ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 โดยมีประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และใน 20 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” โดยประชากรทุก 5 คน จะมี 1 เป็นผู้สูงอายุ ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเกิดของประเทศเรายังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยจากข้อมูลของสภาพัฒน์ ในปี 2553 มีสัดส่วนประชากรวัยทำงาน 10 คน ต่อประชากรวัยพึ่งพิงเพียง 5 คน แต่ในปี 2583 หรือในอีก 25 ปี ประชากรวัยทำงาน 10 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุและเด็กประมาณ 8 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 60%
แม้ว่าในขณะนี้จะเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่รัฐบาล รวมถึงสังคม คงไม่อาจจะละเลยที่จะช่วยกันเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาพของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตระยะยาว ซึ่งนอกจากจะต้องส่งเสริมให้คนมีบุตร โดยควรต้องเตรียมการในแง่มาตรการการจูงใจทั้งทางด้านภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ให้กับผู้มีบุตร หรือลดหย่อนภาษีนิติบุคคลให้กับเอกชนที่สนับสนุนการสร้างสิ่งจูงใจให้พ่อแม่สมัยใหม่มีลูกกันมากขึ้น โดยไม่ต้องละทิ้งหน้าที่การงานเพื่อมีบุตร เช่น ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก หรือสิทธิประโยชน์ในการลาคลอด เป็นต้น
และในเรื่องผู้สูงอายุ นอกจากการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ และการส่งเสริมการออมแล้ว ยังอาจจะต้องพิจารณาหามาตรการที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยติดเตียงที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยในหลายประเทศ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ก็ใช้กลไกของประชาชน ในการจัดศูนย์และให้การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในสภาพที่คุ้นเคยแล้ว ยังสามารถลดความแออัดของโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ อาจพิจารณาสนับสนุนให้ทั้งเอกชน และราชการ ออกแบบ หรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้พิการ สามารถดูแลตัวเองทั้งในการเดินทางสัญจรไปมาและการทำกิจกรรมนอกบ้านได้สะดวกมากขึ้น
การวางทิศทางในการดูแลสังคม โดยเฉพาะประชากรเป็นเรื่องระยะยาว แต่ก็เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ค่ะ เพราะทั้งการสร้างคนที่มีคุณภาพ และสภาพสังคมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุล้วนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมองไกล เพื่อไม่ให้ปัญหาเร่งด่วนระยะสั้น มาบดบังการเตรียมพร้อมระยะยาว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยค่ะ