วันเสาร์, กันยายน 19, 2558

จดหมายเปิดผนึกจาก กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD) วิจารณ์บทบาทนายเอกพงษ์ ตรีตรง คณบดีคณะมัณฑนศิลป์, มหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนเผด็จการทหารอย่างเปิดเผย




กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD)

จดหมายเปิดผนึก วิจารณ์บทบาทนายเอกพงษ์ ตรีตรง คณบดีคณะมัณฑนศิลป์, มหาวิทยาลัยศิลปากร

---------

สืบเนื่องจากกรณีที่ นายเอกพงษ์ ตรีตรง คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนเผด็จการทหารอย่างเปิดเผย และแสดงทัศนคติต่อต้านคุณค่าประชาธิปไตย ที่ว่าด้วยการเคารพสิทธิ์เสียงประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค

เรา นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์กลุ่มหนึ่งซึ่งยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย จึงขอประณามและขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ในการแสดงความคิดเห็นของผู้อยู่ในตำแหน่งคณบดีของคณะ อันเป็นความคิดเห็นซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากล ชนิดที่ถ้าหากไปแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ในเวทีโลก คงมีสภาพไม่ต่างจาก "ตัวตลกจากประเทศเผด็จการด้อยพัฒนา" ไม่สมกับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของคณะออกแบบที่มีชื่อเสียงมายาวนานที่สุดของประเทศ

ปัญหาของข้อความนายเอกพงษ์คืออะไร?

การ “รักลุงตู่” หรือรักลุงคนไหน ไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง เป็นเสรีภาพในการเลือกสนับสนุนนักการเมืองตามความชื่นชอบของตน (และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าประยุทธ์คือนักการเมืองคนหนึ่ง เพียงแต่ขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง)

การที่นายเอกพงษ์เห็นว่า เรายังไม่ควรเลือกตั้ง ยังไม่ควรให้ประชาชนไทยใช้สิทธิ์ของตน เพราะ "คนส่วนใหญ่ยังไม่มีทัศนคติแห่งการแสดงความคิดที่เห็นแก่ส่วนรวมและคัดกรองคนดีมาบริหารบ้านเมือง” ประโยคขยายขนาดยาวนี้ มีความหมายอื่นใดไม่ได้นอกจาก คนไทยยังไม่ควรได้รับสิทธิ์เลือกตั้ง เพราะยังไม่พร้อม เลือกแต่คนเลว ดังนั้นจึงควรยืดเวลาเลือกตั้งไป ดังคำที่นายเอกพงษ์ยืนยันเองว่า “ถ้าเลือกตั้งแล้วได้นักการเมืองเลวไม่ต้องเลือก!!!!!”

ทั้งหมดสะท้อนทัศนคติต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างชัดเจนไม่อาจปฏิเสธ ว่า “คนไทยยังไม่พร้อม” ซึ่งนอกจากจะเป็นการตัดสินแทนคนไทยทั้งประเทศ ดูถูกเพื่อนร่วมชาติ ยังเป็นการขัดแย้งต่อคุณค่าประชาธิปไตยอย่างถึงฐานราก

“ในฐานะนักออกแบบ เราออกแบบประชาธิปไตยแบบเราได้ ไม่ต้องแคร์ชาติใดในโลกครับ!!!!!!!!” ในประโยคลงท้าย เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนในการอธิบายจุดยืนนายเอกพงษ์

อันนำมาสู่คำถามว่า เราจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนไม่มีสิทธิ์เสียง?

การพยายามเรียกสิ่งนี้ว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการเหนียมอายที่จะยอมรับว่า ตนสนับสนุนระบอบเผด็จการ เพราะไม่มีคุณค่าใดเลยที่นายเอกพงษ์อธิบาย เป็นคุณค่าแบบประชาธิปไตยที่อารยะสากลยอมรับ

การออกแบบทุกชนิดนั้นแม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ย่อมต้องมีหลักการพื้นฐานที่เป็นสากลร่วมกัน การใช้คำว่าประชาธิปไตยแต่ปฏิเสธคุณค่าพื้นฐาน ย่อมไม่ต่างกับงานออกแบบที่มีไว้เพียงสนองอัตตาของตน มิได้มีไว้เพื่อตอบโจทย์ของสังคมอย่างแท้จริง

คำว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" ของนายเอกพงษ์ จึงมีความหมายไม่ต่างจาก ประชาธิปไตบแบบจีน หรือประชาธิปไตยแบบเกาหลีเหนือนั่นเอง

นอกจากนี้การตอบโต้ของนายเอกพงษ์ ยังกระทำด้วยท่าทีที่แสดงถึงวุฒิภาวะทางความคิดและอารมณ์ไม่เหมาะสมกับสถานะและตำแหน่งคณบดี ราวกับเด็กที่ไม่เคยพบเจอการวิพากษ์วิจารณ์และการเห็นต่าง

การรักใครหรือสนับสนุนใครไม่ใช่ปัญหา นายเอกพงษ์จะ "รักลุงตู่” หรือคิดว่ารัฐบาลเผด็จการทหารทำหน้าที่ได้ดีน่าชื่นชมก็ไม่ใช่ปัญหา

ปัญหาคือ “ใครบ้างที่มีสิทธิ์ตัดสิน?” นายเอกพงษ์ซึ่ง “รักลุงตู่” หรือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ?

ในฐานะที่นายเอกพงษ์อยู่ในตำแหน่งคณบดีของคณะมัณฑนศิลป์ อันเป็นเหมือนดังบ้านที่เราเล่าเรียนมา การกระทำใดๆของนายเอกพงษ์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้สังคมมองชื่อ “มัณฑนศิลป์” ในทางที่ผิด ว่าเป็นผู้รับใช้เผด็จการทหาร และดูถูกเพื่อนร่วมชาติ

ในขณะที่ประชาคมมัณฑนศิลป์ หรือ “ชาวเด็ค” และชาวศิลปากรอีกจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายเอกพงษ์และคณะเผด็จการทหาร ขอประกาศจุดยืนอยู่เคียงข้างประชาชน ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพ, เสมอภาค และประชาธิปไตย ในฐานะ "นักออกแบบประชาธิปไตย” ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่คือประชาธิปไตยสากลดังโลกอารยะ

ด้วยความเคารพ
มัณฑนศิลป์ซึ่งยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย
17 กันยายน 2558