ที่มา มติชนออนไลน์
บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ
มติชนสุดสัปดาห์ 24-30 ตุลาคม 2557
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารกิจการบ้านเมืองยังไม่ถึง 2 เดือน แต่ถ้าจะนับเวลารวมกับอีก 3 เดือนก่อนหน้า ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) "บริหารประเทศ" ด้วยแล้ว
ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา นับว่า "บิ๊กตู่" ต้องแบกความหวังของคนทั้งประเทศ รวมถึงการประคับประคองเศรษฐกิจในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ควบคู่การรักษาอุณหภูมิทางการเมือง
ไหนจะปัญหาประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าใช้จ่าย
ไหนจะปัญหาข้าวของแพงจนคนชักหน้าไม่ถึงหลัง
ยังไม่รวมถึงตัวเลขการส่งออกที่ยังติดลบ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงต่ำกว่าปกติ
เศรษฐกิจไทยอาการหนักหนาขนาดที่ว่า ก่อนเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปคที่นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกปากยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในภาวะชะงักงัน หรือ "stagnation"
นั่นคือ คนจนไม่มีงานทำ หางานทำยาก แบบที่คนจนเรียกว่า เงินฝืด ส่วนคนไม่จน มีเงินเยอะแยะ แต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะดอกเบี้ยถูก
รัฐมนตรีคลังบอกอีกว่า "ภาวะเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในภาวะที่ผมเคยจำศัพท์ได้ว่า เขาเรียกว่า Stagnation คือมันเกิดหยุดอยู่กับที่ คนมีตังค์ก็ไม่อยากลงทุน ไม่อยากเคลื่อน ส่วนคนจนไม่มีตังค์ก็เลยเคลื่อนไม่ออก"
ประมาณว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เหมือนกับเพลงฮิตท่อนหนึ่งที่ว่า ...งึกๆ งักๆ มันเป็นงึกๆ งักๆ มันเป็นกะอึ่กกะอั่ก มันเป็นจึ๊กๆ จั๊กๆ... จริงๆ
ถึงแม้ขุนคลังสมหมายจะยืนยันว่า ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันนี้ "ไม่เสี่ยง" เพราะประเทศไทยยังมีฐานะการเงินการคลังดี แม้ปีงบประมาณที่ผ่านมา จะเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปกว่า 2 แสนล้านบาท และรัฐบาลก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคสอง ต่อจากภาคแรกที่อัดฉีดช่วยเงินชาวนา 40,000 ล้านบาท ใช้งบฯ เหลื่อมปี งบฯ กลาง และงบประมาณไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) จ้างงานอีกกว่า 324,000 ล้านบาท
"รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคสอง ซึ่งต้องขอรอประเมินผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 ก่อน"
กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วดั่งใจหวังหรือไม่ เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหลายบ่งชี้ว่า สถานการณ์ไม่น่าวางใจ
ปีนี้หลายสำนักเศรษฐกิจต่างต้องปรับคาดการณ์จีดีพีลดลงต่ำกว่า 2% อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารโลก ประมาณการไว้ที่ 1.5% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าจะโต 1.6%
และสิ้นเดือนตุลาคมนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็เล็งจะปรับประมาณการจีดีพีลดลง จากปัจจุบันให้ไว้ที่ 1.5-2.5% และต่างให้ความหวังว่า จีดีพีไทยปี 2558 จะเติบโตขึ้นในระดับ 4-5%
ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อธิบายว่า คำว่า stagnation ตามที่ รมว.คลังพูดถึง คือการเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือต่ำกว่าศักยภาพค่อนข้างมาก และก็เกิดขึ้นแล้วกับประเทศไทยในปีนี้ แม้จะยังไม่ถึงกับเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) หรือจีดีพีติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาสก็ตาม ถือว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ก็โตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งควรจะเป็น 4-5%
มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ยิ่งถ้ามองไปข้างหน้า ก็น่ากังวลว่า หากเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพต่อไปอีก ก็จะทำให้ในปีหน้า เป็นการโตต่ำติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และจะกดดันมาออกแบบนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พบว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาตั้งแต่ปี 2556 ที่มีจีดีพี 2.9% ส่วนปี 2557 คาดว่าจะเติบโต 1.5-2.0% แล้ว ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอ ติดลบ 0.1%
ขณะที่ภาคส่งออกที่เป็นหัวจักรสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีน้ำหนักในจีดีพีกว่า 70% ตัวเลขการส่งออก 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) จากการเปิดเผยของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าติดลบ 1.36%
ด้านการท่องเที่ยวอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญ ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 15,703,000 คน หรือติดลบ 11.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"ปัจจัยส่งออกเป็นประเด็นที่น่ากังวล สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า ว่าจะเติบโตได้ตามศักยภาพหรือไม่ หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่นเดียวกับ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวไปถึงปีหน้า และกดดันภาคส่งออกของไทยโดยตรง"
ดร.เชาว์กล่าว
อีกด้านหนึ่ง มุมมองของ "แบงก์ชาติ" หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูจะไม่ต้องการให้คนไม่วิตกังวลหรือมองภาพเศรษฐกิจไทยเชิงลบเกินไป
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกแบงก์ชาติ ยอมรับว่าการเติบโตของไทยอาจดูไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต เพราะการฟื้นตัวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เศรษฐกิจจึงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันตามข้อมูล ธปท. พบว่า ในไตรมาส 2/2557 ยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นเป็น 10,029,545 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 2% เมื่อดูเข้าไปในรายละเอียดพบว่า เป็นการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมากที่สุดใน 3 หมวด
ได้แก่ สินเชื่อเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัย 1,547,272 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 883,435 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่นๆ 863,070 ล้านบาท โดยเปลี่ยนแปลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน +13%, -1% และ +14% ตามลำดับ
ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยเพิ่มขึ้นเป็น 83.5% จากระดับ 81.5% เมื่อสิ้นปีก่อนหน้า และติด 1 ใน 2 ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุดในอาเซียนรองจากมาเลเซีย
นั่นทำให้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 83% กำลังเป็นที่จับตามองในช่วงนี้ ว่าจะสะท้อนความเปราะบางทางการเงินมากน้อยเพียงใด
ขณะที่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยซึ่งมีทิศทางขาขึ้น อาจทำให้ภาระการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น เพิ่มปัญหาจากหนี้ครัวเรือนที่สูงในปัจจุบัน
และเมื่อคนเป็นหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ก็จะไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยและจะลดการบริโภค ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เติบโตมากนักอีกทางหนึ่งด้วย
ภาวะเช่นนี้มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศในภาวะเศรษฐกิจมีความเปราะบาง และฟื้นตัวช้า ซึ่งตอนนี้มีมาตรการระยะสั้นออกแล้ว แต่ยังไม่เห็นมาตรการระยะกลาง หรือระยะยาวในปีหน้าออกมา
พิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจ ตลอดจนสัญญาณที่กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ และกูรูเศรษฐกิจ ประเมินออกมาแล้ว ทำให้อดกังวลไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยบนบ่า "บิ๊กตู่" จะฟื้นตัวรวดเร็วสมใจแฟนคลับหรือไม่
เพราะถ้าพลั้งเผลอไป หรือแก้ไขไม่ตรงจุด ก็มีโอกาสหลุดโค้งตกขอบ
และเกิด "ภาวะชะงักงัน" ไปถึงปีหน้าได้เช่นกัน