วันอาทิตย์, มีนาคม 12, 2560

แห่กันไปเจนีวา... ไปแก้ต่างในเวทีโลก เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้คณะรัฐประหาร วันที่ ๑๓-๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ชมสดได้ทาง http://webtv.un.org/”





#ประเทศไทย จะถูกทบทวนสถานการณ์สิทธิพลเมืองและการเมือง โดยกลไกพันธกรณีสหประชาชาติ วันที่ ๑๓-๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ชมสดได้ทาง http://webtv.un.org/” (UN Human Rights Asia‏Verified account @OHCHRAsia )





งานนี้สำคัญมาก เหมือนถูกคณะลูกขุนหลวง (Grand Jury) ไต่สวนพฤติกรรมที่มีคนร้องเรียนว่ากระทำความผิด ผู้ต้องหามี ๖ ประเทศด้วยกัน ไทยคือหนึ่งในนั้น

รัฐบาล คสช. ดูท่าจะให้ความสำคัญมากเช่นกัน จึงได้ส่งคณะตัวแทนไปช่วยกันแก้ตัวถึง ๔๖ คน มากกว่าครั้งก่อนเมื่อสองปีที่แล้ว และมากกว่าใครๆ ใน ๖ ประเทศ เซอร์เบียเป็นรอง ๓๓ คน อิตาลีที่สาม ๒๕ คน

เลยโดน Somsak Jeamteerasakul แซวเสียไม่เป็นท่าว่า “เพื่อการ ‘โชว์ออฟ’ ล้วนๆ (หาโอกาสเที่ยวฟรีด้วยน่ะแหละ)” สศจ.แจงเรื่องอีรุ่ยฉุยแฉก

“ค่าโรงแรม-ค่าครองชีพในเจนีวา สวิส แพงมากกก ภาษีคนไทยทั้งนั้นที่บรรดาท่าน ‘ผู้แทน’ ไปถลุงกันน่ะ และ อ้อ การประชุมแบบนี้ อย่างมากที่สุดผู้แทนแต่ละประเทศที่จะไปนั่งประชุมและได้พูดจริงๆ แค่ไม่เกิน ๕-๖ คนหรอกครับ...”

เขาให้ลายแทงของการประชุมที่เจนีวาครั้งนี้ “ซึ่งเรียกว่า CCPR - International Covenant on Civil and Political Rights 119 Session (06 Mar 2017 - 29 Mar 2017) จัดโดย Human Rights Committee ดูได้ที่นี่ https://goo.gl/50yzNx

ทีมที่ยกขบวนกันไปตัวหลักๆ ทั้งนั้น มี ชาญเชาว์ ไชยนุกูล ปลัดฯ ยุติธรรมเป็นหัวหน้า ตามด้วย เสก วรรณะเมธี ทูตไทยประจำยูเอ็น กับรองฯ ศศิวัฒน์ วงศ์สินสวัสดิ์ พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ แห่งกองบัญชาการส่วนหน้า ภาคใต้ พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา จาก สตช. พล.ต. กฤษณะ บวรรัตนรักษ์ จากกรมพระธรรมนูญทหาร นายประยูร รัตนเสนีย์ จากมหาดไทย เป็นต้น

แห่กันไปถึงเจนีวา แต่ตอบปัญหาง่ายๆ ในบ้านยังไม่ได้ “ทางการไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธะกรณีแห่งกฎหมาย (ที่มีต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมหาชนและสิทธิทางการเมือง) อย่างเต็มที่” รายงานของ Fortify Rights แถลงเมื่อวันพุธที่แล้ว

“สิทธิมนุษยชนยังเป็นเรื่องที่กำลังดำเนินการคืบหน้าไปในประเทศไทย” เอมี่ สมิธ ผู้อำนวยการบริหารกล่าว “ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจักต้องเยียวยาการละเมิดที่ผ่านมา และปักหลักสิทธิมนุษยชนลงให้มั่นคงในประเทศนี้”

โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้ที่รณรงค์ปกป้องสิทธิ (Rights Defenders) “ประเทศไทยควรที่จะปกป้องและยึดมั่นอย่างสำคัญที่สุด” เอมี่กล่าวอีกตอนหนึ่ง “ไม่ใช่ข่มเหงกลั่นแกล้ง และจับขังคุก”

(https://asiancorrespondent.com/…/thailand-report-human-ri…/…)

นี่แหละ ถึงแม้แถลงการณ์จะไม่อ้างถึง แต่ทุกคนที่มีจิตสำนึกในสิทธิส่วนบุคคลผู้เป็นพลเมือง ย่อมอดนึกถึงการละเมิดโดยกระบวนการยุติธรรมเสียเองไม่ได้ กรณี ‘ขังยาว’ ปฏิเสธให้ประกันครั้งแล้วครั้งเล่าต่อ ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยศาลขอนแก่น

“เป็นที่ชัดเจนว่า หน่วยงานภาครัฐมีความตั้งใจยุติการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีป้ายสีว่ากระทำขัดต่อกฎหมายแล้วกักขังเขาไว้ในเรือนจำ”





เป็นถ้อยความที่ Jon Ungphakorn เขียนถึงไผ่ ในโอกาสที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลนักสู้เพื่อสิทธิดีเด่นประจำปีนี้ ครบ ๑๓ ปีของการที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็น ‘บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย’

การนี้ นางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของไผ่ไปรับรางวัลแทนลูกชาย ร่วมกับนักสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย กลุ่มแรงงานพม่า ๑๔ คน จังหวัดลพบุรี และนางสาวภาวินี ชุมศรี ทนายสิทธิมนุษยชน

(http://news.voicetv.co.th/thailand/469635.html)

ไม่ว่า คสช. จะพยายามส่งลิ่วล้อโขยงใหญ่ไปแก้ต่างในเวทีโลก เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้คณะรัฐประหาร เพียงใดก็ตาม





การกระทำของ คสช. และลิ่วล้อในกลไกราชการตุลาการ อันละเมิดสิทธิของพลเมืองไม่หยุดหย่อน ย่อมเป็นหลักฐานประจาน คสช. ต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าอนาคตจะใกล้หรือไกล

ในวันนี้ (๑๒ มีนา) เอง มีคำสั่งศาลอาญา รัชดา ออกหมายจับนายวีระ สมความคิดกล่าวหาความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ จากการที่เขาสำรวจความเห็นคนที่ติดตามหน้าเฟชบุ๊คของเขา เสร็จแล้วแจ้งว่า คนที่ตอบคำถาม ๘ ข้อ เรื่องความเชื่อมั่นรัฐบาล คสช. ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“จึงอาจทำให้ผู้ที่เห็นข้อความเหล่านั้นหลงเชื่อได้ จนสร้างความสับสน เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้”

(http://www.matichon.co.th/news/492458)

หลังจากที่ชุดสืบสวนลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่บ้านพักของนายวีระ แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร แต่ไม่พบตัว แถมยังมีโพสต์เฟชบุ๊คของนายวีระตอนใหม่ออกมาอีกว่า

“นี่คืออีกหลักฐานที่เชื่อว่าทหารในยุครัฐบาล คสช. กระทำการทุจริตในการขุดลอกแก้มลิง ของกองพลทหารปืนใหญ่ ต.ท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี”

นายวีระเล่าละเอียดถึงการที่มีบริษัทเอกชน (ของนายแป๊ะ) เข้าไปทำการขุดอ่างเก็บน้ำด้านหลังกองพลฯ ทั้งที่เป็นข่าวว่างานนี้ทหารผ่านศึกเป็นผู้ได้รับสัมปทาน

“ขณะนี้ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงสั่งให้หยุดการขุดอ่างเก็บน้ำไว้ก่อน (อ่างแรกขุดไปแล้วกว่า ๘๐% อ่างที่สองขุดไปแล้วกว่า ๓๐%)

จึงมีความพยายามจากกองพลทหารปืนใหญ่ เพื่อให้มีการทำเรื่องขออนุมัติย้อนหลังจากกองทัพบก
(อยากรู้ว่าใครจะกล้าเซ็นให้ เพราะนั่นคือการเสี่ยงติดคุกสูงมาก)

กรณีนี้ถ้าผู้บัญชาการทหารบก ละเว้นไม่ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ
ตัว ผบ.ทบ. เองนั่นแหละจะติดคุกเสียเอง”

(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1242242912540225&id=181257625305431)

ล่าสุดมีโพสต์ของนายวีระพูดถึงข่าว ‘ศาลออกหมายจับ’ ว่า “ตำรวจไม่ต้องมาตามจับผมให้เสียเวลา
ผมจะไปพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท.ในวันพุธที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๐๐ น....

บอกตรงๆ อยากสู้คดีนี้มาก แต่ที่กลัวคือ กลัวจะยังไม่ได้ทันได้สู้คดี ถ้ามีการมาควบคุมตัวในวันนี้กลัวมีการใช้อำนาจพิเศษเอาไปขังไว้ก่อน ๗ วัน ในระหว่างนั้นผมอาจติดเชื้อในกระแสเลือดเสียก่อน...

พนักงานสอบสวนก็เตรียมตอบคำถามผมไว้ให้ดีด้วยนะ ทำไมคดีนี้ไม่มีการออกหมายเรียกตามกฏหมายเสียก่อน มีทหารชื่ออะไรมาบังคับให้พนักงานสอบสวนรีบออกหมายจับ โดยอ้างว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง”

เรื่องอย่างนี้นี่แหละที่องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเขารับรู้หมดแล้ว อาจไม่ได้มีการเจาะจงอ้างถึงในเวทีสากลเพราะระเบียบพิธีการ หรือ protocols กำกับอยู่

และก็ไม่ได้หมายความว่าการส่งทีมชุดใหญ่ไปเที่ยวสวิส ฟังลิ่วล้อ คสช.แก้ต่าง สร้างวาทกรรมนักสิทธิมนุษยชน บลา บลา จะทำให้ชนักติดหลังหลุดได้นั้นอย่าหวัง

คงไม่นานเกินไปที่ข้อมูลเหล่านั้นจะได้ถูกใช้เป็นหลักฐานปรักปรำ ในระบบยุติธรรมสากล เช่นศาลอาญาระหว่างประเทศได้