วันจันทร์, กันยายน 28, 2558

พิษเศรษฐกิจ ลาม 'รพ.เอกชน' คนชั้นกลางแห่ใช้บริการรัฐ



ที่มา Hfocus.org
Sat, 2015-09-26

นสพ.สยามธุรกิจ

วิกฤติเศรษฐกิจลามไม่หยุด โรงพยาบาลเอกชนกระอัก คนไทยระดับกลางหดหาย ถึงเวลาป่วยไข้ต้องยอมเบียดเสียด หันไปใช้บริการรัฐหรือไม่ก็เน้นราคาถูก ตลอดจนซื้อยากินเอง เพื่อเซฟเงินในกระเป๋า ส่วนผู้ประกอบการพลิกเกมเน้นลูกค้าต่างชาติเพื่อชดเชยตลาด

นสพ.สยามธุรกิจ : พิษเศรษฐกิจปีนี้ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า แม้กระทั่งเรื่องสุขภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญของคน ก็ยังได้รับผลกระทบโดยเฉพาะคนไทยใน "กลุ่มระดับกลาง" จากช่วงเศรษฐกิจปกติดี ยอมควักกระเป๋าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพื่อได้รับความสะดวก สบาย รวดเร็ว หันมาใช้บริการ รพ.รัฐ โดยยอมต่อคิว ล่าช้า ไม่ทันใจหรือแม้กระทั่งหาซื้อยาทานเอง เพื่อเป็นการประหยัดเงิน ส่งผลให้ "โรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง" หลายแห่งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยอดการเติบโตของลูกค้าคนไทยหดตัวลง แถมติดลบ 1-2% จนต้องเบนเข็มหันไปรุกตลาดลูกค้าต่างชาติเป็นการทดแทนลูกค้าคนไทยที่ยอดหดหายไป

น.พ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วง 8 เดือนของปีนี้ จากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศที่ชะลอตัวส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ทำให้ตลาดธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็ได้รับผลกระทบบ้างเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่มีลักษณะแบบสแตนด์อโลน หรือ มีสาขาเดียวที่มีลูกค้าคนไทยมาใช้บริการในจำนวนมากกว่าลูกค้าต่างชาติ เนื่องจากปกติคนไทยในกลุ่มระดับกลางถ้าสภาวะเศรษฐกิจในช่วงปกติ เกิดอาการเจ็บป่วยในโรคที่ไม่หนักมากนักก็อาจจะตัดสินใจเลือกไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า เพราะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และการบริการที่ดี แต่พอสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงขณะนี้ ก็อาจจะทำให้คนไทยกลุ่มดังกล่าวเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ, ใช้สิทธิ์ประกันสังคม หรือไม่ก็เลือกไปหาซื้อยารับประทานเองตามร้านขายทั่วไปมากกว่าจึงส่งผลให้ภาพรวมของ รพ.เอกชนมียอดจากลูกค้าคนไทยลดลงไปประมาณ 15%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาพรวมธุรกิจของโรงพยาบาลในเครือที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับผลกระทบบ้างจากสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ยอดหดตัวลงไปเช่นกัน ซึ่งรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าเป้าเล็กน้อยที่ตั้งไว้อยู่ที่ 13-14% แต่เติบโตอยู่ที่ราว 12% (จากรายงานล่าสุดเดือนกันยายนเติบโตแล้ว 13% คาดว่าจะมีการฟื้นตัวกลับมาได้ตามเป้าที่วางไว้ได้ โดยครึ่งปีสามารถทำรายได้อยู่ที่ราว 3.12 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 3.78 พันล้านบาท เทียบกับครึ่งปีของปีที่ผ่านมาของปีที่แล้วรายได้ อยู่ที่ 5.80 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 7.39 พันล้านบาท จากสัดส่วนลูกค้าคนไทย 70% ต่างชาติ 30% ปีหน้ามีการเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการที่ประเทศไทยก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นที่จะมีลูกค้าจากแถบเออีซีเดินทางมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนไทยมากขึ้น คาดว่าน่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 3 เท่า"

น.พ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดโรงพยาบาลเอกชนในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าก็ยังมีการเติบโต แต่อัตราการเติบโตไม่ค่อยดีมากนักถ้าเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านที่จะมีอัตราการเติบโตอยู่ราว 5-10% มาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศที่ไม่ค่อยดี ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศค่อนข้างแผ่วลง ผู้บริโภคประหยัดในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากเดิมที่ลูกค้าคนไทยในกลุ่มระดับกลางอย่างพนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ ฯลฯ เวลาเจ็บป่วยเป็นไข้เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้หนักมากนัก จะเลือกมาใช้บริการ รพ.เอกชนมากกว่า เพราะต้องการความสะดวก รวดเร็ว การบริการที่ดี มากกว่าไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ แต่พอสภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ก็หันไปเลือกใช้บริการ รพ.รัฐมากขึ้น และไปรับการรักษาในสิทธิ์ที่ตัวเองมีอยู่อย่างประกันสังคม และ สปสช. เป็นต้น และถ้าคนไข้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องก็คงยังมารักษาอยู่ คืออัตราส่วนจำนวนลูกค้าคนไทยไม่ได้น้อยลงแต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่เคยเป็น จากช่วงสภาวะปกติอัตราลูกค้าคนไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนโรงพยาบาลสมิติเวชและในเครือนั้น แม้จะได้รับผลกระทบจากลูกค้าคนไทยจากสภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเรายังมีลูกค้าชาวต่างชาติในกลุ่ม Fly in ที่บินมารักษาและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ยังเข้ามารักษาอยู่จำนวนมาก ซึ่งลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่ของเราถ้าในสาขาสมิติเวชสุขุมวิทจะเป็นคนญี่ปุ่นเป็นหลักและแถบเออีซี พม่า ลาว กัมพูชา บังกลาเทศ มีสัดส่วนทั้งหมดอยู่ประมาณ 40% ส่วนสมิติเวช สาขาศรีนครินทร์จะเป็นลูกค้าชาวตะวันออกกลางเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนประเทศไทยเรายังคงเมดิคัลฮับในเรื่องการบริการทางการแพทย์ และการบริการที่ดีเลิศ ที่คนต่างชาติมีความเชื่อมั่นมาเลือกใช้บริการอยู่ในอันดับต้นๆ ในเอเชีย

ดร.ชาคริต ศึกษากิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วง 8 เดือนของปีนี้ นั้นได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ระมัดระวังและไตร่ตรองการใช้เงินมากขึ้นทำให้อัตราการเติบโตโดยรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนติดลบลงประมาณ 1-2% จากปกติจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8-10% ซึ่งปีนี้มองว่าคงจะไม่เติบโตไปกว่านี้น่าอยู่ในสภาวะทรงตัวไปจนถึงสิ้นปี ในส่วนแนวโน้มปีหน้าก็คาดว่าจะยังทรงตัวแต่ก็ต้องรอดูสภาวะเศรษฐกิจอีกทีว่าในปีหน้าจะเป็นอย่างไร

"จากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีขณะนี้ส่งผลให้ลูกค้าคนไทยในกลุ่มระดับกลางลดกำลังซื้อในการมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนลดลง และหันไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ, ประกันสังคม หรือซื้อยากับเภสัชร้านขายยามารับประทานเองมากกว่าแทนที่จะไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเหมือนตอนสภาวะเศรษฐกิจปกติเพื่อต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็ว ในการบริการ"

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเรามีอัตราการเติบโตจากลูกค้าต่างชาติมากกว่าคนไทยในช่วงนี้ประมาณ 20% ดังนั้น ทางโรงพยาบาลเองก็ได้มีการวางแผนการตลาดทำโปรโมชั่นให้กับลูกค้าคนไทย โดยการออกแคมแปญ แพ็กเกจการรักษา ดูแลสุขภาพในแบบเหมาจ่าย ให้รู้สึกคุ้มค่าและจ่ายในราคาที่ถูกลงเพื่อให้ลูกค้าคนไทยเกิดการตัดสินใจมารักษาง่ายขึ้น ซึ่งภายในสิ้นปีนี้เราคาดว่าโรงพยาบาลเราจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 20%

จากข้อมูลของ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ระบุถึงแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายในปี 58 ว่า รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในปี 2558 น่าจะทะลุ 1 แสนล้านบาท หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 10.0-15.0 (YoY) โดยการเติบโตดังกล่าวเกิดจากการขยายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ศักยภาพในต่างจังหวัด เพื่อรองรับกับกลุ่มคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้ชาวต่างชาติที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10.0 ต่อปี

ในขณะที่ตลาดคนไข้ชาวไทย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกว่าร้อยละ 75 ของรายได้โรงพยาบาลเอกชนไทยทั้งหมด กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน อาจจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน กล่าวคือ กลุ่มลูกค้าเงินสด โดยเฉพาะลูกค้าชนชั้นกลางที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อาจจะหันไปใช้บริการในโรงพยาบาลที่ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า หรือเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของภาครัฐ ในขณะที่กลุ่มลูกค้าที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพของภาครัฐ และกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 ก.ย. - 2 ต.ค. 2558