วันอังคาร, ตุลาคม 28, 2557

หลวงลุงกำนัน เดินสายเทศน์มโน กู้วิกฤตศรัทธา คสช.


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องยอมรับว่า ในขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดังขึ้น และยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไป คำถามก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอน เหตุที่เกิดคำถามก็เพราะนับตั้งแต่รัฐประหารจนถึงการจัดตั้งรัฐบาล ประชาชนยังไม่ได้สัมผัสถึง “ผลงาน” อันเป็น “รูปธรรม” ที่เป็นชิ้นเป็นอันพอจะจับต้องได้

ทางด้านเศรษฐกิจ ผลงานที่เห็นได้ชัดที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานมีมติให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่22 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นการเปิดให้สัมปทานทั้งๆ ที่อยู่ระหว่างการถกเถียงว่าเป็นระบบที่ประเทศชาติและประชาชนไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ แถมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่ คสช.ตั้งขึ้นมายังไม่ได้ทำงานเสียด้วยซ้ำไป

นั่นแสดงว่า รัฐบาลและคสช.มีธงในเรื่องการปฏิรูปพลังงานอยู่แล้วใช่หรือไม่

ขณะที่ภาคประชาชนนำเสนอเรื่องระบบแบ่งปันผลผลิตหรือการรับจ้างผลิต รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กลับไม่สนใจ และตัดสินใจเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยคณะกรรมการนโนบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นประธานได้มีมติเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่ต้องแปลกใจที่ก่อนหน้านี้ “นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ซึ่งปรากฏตัวอยู่หลังเวที กปปส.อยู่เป็นประจำ ได้รับเลือกจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นประธานบอร์ด ปตท. พร้อมกับปรากฏคนในสายทุนพลังงานหน้าตาเดิมๆ เข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสายพลังงานเป็นจำนวนมาก โดยที่มิได้สนใจความคิดเห็นหรือความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง

ในเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยที่ไม่ต้องรอ “พิมพ์เขียว” จาก สปช.สายพลังงาน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วจะมี สปช.เอาไว้ทำอะไร และการเดินหน้าเปิดสัมปทานเป็นนโยบายที่มีความแตกต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรตรงไหน

และในเมื่อการปฏิรูประบบพลังงานเป็นอย่างนี้ การปฏิรูปในด้านอื่นๆ จะแตกต่างกันเช่นนั้นหรือ

นอกจากเรื่องน้ำมันแล้ว สิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ก็คือนโยบายการแก้ไข ปัญหาราคาข้าวให้กับชาวนา ตลอดรวมถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำที่กำลัง มะงุมมะงาหราซึ่งทำเอา พล.อ.ประยุทธ์หัวเสีย

“อย่าเรียกร้องกันมาก แล้วจะเอาเงินที่ไหน งบประมาณแผ่นดินมีเท่าไร เก็บภาษีรายได้รัฐเก็บได้เท่าไร ขาดทุนเท่าไรแล้ว ปีหน้าจะเก็บได้หรือไม่ก็ไม่รู้ พอบอกจะขึ้นภาษีก็ร้องโอ๊ยว่าไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ไอ้นี่จะเอาเยอะ แล้วจะเอาเงินจากตรงไหนวะ แจกคูปองได้มั้ย อีกหน่อยก็แจกคูปองให้หมดแล้วกัน”พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดัน

ไหนจะเรื่องค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นทุกวันๆ อันเป็นผลพวงจากต้นทุนพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และไม่ต้องนับเรื่องการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพงที่เวลานี้ยังมะงุมมะงาหราและไม่มีทีท่าว่าจะทำสำเร็จเลยแม้แต่น้อย

ขณะที่ปัญหาทางด้านสังคมก็ต้องยอมรับว่า คดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ทำลายความน่าเชื่อของประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐบาล-คสช.ไปจนถึงจุดต่ำสุด เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเชื่อ ว่า 2 ชาวพม่าที่จับกุมได้เป็นฆาตกรตัวจริง กระทั่งผู้นำพม่าต้องเอ่ยปากต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์เมื่อคราวไปเยือนพม่าว่าขอให้การสืบสวนดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและรัฐบาลอังกฤษถึงกับเรียกอุปทูตไทยเข้าพบ รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมคลี่คลายคดีอีกต่างหาก

แถมล่าสุด ผู้ต้องหาชาวพม่าทั้ง 2 คนได้กลับคำให้การเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรที่แอ่นอกรับประกันมาตั้งแต่เริ่มต้นจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เพราะถ้าผู้นำสูงสุดไม่เห็นแก่เพื่อนพ้องน้องพี่และคนของตนเองจนเกินไป การกลัดกระดุมเม็ดแรกในคดีก็จะไม่ผิดเพี้ยนจนโลกทั้งโลกไม่ให้ความเชื่อถือเช่นนี้

ไม่นับรวมเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่ยังไม่ได้เริ่มตั้งไข่ หากแต่ยังวนเวียนอยู่รับระบบเดิมด้วยการการแต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปทดแทน ซึ่งก็มิได้ต่างอะไรกับรัฐตำรวจในยุคระบอบทักษิณเรืองอำนาจเสียด้วยซ้ำไป

สำหรับการปฏิรูปการเมืองก็ตกอยู่ในภาวะที่น่าปริวิตกเกี่ยวกับนโยบายเรื่องการปรองดองของรัฐบาลว่าจะดำเนินการไปถึงขนาดไหน เพราะแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างกรณีการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิชและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สนช.สายทหารก็เล่นเกมเตะถ่วงจนผู้คนสงสัยกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่ามีอะไรในก่อไผ่

กรณีการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจากคดีจำนำข้าวก็ไม่คืบหน้า แถมรัฐบาลยังหาช่องทางกู้เงิน 8 แสนล้านบาทจากการออกพันธบัตรกู้เงินจากประชาชนมาล้างภาระให้สิ้นภายใน 30 ปี แทนรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผลอๆ สุดท้ายจะไม่มีใครต้องรับผิดจากอภิมหาโครงการทุจริตมูลค่าหลายแสนล้านบาทนี้เลยก็ว่าได้ เพราะมีเสียงแบะท่าออกมาจาก “ขาใหญ่ด้านกฎหมาย” ของผู้มากบารมีอยู่แล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ในฟากของคนเสื้อแดงก็ดูจะมีความสุขจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กันอย่างทั่วหน้า ดังจะเห็นได้จากการที่ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุงได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองให้กลุ่มอดีต ส.ส.ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะอดีต ส.ส.ภาคอีสานพรรคเพื่อไทยฟังว่า คนที่ได้กำไรจากการปฏิวัติที่สุดไม่ใช่ กปปส. หรือพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่เป็นพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะช่วยแก้ปัญหาการเมืองในพรรคเพื่อไทยให้หลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงกำลังเคลื่อนไหวจนกระทบกระทั่งกับรัฐบาลเองในตอนนั้น ปัญหาความวุ่นวายหลายอย่างในปลายรัฐบาล

ที่สำคัญคือ ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า เมื่อประเทศคืนสู่ภาวะปกติ เปิดให้มีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยยังจะชนะเลือกตั้งได้กลับมาเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม เพราะชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณทางเหนือ อีสาน ยังขายได้

บทวิเคราะห์ของเป็ดเหลิมคือความจริงที่สร้างความสั่นสะเทือนทางการเมืองต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล-คสช.เป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูท่าทีที่ผ่านมาก็สอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากรัฐบาลไม่เคยระบุถึงความผิดของระบอบทักษิณ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็คงว่ากล่าวอะไรไม่ได้เช่นกัน เพราะ คสช.ระบุชุดเจนถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารว่า เพื่อต้องการทำให้ประเทศเดินหน้า มิใช่เพื่อถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณหรือแสดงให้ประชาชนคนไทยเห็นถึงความน่ากลัวของระบอบนี้

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพูดให้ร้ายระบอบทักษิณ เพราะถือว่าจะทำไม่ให้เกิดการปรองดอง

ทว่า สิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้เป็นรูปธรรมก็คือ การแต่งตั้งคนของตนเองจำนวนมากเข้ามาในองค์กรหลักๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งรัฐบาล หน่วยงานราชการต่างๆ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ไม่ว่าจะเป็นจาก “ประวิตรคอนเนกชั่น” หรือ “ประยุทธ์คอนเนกชั่น” ก็ตาม

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดคำถามขึ้นในใจของคนที่สนับสนุน คสช. โดยเฉพาะมวลมหาประชาชนนับล้านๆ คนที่พร้อมใจกันออกมาบนท้องถนนเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และส่งเสียงยินดีปรีดาเมื่อ คสช.ตัดสินใจทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศว่า สุดท้ายแล้ว ประเทศชาติและประชาชนจะได้อะไร การปฏิรูปประเทศไทยจะสัมฤทธิผลได้จริงๆ หรือ เพราะเมื่อตรวจการบ้านดูแล้วมิได้เห็นความแตกต่างเกิดขึ้น

และแน่นอน เมื่อกล่าวถึงมวลมหาประชาชนก็ต้องตรวจสอบไปที่ท่าทีของ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส.ที่เวลานี้ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัตรและจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกขพลาราม โดยมีชื่อในทางธรรมว่า “ปภากโรภิกขุ” เพราะไม่ว่าจะอย่างไร “หลวงลุงกำนัน” คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองหลัง คสช.ทำรัฐประหาร

เมื่อครั้งนายสุเทพตัดสินใจบรรพชาอุปสมบท เขาให้เหตุผลว่า เพื่อความสงบ และเหน็ดเหนื่อยจากการต่อสู้มายาวนาน

แต่ความจริงวันนี้ ดูเหมือนว่า หลวงลุงกำนันจะไม่ได้ปรารถนาความสงบจากการบวชอย่างแท้จริง เพราะหลวงลุงกำนันยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ผ่านกิจกรรมและคำให้สัมภาษณ์อย่างต่อเนื่อง

ยิ่งการปรากฏตัวบนปกนิตยสารชื่อดังอย่าง LIPS ด้วยแล้ว ยิ่งงวยงงสงสัยว่า มีเป้าประสงค์อะไร

แทนที่หลวงลุงกำนันจะอาศัยผ้าเหลืองซึ่งผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเตือนสติรัฐบาลเมื่อกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือมิได้เป็นไปตามแนวทางที่ กปปส.เคยตั้งธงเอาไว้ หลวงลุงกำนันกลับคอยปกป้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในแทบจะทุกเรื่อง ต่างกันก็เพียงเปลี่ยนจากการทำให้คน “มโน” ในภาพของลุงกำนันเป็น “มโน” ในบทบาทของ พระสุเทพ ปภากโรเท่านั้น

บัดนี้คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่า หลวงลุงกำนันมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับคณะรัฐประหารแค่ไหน และเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันหรือไม่

กรณี “เกาะเต่า” คือตัวอย่างที่ประทับรับรองภาพลักษณ์ของ คสช.โดยตรง เพราะยังไม่ทันทีเรื่องจะดำเนินไปถึงขั้นตอนไหน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตลอดรวมถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ออกมารับประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ไก่โห่ จนเกิดคำถามว่า เป็นเพราะเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นเพราะเชื่อในคนของตนเองที่ถูกส่งเข้ามาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชื่อ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” กันแน่นอกจากนี้ ภายหลังจากมีกระแสความไม่น่าเชื่อถือในการจับกุม 2 ผู้ต้องสงสัยชาวพม่าในคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษดังขึ้นจากการตั้งข้อสังเกตของ “เพจ CSI LA สิ่งที่สังคมได้เห็นคือการที่ “เจ๊ปอง-อัญชะลี ไพรีรัก” แกนนำคนสำคัญของ กปปส.ออกมาทำให้เรื่องที่มีคนตั้งข้อสงสัยกลายเป็นเรื่องของ “สงครามสีเสื้อ” หน้าตาเฉย

และสิ่งที่สังคมได้เห็นในเวลาต่อมาก็คือ การที่หลวงลุงกำนันออกหน้าด้วยตัวเองโดยการนำพุทธศาสนิกชนไปทำบุญทอดกฐินที่วัดเกาะเต่า แถมยังให้สัมภาษณ์แสดงความเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ ทั้งๆ ที่คนไทยแทบจะทั้งประเทศและชาวต่างชาติพากันคลางแคลงใจจนกระทั่งรัฐบาลพม่าและอังกฤษ ได้ขอเข้ามามีส่วนร่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ถ้ายังจำกันได้ การทำงานของตำรวจในครั้งนี้และการแต่งตั้งนายตำรวจทั่วฟ้าเมืองไทยในครั้งนี้ ก็ถือเป็นหนังคนละม้วนกับการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมาสมัยที่ยังเป็นลุงกำนัน