วันพุธ, กันยายน 23, 2558

วิบากกรรมรถไฟไทย-จีน "ลงทุนพุ่ง-ดอกเบี้ยแพง" เลื่อนตอกเข็มยาว



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

วิบากกรรมรถไฟไทย-จีน
"ลงทุนพุ่ง-ดอกเบี้ยแพง"
เลื่อนตอกเข็มยาว

ชัดเจนโครงการ "รถไฟไทย-จีน" ลงเสาเข็มไม่ทันเดือนตุลาคมอย่างที่วาดแผนไว้ รอลุ้นอีกเฮือกจะปักหมุดทันเดือนธันวาคมนี้ อย่างที่ได้ลั่นวาจา หรือจะเลื่อนยาวข้ามไปถึงปีหน้า ก็อยู่ในความสนใจไม่ใช่น้อย

เมื่อเส้นทางโครงการดูจะไม่ง่ายอย่างที่คิด ถึงจะปิดการประชุมคณะกรรมร่วมฯมาแล้ว 7 ครั้ง แต่ดูเหมือนโปรเจ็กต์ความร่วมมือรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนยังไร้ข้อสรุป เพื่อนำไปสู่จุดคิกออฟโครงการ

คงต้องไปว่ากันต่อนัดหน้าวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่วนจะมีความก้าวหน้าแค่ไหนยังไม่มีใครตอบได้ ในเมื่อไม่มีเงื่อนเวลาเป็นตัวตั้งจึงไม่ต้องเร่งรัด และเป็นไปได้ว่าโครงการอาจจะถูกทอดเวลายาวไปอีก จนกว่าจะได้ข้อเสนอเป็นที่น่าพอใจจากจีน

สำหรับการประชุมครั้งล่าสุด ภายใต้การคุมเกม "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นการรีเช็กรายละเอียดผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จีนส่งให้พิจารณา สำหรับการลงทุนเฟสแรก "กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา" ระยะทาง 271.8 กิโลเมตร ใช้เม็ดเงินลงทุนร่วม 230,000 ล้านบาท ที่ไทยประเมินยังสูงเกินจากกรอบศึกษาเดิม 25-30%

รวมถึงต่อรองอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จีนให้ได้อัตราไม่เกิน 2% จากที่จีนเสนอมา 3.28% (รวมค่าเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน) เนื่องจากยังสูงกว่าเงินกู้ในประเทศ (พันธบัตรรัฐบาล) อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.15% เงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นผ่านไจก้า และต่อรองให้จีนรับภาระความเสี่ยงโครงการร่วมกันจากการตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) งานระบบและเดินรถในสัดส่วน 50 : 50 จากเดิมจีนขอร่วมทุนสัดส่วน 40% และไทย 60%




"จีนส่งผลศึกษาโครงการระยะแรกเป็นแค่เบื้องต้น ซึ่งเงินลงทุนเสนอมายังสูง โดยจีนชี้แจงว่าเพราะช่วงแรกมีการสร้างอุโมงค์และสะพานถึง 75% ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจากเดิมที่ไทยเคยศึกษาไว้ ต้องให้ที่ปรึกษาเช็กรายละเอียดให้ชัดเจน ก็ได้แสดงความคิดเห็นกับจีนถึงเรื่องผลการศึกษา การสำรวจ มูลค่าโครงการ ประมาณการผู้โดยสารและรายได้ ต้นทุนก่อสร้าง ผลตอบแทนทางการเงิน ให้เร่งสรุปใน 1 เดือนนี้" นายอาคมกล่าวและว่า


ขณะนี้มูลค่าโครงการยังไม่นิ่ง ต้องดูผลศึกษาทั้งโครงการ โดยเร่งรัดให้จีนศึกษาเฟส 2 ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด และนครราชสีมา-หนองคายให้เสร็จเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากเดิมจะเสร็จเดือนธันวาคมนี้ เพื่อไม่ให้กระทบการเดินหน้าเฟสแรกที่คาดว่าจะเริ่มเดือนธันวาคมนี้


นายอาคมกล่าวว่า จะสร้างเฟสแรกได้ต้องประเมินผลทั้งโครงการให้รู้มูลค่าลงทุน เพื่อกำหนดวงเงินกู้จะมาจากไหนบ้าง สัดส่วนการลงทุนใน SPV งานระบบและเดินรถมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งฝ่ายไทยขอเพิ่มสัดส่วนลงทุนเป็น 50 : 50 จีนก็รับไปพิจารณา อีกทั้งยังต้องประมาณการรายได้และการขนส่งสินค้าจากจีนผ่าน สปป.ลาว เข้ามายังหนองคายลงมามาบตาพุด เพื่อประเมินผลตอบแทนการเงินและการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การเวนคืนที่ดิน ถึงจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้


"การก่อสร้างจะขยับจากตุลาคมนี้เป็นธันวาคมนี้ แต่จะพยายามเร่งให้ทันและเร็วที่สุด เพราะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี การประชุมครั้งที่ 8 น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น"


ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังสำรวจและออกแบบเบื้องต้น ซึ่งค่าก่อสร้างที่สูงขึ้น เพราะสร้างบนพื้นที่ใหม่ในบางจุด และมีก่อสร้างสะพาน ทางลอด ทางเชื่อมเพิ่ม จะเร่งหาข้อสรุปร่วมกันเรื่องค่าก่อสร้างว่ามีข้อแตกต่างกันตรงไหน ถ้าราคายังสูงอยู่ก็ต้องเจรจากันต่อไป ใจของทั้ง 2 ประเทศอยากจะให้โครงการเกิดปีนี้ เพราะเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์


แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาร่วมกันอีกมาก เช่น การขออนุมัติอีไอเอของเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และแก่งค่อย-มาบตาพุด จะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน การจัดเตรียมร่างสัญญา EPC รูปแบบการร่วมลงทุนไทย-จีน รูปแบบทางการเงิน ต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดำเนินการให้ จะใช้ระยะเวลา 5 เดือน ยังรวมถึงนำโครงการเสนอให้สภาพัฒน์และ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการ มีแนวโน้มกรอบระยะเวลาก่อสร้างจะล่าช้าจากแผนงาน 9 เดือน เป็นประมาณกลางปี 2559


ท้ายที่สุดโปรเจ็กต์นี้จะฉลุยหรือจะเป็นได้แค่ "รถไฟสายการทูต" ของรัฐบาล คสช. รอดูนับจากนี้


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์