ที่มา Thai Voice Media
THU, 10/16/2014
“ยุวดี”นักข่าวอาวุโสทำเนียบวิจารณ์ “ประยุทธ์”ไม่เหมาะเป็นนายกฯ อคติ –อาฆาต เผด็จการกว่ายุค 14 ตุลา เตือนระวัง“พัง”พร้อมเสนอ ปฎิรูปกองทัพก่อนปฎิรูปประเทศ
นางยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ “Thaivoicemedia.com” กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่พอใจเกี่ยวกับการซักถามและการทำข่าว ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า โดยส่วนตัวไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไร กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะตลอดเวลาการทำงานข่าวมา 40 ปี จะให้เกียรติกับแหล่งข่าวเสมอ ไม่ว่า นายกรัฐมนตรี จะมาจากการเลือกตั้ง หรือ มาจากการรัฐประหาร ซึ่ง นักข่าวทุกคน จะต้องศึกษา ประวัติความเป็นมา ลักษณะอุปนิสัยของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนอยู่แล้ว จะถามอย่างไร ถึงจะได้คำตอบ หรือได้ข่าว ถามแนวไหน แบบไหนถึงจะได้ประเด็นข่าว เพื่อให้ความกระจ่างชัดในประเด็นที่ถามได้
นางยุวดีกล่าวว่า กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น คิดว่า ยังไม่เข้าใจการทำหน้าที่ของนักข่าวดีพอ นักข่าวไม่ได้มีหน้าที่เสนอข่าวด้านรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ต้องมีแง่มุมอื่น หรือความคิดเห็นอื่น ๆ ที่จะต้องนำเสนอให้รอบด้านครบถ้วน ไม่ใช่หลับหูหลับตาฟัง โดยไม่ตั้งคำถาม หรือถามอะไรที่ไร้สาละ หน่อมแน่ม ไม่ใช่
“อย่างเรื่อง คดีนักท่องเที่ยวอังกฤษถูกฆ่าที่เกาะเต่า คุณประยุทธ์ก็หาว่าพวกเราเดินตามตูดฝรั่ง ที่กล่าวหาว่า การสอบสวนของตำรวจไทยหลงทาง เราก็ถามไปตามหน้าที่ นายกฯก็ชี้แจงมาสิว่า หลงทางหรือไม่ หลงทาง เอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน ไม่ใช่มาต่อว่า ว่าตามตูดฝรั่ง ซึ่งผู้นำที่ดี เขาไม่พูดอย่างนี้ มาด่าพวกเราว่า ไม่รักชาติบ้านเมือง นักข่าวก็เป็นคนไทย รักบ้านเมืองด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่มีแต่คุณประยุทธ์ คนเดียวเสียเมื่อไหร่ ที่รักบ้านรักเมืองมากกว่าคนอื่น พูดอย่างนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำ” นางยุวดีกล่าว
นักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ยังกล่าวด้วยว่า การแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ละครั้ง แทนที่จะเอาข้อเท็จจริงที่นักข่าวสงสัยมาอธิบาย หรือมาชี้แจง กลับมาสอน มาอบรมนักข่าว บางทีพูดอบรมข่มขู่นักข่าว เป็นชั่วโมง แล้วมาต่อว่าอีกว่า ปล่อยให้พูดเป็นชั่วโมง ซึ่งก็แนะนำไปว่า ให้พูดข้อเท็จจริง กระชับ สั้น ๆ ก็พอ เพราะมีหลายเรื่องหลายประเด็น แต่กลับมาตำหนิอีกว่า ให้พูดสั้น ๆ แล้วไม่รู้เรื่อง ปัญหาบ้านเมืองจึงไม่จบ นี่ไม่ใช่วิสัยของผู้นำที่มีพฤติกรรมแบบนี้
“จะบอกว่าเมื่อลงข่าวไปแล้ว เกิดความเสียหายขึ้น ใครรับผิดชอบ นักข่าวและต้นสังกัดของนักข่าวฉบับนั้น ๆ เขารับผิดชอบของเขาอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงเขาหรอก ห่วงตัวเองให้รอดก่อนดีกว่าเถอะ” นางยุวดีกล่าว
นางยุวดีกล่าว คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีจิตใจที่เมตตา มีความยุติธรรม เป็นกลาง แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนจะดำเนินนโยบาย ของกลุ่ม กปปส.มาปฎิบัติเป็นส่วนใหญ่ และกลุ่มบุคคลที่อยู่ฝั่ง กปปส.ทำอะไรก็ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นฝ่าย นปช.พรรคเพื่อไทย คอยคิดที่จะจองล้างจองผญาญไม่จบ ไม่สิ้น
“คณะกรรมการ หรือ สมาชิก สนช. หรือ สปช.อะไรทั้งหลายทั้งปวงที่ตั้งกันขึ้นมาก็เห็นตั้งเฉพาะพวกเดียวกันเข้ามาทั้งนั้น ขณะที่ ฝ่ายตรงกันข้ามอย่าง พวกเสื้อแดง พวก นปช. ก็เอาเขาไปขังไว้เป็นปี ๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหาร เมื่อเข้ามาแล้วจะต้องนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อให้ บ้านเมืองมันเกิดความสว่าง ไม่ต้องมาขัดข้องหมองใจ ให้อภัยกันไปเสียบ้าง
ยุคเผด็จการสมัยก่อน เมื่อยึดอำนาจมาแล้วสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องทำคือ 1. จะต้องนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง หากคนไหนไม่มีคดีอาญาก็ต้องปล่อยไป ไม่ใช่ขังเขาไว้เป็นเวลา 2-3ปีแบบนี้ เราเคยถามว่าทำไมไม่ทำ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ยังมีหน้ามาบอกว่า ไม่เห็นมีนักโทษทางการเมือง ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เลิกพูดกัน แล้วไอ้ที่ขังเขาอยู่นั่นนะ มันเป็น หมา เป็น แมว หรือไงวะ จะอาฆาตกันไปถึงไหน แค่มีความเห็นต่างทางการเมืองกันก็เท่านั้น จะเอาเป็นเอาตายกันเลยหรือ คนไทยด้วยกันทั้งนั้น” นางยุวดีกล่าว
นางยุวดีกล่าวต่อไปว่า สมัย 14 ตุลา เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเสนอให้มีการนิรโทษกรรมให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่า ให้กลับออกมาด้วยซ้ำ เพราะเห็นว่า ประเทศชาติจะขาดปัญญาชนไม่ได้ เพราะยุคนั้นปัญญาชนที่มีความรู้ ความสามารถ เข้าป่ากันไปเป็นจำนวนมากทีเดียว อีกอย่าง พ่อแม่ ครอบครัวเขาที่อยู่ข้างหลัง จะได้รู้สึกสบายใจ บรรยากาศทางการเมืองที่เคยคับแค้นใจกัน หรือมีแต่ความมืดก็จะสว่างขึ้น แต่ ตรงกันข้ามกับเผด็จการสมัยนี้ ที่มี นายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามสร้างแต่พระเดช แต่ไม่ได้สร้างพระคุณ ดังนั้นเมื่อพูดอะไรไป ก็ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครศรัทธา
“เวลาที่คุณประยุทธ์ต่อว่า หรือดุด่าอย่างมีอารมณ์กับเรานั้นนะ เรารู้สึกสงสารเขานะ คือคนที่เข้ามานั่งในระดับสูงสุดของประเทศแบบนี้ ถ้าไม่รู้จักปรับตัว ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง เคยชินกับการสั่งแต่คนอื่นตลอดเวลาแบบนี้ รับรองว่า พัง นายกฯคนนี้ทำอะไรไม่ฉลาด ต้องรู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบาบ้าง อย่าลืมว่า นายกรัฐมนตรีนั้นมีหน้าที่ดูแลแก้ปัญหาให้กับประชาชน ต้องเข้าใจประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนมาเข้าใจตัวเอง เราว่า เผด็จการในอดีตสมัย จอมพลถนอม จอมพลประภาส ไม่มีปัญหากับนักข่าวเหมือนคุณประยุทธ์ ผู้นำเผด็จการเมื่อก่อนยังพร้อมที่จะรับฟัง ทำข่าวง่ายกว่ายุคนี้เยอะ” นักข่าวอาวุโส ประจำทำเนียบรัฐบาลกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรกับการที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะปฎิรูปประเทศซึ่งรวมถึงการปฎิรูปสื่อด้วย นางยุวดีกล่าวว่า คณะกรรมการปฎิรูปทั้ง 11 ด้าน กลับไปปฎิรูปตัวเองก่อนดีกว่า สื่อมวลชนจำเป็นต้องปฎิรูปและปรับตัวอยู่แล้ว ไม่งั้นจะอยู่ไม่ได้ และกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ปฎิรูปก็พวกเดียวกันทั้งนั้น คิดไปในทำนองเดียวกัน เป็นทหารเสียมากกว่าครึ่งด้วยซ้ำ อย่างนี้แล้วมันจะปฎิรูปสำเร็จได้อย่างไร
“กองทัพเองต่างหากละ ที่จะต้องเร่งปฎิรูปก่อนใครเพื่อน คิดดู นายพล ในกองทัพไทย มีจำนวนเป็นพันแล้วตอนนี้ ทำไมตั้งกันเยอะแยะ เดินกร่างเต็มไปหมด จะเหยียบกันตายอยู่แล้ว ขนาดนายกสมาคมกีฬา สมาคมมวยสมัครเล่น อะไรต่อมิอะไร ก็เป็นนายพลทั้งนั้น มันอะไรกัน และเมื่อเข้ามารับตำแหน่งด้านการบริหารต่าง ๆ โอกาสที่จะเกิดการทุจริต โดยการเรียกเปอร์เซ็นต์จากโครงการนั้น โครงการนี้ก็มีเหมือนกัน เรื่องนี้ จะไม่ให้ตรวจสอบ ไม่ให้ตั้งคำถามไม่ได้” นางยุวดีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดขอความเห็นใจว่าไม่อยากที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง บังคับให้ทหารต้องออกมารับผิดชอบ นางยุวดีกล่าวว่า พูดแบบนี้ เขาเรียกว่า พูดแบบปากกับใจไม่ตรงกัน ก็คอยดูกันต่อไปแล้วกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่เพียง 1 ปี จริงหรือไม่ นางยุวดีกล่าวว่า ก็คงจะตะแบงไปเรื่อย หากรัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ ก็ยืดไปเรื่อย เปิดทางไว้แล้ว ไม่แน่อาจจะเลือกตั้งในปี 2559 ก็ได้
“เราทุกคนรักบ้านเมืองกันทั้งนั้นแหละ อะไรที่ไม่ถูกไม่ต้องก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันไป ผู้บริหารประเทศก็ต้องรับฟัง จะเชื่อไม่เชื่อ จะทำไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่มองคนอื่นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นศัตรูไปเสียหมด” นางยุวดีกล่าว.
ooo
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
(รายงาน) นายกฯปะทะคารมสื่อ ปัญหาที่ไม่มีใครกล้าเตือน!"เราคิดว่าเรารู้ไม่เท่าท่าน" เป็นคำกล่าวของนายทหารที่เคยทำงานฝ่ายเสธ. และเคยเป็นนายทหารคนสนิทของผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพ ซึ่งอธิบายถึงหลักคิดของทหารที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามองผู้ที่เป็น "นาย" อย่างไร
คำตอบนี้ทำให้มองภาพออกว่า ในสถานการณ์ที่คะแนนนิยมของรัฐบาลเริ่มมีปัญหา และนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มถูกสื่อจี้ถามมากขึ้น จนเกิดวิวาทะกับสื่อหลายรอบ เหตุใดจึงไม่มีทหารหรือลูกน้องใกล้ชิดคนไหนกล้าเตือน
เช่น เตือนให้เลี่ยงตอบคำถาม เตือนให้เลี่ยงสัมภาษณ์ไปเลย หรือเตือนให้พูดน้อยๆ เหมือนที่ท่านเตือนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้พูดน้อยๆ หน่อย รอให้ไปพูดในสภานั่นแหละ
ที่ผ่านมาตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องก้าวข้ามเส้นข้าราชการประจำ เข้ามารับผิดชอบภารกิจของฝ่ายการเมือง ทั้งทีมงาน, ฝ่ายเสธ. และนายทหารที่ใกล้ชิดก็เคยวางยุทธศาสตร์การทำงานกับสื่อ การปรากฏตัวและให้สัมภาษณ์ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์และแสงแฟลชวูบวาบให้กับผู้เป็น "นาย" เพราะแม้เจ้าตัวจะเคยคุ้นชินมาบ้างสมัยเป็น ผบ.ทบ. แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่ต้องเจอหน้านักข่าวบ่อยครั้งเท่าเป็นหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี
มีการวิเคราะห์จุดอ่อนของ "นาย" คือ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นคนพูดจาโผงผาง อารมณ์ร้อน จึงไม่ควรต่อปากต่อคำกับสื่อเป็นอย่างยิ่ง มีการวิเคราะห์ไปถึงขั้นว่าบ้านเมืองกำลังแตกแยก สื่อเองก็มีบางคนบางกลุ่มที่ถือหางบางฝ่าย จึงอาจมีคำถามยุแหย่ ยุแยง และคำถามยั่วอารมณ์แทรกมาตลอด
แผนรับมือในระยะแรกก็คือ เลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อแบบเผชิญหน้า ยกเว้นเลี่ยงไม่ได้จริงๆ แล้วใช้การสื่อสารทางเดียว คือ พูดผ่านรายการพิเศษที่ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเท่านั้น ซึ่งแผนรับมือในระยะนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี มีแต่เสียงชื่นชม
ระยะต่อมา เมื่อมีการรับตำแหน่งทางการเมือง ย่อมเลี่ยงการให้สัมภาษณ์แบบเผชิญหน้ากับนักข่าวไม่ได้ ทีมงานก็จะพยายามกัน "นาย" ไม่ให้เดินผ่านกลุ่มสื่อ และมอบหมายทีมโฆษกให้แถลงแทน และตอบคำถามแทน การจะพา "นาย" เข้าไปในวงล้อมของนักข่าว ต้องเป็นวันที่มีแต่เรื่องดีๆ บวกๆ เท่านั้น ถ้าวันไหนมีเรื่อง "บูดๆ" ห้ามเจอสื่อเด็ดขาด
ขณะเดียวกันก็มีมาตรการจัดระเบียบสื่อให้เข้าถึงตัว "ท่านผู้นำ" ยากที่สุด
แผนรับมือในระยะที่ 2 นี้ ไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนระยะแรก เพราะ 1.เป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถกันนักข่าวได้ทุกที่ทุกเวลา 2.ประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือคนในรัฐบาลมีมากขึ้น จำเป็นที่นายกฯต้องตอบหรือชี้แจงเอง 3.ความมั่นใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการตอบคำถามสื่อมีมากขึ้น
แหล่งข่าวจากคนใกล้ชิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า เหตุปัจจัยข้อ 3 คือความมั่นใจของนายกฯ เป็นปัญหามากที่สุด โดยต้นตอของความมั่นใจ มาจากเสียงสนับสนุนของประชาชนทั้งทางตรงและผ่านทางการสำรวจความคิดเห็น หรือ "โพลล์" ของสำนักวิจัยต่างๆ ที่ให้คะแนนนายกฯสูงมาก แทบจะสูงกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก
ขณะที่สไตล์การพูดของนายกฯ ค่อนข้างถูกจริตคนไทยทั่วไป คือ พูดแบบโผงผางตรงไปตรงมา นักเลงนิดๆ ผิดก็กล้ายอมรับผิดและขอโทษ ทำให้เสียงขานรับค่อนข้างหนาแน่น
อย่างไรก็ดี จุดอ่อนล่าสุดที่ทีมยุทธศาสตร์ของรัฐบาลวิเคราะห์ออกมา ก็คือ 1.นายกฯพูดเยอะเกินไป ทั้งให้สัมภาษณ์รายวันและรายการ "คืนความสุขให้ประชาชน" ทุกวันศุกร์ ซึ่งรายการวันศุกร์เคยมีการเสนอให้ยกเลิก หรือเปลี่ยนเวลา เนื่องจากไปออกอากาศตรงกับช่วงเวลาที่มีละคร และยังเป็นช่วงค่ำวันศุกร์ ซึ่งเป็นเวลาครอบครัวในการดูโทรทัศน์ร่วมกันเพื่อความบันเทิง หากออกอากาศรายการที่เป็นข่าวสารบ้านเมืองหรือเรื่องเครียดๆ อาจทำให้ประชาชนเบื่อและกระแสตีกลับได้ แต่นายกฯยังอยากให้คงไว้เหมือนเดิม เวลาเดิม
2.นายกฯรับผิดชอบงานมากเกินไป ทำให้เวลาให้สัมภาษณ์พยายามตอบและอธิบายทุกเรื่อง เมื่อออกตัวรับผิดชอบหลายเรื่อง ไม่โยนให้ผู้รับผิดชอบตัวจริง เช่น รัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ พูดบ้าง ทำให้การชี้แจงต่างๆ เริ่มสับสน หลายครั้งสัมภาษณ์ไปก็ฟังไม่รู้เรื่อง ผู้ฟังไม่เข้าใจ นักข่าวไม่เข้าใจ
ทั้งหมดนำไปสู่บทสรุป คือ ต้องให้นายกฯประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์น้อยลง ตอบคำถามสื่อเฉพาะเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวกับภาพรวมของรัฐบาลจริงๆ รวมทั้งลดเวลา หรือย้ายเวลารายการคืนความสุขให้ประชาชน
แต่ปัญหา ณ ขณะนี้คือ ไม่มีใครกล้าเตือนนายกฯ เพราะการบริหารงานภายในของรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เป็นการนำระบบทหารมาใช้ ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงมิอาจเตือนผู้ที่เป็น "นาย" ได้ ภาพที่หลายคนอยากเห็น เช่น นำเสนอรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ พร้อมข้อเสนอแนะไปยังผู้นำรัฐบาลกลางวงประชุม หรือแม้แต่การเตือนในที่รโหฐานส่วนตัว ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้
ทางเดียวที่จะมีการ "เตือน" กันได้ คือ การเตือนจากเพื่อนสนิท เพื่อนรุ่นเดียวกันที่สนิทสนมนับถือกัน และผู้ใหญ่ที่เคารพเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ในวงประชุมของฝ่ายความมั่นคงระดับรองลงมา จึงมีการวิเคราะห์สรุปสถานการณ์ด้านสังคมจิตวิทยา และท่าทีของสื่อที่มีต่อรัฐบาล เพื่อรายงานให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงทราบ เพราะข้อเสนออาจไปถึงหูนายกฯ เนื่องจากรองนายกฯเป็นบุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคารพนับถือ
ประเด็นวิเคราะห์ก็คล้ายๆ กัน คือ สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่เอาใจช่วยรัฐบาลให้ทำงานฝ่าวิกฤติไปให้ได้ มีเพียงสื่อบางแขนงเท่านั้นที่จ้องจับผิด โดยมีจุดอ่อนสำคัญคือ นายกฯเป็นคนแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย จึงเป็นช่องทางให้สื่อถามแหย่ และเมื่อนายกฯโกรธ ก็เข้าทางสื่อ
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญที่สุดและเป็นปัญหาเดิมคือ ใครจะกล้าเตือน? เพราะตอนนี้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ผู้กุมอำนาจสูงสุดในประเทศ!