วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 30, 2557

สุรชาติ บำรุงสุข : รำลึก 130 ปี ร.ศ.103 : 11 ผู้กล้าแห่งการปฏิรูปสยาม

ภาพจาก วิกิพีเดีย

ที่มา มติชนออนไลน์

ยุทธบทความ

รำลึก 130 ปี ร.ศ.103 : 11 ผู้กล้าแห่งการปฏิรูปสยาม

(มติชนสุดสัปดาห์ 24-30 ตุลาคม 2557)

"ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
...

ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นพลีปรีดาอย่าช้ากาล
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย"

เทียนวรรณ


ในความพยายามปัจจุบันที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยผ่าน "การปฏิรูป" นั้น เราอาจจะพบว่าข้อเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศในการเมืองไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

เพราะหากย้อนเวลากลับสู่อดีตเมื่อครั้งสยามเริ่มต้นก่อร่างสร้างตัวเพื่อก้าวสู่การเป็น "รัฐประชาชาติ" (nation-state) หรือเป็น "รัฐสมัยใหม่" ในทางรัฐศาสตร์นั้น ได้มีข้อเสนอเพื่อหวังว่าจะเกิดการปฏิรูปการเมืองของประเทศ ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายๆ ด้าน ที่ผูกโยงถึงการอยู่รอดของสยามในอนาคต

หากพิจารณาเรื่องการปฏิรูปประเทศของสยามนั้น ว่าที่จริงแล้วอาจจะต้องหันกลับไปดูเงื่อนไขและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3

กล่าวคือ ในรัชสมัยของพระองค์ ปัจจัยใหม่ที่เข้ามามีผลอย่างมากต่อความเป็นไปของสยามก็คือ การเข้ามาของประเทศตะวันตกซึ่งมีฐานะเป็น "รัฐมหาอำนาจ" และแตกต่างจากตะวันตกในยุคอยุธยาอย่างสิ้นเชิง

เพราะการเข้ามาของรัฐมหาอำนาจตะวันตกในครั้งนี้ มีทั้งเรื่องของการแสวงหาดินแดน การขยายอิทธิพลทางการค้า การเข้ามาควบคุมจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทางเดินเรือ และการเผยแพร่ศาสนา

ท่ามกลางสถานการณ์ชุดใหม่ เริ่มมีคนไทยบางส่วนให้ความสนใจกับการเรียนรู้จากตะวันตก เช่น การศึกษาภาษาอังกฤษ หรือความสนใจในวิทยาการตะวันตก เป็นต้น

ตัวอย่างของสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (ขณะผนวชเป็นพระภิกษุ) และกลุ่มเชื้อพระวงศ์และข้าราชการบางส่วน จนกระทั่งเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 พระองค์ตระหนักดีว่า ถึงเวลาแล้วที่สยามต้องเปิดประเทศรับการเข้ามาของตะวันตก

หรืออีกนัยหนึ่งของภาษาในยุคปัจจุบันก็คือ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่สยามต้องเปิดรับโลกาภิวัตน์ที่ถูกขับเคลื่อนจากการขยายตัวของโลกตะวันตกในการออกสู่พื้นที่นอกยุโรปในยุคหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ยุทธศาสตร์ในการอยู่รอดของสยามที่ปรากฏชัดในยุครัชกาลที่ 4 จึงได้แก่ การยอมรับข้อเสนอของตะวันตก แทนการใช้แนวทางต่อสู้แบบแข็งขืน และปฏิเสธแนวทางที่เชื่อว่าสยามจะเอาชนะสงครามกับมหาอำนาจตะวันตกได้

บทเรียนจากสงครามระหว่างอังกฤษกับหงสาวดี ตอบได้ชัดว่ากองทัพโบราณของชนพื้นเมืองต่อสู้ไม่ได้กับกองทัพแบบใหม่ของรัฐตะวันตก

และบทเรียนเช่นนี้ถูกพิสูจน์อีกครั้งจากการรุกของกองทัพฝรั่งเศสในการเข้าตีไซ่ง่อน

จนเห็นได้ชัดว่าในที่สุดแล้วคู่สงครามเก่าของสยามถูกทำลายลง กลายสถานะเป็นเพียงผู้อยู่ใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี 2411 สภาพแวดล้อมใหม่ทางยุทธศาสตร์รอบๆ สยาม จึงได้แก่ การที่พื้นที่เหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของรัฐมหาอำนาจตะวันตกอย่างสิ้นเชิง จะรอก็แต่เพียงเวลาว่าเมื่อใดรัฐมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมเหล่านั้นจะรุกคืบเข้าคุกคามดังเช่นที่กระทำกับเพื่อนบ้านรอบๆ สยามมาแล้ว

ภัยคุกคามจากรัฐตะวันตกจึงเป็นความท้าทายโดยตรงต่อสถานะของสยามในอนาคต

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว พบว่าสถานะของสถาบันกษัตริย์มีความไม่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง

ดังเป็นที่ทราบกันว่าอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงตกอยู่ในมือของขุนนางผู้ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และบรรดาขุนนางในสายสกุลบุนนาค

ในสภาพที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ต้องอยู่ภายใต้ความท้าทายเช่นนี้ พระองค์จึงทรงพยายามสร้างฐานอำนาจเพื่อคานกับอำนาจของกลุ่มขุนนางเก่า

ฉะนั้น 2 ปีแรกหลังจากการครองราชย์ พระองค์จัดตั้ง กรมทหารมหาดเล็ก ขึ้นในปี 2413

และอีก 3 ปีต่อมาพระองค์ทรงควบคุมอำนาจการเก็บภาษีเข้าสู่ศูนย์กลางด้วยการออก พระราชบัญญัติหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในปี 2416 เพื่อป้องกันการรั่วไหลของภาษีที่ตกอยู่ในมือขุนนาง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญต่อสถานะของพระองค์ก็คือ การที่ขุนนางในสายสกุลบุนนาคให้ความสนับสนุนอย่างชัดเจนต่อกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ขึ้นดำรงตำแหน่งวังหน้า โดยไม่มีการคอยรับสนองพระบรมราชโองการตามราชประเพณีแต่อย่างใด

เหตุการณ์เช่นนี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งใหญ่และขยายตัวจนกลายเป็น "วิกฤตการณ์วังหน้า" ในปี 2417

ความขัดแย้งครั้งนี้รุนแรงถึงขนาดที่วังหน้าต้องเสด็จลี้ภัยการเมืองไปหลบอยู่ในสถานทูตอังกฤษ

และสถานการณ์คลี่คลายลงเมื่อวังหน้ายอมลดพระราชอำนาจ

ต้องยอมรับว่าสยามผ่านสถานการณ์ "สงครามกลางเมือง" มาได้ เพราะหากรัฐมหาอำนาจอย่างอังกฤษตัดสินใจเข้าแทรกแซงในวิกฤตครั้งนี้แล้ว ความขัดแย้งอาจขยายตัวเป็นความรุนแรงในวงกว้างได้ไม่ยากนัก

และขณะเดียวกัน สถานการณ์สงครามดังกล่าวก็อาจนำไปสู่การตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษได้ด้วย...

สยาม "โชคดี"

อย่างไรก็ตาม ในปี 2425 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ถึงแก่พิราลัย และในขณะเดียวกัน บรรดาขุนนางรุ่นใหม่และบุตรหลานขุนนางบางส่วนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเริ่มทยอยกลับ

ประกอบกับรัชกาลที่ 5 เองก็ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะสร้างสยามให้มีความเจริญในด้านต่างๆ ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศตะวันตก

และขณะเดียวกันก็ทรงตระหนักว่าการบริหารราชการแผ่นดินสมัยใหม่ต้องการการแบ่งเบาพระราชภาระของพระมหากษัตริย์

แนวคิดเช่นนี้ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยส่งพระราชโอรสบางส่วนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความผันผวนของการเมืองระหว่างประเทศของสยาม ประกอบกับความพยายามของกษัตริย์สยามในการรวบอำนาจเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบการปกครองของพระองค์นั้น เชื้อพระวงศ์และข้าราชการส่วนหนึ่งที่รับราชการอยู่ที่กรุงปารีสและกรุงลอนดอน ได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงอนาคตของประเทศ

ในที่สุด พวกเขาได้ตัดสินใจทำเอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน

เอกสารนี้ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก ร.ศ.103 ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 9 มกราคม 2427

บรรดาเจ้านายและข้าราชการที่ทำหนังสือกราบบังคมทูลในครั้งนี้ จำนวน 11 นาย ได้แก่

1.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์) 2.พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา) 3.พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์) 4.พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์) 5.นายนกแก้ว คชเสนี (พระยามหาโยธา) 6.หลวงเดชนายเวร (พระยาอภัยพิพิธ) 7.นายบุศย์ เพ็ญกุล (จมื่นไวยวรนาถ) 8.ขุนปฏิภาณพิจิตร (หุ่น) 9.หลวงวิเสศสาลี (นาค) 10.นายเปลี่ยน และ 11.สัปเลฟเตอร์แนนสะอาด [เป็นเชื้อพระวงศ์ 4 พระองค์และสามัญชน 7 คน]

เอกสารทูลเกล้าฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ

1.ประเทศกำลังเผชิญกับอันตราย

2.การจะรักษาประเทศให้รอดพ้นจากอันตราย จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษาบ้านเมืองไปในทิศทางเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินไปตามแนวทางการปกครองของยุโรป

และ 3.การจะทำให้ข้อ 2. เป็นผลสำเร็จ ต้องลงมือให้ได้จริงทุกประการ

ในทัศนะของกลุ่มผู้เสนอมีการปฏิรูป ร.ศ.103 นี้ พวกเขาเชื่อว่าอันตรายสูงสุดที่สยามกำลังเผชิญอยู่นั้น ไม่สามารถใช้แนวคิดเก่ามาแก้ปัญหาได้ เช่น ความเชื่อว่าสยามเคยรักษาเอกราชมาได้ ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามของตะวันตกก็น่าจะสามารถพาตัวเองให้รอดพ้นได้

ทัศนะเช่นนี้ถูกมองว่าไม่เป็นจริง เพราะรัฐเจ้าอาณานิคมกำลังออกแสวงหาดินแดน และประเทศที่ด้อยกว่าก็มักจะถูกบุกเข้ายึดครอง

หรือการจะแสวงหาการค้ำประกันจากรัฐมหาอำนาจก็อาจไม่เป็นจริง เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์จริงแล้ว รัฐดังกล่าวก็อาจไม่ยอมใช้อำนาจของตนเองเข้าปกป้องสยาม แต่กลับปกป้องผลประโยชน์ของตนมากกว่า

ในเงื่อนไขเช่นนี้ ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง โดยจัดการปกครองประเทศให้เป็นไปในแนวทางของยุโรป และหวังว่ารูปแบบการปกครองที่เป็นมาตรฐานสากลจะเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ มากกว่าการแข็งขืนด้วยการนำพาประเทศไปภายใต้รูปแบบการปกครองเก่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นพยายามแก้ไขกฎหมายให้เป็นสากล เช่น กฎหมายตะวันตก และหวังว่าการบังคับใช้กฎหมายแบบสากล จะทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น

ดังนั้น กลุ่มนักปฏิรูปชุดแรกของสยามจึงเสนอให้มีการจัดการบ้านเมืองตามแบบยุโรป รวม 7 ประการ ได้แก่

1.ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจาก "แอบโสลูดโมนากี" (Absolute Monarchy) เป็น "คอนสติติวชั่นแนลโมนากี" (Constitutional Monarchy) โดยพระมหากษัตริย์เป็นประธานของบ้านเมือง และมีข้าราชการเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เหมือนพระเจ้าแผ่นดินในยุโรป [หมายถึงเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ-ผู้เขียน]

2.การทำนุบำรุงแผ่นดินให้มี "คาบิเนต" (Cabinet) เป็นผู้รับผิดชอบ [หมายถึงคณะรัฐมนตรี-ผู้เขียน]

3.ต้องให้ข้าราชการมีเงินเดือนพอใช้เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น

4.ให้ประชาชนมีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย

5.ให้ยกเลิกขนบธรรมเนียมและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญของบ้านเมือง

6.ให้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และแสดงออกได้ในที่ประชุมหรือในหนังสือพิมพ์

และ 7.ต้องเลือกข้าราชการที่มีความรู้ ความประพฤติดี และมีอายุ 20 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ผู้เสนอยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า "ทางที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเป็นคอนสติติวชั่นยุโรปนั้น หาได้ประสงค์ที่จะมีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่" หากต้องการ "อำนาจและความรับผิดชอบอยู่ในมือราษฎรทั้งสิ้น ให้มีเคาเวอนเมนต์ (Government) และกำหนดกฎหมายความยุติธรรมอันแน่นอน" [หมายถึงการจัดตั้งรัฐบาลแบบยุโรป-ผู้เขียน]

รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสตอบต่อข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ว่า พระองค์ทรงตระหนักถึงอันตรายที่สยามต้องเผชิญไม่แตกต่างจากความเห็นที่กราบบังคมทูล และในส่วนเรื่องของการปฏิรูปการปกครองของประเทศ สิ่งที่พระองค์ต้องการคือ "คอเวอนเมนตรีฟอม" (Government Reform) [หมายถึงการปฏิรูปรัฐบาล-ผู้เขียน] เพราะในขณะนั้น ได้มีคณะเสนาบดีเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว

ข้อเสนอของคณะปฏิรูป ร.ศ.103 อาจจะไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้ทั้งหมด

และในอีก 18 ปีต่อมา นักปฏิรูปคนสำคัญอีกคนคือ "เทียนวรรณ" ก็ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับการออกหนังสือเพื่อนำเสนอความคิดของเขาในปี 2445

จนอาจกล่าวได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ต้องเผชิญกับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปประเทศของ "คณะ ร.ศ.103" และต่อมาก็คือข้อเรียกร้องทางการเมืองของ "เทียนวรรณ"

ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกมุมหนึ่งเรื่องราวเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องการปฏิรูปสยามในยุคใหม่นั่นเอง

ขอคารวะแด่ นักปฏิรูปคณะแรกของสยามในวาระครบรอบ 130 ปี!