วันศุกร์, สิงหาคม 16, 2567

อะไรคือสิ่งที่ยังเหมือนเดิม อะไรคือสิ่งใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในรัฐบาลเพื่อไทยชุดที่ 2


บีบีซีไทย - BBC Thai
9 hours ago
·
แพทองธาร ชินวัตร ประกาศ “ประเทศต้องไปต่อ” หลังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นว่าที่นายกฯ คนที่ 31 ของไทย
.
หากเธอได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. เกินครึ่งสภาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพรุ่งนี้ แพทองธาร จะเป็น “นายกฯ หญิงคนที่ 2” ของไทย และ “นายกฯ คนที่ 4” ของตระกูลชินวัตรและสายญาติใกล้ชิด เดินตามรอยเท้า บิดา อาสาว และอาเขย ที่เคยเป็นประมุขฝ่ายบริหารมาแล้ว
.....

อะไรคือสิ่งที่ยังเหมือนเดิม อะไรคือสิ่งใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในรัฐบาลเพื่อไทยชุดที่ 2

(ส่วนหนี่งของบทความของบีบีซีไทย
มติเพื่อไทย-พรรคร่วมฯ ส่ง แพทองธาร ชินวัตรเป็น “นายกฯ หน้าใหม่” ของรัฐบาลขั้วเดิม
(https://www.bbc.com/thai/articles/cvg4pyg2xxno)

รัฐบาลขั้วเดิม

พรรค พท. ซึ่งแพ้การเลือกตั้งในรอบ 2 ทศวรรษ พลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อจากพรรค ก.ก. โดยประกาศฉีกบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วมฯ เดิม เมื่อ 2 ส.ค. 2566 แล้วเดินหน้ารวบรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ จนจัดตั้ง “รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้วการเมือง” ที่แกนนำเพื่อไทยเรียกขานว่า “รัฐบาลพิเศษสลายขั้วการเมือง” ได้สำเร็จ

ขณะนั้นมีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากแคนดิเดตนายกฯ หัวหน้าพรรค และแกนนำคนสำคัญของเพื่อไทยต่างประกาศว่าจะไม่จับมือกับพรรค “2 ลุง” อันหมายถึงพรรค พปชร. ของ “ลุงป้อม” กับพรรค รทสช. ของ “ลุงตู่” แต่สุดท้ายกลับดึงทั้ง 2 พรรคมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เป็นผลให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ต้องลาออก-สังเวยเก้าอี้หัวหน้าพรรค พท. ตามที่เคยลั่นวาจาเอาไว้

นพ.ชลน่าน เคยกล่าวไว้บนเวทีดีเบตของไทยรัฐเมื่อ 28 เม.ย. 2566 ว่า “ไม่จับมือกับพลังประชารัฐ ไม่จับมือ ไม่มีดีลกับลุงป้อม ถ้ามีจับมือ ผมลาออกจากหัวหน้าพรรค”

สำหรับ 11 พรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงในสภาล่างรวมกัน 314 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง ขณะนี้เหลือ สส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 70 ที่นั่ง), พรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง), พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคชาติพัฒนากล้า (2 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง), พรรคท้องที่ไทย (1 ที่นั่ง)

แม้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ คนใหม่ แต่พรรคแกนนำรัฐบาลจะยังไม่เปลี่ยนแปลงส่วนผสมของรัฐบาล โดยยืนยันตัวเลข 11 พรรคร่วมฯ ตามเดิม เพราะต้องการ “ปิดเกมเร็ว” เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมไปมากกว่านี้

นั่นทำให้นักการเมืองกลุ่มใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ประสงค์จะเข้าร่วมรัฐบาล และแสดงมิตรไมตรีผ่านการลงมติสำคัญ ๆ ในสภาหลายครั้งยังต้อง “ร้องเพลงรอ” ต่อไป

เงื่อนไขเดิมห้ามแตะ ม. 112

ไม่เพียงพรรค พท. ที่ขอคงสูตรจัดรัฐบาลเดิมเอาไว้ แต่แกนนำพรรคร่วมฯ ยังขอคงจุดยืนเดิมในการตอบรับร่วมรัฐบาลเศรษฐาเอาไว้ด้วย

พรรคร่วมฯ อย่างน้อย 4 พรรค ประกอบด้วย พรรค ภท., พรรค พปชร., พรรค รทสช., พรรค ชทพ. แถลงย้ำว่า ห้ามแตะต้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112


สส. พลังประชารัฐโชว์แถลงการณ์ของพรรค ซึ่งลงนามโดยรองหัวหน้า และเลขาธิการพรรค

หัวหน้าพรรค ภท. กล่าวว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมือง หรือไม่สามารถสนับสนุนบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ตามเจตนารมณ์ของพรรคที่ออกแถลงการณ์ไว้เมื่อ 15 พ.ค. 2566 และเพื่อให้เกิดความชัดเจน อนุทิน จะเสนอให้พรรคร่วมฯ จัดแถลงร่วมกัน “ให้พรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทยยืนยันจุดยืนร่วมกันกับพรรคร่วมฯ ทุกคนในโอกาสแรกที่จะสามารถทำได้”

เช่นเดียวกับแกนนำพรรค พปชร. ที่แถลงจุดยืนแนวทางในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล 3 ข้อ ในจำนวนนี้คือ “ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เทิดทูนและธำรงซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พรรคพลังประชารัฐยังคงมีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่จะไม่ร่วมกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”

พรรค รทสช. ออกแถลงการณ์ในนามพรรค “ยืนยันหลักการเดิมคือจะต้องไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา”

ส่วนหัวหน้าพรรค ชทพ. ย้ำจุดยืนของพรรค โดยกล่าวว่า “ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลนี้ถือกำเนิดมาจากจุดยืนเดียวกัน คือจะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” พรรค ชทพ. ยืนยันมาตลอด ทั้งในขั้นตอนการจัดทำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และไม่ไปเกี่ยวข้องกับหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขมาตรา 112

ยึดโควต้า รมต. เดิม


โฉมหน้า ครม. รัฐบาล "เศรษฐา 1" เมื่อ 5 ก.ย. 2566

นอกจากจำนวนพรรคร่วมฯ ไม่เปลี่ยน แกนนำเพื่อไทยยืนยันว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรัฐมนตรีของแต่ละพรรค โดยมี 6 จากทั้งหมด 11 พรรคร่วมฯ ได้เก้าอี้ รมต. รวม 35 ตำแหน่งในสัดส่วนเดิม แต่อาจมีการเจรจาสลับกระทรวงในบางตำแหน่ง ส่วนบุคคลที่จะเข้ามานั่งร่วมวงฝ่ายบริหาร ให้เป็นสิทธิขาดของแต่ละพรรคในการเสนอชื่อมา
  • พรรคเพื่อไทย ได้โควตา 17 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 8 ตำแหน่ง และ รมช. และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9 ตำแหน่ง
  • พรรคภูมิใจไทย ได้โควตา 8 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 4 ตำแหน่ง และ รมช. 4 ตำแหน่ง
  • พรรคพลังประชารัฐ ได้โควตา 4 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 2 ตำแหน่ง และ รมช. 2 ตำแหน่ง
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โควตา 4 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 2 ตำแหน่ง และ รมช. 2 ตำแหน่ง
  • พรรคชาติไทยพัฒนา ได้โควตา รมว. 1 ตำแหน่ง
  • พรรคประชาชาติ ได้โควตา รมว. 1 ตำแหน่ง
นักการเมืองรุ่นเก่า พูดถึง ว่าที่หัวหน้ารัฐบาลชุดใหม่



ในระหว่างการแถลงข่าวของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย บรรดาหัวหน้าพรรค/แกนนำพรรค พูดถึง แพทองธาร ชินวัตร ไว้อย่างไรบ้าง บีบีซีไทยรวบรวมประโยคเด็ดมาให้แล้ว

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.: “พอทราบว่าเป็นคุณแพทองธาร เราก็ยิ่งมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของว่าที่นายกฯ ท่านแพทองธาร พวกเราทุกคนก็พร้อมให้การสนับสนุนร่วมมืออย่างเต็มที่ และพร้อมปฏิบัติตามนโยบายและข้อสั่งการของท่านว่าที่นายกฯ นับตั้งแต่วันแรกที่ท่านดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ”

สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้า พปชร.: “พรรคพลังประชารัฐมีความมั่นใจในความรู้ความสามารถ ดังนั้นก็ต้องสนับสนุนท่านเป็นนายกฯ”

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช.: “พอได้ทราบข่าวว่าท่านแพทองธารก็รู้สึกดีใจ และขอให้ท่านประสบความสำเร็จในการนำรัฐบาลต่อไป”

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค ชพน.: “พรรคชาติพัฒนามีความเชื่อมั่นในหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ และจะอยู่ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนายกฯ อายุน้อย เป็นเทรนด์ของสังคมการเมืองโลก ดังนั้นการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของคนรุ่นใหม่ จะนำโฟกัสนานาชาติให้กลับมามองประเทฅไทย... แม้เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่อยู่ในครอบครัวนักการเมืองมาตลอด ดังนั้นความรู้ความเข้าใจที่จะบริหารการเมือง ความรู้ของคนรุนใหม่ ผมมีความมั่นใจว่าท่านแพทองธารจะเป็นนายกฯ ที่สามารถนำพาประเทศ แก้ปัญหาประเทศให้ลุล่วงไปได้”