุติธรรมอาญาตามปกติ บุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากคำสั่งนี้ยังคงมีสิทธิต่างๆ ทั้งสิทธิในการร้องต่อศาลขอให้ตรวจสอบการควบคุมตัว สิทธิในการพบญาติและมีผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย อย่างทนายความ หรือสิทธิในการพบแพทย์ เช่นเดียวกับคดีประเภทอื่นๆ

รัฐบาลชี้แจงว่าคำสั่งนี้ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน และป้องกันปัญหาการหลบหนี ไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐาน หรือการคุกคามพยาน โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ทุกที่ ยกเว้นในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ญาติทราบสถานที่คุมตัว และอนุญาตให้พบแพทย์ในกรณีจำเป็น เจ้าหน้าที่ที่ใช้คำสั่งนี้ยังต้องกระทำโดยสุจริต ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และกระทำโดยความจำเป็น บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย



ภาพทนายความขอเข้าพบแกนนำคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ถูกควบคุมตัวจากหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.พ.60 แต่เจ้าหน้าที่ทหารที่มณฑลทหารบกที่ 11 ไม่อนุญาตให้พบ (ภาพจากเพจ หยุดถ่านหินกระบี่)


ประเด็นการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร


คำถามของคณะกรรมการฯ: สถานการณ์ในปัจจุบันเรื่องการพิจารณาคดีต่อพลเรือนในศาลทหารเป็นอย่างไรความเป็นมาและเหตุผลที่ต้องมีการพิจารณาคดีในศาลทหารคืออะไร ทั้งมีความพยายามที่จะถ่ายโอนคดีเหล่านี้ไปยังศาลพลเรือนหรือไม่ อย่างไร

คำตอบของรัฐบาลทหาร:
รัฐบาลชี้แจงว่าการนำเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นไปตามประกาศคสช.ที่ 37/2557, 38/2557, 50/2557 ในคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมร้ายแรง เป็นไปเพื่อที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยให้มีประสิทธิภาพ ตุลาการในศาลทหารจะวินิจฉัยคดีเหล่านี้อย่างระมัดระวัง จากสถิติระบุว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ถึง 31 กรกฎาคม 2559 คดี 93% ในศาลทหาร เกี่ยวพันกับการครอบครองและการใช้อาวุธ

รัฐบาลระบุว่าจำเลยในศาลทหาร ได้รับสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับศาลพลเรือน ศาลทหารต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่รับรองสิทธิการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสิทธิของจำเลยตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยตุลาการศาลทหารต้องเรียนรู้กฎหมายภายในระบบยุติธรรมทหารเป็นเวลาหลายปี ต้องมีชุดความรู้และประสบการณ์ในกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน จำเลยในศาลทหารยังมีสิทธิจะพบทนายความ สิทธิในการประกันตัว และสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา ทั้งในหลายคดีของศาลทหารปัจจุบัน ก็ได้รับความสนใจจากสาธารณะ จากทั้งประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงญาติของจำเลย

รัฐบาลชี้แจงว่าเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ให้ประเภทคดีที่เคยถูกประกาศให้ขึ้นศาลทหาร ซึ่งเหตุเกิดขึ้นหลังวันออกคำสั่งนี้ กลับไปพิจารณาคดีในศาลพลเรือน



ภาพเจ้าหน้าที่ปิดกั้นทางเข้าออกศาลทหารกรุงเทพฯ ที่เปิดทำการในเวลา 23.00 น. กรณีรับฝากขัง 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2558 (ภาพจากข่าวสดออนไลน์)


ประเด็นการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

คำถามของคณะกรรมการฯ: กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในระหว่างกระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม2559 รวมทั้งในช่วงหลังการออกเสียงประชามติ และกรุณาให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่าพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติทำให้เกิดข้อจำกัดต่อกลุ่มและบุคคลในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ให้การคุ้มครองต่อเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งสิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิที่จะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงออก และการมีส่วนร่วมทางสาธารณะ อันเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก่อนการลงประชามติ ได้มีการจัดอาสาสมัครไปตามบ้านเรือน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการจัดสัมมนาสาธารณะต่างๆ เกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยสถาบันวิชาการ และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้

รัฐบาลระบุว่าจุดประสงค์ของพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 เพื่อรับรองการออกเสียงประชามติให้มีความเป็นธรรม โดยมาตรา 7 ของพ.ร.บ.นี้รองรับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริต และสอดคล้องกับกฎหมาย ส่วนตามมาตรา 61 ห้ามเพียงการแสดงความคิดเห็นหรือการกระทำที่บิดเบือน หรือกระตุ้นให้เกิดความแตกแยกที่จะรบกวนการออกเสียงประชามติ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีความเห็นว่ามาตรานี้ ไม่ได้ขัดแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557



กรณีการจับกุมนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าว ด้วยข้อหา “น่าเชื่อว่า” จะแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ค.59


ประเด็นการดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

คำถามของคณะกรรมการฯ: กรุณาให้ข้อมูลถึงจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญา โดยเฉพาะด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และผู้ทำงานภาคประชาสังคม ในระหว่างช่วงเวลาของการทบทวนรายงานนี้ และกรุณาให้ข้อมูลว่ามาตรการตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการดำเนินการที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออก โดยเฉพาะใช้ดำเนินการในกรณีหมิ่นประมาท หรือไม่ อย่างไร

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าไม่ได้มีตัวเลขที่เป็นทางการในคดีหมิ่นประมาท ที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน หรือองค์กรประชาสังคม ทั้งยังมีปัญหาทางเทคนิคถึงนิยามและขอบเขตที่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดแบ่งประเภท โดยเฉพาะว่าใครคือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ยังมีการถกเถียงกันอยู่ท่ามกลางภาคส่วนต่างๆ

ส่วนพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น รัฐบาลอธิบายว่ามุ่งดำเนินการกับอาชญากรรมที่สัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ อย่างการแฮกเกอร์ ฟิชชิ่ง การปลอมแปลง การพนัน หรือสื่อลามก กฎหมายนี้ร่างขึ้นตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมทางไซเบอร์ ไม่ได้มีการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น ส่วนการเพิ่มขึ้นของการดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะมาตรา 14 ของกฎหมาย ถูกดำเนินการเชื่อมโยงกับข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และ 328 ในประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม บางกรณีศาลได้ตีความกฎหมายในทางที่สมควรแก่เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ เช่น ในคดีภูเก็ตหวาน และคดีวัฒนา เมืองสุข เป็นต้น

ประเด็นการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ


คำถามของคณะกรรมการฯ: กรุณาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการควบคุมตัวนักกิจกรรมโดยการอ้างอำนาจตามประกาศคสช.ที่ 7/2557 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา กรุณาให้ความเห็นถึงสถานการณ์ด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา รวมทั้งการสั่งห้ามการจัดกิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าภายใต้ประสบการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในหลายปีที่ผ่านมา การจำกัดสิทธิบางอย่างเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อป้องกันความแตกแยกและความขัดแย้ง รวมทั้งจำเป็นต้องแยกความแตกต่างระหว่างการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ จากการแสดงออกถึงความเกลียดชังด้วยวาระทางการเมือง ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความแตกแยก และส่งเสริมความรุนแรง รัฐบาลเองไม่ได้มีความตั้งใจที่จะจำกัดสิทธิของพลเมืองทั่วๆ ไป ที่กระทำโดยสุจริต โดยเฉพาะต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศ

ในส่วนของมาตรา 116 นั้น รัฐบาลระบุว่าไม่ได้ใช้กับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสงบสันติ ที่กระทำโดยสุจริต แต่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการแสดงออกถึงความเกลียดชัง ที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในสังคม ส่วนประกาศคสช.ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก็เช่นเดียวกัน ที่มีจุดประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคง โดยการเข้มงวดต่อการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

คำถามของคณะกรรมการฯ: ในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกหากมีการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มีความสอดคล้องกับกติกา ICCPR หรือไม่ อย่างไร และกรุณาอธิบายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้มีการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และกรุณายกตัวอย่างกรณีที่มีการสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะและเหตุผลที่ใช้ในการสั่งห้าม นับแต่มีการนำคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มาบังคับใช้

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าการจำกัดสิทธิในการชุมนุมในปัจจุบันเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว เนื่องจากความจำเป็นต้องฟื้นฟูเสถียรภาพ และหลีกเลี่ยงความรุนแรงในสังคม โดยในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกของสังคม รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเข้มงวดในบางส่วน จึงมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ให้เจ้าหน้าที่ระงับยับยั้ง และใช้ดุลยพินิจในการอนุญาตการจัดกิจกรรมสาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างความแตกแยก ความเกลียดชัง และความรุนแรงในสังคม

รัฐบาลยังระบุว่าผู้ที่ประสงค์จะจัดกิจกรรมสาธารณะตามปกติสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่มีจุดประสงค์ในการวางระเบียบและกฎเกณฑ์การจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ในขณะที่ก็รับรองสิทธิในการชุมนุม โดยส่วนมากคำขอจัดการชุมนุมสาธารณะก็จะได้รับการอนุมัติ ยกเว้นบางกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามุ่งขับเคลื่อนและปลุกปั่นทางการเมือง อย่างในกรณีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 เป็นตัวอย่างของการแจ้งจัดการชุมนุมก่อน และได้รับอนุญาต โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดูแลให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ



ภาพเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรมกว่า 30 คน ที่จัดกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลป์กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 (ภาพจากมติชนออนไลน์)


ประเด็นการใช้กฎหมายมาตรา 112


คำถามของคณะกรรมการฯ:
กรุณาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่คณะกรรมการฯได้รับ ที่ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จำนวนการควบคุมตัวในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก และบุคคลเหล่านี้ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน และถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างเป็นระบบ กรุณาอธิบายว่าความผิดตามมาตรา 112 สอดคล้องกับกติกา ICCPR อย่างไร โดยเฉพาะในข้อ 9 และ 19

คำตอบของรัฐบาลทหาร: รัฐบาลระบุว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพอย่างลึกซึ้งในประเทศไทย กฎหมายมาตรา 112 เป็นการปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คล้ายกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ไม่ควรพิจารณาว่ากฎหมายนี้เป็นการเหนี่ยวรั้งสิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น หรือการใช้เสรีภาพทางวิชาการ

รัฐบาลชี้แจงด้วยว่าในส่วนการเพิ่มขึ้นของการดำเนินคดีข้อหานี้หลังการรัฐประหาร 2557 นั้นดำเนินมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ปัจจุบันได้รับการติดตามและรายงานในสื่อมากขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากธรรมชาติของความขัดแย้งทางการเมืองในราชอาณาจักรในหลายปีนี้ ซึ่งผู้เล่นทางการเมืองมีแนวโน้มจะใช้ประโยชน์จากสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ตนได้เปรียบทางการเมือง การกระทำบางอย่างนั้นมีจุดประสงค์ทำให้เกิดความเกลียดชัง และสร้างความไม่ลงรอยกันในสังคม โดยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ในส่วนการดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 นี้ รัฐบาลระบุว่าจำเลยมีสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคดีอาญาอื่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิยื่นขอประกันตัว และได้รับการพิจารณาโดยศาล ขณะที่ศาลก็อาจพิจารณาให้มีการคุมขังก่อนการพิจารณาคดีได้ โดยพิจารณาความร้ายแรงของคดี และความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน



นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10


อ่านเพิ่มเติม

10 ข้อควรรู้ ก่อนการประชุมทบทวนการบังคับใช้ ICCPR ของไทย ที่นครเจนีวา

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

คู่มือทำความเข้าใจเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ