ที่มา Voice TV
'ชูวิทย์' โพสต์ ติงสปช.จิตใจคับแคบ คัดค้านสัดส่วนผู้ได้รับสรรหาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีบุคคลภายนอกสภา จำนวน 5 คน แล้วแบบนี้จะหวังอะไรกับปฎิรูป?
ภายหลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ คัดค้านสัดส่วนผู้ได้รับสรรหาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีบุคคลภายนอกสภา จำนวน 5 คน จึงต้องหาข้อสรุปต่อในวันพรุ่งนี้ อ้างสมาชิกมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่แล้ว
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า อภิโธ่ อภิถัง พ่อเจ้าประคุณทูนหัว คิดว่าตัวเองเป็นเทวดาหรือยังไง? ร่างรัฐธรรมนูญนะครับ ไม่ใช่ชงโอเลี้ยง แค่ฟังความเห็นคนนอกอีก 5 คนยังไม่ได้ จิตใจคับแคบแบบนี้จะหวังอะไรกับปฎิรูป?
ooo
สปช.ขวางคนนอก
กมธ.ยกร่างฯ ฮุบหมด20ที่
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
สปช.ดาหน้าสกัดคนนอกเบียดโควตานั่งชุดยกร่าง รธน. “รสนา” ยืนจังก้าขวาง “ไพบูลย์” หัวชนฝายังไงก็ไม่คายเก้าอี้ “ดิเรก” เมินแต่ขอ 36 อรหันต์ห้ามใช้อคติร่างกติกา “คำนูณ” ชี้ตั้งที่ปรึกษา สปช.ค่าตอบแทนก๊วนอกหัก “นิพิฏฐ์” ซัดแค่ผลัดกันเกาหลัง “ทักษิณ” พา “ปู-ไปก์” ชมกำแพงเมืองจีน วางคิวทัวร์กวางโจวต่อ อดีต ส.ส. เพื่อไทยครวญถูกตัดท่อน้ำเลี้ยง “บิ๊กต๊อก” ชงชื่อ อธิบดีดีเอสไอคนใหม่เข้า ครม. “บิ๊กตู่” สั่ง 20 กระทรวงส่งคนนั่งศูนย์ร้องทุกข์ “ไก่อู” ฟุ้งแก้ปัญหาแล้ว 87.66% แต่เช็กเรตติ้ง คสช.ล่าสุดเดือน ต.ค.คะแนนหล่น “บิ๊กต๊อก” ส่ง ป.ป.ช.-ป.ป.ท.สอบสวมสิทธิชาวนารับเงิน
หลังจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลายกลุ่ม พากันออกมาคัดค้านตีกันโควตากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ให้เฉพาะคนในนั้น ล่าสุดมีการนัดประชุมนอกรอบก่อนนำเข้าที่ประชุมใหญ่ สปช. ตัดสินชี้ขาดวันที่ 27 ต.ค.
วิป สปช.รับมติตัดโควตาคนนอก
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ในฐานะเลขานุการวิป สปช.ชั่วคราว ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนการประชุม สปช.วันที่ 27 ต.ค. สปช.แต่ละกลุ่มจะประชุมนอกรอบเพื่อพิจารณาข้อเสนอของวิป สปช.ชั่วคราว ตามแนวทางให้คัดเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วน สปช.รวม 20 คน โดยแบ่งเป็นคนใน สปช. 15 คน และบุคคลภายนอก 5 คน และในที่ประชุม สปช.จะเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ก่อนลงมติ และช่วงบ่าย สปช.แต่ละด้านจะแยกกันไปประชุมเพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นตัวแทนเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นนำเข้าที่ประชุม สปช.อีกครั้งวันที่ 28 ต.ค. เพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนการคัดค้านโควตาคนนอกของสมาชิก สปช.บางส่วนนั้น ถ้า สปช.ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและว่าอย่างไร วิป สปช.ชั่วคราวก็พร้อมปฏิบัติตาม
“ดิเรก” ขอ 36 อรหันต์ห้ามมีอคติ
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี กล่าวว่า ขอเสนอว่าระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญควรจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็น และนำมาใช้เป็นแนวทางการร่าง บุคคลที่มาทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คนต้องมีความเป็นกลาง ไม่ใช่ใช้อคติเพราะจะทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหา และควรยึดหลักการร่างรัฐธรรมนูญเป็นกลางที่สุด ไม่หนักไปทางหนึ่งทางใดหรือซ้ายจัดขวาจัด ส่วนเรื่องโควตาคนนอกตนยัง ยืนยันว่าเห็นด้วยหากเป็นตัวแทนจากพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้ลดแรงกดดันได้ แต่ตนได้ปฏิเสธไม่ขอเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เนื่องจากยังต้องการทำงานด้านการเมือง แก้ปัญหาการเมืองความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจต่อไป
ด้านศึกษาดันผู้หญิงเป็นตัวแทน
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ สปช.ด้านการศึกษา กล่าวว่า การหาตัวแทน สปช.ด้านการศึกษาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในด้านการศึกษามีผู้หญิงจำนวนมาก จึงมองว่าผู้หญิงเหมาะสมเพราะละเอียดอ่อนในด้านเด็กและเยาวชน น่าจะผลักดันกฎหมายได้ดี รวมทั้งนโยบายเร่งด่วนเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชน ส่วนเรื่องโควตาคนนอกนั้น ตนเห็นว่าควรคัดเลือกจากบุคคลใน สปช.ก่อน
“รสนา” จังก้าขวางคนนอกนั่งยกร่าง
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. กล่าวถึงกรณีที่มี สปช.คัดค้านโควตาคนนอก 5 คนในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนของ สปช. ว่า ส่วนตัวต้องการโควตาเป็นคนภายใน สปช.อย่างเดียว เพราะหากให้สัดส่วนคนนอก สปช.เข้ามา ไม่รู้ว่าจะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่อยู่กับที่ประชุม สปช.ว่าจะให้มีสัดส่วนอย่างไร การประชุมวันที่ 27 ต.ค.จะได้แนวทางที่ชัดเจน และคิดว่าน่าจะมีสัดส่วนผู้หญิงไปนั่งเป็นกรรมาธิการยกร่างฯด้วย เพื่อความสมดุลในการออกกติกาให้ครอบคลุม แต่ต้องดูแนวทางที่ประชุม เพราะแต่ละสายมีคนสนใจเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
“ไพบูลย์” หัวชนฝาลั่นค้านเต็มที่
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.ด้านการเมือง กล่าวว่า ส่วนตัวยืนยันไม่เห็นด้วยกับโควตาคนนอก เพราะไม่อยากให้ สปช.ที่ตั้งใจเข้ามาทำงานถูกตัดสิทธิ ควรให้โอกาสสมาชิก สปช.ก่อน แต่หากการแสดงความจำนงเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ไม่ถึง 20 คน ค่อยเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาทำหน้าที่ก็ยังไม่สาย ซึ่งการประชุม สปช.วันที่ 27 ต.ค. ตนจะอภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วยและจะขอความเห็นจากสมาชิกในการโหวต
“ตวง” ผิดคิวร่วมวงแจมเวที สปช.
นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ไม่ควรมีสัดส่วนคนนอกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ สปช.ที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความสามารถ คนนอกที่เข้ามาไม่ได้ รับผิดชอบกับผลที่ออกมา คนที่รับผิดชอบคือ สปช. จึงขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม สปช.
“สิงห์ชัย” สอนเปิดใจรับฟังคนอื่น
ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าหากมีคนนอกไปร่วมเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยก็ดี จะได้เห็นความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น เพราะ สปช. 250 คนที่มีอยู่ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเดียวกัน ไม่มีกลุ่มตรงข้ามเลย การเอาฝ่ายตรงข้ามมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่พวกเดียวกันมา ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการเอาคนที่สมัคร สปช.กว่า 7,000 คน ไปทำงานกับ สปช. คิดว่าคงไม่จำเป็น น่าจะให้พวกเขาเหล่านี้ไปร่วมงานในกรรมาธิการฯจะดีกว่า
จ่อวางตัวกรรมาธิการฯลงล็อก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สปช.จะไม่เอาคนนอกมาร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ โดยโควตา 20 ที่นั่ง เบื้องต้นจะให้ สปช.ทั้ง 11 ด้านเสนอชื่อตัวแทนด้านละ 1 คน ส่วน สปช.จังหวัดจะแบ่งเป็น 4 ภาค ให้แต่ละภาคเสนอตัวแทนภาคละ 1 คน รวมเป็น 15 คน ที่เหลืออีก 5 ที่ จะเปิดให้ สปช.ที่แสดงความประสงค์แข่งขันกันเอง ล่าสุด เวลา 17.00 น.วันที่ 26 ต.ค. นายประชา เตรัตน์ สมาชิก สปช.ชลบุรี นัดหมายสมาชิก สปช.กลุ่มจังหวัด หารือที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า นายประชาจะเป็นกรรมาธิการฯในสัดส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก เนื่องจากนายดิเรก ถึงฝั่ง ประกาศไม่เป็นแล้ว ส่วนกลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นตัวเก็ง ด้านการปกครองท้องถิ่น มีชื่อนายจรัส สุวรรณมาลา และนายวุฒิสาร ตันไชย ลงชิงเก้าอี้
“คำนูณ” ชี้ค่าตอบแทนก๊วนอกหัก
อีกเรื่องหนึ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิก สปช. ว่า ทางรัฐสภายังไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้ คาดว่าวันที่ 27 ต.ค.คงมีการชี้แจงต่อที่ประชุม สปช. การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นวิธีการคล้ายการให้สิทธิอำนวยความสะดวกแบบเดียวกับ ส.ส. ส.ว. และ สนช. เมื่อถามว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ก๊วน สปช.ที่อกหัก นายคำนูณตอบว่า คงเป็นความพยายามช่องทางหนึ่งตามแนวทางของรัฐบาลและ คสช. ที่ต้องการให้คนเข้าร่วมการปฏิรูป ส่วนจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่ อยู่ที่การทำงานของ สปช.แต่ละคน อาจมองว่าเป็นการช่วยให้ สปช.ทำงานสะดวกมากขึ้น เพราะการทำงานของ สปช.ต้องลงพื้นที่พบปะประชาชน หาข้อมูลด้านวิชาการและข้อกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ใน 1 ตำแหน่งให้แต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้รับคัดเลือกเป็น สปช. ขอให้สังคมมองที่ผลงาน
“นิพิฏฐ์” ซัดแค่ผลัดกันเกาหลัง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องดูว่าการให้ค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นในรูปเงินประจำตำแหน่งหรือเงินเดือน ถ้าเป็นเงินเดือนก็ถือเป็นอัตราเดิมเหมือน ส.ส. ส.ว. ที่ใช้ เครื่องบิน ใช้รถฟรี แต่สิ่งที่แตกต่างคิดครั้งนี้ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน อยากให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบเรื่องนี้ ตนไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ ในอดีตคนเป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ส.มีเงิน 2 ส่วน คือเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง แต่รับเงินได้ทางเดียว แต่ สนช.รับเงินเดือน 2 ทาง และไม่ต้องลงพื้นที่ พบปะประชาชนเหมือน ส.ส. ในยุคปฏิรูปทั้ง สนช.และ สปช.กินเงินทุกทาง คนที่เป็นอธิการบดีมาเป็น สนช.และ สปช. รับเงินเดือนอธิการบดี และยังรับ เงินเดือน สนช.และ สปช.อีก จึงขอเรียกร้องว่า ควรรับเงินทางเดียว อย่ารับหลายทาง และการแต่งตั้งจำนวน 5 ตำแหน่ง จากบุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ถือเป็นการผลัดกันเกาหลัง 5 ตำแหน่งเยอะเกินไป
“สังศิต-ยะใส” ขยับเดินเกมปฏิรูป
อีกด้านเวลา 13.00 น. ที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีการแถลงเปิดตัวสถาบันปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปช. เป็นประธานสถาบันฯ นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้อำนวยการ สถาบันฯ โดยนายสังศิตกล่าวว่า การปฏิรูปต้องทำให้ประชาชนมีประโยชน์มีอำนาจมากขึ้น หน้าที่ สปท.คือทำให้การปฏิรูปตกกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ภาคประชาสังคมมีอำนาจตรวจสอบ เจตนารมณ์การก่อตั้ง สปท. ต้องการให้องค์กรสังคม องค์กรวิชาการทำงานเชื่อมต่อกับเครือข่ายภาคประชาชน เปิดเวทีให้สะท้อนความเห็นสู่ สปช. และทำงานร่วมกัน สปท.สนับสนุน สปช.เต็มที่ โดยระยะสั้น สปท.จะทำหน้าที่เป็นสภากระจก จัดเวทีคู่ขนานกับ สปช. ส่วน ระยะกลาง ติดตามตรวจสอบ กระบวนการและเจตนารมณ์การ
ปฏิรูป และระยะยาว ปลูกฝังจิตสำนึก สร้างทางเลือกใหม่
“พิภพ” ย้ำต้องทำกันทหารกลับมา
นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า แนวโน้มการปฏิรูปครั้งนี้ท่าทีทหารต้องการให้ข้าราชการเกิดความแข็งตัว ขณะที่ สปท.เห็นว่าการปฏิรูปควรกระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แนวคิดนี้อาจขัดกับแนวทางทหาร ดังนั้นการเคลื่อนไหวของ สปท.ต้องดูท่าที โดยเฉพาะสภาวะที่ยังมีกฎอัยการศึก สปท.ต้องนำข้อดี ข้อเสียความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาชี้ให้สังคมเห็นชัดๆ โดยเฉพาะกรรมการ สปท.ที่เป็น สปช.มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ต้องนำข้อเสนอที่ดีของ สปท.เพื่อปฏิรูปประเทศ ต้องปฏิรูปอย่างไรให้ทหารจากไปโดยไม่ให้ทหารกลับเข้ามาอีก
นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า แนวโน้มการปฏิรูปครั้งนี้ท่าทีทหารต้องการให้ข้าราชการเกิดความแข็งตัว ขณะที่ สปท.เห็นว่าการปฏิรูปควรกระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แนวคิดนี้อาจขัดกับแนวทางทหาร ดังนั้นการเคลื่อนไหวของ สปท.ต้องดูท่าที โดยเฉพาะสภาวะที่ยังมีกฎอัยการศึก สปท.ต้องนำข้อดี ข้อเสียความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาชี้ให้สังคมเห็นชัดๆ โดยเฉพาะกรรมการ สปท.ที่เป็น สปช.มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ต้องนำข้อเสนอที่ดีของ สปท.เพื่อปฏิรูปประเทศ ต้องปฏิรูปอย่างไรให้ทหารจากไปโดยไม่ให้ทหารกลับเข้ามาอีก
“เจิม” ชี้ รธน.ใหม่ต้องคานอำนาจ
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช.ด้านสังคมกล่าวเสวนาเรื่อง “ทิศทางปฏิรูป ทิศทางรัฐธรรมนูญ” ว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยเน้นแต่ร่างรัฐธรรมนูญ เน้นการเปลี่ยนแปลงกฎกติกา แต่ไม่เน้นเปลี่ยนพฤติกรรมและวัฒนธรรมการเมือง ปฏิรูปประเทศครั้งนี้ต้องไม่ใช่ปฏิรูปแค่รัฐธรรมนูญเท่านั้น ระบบอุปถัมภ์เป็น วัฒนธรรมต้องแก้ไข ต้องใช้ระยะเวลาไม่ใช่แค่ 1-2 ปี ตนฝันอยากเห็นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่ ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่ใช้เฉพาะกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเท่านั้น แต่ใช้กับทุกคนที่เข้าสู่อำนาจการเมืองด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้คานอำนาจระหว่างข้าราชการ ทหาร ทุน และนักการเมือง
เย้ย สปช.สุดโต่งทำลายล้างไม่ได้
ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้ สปช.บางกลุ่มบางคน ประเภทความคิดสุดโต่งและมีส่วนได้เสียกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา พยายามเสนอตัวเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีจำนวนน้อยกว่า สปช.สายความมั่นคงมาก ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีน้ำหนักในการเขียนกติกาเพื่อทำลายล้างกันทางการเมือง และคิดว่าบทเรียนการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 คงทำให้ คสช.และรัฐบาลนำมาเป็นข้อคิดข้อเตือนใจไม่กระทำซ้ำอีก เพราะจะยิ่งสร้างความแตกแยกไม่รู้จักจบสิ้น ทุกภาคส่วนให้โอกาสรัฐบาลทำงานตามวัตถุประสงค์ คือการสร้างความ ปรองดองและปฏิรูปประเทศ คสช.และรัฐบาลอย่ากังวลคลื่นใต้น้ำ ตราบใดที่ยังทำตามที่สัญญาทุกอย่างจะไม่มีปัญหา