วันศุกร์, กันยายน 18, 2558

ตำรานี้เหรอ ที่ประยุทธ์บอกว่า 'อำนาจแบบผม'

ผู้ปกครองควรให้คนกลัวมากกว่าคนรัก ?

ชำนาญ จันทร์เรือง
          ผู้ปกครองควรให้คนกลัวมากกว่าคนรัก เพราะความรักอาจกลายเป็นความเกลียดได้ แต่ความกลัวนั้นจะไม่รักและไม่เกลียด ผู้ปกครองจึงควรใช้อำนาจและความรุนแรงเพื่อให้ผู้อื่นกลัว”

จาก The Prince, Niccolo Machiavelli

ผมไม่รู้ว่า คสช.นำบทเรียนจาก The Prince ซึ่งแต่งโดย Machiavelli มาใช้หรือไม่ แต่จากเหตุการณ์ภายหลังการเข้ายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา มีการจับกุมและเรียกผู้คนเข้าไปปรับทัศนคติกันเป็นจำนวนมาก  

ล่าสุด คือกรณีของคุณพิชัย นริพทะพันธุ์ และคุณเก่ง การุณ หรือแม้กระทั่งการเข้าทำร้ายคุณวัฒนา เมืองสุข ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใดหรือโดยใคร กรณีล่าสุดคือกรณีคุณประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเนชั่น ซึ่งได้สร้างกระแสความหวาดกลัวแผ่ซ่านไปทั่วจนสามารถที่จะกล่าวได้ว่า เราอยู่ในสถานะที่เรียกว่า State of Fear หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “สภาวะแห่งความหวาดกลัว” แล้ว

Machiavelli เป็นชาวฟลอเรนซ์ อิตาลี เขารับราชการในสมัยที่ตระกูล เดอ เมดิซี (De Medici) กำลังมีอำนาจ เขาเองเคยถูกจับขังคุกจนต้องอำลาชีวิตราชการและเขียนหนังสือ The Prince เสนอแนวความคิดทางการเมืองที่สนับสนุนการใช้อำนาจและความรุนแรง เช่น จงเตรียมพร้อมเพื่อทำสงคราม การให้คนรักหรือคนกลัวอย่างไหนดีกว่ากัน ทำไมผู้ปกครองควรถูกยกย่องหรือถูกตำหนิ ผู้ปกครองควรรักษาสัจจะได้ในลักษณะใด ผู้ปกครองต้องพยายามไม่ให้คนเกลียด ทำอย่างไรผู้ปกครองจึงจะสร้างชื่อเสียงใด้ ฯลฯ

แนวคิดของ Machiavelli นี้ทำให้เขาถูกโจมตีว่าเป็น “นักคิดที่ไร้ศีลธรรม”  แต่บางคนกลับมองเขาว่าเป็น “นักคิดที่กล้าหาญ” เพราะเขาพูดความจริงที่ไม่มีใครเคยพูดมาก่อน

จากประวัติศาสตร์การเมืองของโลกเราที่ผ่านมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าทัศนคติหรือแนวคิดของ Machiavelli นั้นเป็นความจริงแต่เป็นความจริงที่ไม่ยั่งยืน สามารถใช้ได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะความกลัวของมนุษย์นั้นมีจุดสิ้นสุด เมื่อใดที่มนุษย์มีความรู้สึกว่าทนต่อไปไม่ได้แล้วมนุษย์จะไม่กลัวอะไรทั้งนั้น แม้แต่การทรมานหรือแม้กระทั่งการสูญเสียชีวิต ดังจะเห็นได้จากการที่ทหารหรือผู้คนเข้ารบราฆ่าฟันกันเพื่ออุดมการณ์ ความเชื่อ ศาสนาหรือผลประโยชน์ของชาติที่เขาเห็นว่าจำเป็นต้องปกป้องไว้

จริงอยู่ว่าโดยปกติลักษณะนิสัยของคนไทยแต่เดิมนั้นจะอยู่ในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิม(parochial political culture) คือ ไม่รู้และไม่สนใจการเมืองและไม่คิดว่าตนจะได้รับผลกระทบทางการเมืองผ่านมาสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า (subjective political culture) คือ สนใจและเข้าใจการเมืองแต่อยู่ในลักษณะของการยอมรับในอำนาจของผู้ปกครอง จึงไม่สนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยตนเอง และกำลังก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (participant political culture) คือ สนใจการเมืองและตระหนักว่าการเมืองมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนทุกด้าน จึงกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เนื่องเพราะในช่วงหลังที่แม้ว่าเราจะมีการเล่น “กีฬาสี” กันก็ตาม แต่เมื่อมองปรากฏการณ์ที่ประชาชนต่างมีความสนใจเข้าร่วมทางการเมือง มีช่องโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ที่ตนเอง      ชื่นชอบ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด แท็กซี่ สองแถว คุยเรื่องละครน้ำเน่าน้อยลงหรือไม่มีเลย แต่หันมาคุยเรื่องการเมืองแทน ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นความแตกแยกแต่ผมกลับมองว่าเป็นความตื่นตัว (arousing) ทางการเมืองซึ่งเป็นของธรรมดาที่จะเห็นต่างกันได้ การแก้ปัญหาก็ต้องด้วยวิธีการทางการเมืองซึ่งอาจจะช้าแต่ได้ผลกว่าการทุบโต๊ะ ซึ่งอาจแก้ได้ชั่วครั้งชั่วคราวแต่ไม่ยั่งยืน

วิธีการของ Machiavelli อาจจะใช้ได้ผลในศตวรรษที่แล้วที่ผู้คนมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมหรือแบบไพร่ฟ้า ที่เชื่อว่า “ผู้มีอำนาจย่อมเป็นผู้ถูก (might is right)” เพราะคนมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ไม่มีใครกล้าว่าผิด จุดมุ่งหมายย่อมสำคัญกว่าวิธีการ (end justify means) จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุจุดหมาย แต่อย่าลืมนะครับ อำนาจย่อมมีวันหมด ไม่มีอำนาจใดที่ยั่งยืนถาวรตลอดกาล 

ผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ในอดีตไม่ว่าจะเป็น เจงกิส ข่าน, อเล็กซานเดอร์มหาราช, นโปเลียนมหาราช,      ฮิตเลอร์, มุสโสลินี, ซูฮาร์โต,จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม  กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร ฯลฯ มาแล้วก็ต้องไป แต่จะไปอย่างไรนั้นอยู่กับการใช้อำนาจในระหว่างการเป็นผู้ปกครอง

บางคนก็ลงอย่างสง่างามแต่บางคนก็พบจุดจบที่น่าสยดสยองขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถแปร “ความกลัว”ของผู้คนนั้นไปเป็น “ความรัก” หรือ “ความเกลียด”  

ถ้าแปรเป็นความรักก็จะกลายเป็น “มหาบุรุษ (great man)” ของชาติ  เช่น เจงกิส ข่าน ที่เป็นที่รักของชาวมองโกเลีย (ศัตรูในสมัยนั้นอาจจะเกลียด) แต่ถ้าแปรเป็นความเกลียดก็จะกลายเป็น “ทรราชย์(tyrant)” เช่น ฮิตเลอร์ หรือมุสโสลินี เป็นต้น

อย่าลืมนะครับว่าอำนาจคือยาเสพติด อำนาจนั้นยิ่งใช้ยิ่งหมดไป ยิ่งใช้มากยิ่งหมดเร็ว สถานการณ์สร้างวีรบุรุษได้ฉันใด สถานการณ์ก็ทำลายวีรบุรุษไดฉันนั้น   

แม้ว่า คสช.จะอ้างเหตุผลว่าเข้ามาด้วยความปรารถนาดี เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยขอเวลาอีกไม่นานก็ตาม แต่ผลที่จะออกมาจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับว่า คสช. จะแปร “ความกลัว” นั้นเป็น “ความรัก” หรือ “ความเกลียด” นั่นเอง

-----------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 16 กันยายน 2558