ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558
ผมคิดว่าก่อนจะมีการวิเคราะห์รายละเอียดใดๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสัญญาณอย่างชัดเจนว่าต้องไม่ผ่าน คำถามจึงน่าจะเป็นว่าทำไม คสช.จึงไม่อยากให้ผ่าน ผมไม่เชื่อทฤษฎีสืบทอดอำนาจ เพราะหากรัฐธรรมนูญผ่าน อำนาจก็จะสืบทอดได้อย่างเป็นระบบมากกว่าปัจจุบันเสียอีก ทั้งยังอาจสืบไปได้อีกนานเหมือนฝันที่ไม่มีวันตื่น
หาก สปช.ให้ความเห็นชอบร่าง รธน. ขั้นตอนต่อไปคือนำไปสู่การลงประชามติ ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทั้งผู้นำ คสช., เนติบริกร และองค์กรอิสระ ต่างพากันออกมาห้ามปรามมิให้แสดงความเห็นต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ แต่คำขู่เหล่านั้นไม่อาจหยุดยั้งนักการเมือง, นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปในการแสดงความเห็นคัดค้านต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนไม่ได้ยินคำขู่เหล่านั้น ชั่งน้ำหนักระหว่างทำตามคำขู่ หรือทำเฉย สถานการณ์ทางการเมืองบอก คสช.ว่าทำเฉยดีกว่า
ผมเดาไม่ถูกว่า คสช.ห้ามปรามการแสดงความเห็นทำไม การอนุญาตให้ทำประชามติคือการแสวงหาความชอบธรรมที่จะสืบทอดอำนาจ ทั้งอำนาจของ คสช.และกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลัง จู่ๆ ไปทำให้กระบวนการสร้างความชอบธรรมกลายเป็นความไม่ชอบธรรมทำไม
จะอย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของผู้คนที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจของ คสช. คงทำให้เห็นประจักษ์แล้วว่า หากมีการลงประชามติ คสช.ไม่อาจบังคับควบคุมมติที่ประชาชนจะแสดงทั้งก่อน, ระหว่าง และหลังการลงประชามติได้แน่นอน เรื่องจะบานปลายจนคุมไม่อยู่ ด้วยเหตุดังนั้นจึงปลอดภัยแก่ คสช.เองมากกว่าที่ต้องไม่นำร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้คนก่นประณามทั้งเมืองไปสู่การทำประชามติ
สัญญาณคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงสะท้อนให้เห็นสถานะที่เต็มไปด้วยภยันตราย (precarious) ของ คสช.เอง ซึ่ง คสช.ก็สำนึกรู้ แต่ยังหาทางออกไม่เจอ... บางทีการทำความเข้าใจพฤติกรรมของ คสช.จากจุดความเสี่ยงภยันตราย อาจทำให้เราอ่านพฤติกรรมเหล่านั้นได้ออกมากกว่ามองจากจุดของอำนาจดิบล้วนๆ
หากสัญญาณให้ไม่เห็นชอบแพร่กระจายในหมู่สมาชิกของ สปช.พอสมควร ซึ่งผมคิดว่าน่าจะแพร่กระจายอย่างไม่น่าสงสัย ยังมีคนถึงกว่า 100 คน ที่ฝืนให้ความเห็นชอบร่าง รธน. ตัดคนที่เป็นกรรมาธิการออกไป เพราะพวกเขาย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากให้ความเห็นชอบ ก็ยังเหลือ สปช.ที่ฝืนสัญญาณอีกเกือบ 80 คน แสดงให้เห็นองค์ประกอบของ สปช.ว่า ตั้งใจเลือกคนที่มีความคิดแนวเดียวกันกับ คสช.เข้ามา แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีความคิดลงรอยกันในรายละเอียดไปหมด จะพูดว่าพวกเขามีความคิดอิสระเป็นของตนเองก็ได้ แม้ฟังดูแปร่งๆ ไปบ้างก็ตาม ผมคิดว่าองค์ประกอบนี้จะเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ด้วย คือคิดในแนวเดียวกัน แม้อาจไม่ตรงกันในรายละเอียด อย่างที่นายวิษณุ เครืองาม ซึ่ง คสช.แต่งตั้งให้เป็นรองนายกฯ พูดว่า คนที่มีความรู้ความสามารถมีอยู่มาก แต่อาจอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ก็ไม่อาจตั้งเป็นกรรมการได้
ในที่สุดก็สรุปกันว่า จะต้องตั้งคนที่เข้าใจ (และเห็นด้วย) กับเจตนาของ คสช. ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปหาได้ที่ไหน เพราะ คสช.ไม่เคยชี้แจงอย่างละเอียดว่า อนาคตทางการเมืองของประเทศตามเจตนาของ คสช.คืออะไร เริ่มต้นด้วยการชี้ให้ชัดเสียก่อนเลยดีไหมครับ
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ หากผู้ให้ความเห็นชอบร่าง รธน.ที่ไม่ผ่านบางคน จะได้รับเลือกกลับมาร่าง รธน.ใหม่อีกครั้ง
ผมจึงคิดว่าเดาได้ไม่ยากว่า ร่าง รธน.ฉบับใหม่ก็จะมีจุดประสงค์ทางการเมืองไม่ต่างจากเดิม ฉะนั้นจึงควรหันมาทบทวนว่าแนวคิดทางการเมืองของ คสช.ทั้งสมัครพรรคพวกสมุนบริวารทั้งหมด มีแนวคิดอย่างไร
หลักการสำคัญที่สุดของแนวคิดนี้ก็คือ จะรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมของสังคมไทยไว้ให้ดำรงคงอยู่ต่อไปได้อย่างไร โดยเฉพาะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เห็นๆ กันอยู่ในสังคม
ชนชั้นนำไทยซึ่งมีจำนวนน้อยรักษาการนำของตนไว้ด้วยวิธีสองอย่าง หนึ่งคือการครอบงำ โดยอาศัยกฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, การศึกษา, กองทัพ, การลงทัณฑ์ทางกฎหมายและนอกกฎหมาย (เช่น ลอบสังหาร, อุ้มหาย, รวมการล่าแม่มดในรูปต่างๆ) และสองคืออำนาจนำ ได้แก่การเสริมสร้างอุดมการณ์และระบบคุณค่าที่ทำให้ชนชั้นนำมีอำนาจชอบธรรม ผ่านสื่อ, การศึกษา, สถาบันวิจัยและกองทุนวิจัย ฯลฯ
อำนาจของชนชั้นนำที่ถูกบั่นรอนไปในความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สุดคืออำนาจนำ หมายความว่ากลไกและเครื่องมือของอำนาจครอบงำยังอยู่พร้อมบริบูรณ์ และสามารถปกป้องไว้มิให้ถูกคนที่ไม่น่าไว้วางใจแย่งยื้อไปได้ การรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.2557 พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้กลไกเครื่องมือของอำนาจครอบงำอาจดูเรรวนแบ่งเป็นฝักฝ่าย แต่อำนาจรัฐประหารสามารถกอบกู้กลไกเครื่องมือเหล่านั้น ให้กลับคืนมาเป็นกลไกเครื่องมือของชนชั้นนำได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ความสำเร็จในการรักษาอำนาจครอบงำไว้ด้วยกลไกเครื่องมือทั้งมวลเช่นนี้ อาจเป็นเหตุให้ชนชั้นนำไทยมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในการรักษาอำนาจอยู่เสมอ
ตรงกันข้ามกับอำนาจครอบงำ อำนาจนำของชนชั้นนำในประเทศไทยสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างน้อยก็กว่าศตวรรษมาแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงคือเมื่อต้องเผชิญกับอำนาจของตะวันตก เป็นผลให้เกิดความแตกร้าวกันอย่างหนักในหมู่ชนชั้นนำ แต่ความแตกร้าวนั้นอาจเป็นโชคดีก็ได้ เพราะทำให้ชนชั้นนำจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อสถาปนาโครงสร้างอำนาจใหม่ที่มหาอำนาจตะวันตกรับได้ และชนชั้นนำเดิมพอรับได้
แต่ผู้ที่คุกคามให้อำนาจนำสั่นคลอนในครั้งนี้ไม่ได้มาจากภายนอก (แม้ต้นกำเนิดอาจมาจากภายนอก) หากเป็นคนภายในสังคมไทยเอง กระแสท้าทายอำนาจนำในสังคมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ 2475 เด่นชัดขึ้นตามลำดับจนถึงจุดสูงสุดหลังการปฏิวัติ 14 ตุลา แม้จะใช้กลไกเครื่องมือของอำนาจครอบงำระงับการท้าทายอำนาจนำ ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเด็ดขาดได้สักครั้ง มีแต่ต้องใช้กลไกเครื่องมือนั้นอย่างเปิดเผย รุนแรง และเหี้ยมโหดมากขึ้น จนบรรลุจุดที่อาจหวนคืนไม่ได้อีกแล้วในการสังหารหมู่เมษา-พฤษภา 2553
(ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ความรุนแรงใน 6 ตุลา 2519 และพฤษภามหาโหด 2535 ยังเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำหวนกลับมาสู่เส้นทางประนีประนอมได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2521, 2540 และ 2550 แต่หลังการสังหารหมู่ใน 2553 แล้ว ไม่มีทางหวนกลับไปสู่เส้นทางอื่นได้ นอกจากรัฐประหารยึดอำนาจ และใช้กลไกเครื่องมือของอำนาจครอบงำอย่างเข้มงวดเด็ดขาด เพื่อรักษาเงาของอำนาจนำไว้เท่านั้น และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมเข้าใจว่าร่าง รธน.ใหม่จะไม่ต่างในหลักการสำคัญจากร่างที่ถูกคว่ำไป)
ร่าง รธน.ที่ถูกคว่ำไปพยายามจะยุติประชาธิปไตยไทยมิให้เติบโตไปกว่านี้ ทหารเรียกการเติบโตของประชาธิปไตยว่าเป็นความระส่ำระสาย แต่จริงๆ แล้วคือการเปิดช่องทางให้ประชาชนมีอำนาจในการถ่วงดุลกับชนชั้นนำต่างหาก ร่าง รธน.รักษาช่องทางนี้ไว้แต่รูปแบบ กล่าวคือมีการเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่การเลือกตั้งไม่ใช่ช่องทางที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะ ฉะนั้นจึงไม่ใช่แต่ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่จะมีฐานมวลชนไม่ได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีไม่ได้ เพราะบุคคลหรือพรรคการเมืองที่มีฐานมวลชน ย่อมเป็นสะพานเชื่อมให้มวลชนเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญจึงทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งไร้ความหมายในการสร้างนโยบายสาธารณะ
ประชาธิปไตยที่ไม่เป็นเครื่องมือทางอำนาจของประชาชนนั่นแหละ คือจุดประสงค์ของการจัดระเบียบการเมืองของชนชั้นนำ
จุดประสงค์อีกอย่างหนึ่งของร่าง รธน.ที่อย่างไรเสียก็ต้องมี คือความปลอดภัยของผู้ทำรัฐประหารและชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ไม่เคยมีรัฐประหารครั้งไหนที่ถูกประชาชนจำนวนมากต่อต้านเท่าครั้งนี้ ที่สงบลงได้ก็เพราะใช้กลไกเครื่องมือของอำนาจครอบงำอย่างเข้มงวดกวดขัน และก้าวร้าวหวาดระแวง (paranoiac) คณะรัฐประหารชุดที่ผ่านๆ มามักใช้การนิรโทษกรรมและบทเฉพาะกาลเป็นเกราะป้องกันความปลอดภัยให้ตนเอง แต่เกราะแค่นี้ไม่เพียงพอแก่การรัฐประหารครั้งนี้เสียแล้ว ไม่มีใครรู้แน่หรอกว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายคำสั่งของ คสช.จะดำรงอยู่ในประเทศไทยไปได้อีกนานเท่าไร เพราะจะนานหรือไม่นานขึ้นอยู่กับว่าอนาคตทางการเมืองหลังจากที่ คสช.พ้นอำนาจไปแล้ว จะเป็นอย่างไร คาดเดาได้ยากมาก แต่โอกาสที่จะผ่านไปอย่าง "เรียบร้อย" ดูไม่ชัดเท่ากับการรัฐประหารครั้งอื่น
ถามคนไทยจำนวนมากในเวลานี้ (จะถึงครึ่งหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่แน่ใจว่ามากจริงๆ) ว่าหากเป็นไปได้ คุณอยากจะปฏิรูปอะไรในเมืองไทยบ้าง คำตอบของเขาน่าตกใจนะครับ อาจสรุปให้เหลือสั้นๆ ได้ว่าองค์กรทั้งหมดควรถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่หมด ไม่เว้นแม้แต่รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามติหรือรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติอย่างไม่ชอบธรรม
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรักตัวกลัวตายนะครับ อย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องรักตัวกลัวตายอย่างเดียว อีกส่วนหนึ่งคืออภิสิทธิ์ต่างๆ ที่ประชาธิปไตย "ที่ไม่สมบูรณ์" ของไทยประกันไว้ให้ด้วย (เช่น ระบบยุติธรรมที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับใครเลย นอกจากกับกลุ่มตนเอง, กองทัพที่อยู่นอกการควบคุมของทุกองค์กรทางสังคม, มหาวิทยาลัย, สสส., ไทยพีบีเอส, ระบบราชการทั้งระบบ ฯลฯ) ในทรรศนะของชนชั้นนำ อภิสิทธิ์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของระเบียบสังคมที่ดี
คณะกรรมาธิการร่าง รธน.วางกลไกเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา จนทำให้จำเป็นต้องคว่ำร่างนี้ก่อนที่จะถูกนำไปทำประชามติ คณะกรรมการชุดใหม่คงต้องซ่อนกลไกเหล่านี้ไว้อย่างแนบเนียนกว่าเดิม แต่จะซ่อนจนไม่มีใครจับได้ไล่ทันคงเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทยปัจจุบันเสียแล้ว
หนังสือพิมพ์ฝรั่งสรุปว่าการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญทำให้ไทยกลับมาอยู่ที่เลขศูนย์ใหม่ แต่ที่จริงแล้วเราไม่ได้กลับมาที่เก่าหรอกครับ แต่กลับมาสู่จุดที่ คสช.และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.น่าจะรู้มาแต่แรกแล้วว่า การปกครองด้วยอำนาจครอบงำเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ ถึงเคยไม่รู้มาก่อน บัดนี้ก็น่าจะรู้อย่างซึมซับแล้ว แต่จะเสริมอำนาจนำขึ้นให้เข้มแข็งอย่างที่เคยเป็นมา (ในสมัยสฤษดิ์หรือสมัยเปรมก็ตาม) ก็คงสายเกินไปแล้วที่ใครจะทำได้
จะทดแทนความสูญเสียอำนาจนำด้วยความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และสังคมได้หรือไม่? คำตอบคือพอได้บ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมในบรรยากาศซบเซาทั่วโลกอย่างที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ ไม่อาจเป็นไปได้อย่างง่ายๆ อีกทั้งความสำเร็จนั้นต้องยิ่งใหญ่พอจะสร้างความประทับใจแก่คนหมู่มาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้อำนาจเผด็จการ
หากความสำเร็จที่ได้มาไม่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ก็ไม่เป็นหลักประกันแต่อย่างใดว่า รธน.ที่มีหลักการอันเดิมจะได้รับความเห็นชอบจากประชามติ (แม้แต่แก้กฎหมายให้ใช้เฉพาะเสียงของผู้มาใช้สิทธิ) ทางออกของกลุ่มคนที่ยึดอำนาจเหล่านี้ก็คือ หันไปใช้กลไกเครื่องมือของอำนาจครอบงำให้เต็มที่ จับกุมคุมขังผู้คนอย่างกว้างขวาง หรือใช้ ม.44 ยกเลิกไม่ต้องให้ร่างใหม่ผ่านประชามติไปเลย
ถ้าเป็นเช่นนี้ ทางลงจากอำนาจก็จะยิ่งสุ่มเสี่ยงมากขึ้น หนูจำนวนหนึ่งคงกระโดดหนีเรือที่กำลังจะล่ม แม้แต่แมวเองก็อาจกระโดดหนีในนาทีสำคัญสุดท้าย เพื่อรักษาตนเองไว้
ฉากจบของละครเรื่องนี้เป็นอย่างไร ผมเดาไม่ถูกเลย ได้แต่รู้สึกวิตกห่วงใยเท่านั้น