ภาพจาก ไทยรัฐ |
Sarinee Achavanuntakul
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 หลังรัฐประหารไม่ถึงสองเดือน ผู้เขียนโพสสเตตัสว่า
“ระบอบเผด็จการทหารไม่อาจนำมาซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือแม้แต่ประชาธิปไตยที่เต็มใบกว่าเดิมได้ ต่อให้ คสช. มีแต่ "คนดี" ที่ไม่เคยโกงก็ตาม ทั้งนี้ เพราะ "ธรรมชาติ" ของกองทัพ (ทุกประเทศ) คืออำนาจรวมศูนย์ ทหารชั้นผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่โดยไม่ตั้งคำถาม ผู้ใหญ่ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดชัดเจน ประเด็นความมั่นคงสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
“ลักษณะเหล่านี้ของกองทัพล้วนเป็นขั้วตรงข้าม (antithesis) ของระบอบประชาธิปไตย รวมถึงพัฒนาการสมัยใหม่อื่นๆ ที่มีความเป็นประชาธิปไตย (รับฟังความเห็นต่าง ส่งเสริมความหลากหลาย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน) เป็นหัวใจ ตั้งแต่การพัฒนาที่ยั่งยืน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงการสร้าง "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" และ "สังคมอุดมปัญญา" ด้วย
“ด้วยเหตุนี้ พัฒนาการสมัยใหม่เหล่านี้จึงน่าจะถดถอยลงเรื่อยๆ ในไทย ตราบใดที่ คสช. ยังดึงดันจะบริหารประเทศแบบรวบอำนาจอยู่เช่นนี้”
วันนี้เวลาผ่านไปแล้วกว่า 14 เดือนหลังเกิดรัฐประหาร ชัดเจนว่า คสช. ยังดึงดันที่จะบริหารประเทศแบบรวบอำนาจอยู่ต่อไป (ถึงแม้แรงกดดันที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ หลังการล้มกระดานร่างรัฐธรรมนูญ จะบีบบังคับให้อ้อมแอ้มพูดว่า จะหาทางร่นโรดแม็พก็ตาม) ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นไปในทางที่สนับสนุนความคิดข้างต้นทั้งสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูจากทิศทางนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะการข่มขู่ชาวบ้าน ข่มขู่ประชาชน ส่งคนเห็นต่างเข้าค่าย “ปรับทัศนคติ” ยิ่งชัดเจนว่า รัฐบาลเผด็จการวันนี้ทำงานด้วยโลกทัศน์ที่เก่าคร่ำครึของรัฐราชการเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังเชื่อกันว่า การพัฒนาต้องทำแบบอำนาจรวมศูนย์ ส่วนกลางตัดสินใจทุกอย่างเพราะประชาชนยังไม่รู้เรื่อง ไร้การศึกษา ต้องรอ “ผู้เชี่ยวชาญ” มาตัดสินใจและจัดการสร้างความเจริญให้ อีกทั้งรัฐต้องเอาใจนายทุนเป็นหัวหอกในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ตัวอย่างมากมายของนโยบายรัฐเผด็จการ ตั้งแต่โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เปิดเหมืองทองคำทั่วประเทศ เปิดเหมืองโปแตซ โครงการจัดการแหล่งน้ำ 3,000 แห่งทั่วประเทศ โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา นโยบายทวงคืนผืนป่า รวมทั้งนโยบายที่เผชิญกับเสียงคัดค้านจนล้มเลิกไป อาทิ ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล (ซึ่งก็มีแนวโน้มจะกลับมาใหม่ได้ทุกเมื่อ) ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง บางกรณีชาวบ้านผู้คัดค้านยังถูกทำร้ายเสียด้วยซ้ำ (ในกรณีเหมืองแร่ จ.เลย)
ล้วนแต่เป็นนโยบายภายใต้โลกทัศน์ “รัฐราชการ+อำนาจรวมศูนย์+เอื้อประโยชน์นายทุน+เศรษฐกิจมาก่อน” ทั้งสิ้น
โลกทัศน์อันคร่ำครึที่ว่านี้ แปลกแยกแตกต่างอย่างรุนแรงกับโลกทัศน์ของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ที่ไม่ได้ติดอยู่ในโลก 50 ปีก่อนเหมือนกับเผด็จการ
โลกทัศน์ของประชาชนวันนี้ ไม่เพียงแต่คนไทยแต่รวมถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั่วโลก ถ้าจะสรุปง่ายๆ คือ “รัฐโปร่งใส+อำนาจกระจายศูนย์+เพิ่มพลังพลเมือง+การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ในเมื่อโลกทัศน์ระหว่าง “ข้าราชการ+เทคโนแครต” กับ “ประชาชน” โดยรวมกำลังขัดแย้งแตกต่างกันอย่างรุนแรงเช่นนี้ “กระบวนการ” ปฏิรูปใดๆ ก็ตาม ที่ไม่วาง “ประชาชน” ไว้เป็นหัวใจ นอกจากจะไร้ความชอบธรรมแล้ว ยังไม่มีทางจะได้รับการสนับสนุนจนลงหลักปักฐานอย่างยั่งยืนได้เลย
และด้วยเหตุนี้เอง คำพูดของนายพลใหญ่ใน คสช. ที่ว่า จะ “ล็อกสเปก” ให้ทหารกับอดีตสมาชิก สปช. รวมกันเกินร้อยคน ใน “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” นั้น
ถ้าเป็นจริง ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการเหนี่ยวรั้งการปฏิรูปให้เข้ารถเข้าพงและหลงทางไปอีกไกล.
...
ที่มา
ooo
พล อ.ประวิตรฉุนว้ากสื่อซักล็อกสเปกคัด สปช.
เมื่อถามว่า มีการร้องเรียนล็อกสเปก สปช.พล.อ.ประวิตร หันหน้าไปยังผู้สื่อข่าวที่ถามพร้อมกล่าวพร้อมน้ำเสียงไม่พอใจว่า “ล็อกสเปกไหน พูดหลายทีเหลือเกิน ล็อกยังไง เล่าให้ผมฟังซิ หนูลองล็อกซิ” โดยผู้สื่อข่าวตอบว่า แต่มีการตั้งข้อสังเกต พล.อ.ประวิตรยังคงตอบด้วยน้ำเสียงไม่พอใจอีกว่า “จะล็อกยังไงบอกซิครับ คุณต้องบอกซิวิธีล็อก เขาล็อกยังไง คนสมัครตั้ง 7,000 คน จะล็อกยังไง และมีคณะกรรมการสรรหา สปช.ตั้ง 77 คน ด้านละ 7 คน ใน 11 ด้าน อย่าไปพูดล็อกสเปก ล็อกยังไงบอกด้วย ผมอยากล็อก มันล็อกได้ไหม ล็อกได้ไหมคะ ล็อกยังไง มันไม่ได้ คนเขามีตำแหน่งหน้าที่ เป็น ดร. เป็นศาสตราจารย์ทั้งนั้น ทุกคนอยากทำหน้าที่ของตัวให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นอย่าไปพูด ไม่ดีหรอกครับ ถามนำในทางที่ไม่ดี ถ้าน้องทำได้บอกวิธีล็อกสเปกมา”
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า สปช.ที่ได้จะเป็นที่มั่นใจของประชาชน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พยายามหาในทุกภาคส่วน แต่จะให้ทุกคนยอมรับได้หมดหรือไม่ ตนไม่ทราบ พยายามหาทุกพื้นที่ หาผู้ที่มีคุณวุฒิตั้งแต่ปริญญาเอกลงมาจนถึงไม่มีปริญญา และมีทุกอาชีพให้มีความรู้หลากหลาย เพื่อจะมาปฏิรูปทุกเรื่องใน 11 ด้าน