โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
ข่าวการลงประชามติของชาวสก็อตเพื่อแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร์เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ที่ผ่านมา ได้สร้างความสนใจไปทั่วโลก พร้อมกับความงุนงงสงสัยให้แก่ชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนวิชารัฐศาสตร์มาโดยตรงว่าสหราชอาณาจักร์คืออะไร สถานะของสก็อตแลนด์นั้นตกลงเป็นอะไรกันแน่ระหว่างการเป็นรัฐ ชาติหรือประเทศ
ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้เรามาเข้าใจกันก่อนว่ารัฐ ชาติ ประเทศ รัฐเดี่ยว รัฐรวม นั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
คำว่า รัฐ ชาติ และประเทศ (state, nation and country) เรามักจะใช้สลับสับเปลี่ยนปะปนกันไปมาอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่คำว่ารัฐ ชาติ และประเทศ มีความหมายทางรัฐศาสตร์ที่แตกต่างกัน
รัฐ (state) ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๔ ประการ คือ ประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย ในทางวิชาการความหมายของรัฐนั้นจะเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง หมายความว่า ประชาชนอยู่ภายใต้ระบบการเมืองและอธิปไตยเดียวกัน รวมทั้งการมีเอกราชเต็มที่ รัฐจะมีสถานะของตนเองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการที่จะเป็นรัฐๆ หนึ่งขึ้นมาได้จะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นๆด้วย ฉะนั้น รัฐจึงสูญสลายหรือเกิดใหม่ได้ไม่ยากนัก เช่น สิงคโปร์ หรืออิสราเอล แม้กระทั่งติมอร์ตะวันออกก็เพิ่งก่อตั้งเป็นรัฐมาเมื่อไปไม่กี่ปีมานี้เอง
การที่จะพิจารณาว่าเป็นรัฐหรือไม่ จำนวนประชากรหรือขนาดพื้นที่มิใช่สิ่งสำคัญ นครรัฐวาติกัน มีเนื้อที่เพียง ๐.๔ ตารางกิโลเมตร ประชากรพันกว่าคนก็มีสภาพเป็นรัฐ สหภาพโซเวียตเคยเป็นรัฐใหญ่ที่สุดมีดินแดน ๒๒ ล้านตารางกิโลเมตร หรือ สหรัฐอเมริกามีพื้นที่ประมาณ ๙.๕ ล้านตารางกิโลเมตร ก็เป็นรัฐเช่นเดียวกันกับนครรัฐวาติกัน หรือ รัฐติมอร์ตะวันออก หรือแม้กระทั่ง สิงคโปร์ที่เป็นเกาะเล็กนิดเดียว
โดยเราสามารถแบ่งลักษณะของรูปแบบของรัฐได้เป็น ๒ อย่างคือ รัฐเดี่ยว(unitary state) กับรัฐรวม(compound state) ซึ่งเป็นการรวมกันของรัฐตั้งแต่ ๒ รัฐขึ้นไป ซึ่งรัฐรวมแบ่งได้เป็นอีก ๒ อย่าง คือ สหพันธรัฐ(federation state)ซึ่งรวมกันอย่างแน่นหนาด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น สหรัฐอเมริกา(United State) ฯลฯ และสมาพันธรัฐ(confederation state) ซึ่งรวมกันอย่างหลวมๆด้วยสนธิสัญญา เช่น สหภาพยุโรป(European Union) ฯลฯ
นอกจากนั้นเรายังสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐตามลักษณะประมุขของรัฐได้เป็นรูปแบบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเราเรียกว่า “ราชอาณาจักร(Kingdom)” เช่น ราชอาณาไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา ฯลฯ กับรูปแบบ “สาธารณรัฐ(Republic)”ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ
ชาติ (nation) นั้นจะเน้นไปที่ความผูกพันกันในทางเชื้อชาติ(race)หรือสายเลือด เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือการยึดหลักประเพณีร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ชาติจึงไม่สูญสลายไปง่ายๆ ดังเช่นความเป็นรัฐ ตัวอย่างใกล้ตัวก็คือแม้ว่าจะไม่มีรัฐมอญปรากฏบนแผนที่โลก แต่ในความเป็นจริง "ชาติมอญ" ยังคงอยู่ทั้งในพม่า หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย คำว่าชาตินี้เองมักจะเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะแต่ละชาติก็อยากเป็นใหญ่ แต่ละชาติก็อยากสร้างรัฐ ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยม และในหลายๆ ครั้งนำไปสู่สงครามกลางเมือง
ประเทศ (country) ส่วนคำว่าประเทศนั้น มีความหมายเน้นหนักไปในด้านดินแดน ดังนั้นประเทศจึงเป็นแหล่งรวมของชาติ และก่อให้เกิดรัฐขึ้น ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างรัฐกับประเทศที่เห็นชัดก็คือไต้หวัน ซึ่งเมื่อดูองค์ประกอบต่างๆ แล้วไต้หวันมีประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตยภายใน แต่ขาดอำนาจอธิปไตยภายนอกซึ่งก็คือ การรับรองจากรัฐอื่นและสหประชาชาติ ฉะนั้น ในทางรัฐศาสตร์แล้วไต้หวันจึงอยู่สถานะที่มิใช่เป็นรัฐแต่มีสภาพเป็นประเทศ แม้ว่าจีนจะถือว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้นก็ตาม
สหราชอาณาจักร(United Kingdom) คือ อะไร
ในหมู่เกาะอังกฤษนั้นจะประกอบไปด้วยดินแดนใหญ่ๆคือ เกาะไอร์แลนด์และเกาะบริเตนใหญ่ บนเกาะไอร์แลน์มีสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (The Republic of Ireland) และ ไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ส่วนเกาะบริเตนใหญ่(Great Britain)นั้น มีอังกฤษ (England) สก็อตแลนด์ (Scotland) และเวลส์ (Wales) เมื่อรวมเข้ากับไอร์แลนด์เหนือด้วยแล้ว คือ สหราชอาณาจักร (The United Kingdom)
จากที่กล่าวมาทั้งจะสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือว่า สหราชอาณาจักร(United Kingdom) คือรัฐรวมในรูปแบบสหพันธรัฐ(federation state)เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา(United State) ที่ประกอบด้วยรัฐเล็กๆต่างๆมารวมกันโดยรัฐต่างๆยอมสละหรือถูกริดรอนอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่รัฐบาลกลาง และที่เรียกว่า สหราชอาณาจักร(United Kingdom)ไม่เรียกว่าสหพันธรัฐหรือสาธารณรัฐเพราะมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุข(ในที่นี้คือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒)นั่นเอง
แล้วสก็อตแลนด์(Scotland)ล่ะเป็นอะไร
ที่แน่ๆสก็อตแลนด์ไม่ใช่รัฐ(state)อย่างแน่นอนเพราะไม่มีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่เป็นชาติ(nation)เพราะมีเชื้อชาติและภาษาเป็นของตนเอง คือ Scotish และเมื่อพิจารณาในแง่ของขอบเขตดินแดนที่เป็นสัดส่วนชัดเจนก็สามารถเรียกได้ว่าสก็อตแลนด์เป็นประเทศ(country)เช่นกัน(FIFAก็รับรองให้เป็นประเทศที่สามารถส่งทีมฟุตบอลแข่งบอลโลกหรือบอลยูโรได้)
ส่วนรัฐต่างๆที่ได้รับเอกราชแล้วซึ่งรู้จักกันในนาม “เครือจักรภพ” (The Commonwealth Realms) ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี นิวซีแลนด์ จาไมกา หมู่เกาะโซโลมอน เบลีส บาฮามาส บาร์เบโดส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ เกรเนดา แอนติกาและบาร์บูดา เซนต์คิตส์และ เนวิส และทูวาลู โดยทั้งหมดนี้ล้วนได้รับอิสรภาพในการปกครองตนเอง แต่ยังคงยอมรับให้กษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีอำนาจในรัฐนั้นๆแล้วก็ตาม ซึ่งสก็อตแลนด์ก็จะอยู่ใน “เครือจักรภพ”นี้เช่นกัน หากผลกันลงประชามติในวันที่ ๑๘ กันยายนที่ผ่านมาออกมาในทางตรงกันข้ามคือเป็นเอกราชแต่ยังเลือกที่จะให้กษัตริย์(สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่๒)เป็นประมุขอยู่เช่นเดิม
--------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗