วันอังคาร, ตุลาคม 28, 2557

มองพม่าแลไทยบทเรียนปฏิรูปเพื่อปรองดอง

October 23, 2014
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เริ่มต้นวันนี้ด้วยข่าวดีของเพื่อนบ้านอย่างพม่าที่ประชาธิปไตยของเขาก้าวหน้าไปอีกขั้น

ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่นั่นกำหนดวันเลือกตั้งเบื้องต้นออกมาแล้วว่าจะมีขึ้นประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม หรือสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

เป็นการเลือกตั้งหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย ปลดล็อกให้พรรคฝ่ายค้านของ “ออง ซาน ซูจี” ที่อยู่ตรงข้ามกับกองทัพพม่าเข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศได้หากว่าชนะเลือกตั้ง

เป็นก้าวย่างสำคัญที่ผลักดันพม่าไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว

ที่น่าสนใจคือ ผู้มีอำนาจที่นั่นยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมที่เขียนเพื่อกีดกัน “ออง ซาน ซูจี” ไม่ให้เข้าสู่อำนาจ โดยมีข้อกำหนดห้ามบุคคลที่มีคู่สมรสหรือทายาทเป็นชาวต่างชาติ ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

การเลือกตั้งเมื่อปี 2012 แม้พรรคเอ็นแอลดีของ “ออง ซาน ซูจี” จะชนะเลือกตั้งถล่มทลาย กวาดเก้าอี้ส.ส. เกือบหมดสภา แต่ไม่อาจเข้าบริหารประเทศได้

นี่เป็นแบบอย่างของการปฏิรูปประชาธิปไตยเพื่อทำให้เกิดความปรองดอง

ดูพม่าแล้วย้อนมาแลไทยที่เคยเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยของชาติในอาเซียน แต่วันนี้ประชาธิปไตยของไทยแทบจะอยู่รั้งท้าย

ขณะนี้เรากำลังดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยฉีกกติกาเก่าเพื่อร่างกติกาใหม่ ไม่ใช่วิธีการแก้ไขตามครรลองที่ควรจะเป็น

กระแสข่าวที่กระเส็นกระสายออกมาไทยอาจจะเดินสวนทางกับพม่าที่แก้รัฐธรรมนูญเปิดกว้างให้ทุกคน ทุกฝ่าย มีสิทธิเท่าเทียมกันผ่านการตัดสินใจของประชาชน

ของไทยยังตั้งแง่อาจมีกติกาที่ไปจำกัดสิทธิของบางคน บางฝ่าย ที่ผูกปีชนะเลือกตั้ง เพราะทำงานได้ใจประชาชน แต่ไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้มีอำนาจ โดยอ้างว่าต้องออกแบบประชาธิปไตยให้เป็นแบบไทยๆ ไม่เดินตามก้นชาติตะวันตก

วันนี้ขั้นตอนปฏิรูประเทศเดินมาถึงจุดสำคัญแล้วคือ กำลังจะมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน แม้จะแบ่งโควตาให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 20 คน คณะรัฐมนตรี 5 คน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 คน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 10 คน

แต่ทุกองค์กรล้วนถูกแต่งตั้งมาโดย คสช. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประธานที่จะมาคุมการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะถูกแต่งตั้งโดย คสช. ด้วย

การปฏิรูปประเทศครั้งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าทหารพม่ากับทหารไทยใครใจกว้าง ใจใหญ่ และเข้าใจหลักของประชาธิปไตยมากกว่ากัน

ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับทหารฟิลิปปินส์ ทหารอินโดนีเซีย ที่ปรับบทบาทเป็นทหารอาชีพเต็มตัวไปแล้ว

ไม่รู้ว่าประเทศไทยมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่ต้องมาลุ้นว่า “กติกา” ใหม่จะดีกว่าเพื่อนบ้านอย่างพม่าหรือไม่