วันอาทิตย์, กันยายน 20, 2558

หรือว่าการตากหน้าไปยูเอ็นของประยุทธ์ จันทร์โอชา ครานี้เป็นเช่นที่ ดิ เอ็คโคโนมิสต์ ค่อนแคะ




หรือว่าการตากหน้าไปยูเอ็นของประยุทธ์ จันทร์โอชา ครานี้เป็นเช่นที่ ดิ เอ็คโคโนมิสต์ ค่อนแคะ

บทความเรื่อง ‘Under the umbrella’ ของคอลัมน์ Banyan ในนิตยสาร The Economist ฉบับ Sep 19th 2015 อ้างอิง Benjamin Zawacki, an American writer ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับสหรัฐและกับจีน

(http://www.economist.com/…/21665016-unelected-dictatorship-…)

ที่บอกว่า

“หลังจากตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐนับครึ่งศตวรรษ (แน่ละ ในภาคส่วนหลากหลาย) ประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าอยู่ภายใต้จีน...

แต่กระนั้นก็ไม่หมายความว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเลือกมหามิตรผู้ยิ่งใหญ่แห่งใดเหนืออีกแห่งหนึ่ง”

“นอกเหนือจากแสดงความไม่พอใจกับการรัฐประหารแล้ว อเมริกายังใช้มาตรการแซงชั่นบางอย่าง ตัดความช่วยเหลือแก่ทัพบก งดการร่วมซ้อมรบและการเยี่ยมเยือน

รายงานการค้ามนุษย์ (TiP) ปีนี้ก็จัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาเลวร้ายไปกว่าเดิม นี่ทำให้กล่าวกันทั่วไปว่าเป็นการลงโทษทางการเมือง แม้ว่าอเมริกาจะไม่ยอมรับก็ตาม”

ด้านจีนนั้นเล่า “เป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทย ในจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทย ๒๕ ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว เป็นชาวจีนถึง ๔.๖ ล้านคน มากกว่าที่มาจากประเทศอื่นๆ ทั้งสิ้น

ความผูกพันจะยิ่งกระชับจากแผนการสร้างรถไฟเร็วจากมณฑลยูนานผ่านลาวและกรุงเทพฯ ไปสุดท้ายที่สิงคโปร์

ยังมีพัฒนาการอันสลักสำคัญยิ่งยวดอยู่ที่การขุดคลองตัดคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ที่คอคอดกระ ซึ่งเป็นจุดแคบที่สุดเพียง ๔๔ กิโลเมตร (๒๘ ไมล์)

ที่จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อจีน ทำให้ไม่ต้องไปพึ่งช่องมะละกาในการเดินเรือสำหรับขนส่งสินค้าทางทะเล อันเป็น จุดอับ สำหรับจีน หากมีการคุกคามจากศัตรู อาทิ อเมริกา”

ทั้งสองประเทศปฏิเสธแผนการขุดคอคอดกระมูลค่า ๒๘,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ที่มีรายงานข่าวในสื่อจีนนี้

แต่จากการที่มีรายงานข่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า เวียตนามกำลังจะสร้างท่าเรือขนาดใหญ่บนเกาะแห่งหนึ่งห่างจากปลายแหลมใต้สุดของประเทศจีนเพียง ๑๗ กิโลเมตร ทำให้เกิดการคาดคะเนกันอีกครั้งว่าโครงการเก่าแก่บนคอคอดกระน่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

“ความฝันลมแล้วแต่ครั้งโบราณเช่นนั้นกลับมาเป็นที่กล่าวถึงอย่างจริงจังเวลานี้ ตั้งอยู่บนการตีความสรุปว่า เวลานี้ประเทศไทยอยู่ในกระเป๋าของจีน

การตีความเช่นนี้ใช้กับกรณีที่ไทยจับส่งผู้ลี้ภัยชาวอัยกูร์กลับไปให้จีนเมื่อเดือนกรกฎาคม”

บทความกล่าวถึงความสัมพันธ์แนบแน่นของไทยกับจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เป็นผลจากการที่สหรัฐแสดงท่าทีอึดอัดกับการรัฐประหาร (แต่บทความก็กล่าวถึงความพึงพอใจที่จีนไม่ได้วิพากษ์การยึดอำนาจอย่างอเมริกา)

ความใกล้ชิดเริ่มมาแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ เมื่อจีนยุติการสนับสนุนที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จากนั้นมาความสัมพันธ์ราบรื่นโดยตลอด จนเรียกได้ว่าใกล้ชิดที่สุดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดีนายซาแว็คกิได้กล่าวไว้ว่า ไทยจะไม่กลายเป็นประเทศในเครือของจีนอย่างแน่นอน มติมหาชนในไทยไม่ยอมรับเรื่องนี้

การส่งอัยกูร์ไปให้ตามคำร้องขอของจีนถูกสวดยับภายในประเทศเช่นเดียวกับนานาชาติ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนของกองทัพเรือถูกแขวนไว้หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์เกิดขึ้นมาก

“แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งที่ส่วนหนึ่งของฝ่ายอำมาตย์ยังคงต้องการรักษาสัมพันธ์ใกล้ชิดอเมริกาเอาไว้...

ในอาทิตย์นี้เองทางการไทยแสดงท่าทีใหม่ในการเข้าร่วมในกลุ่มข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ที่ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย” (ก่อนหน้านี้รัฐบาล คสช. ขอสงวนท่าทีไม่ตอบรับ)

บทความลงท้ายว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่ถึงขั้น ‘สงครามเย็น’ ใครที่ผูกมิตรแนบแน่นกับทั้งสองประเทศทั้งสองไม่จำเป็นต้องผละจากรายหนึ่งไปสู่อีกรายหนึ่ง

ข้อสำคัญ อุบัติการณ์จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทำให้ไม่ว่าประเทสไทยหรือประเทศไหนๆ ในโลกเห็นว่า

“สัมพันธภาพกับอเมริกาเป็นสิ่งน่าพิศมัยกว่าครั้งใดๆ ที่เป็นมา”