วันพุธ, มีนาคม 08, 2560

วันสตรีสากล (1) : นักเรียนทุนอานันท์หญิง วิพากษ์การศึกษาไทย - BBC Thai



CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/GETTY IMAGES

วันสตรีสากล (1) : นักเรียนทุนอานันท์หญิง วิพากษ์การศึกษาไทย

โดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
7 มีนาคม 2017


ในฐานะนักเรียนทุนอานันท์คนแรกที่ไปศึกษาต่อด้านการศึกษายังต่างประเทศ ทำให้ "ดร.รัตนา แซ่เล้า" มองเห็นปัญหาในระบบการศึกษาไทย ที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ การแบ่งแยกชนชั้น และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย

เป็นความตั้งใจของ ดร. รัตนา แซ่เล้า เมื่อเธอได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่าหลังจากเรียนจบจากต่างประเทศ จะกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ

แต่ความฝันของเธอเกือบล่มสลายเมื่อเธอสมัครงานเป็นอาจารย์ในสามวิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ ในปี 2557 ทันทีที่จบปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วพบกับสภาพความเป็นจริงในสังคมไทย ที่เต็มไปด้วย "ระบบอุปถัมภ์"



RATTANA LAO


มหาวิทยาลัยแห่งแรกส่งอีเมล์ตอบกลับมาว่า จะติดต่อกลับหากคุณสมบัติของเธอดีพอ มหาวิทยาลัยแห่งที่สองปฏิเสธเธอโดยอ้างว่ามีบุคคลในใจแล้ว และแห่งที่สามบอกกับเธอว่า จะต้องเข้าหาบุคคลสองคนในคณะ

แม้ว่าจะมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้คำแนะนำว่า หากต้องการจะทำงานที่นั่น ให้ติดต่อตนโดยตรง รัตนาปฏิเสธที่จะทำงานที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้น และเลือกที่จะสมัครงานที่มหาวิทยาลัยสามแห่งที่เธอไม่มี "เส้นสาย" ใดๆ เลย

ที่สุด ดร.รัตนาก็ปฏิเสธที่จะทำงานที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้น และตัดสินใจสมัครงานที่มหาวิทยาลัยซึ่งเธอไม่มี "เส้นสาย" ใดๆ เลย

"ในระบบอุปถัมป์แบบเมืองไทย ถ้าคุณไม่รู้จักใครเลยในมหาวิทยาลัย คุณก็สมัครงานยาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นการแข่งขันที่แท้จริง" เธอกล่าว



JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI


ปัจจุบัน ด้วยวัยเพียง 33 ปี ดร.รัตนาเป็นหัวหน้าโครงการไทยศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นหนึ่งใน "นักการศึกษา" เพียงไม่กี่คนของประเทศที่กล้าวิจารณ์ระบบการศึกษาไทยในแง่มุมที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง จนทุกวันนี้เธอยอมรับว่า มีบางครั้งที่ถูกมองว่า "แรง" จากการที่เป็นคนตรงไปตรงมาเกินไป

"การเป็นผู้หญิงตรงๆ มันกลายเป็นผู้หญิงแรง ทั้งๆ ที่ผู้ชายที่พูดตรงไปตรงมากลายเป็นคนฉะฉาน ชัดเจน" ดร.รัตนากล่าว

"นี่คือความแตกต่างทางเพศที่มันแกล้งกันในตัวระบบ ผู้ชายไปไหนมาไหนสามารถเรียกตัวเองว่าผม แต่สำหรับผู้หญิงเรียกตัวเองว่าดิฉันก็ดูห่างหัน เรียกว่าหนูก็ดูกดตัวเองมาก อายุขนาดนี้ เป็นครูบาอาจารย์แล้ว จะมาหนูกับใครอีก ทุกวันนี้อยู่ข้างนอกไม่รู้จะเรียกตัวเองว่าอะไร"



CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/GETTY IMAGES

การศึกษา: คำตอบสำหรับทุกสิ่ง

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากโครงการอังกฤษ-อเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2549 ดร.รัตนาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลในแผนกธรรมศาสตร์

โดยเธอเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล "คนแรก" ที่ไปศึกษาเรื่องการศึกษา

ดร.รัตนาจบปริญญาโทสาขาการพัฒนาที่ London School of Economics and Political Science และการวิจัยการศึกษาและสังคมที่ Insititute of Education ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านการศึกษาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

สาเหตุที่เลือกเรียนเกี่ยวกับการศึกษา มาจากการที่เธอเป็นผู้ก่อตั้งชมรมโต้วาทีภาษาอังกฤษในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งทักษะการพูดและโต้วาทีทำให้เธอได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีเสวนาต่างๆ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ทำให้ได้เจอนักการเมืองมากหน้าหลายตา

"ทุกเวทีที่เราเข้าไป เวลาเจอใครที่เขาคุยถึงปัญหา ทุกคนจะพูดกลับมาที่ประโยคเดิมว่า ต้นเหตุของปัญหาคือการศึกษา แต่ทุกคนไม่ขยายความให้เราเห็นชัดว่ามันต่างกันอย่างไร และการศึกษามีอิทธิพลอย่างไร" ดร.รัตนากล่าว



JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI


การวางตัวที่ลำบาก

จากนักโต้วาทีที่ต้องพูดแข่งกับเวลา และการที่เป็นคนพูดง่ายๆ ตรงๆ ดร.รัตนาประสบกับปัญหาเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นในสังคมไทย โดยเฉพาะการที่เธอถนัดภาษาอังกฤษมากกว่า ทำให้บางคนคิดว่าเธอ "ดัดจริต" ที่ใช้ภาษาไทยไม่ได้

"บางทีเรายกมือขึ้นในที่ประชุมเพื่อพูดแสดงความคิดเห็น เราไม่ได้ขัดแย้งหรือต่อต้านกับทั้งหมด เราพูดจาภาษาดอกไม้ไม่เป็น เราพูดอ้อมๆ ไม่เป็น ทำให้มีปัญหาในชีวิตบ่อยมาก เพราะมันทำให้เราดูเหมือนเป็นคนแข็งกระด้างในสังคมไทย" เธอกล่าว

ดร.รัตนากล่าวว่า ข้อดีประการหนึ่งของภาษาอังกฤษ คือ เป็นภาษาที่ไม่มีชนชั้นในแง่ของการใช้สรรพนาม คือ มีแค่ "ไอ" กับ "ยู" ต่างจากภาษาไทยที่มีสรรพนามหลากหลาย

"พอกลับมาทำงานแล้วมันมีท่าน แล้วเราต้องเป็นหนู แล้วเราไม่อยากเป็นหนู เรียกตัวเองว่าดิฉันก็ดูดัดจริตเกิน" เธอกล่าว



PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/GETTY IMAGES


การศึกษาและการเมือง

ดร.รัตนามองว่า การศึกษาเป็นทั้งต้นเหตุและปลายเหตุของปัญหาปัจจุบัน และถูกนำมาโยงกับการเมือง โดยมีให้เห็นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีแนวคิดว่าคนไทยควรจะได้รับการศึกษาที่สูงกว่านี้ก่อนที่จะมีประชาธิปไตย

"การศึกษาถูกใช้เป็นทั้งข้ออ้างและกุญแจสำคัญในการเมือง เพราะชนชั้นนำไทยบอกว่าเมืองไทยยังไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตย เพราะคนไทยไม่มีการศึกษา" รัตนากล่าว "ซึ่งถ้าเราไปดูจริงๆ แล้วคนในประเทศไทยมีการศึกษามากขึ้นในรอบร้อยปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดในทุกระดับ"

สถิติทางราชการของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่ามีการขยายตัวทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ประมาณจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 7.2 ปี ในปี 2545 เป็น 8.0 ปี ในปี 2553 และเพิ่มขึ้นทั้งชายและหญิง

"เพราะฉะนั้น เราจะพูดว่าคนไทยไม่มีการศึกษา แล้วไม่พร้อมกับประชาธิปไตย เหมือนเป็นข้ออ้างลมๆ แล้งๆ" ดร.รัตนากล่าว "เราต้องถามว่าทำไมการศึกษาแบบที่เรามีไม่เตรียมคนให้พร้อมกับประชาธิปไตยต่างหาก"



TUWAEDANIYA MERINGING/AFP/GETTY IMAGES


กดความคิดและจินตนาการ

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศและผลิตคนเข้ารับราชการ ดร.รัตนามองว่า การศึกษาไทยทุกวันนี้ก็ยังเป็นระบบที่ค่อนข้างมีชนชั้นที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นในห้องเรียน ที่ครูมีอำนาจมากกว่านักเรียนตลอดเวลา และคำตอบทุกอย่างมีคำตอบเดียว รวมถึงไม่สร้างให้นักเรียนค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเองในห้องเรียน

"ถ้าเราดูพัฒนาการทางการเมือง การศึกษาไทยเราเริ่มต้นในช่วง absolutism ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ต้องการสร้างความสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศ ประเทศไทยทุกวันนี้การศึกษาก็ยังเป็นระบบค่อนข้างสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ที่ทุกอย่างมีคำตอบเดียว เด็กเก่งที่สุดถึงเป็นคนที่โรงเรียนจำได้ ความหลากหลายทางสังคมต้องเริ่มจากห้องเรียน แต่ถ้าห้องเรียนเรายังยอมรับเด็กกระโปรงยาว ผมตรงอยู่ มันเหมือนหลอกตัวเองว่าอยู่ในห้องเรียนทั้ง 20 ปีของชีวิตเป็นคนๆ หนึ่ง ออกมาเป็นอีกคนหนึ่ง ทุกวันนี้โรงเรียนกับความเป็นจริงมันขัดแย้งกัน" เธอกล่าว

จากความอึดอัดกับระบบการศึกษาไทย ดร.รัตนาและเพื่อนๆ ได้รวมกลุ่มกันตั้ง Unite Thailand เมื่อหกปีที่แล้ว เพื่อทำกิจกรรมออกค่ายเยาวชน โดยแจกผ้าขาวและสีเพื่อใช้ในการวาดรูป ซึ่งเธอและเพื่อนๆ นำเงินที่ได้จากการขายเสื้อผ้ามือสองมาเป็นทุนเริ่มแรก

"ผู้ใหญ่ไทยมักจะมองว่าเด็กโง่ เรารู้สึกว่าเป็นการดูถูกและเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นมนุษย์ของเด็กมาก เราจึงอยากส่งข้อความว่า เขาเป็นเด็ก และเขาเป็นคน เขาต้องการพื้นที่ในการเติบโต" ดร.รัตนากล่าว



RATTANA LAO


คำบรรยายภาพนอกจากงานสอนแล้ว ดร.รัตนา แซ่เล้า ยังทำงานวิจัยให้ Human Capital & Education for Asian Development ที่ประเทศสิงคโปร์เกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยในสี่ประเทศ
อิสรภาพกับความคิด

ในช่วงสามปีที่ ดร.รัตนากลับมาอยู่เมืองไทย เธอได้ตีพิมพ์หนังสือ A Critical Study of Thailand's Higher Education Reforms: The Culture of Borrowing โดยสำนักพิมพ์ Routledge ของประเทศอังกฤษในปี 2558 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอิทธิพลของต่างชาติในการศึกษาไทย

ปัจจุบัน นอกจากงานสอนแล้ว เธอยังทำงานวิจัยให้ Human Capital & Education for Asian Development ที่ประเทศสิงคโปร์เกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยในสี่ประเทศ รวมถึงกำลังสร้างนิทรรศการและสารคดีการศึกษาถวายเป็นพระราชกุศลให้กับรัชกาลที่ 9 ชื่อ พระมหากษัตริย์นักการศึกษา

แม้ ดร.รัตนาจะยอมรับว่าเธอมีอิสระในระดับหนึ่งในฐานะที่เป็นนักวิชาการ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการพึ่งพิงอาศัยคนที่มีอำนาจมากกว่าเพื่อความอยู่รอด

"การเติบโตในหน้าที่การงานขึ้นอยู่กับว่าผู้บังคับบัญชาชอบคุณมากน้อยแค่ไหน ในขณะเดียวกัน เวลาจะขอทุนวิจัยก็ต้องใช้พรรคพวกในการทำ" เธอกล่าว "ถ้าเราจะยืนหยัดในอิสรภาพกับความคิด เราอาจจะไม่เติบโตมากนัก แต่ถ้าเราเป็นคนสอพลอเก่ง สร้างเน็ตเวิร์คเก่ง หรือถ้าเราเป็นคนที่มีพวกมาก และยอมที่จะไปตามกระแสหลัก เราอาจจะได้โอกาสมากกว่านี้"