วันเสาร์, มีนาคม 18, 2560

เพราะไร้ช่องทางกฎหมาย เลยต้องพึ่งอภินิหารทางกฎหมายใช่หรือไม่???





เก็บภาษี “หุ้นชิน” อภินิหารกฎหมายหรืออคติ!!??


BY SARA BAD ON MARCH 17, 2017
ispace thailand

กรณีการหาทางเก็บภาษีจากการซื้อขาย “หุ้นชิน” ที่มีการประเมินมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านบาท ยังคงเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้นำรัฐบาลอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาระบุว่ามีการสั่งการให้ดำเนินการหาทุกช่องทางเพื่อทำการประเมินและเรียกเก็บภาษีจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ว่ากรมสรรพากรและปลัดกระทรวงการคลังจะออกมาระบุไปก่อนหน้านี้แล้วว่ากรณี “หุ้นชิน” ไม่สามารถเก็บภาษีได้





โดยเฉพาะนายวิษณุ เครืองาม ถึงกับออกปากเองว่าการเก็บภาษีนี้ไม่น่าจะทำได้ ต้องอาศัยอภินิหารทางกฎหมายเพราะเจอช่องทางที่สมควรจะเสี่ยงดูในเรื่องที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงคำว่า “อภินิหาร” เนื่องจากหากการจะเรียกเก็บภาษีของบุคคลคนหนึ่ง ถึงกับต้องใช้การหาช่องทางที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ภายใต้คำว่า “อภินิหาร” ซึ่งเป็นคำถามว่านี่คือการใช้กฎหมายภายใต้บรรทัดฐานเดียวกันหรือไม่





หลังจากมีการแสดงท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลคสช. ว่าต้องการจะเดินหน้าประเมินและเรียกเก็บภาษี “หุ้นชิน” ให้ได้ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ออกมาตอบโต้ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าว หามองว่า “ผิด” และจะเรียกเก็บภาษี สามารถกระทำได้ใน 2 กรณี ทางใดทางหนึ่งเท่านั้น





กรณีแรก ถ้าการที่คุณพ่อขายหุ้นให้กับผมเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ศาลพิจารณาว่าเป็นการซื้อ-ขายจริง เท่ากับว่าหุ้นนั้นตกเป็นของตนแล้ว ตนซื้อมาที่ราคาต่ำ ขายไปราคาสูงกว่า เมื่อตนมีกำไรจากการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ หากจะฟ้องร้องเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นในครั้งนั้น ก็น่าจะพอรับฟังได้ เพราะศาลได้ชี้ว่ามีการซื้อ-ขายกันจริง แต่หากการพิจารณาออกมาในแนวทางนี้ ก็จะถือว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของตน ไม่ใช่ของพ่อ กรณีดังกล่าวก็จะยึดทรัพย์คุณพ่อ 46,000 ล้านไม่ได้ นั่นคือกรณีที่ 1 ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะศาลได้ตัดสินยึดทรัพย์คุณพ่อไปเรียบร้อยแล้ว





กรณีที่ 2 คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่ศาลพิจารณาว่าคุณพ่อไม่ได้ขายหุ้นนั้นให้กับผม และตีความว่าหุ้นดังกล่าวนั้น ยังคงเป็นของคุณพ่ออยู่ ศาลจึงได้ตัดสินให้ยึดเงินจำนวน 46,000 ล้านไป ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ในแนวทางการวินิจฉัยนั้น สรุปว่ามิได้มีการซื้อขาย ที่เป็นมูลเหตุให้ต้องเสียภาษีเลย ทรัพย์สินก็ถูกยึดไป ตามจำนวนที่ศาลได้พิจารณาว่าเหมาะสมในการ “เอาผิด” แล้ว





“ได้มีคำตัดสินไปในแนวทางที่ไม่มีการซื้อ-ขาย ไม่มีการเรียกภาษีกันแล้ว และมีการ “เอาผิด” ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการยึดทรัพย์ ไปเป็นจำนวนมหาศาลถึง 46,000 ล้านบาท อยู่ๆ มาวันนี้รัฐบาลยังต้องการเอาอะไรจากครอบครัวตนอีก” นายพานทองแท้กล่าว

เช่นเดียวกับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นอภินิหารกฎหมายที่รัฐบาลจะใช้ดำเนินคดีเรียกเก็บภาษี “หุ้นชิน” ว่าอภินิหารไม่มีหรอก มีแต่อคติ พอไม่ได้แบบหนึ่งก็ไปเอาอีกแบบหนึ่ง





“การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่ายาก มันก็แน่นอนสิว่าต้องยากเพราะคุณไม่ได้ใช้หลักที่ถูกต้องในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มันจบด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาไปหมดแล้ว ทั้งยังมีการยึดทรัพย์แล้ว ต้นมองว่าตอนนี้กำลังจะออกนอกโลกไปใช้กฎหมายดาวอังคารแล้ว” นายเรืองไกรระบุ

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็ได้พูดถึงประเด็นการเก็บภาษี “หุ้นชิน” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐไม่ได้เรียกเก็บภาษีจากรายได้การขายหุ้นในตลาดฯเมื่อปี 2549 เพราะทุกคนได้รับการยกเว้นภาระภาษีเท่าเทียมกันหมด แต่เรียกเก็บจากรายได้ที่เป็นส่วนต่างของหุ้นจำนวนมหาศาลที่ได้มาก่อนจากการซื้อนอกตลาดฯแบบไม่น่าจะเป็นไปได้ในราคาหุ้นละ 1 บาทแล้วเอาไปขายในตลาดฯในราคาหุ้นละ 49 กว่าบาทต่างหาก และหุ้นมูลเหตุจำนวนมหาศาลนั้นไม่ได้เป็นของลูกชายและลูกสาว แต่เป็นของพ่อ





เมื่ออ่านข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายจะเห็นได้ว่า หากรัฐจะเก็บภาษีจาก “หุ้นชิน” เพราะอ้างว่าเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นจำนวนนั้นเป็นของ ดร.ทักษิณ ไม่ใช่ของบุตร ตามที่นายคำนูณกล่าว ก็เท่ากับว่าย้อนแย้งกับคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินยึดทรัพย์ ดร.ทักษิณ ไป 46,000 ล้านบาท เพราะเมื่อศาลฎีกาตัดสินยึดทรัพย์ พร้อมระบุว่าทรัพย์สินที่ขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นของ ดร.ทักษิณ ก็เท่ากับว่า การซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ที่นายคำนูณอ้างนั้นไม่มีจริง จึงไม่สามารถเก็บภาษีได้

น่าสนใจว่ากรณีการเก็บภาษี “หุ้นชิน” นั้นจะจบลงอย่างไร เพราะวันนี้รัฐบาลก็ชัดเจนแล้วว่าต้องใช้อภินิหารทางกฎหมาย ซึ่งอภินิหารที่ว่าจะอยู่บนบรรทัดฐานทางกฎหมายที่เท่าเทียมกันหรือไม่ หรือจะเป็นการใช้กฎหมายอย่างมีอคติอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกต

อย่าลืมว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายไม่ได้มีแค่ ดร.ทักษิณ เท่านั้น แต่รัฐบาลและประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ในด้านมาตรฐานทางกฎหมาย และความน่าเชื่อถือในการลงทุน!!!

Reference

http://www.matichon.co.th/news/497778

http://www.matichon.co.th/news/497637

http://www.matichon.co.th/news/497350

https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_28177

ooo