วันอังคาร, สิงหาคม 27, 2567

ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 67 #ผู้ต้องขังทางการเมือง ยังคงส่งเสียงออกมาจากเรือนจำ ทั้งเรื่อง #นิรโทษกรรมประชาชน และชีวิตความเป็นอยู่ผู้ต้องขัง



บันทึกเยี่ยม บุ๊ค-ยงยุทธ-สุดใจ: ก่อนจะไปถึงนิรโทษกรรม คงคาดหวังให้รัฐบาลเห็นใจผู้ต้องขังการเมือง

26/08/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

กลางเดือน ส.ค. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง 3 ราย ได้แก่ ‘สุดใจ’ ที่ขณะนี้ถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษมีนบุรี กลับมาอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ชั่วคราว เพื่อเข้าสืบพยานคดีสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ศาลแขวงดุสิต ซึ่งมีนัดสืบพยานในเดือนนี้ ไปถึงนัดสุดท้ายในวันที่ 6 ก.ย. 2567 เขาจึงจะถูกนำตัวกลับไปยังเรือนจำพิเศษมีนบุรี

‘บุ๊ค’ ธนายุทธ สื่อสารว่าเขายังพูดคุยเรื่องเคลื่อนไหวการเมืองกับผู้ต้องขังการเมืองคนอื่น ๆ เสมอ โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ โดยบุ๊คยังคงคาดหวังการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลใหม่

ส่วน ‘ยงยุทธ’ ผู้ต้องขังที่ถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือน โดยขณะนี้เขาอยู่ในเรือนจำไปแล้ว 2 เดือนกว่า ๆ และกำลังรอลุ้นว่าหลังมี พรฎ.อภัยโทษ เขาจะได้รับสิทธิ์พักโทษหรือมีคำสั่งให้ปล่อยตัวเลยหรือไม่

.
สุดใจ: ได้ย้ายเรือนจำชั่วคราวระหว่างออกศาล ดีใจที่ได้ออกไปเจอข้างนอกบ้าง



วันที่ 13 ส.ค. 2567 ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี สุดใจแจ้งว่าน้ำหนักตอนนี้อยู่ที่ 100 กิโลกรัม แล้วผิวดำขึ้นกว่าตอนที่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนนิ่งเงียบกล่าวว่า มีหลายอย่างที่พูดในนี้ไม่ได้ เพราะไม่อยากมีปัญหา

เขาเริ่มเล่าว่าปัญหาหลัก คือน้ำที่นี่ไม่เพียงพอ เรือนจำเปิด-ปิดน้ำเป็นเวลา ทำให้ไม่พอสำหรับใช้ น้ำอาบก็แย่งกันอาบ เวลาอาบน้ำ จะมี 2 รอบต่อวัน รอบเช้า 06.45 น. รอบเย็น 14.45 น. ส่วนน้ำดื่มน่าจะเปิดแค่ครั้งเดียว ยิ่งข้างในอากาศร้อนและแออัดมาก ทำให้ต้องดื่มน้ำเยอะ บางทีน้ำกินหลังกินข้าวแทบไม่มี อาศัยกินน้ำก๊อกประทังไปก่อน เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำกินน้ำใช้ สีหน้าสุดใจเป็นกังวลอย่างมาก

ส่วนเรื่องการสั่งซื้อของผ่านไลน์ เจ้าหน้าที่บอกว่าระบบพัง ถ้าจะซื้อคนซื้อต้องมายืนยันตัวที่เรือนจำก่อน ตอนนี้จึงกินข้าวของเรือนจำตลอด บางทีเบื่อ ๆ กินไม่ไหวก็ซื้อข้าวกล่อง ในนี้ขายกล่องละ 50 บาท เป็นกล่องเล็ก เมนูส่วนใหญ่เป็นข้าวผัด ข้าวกะเพรา ข้าวไข่เจียว ไก่ผัดกระเทียม โดยที่นี่ไม่มีเมนูเนื้อหมู เพราะคนนับถือศาสนาอิสลามมีมาก

เช่นเดียวกับเรื่องความแออัดของเรือนจำ สุดใจเห็นว่ายังคงแออัดเหมือนเดิม ร้ายกว่าตอนที่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เสียอีก การนอนที่นี่จะไม่นอนเป็นห้อง ๆ แต่จะนอนเป็นโถงเรียงยาว ห้องที่สุดใจนอนมีจำนวนกว่า 200 คน บล็อกที่เป็นห้องน้ำมีอยู่ 3-4 จุด

สุดใจบอกอีกว่า ข้างในนี้ไม่สามารถคุยเรื่องการเมืองกับใครได้เลย เพราะไม่มีผู้ต้องขังทางการเมือง พูดอะไรไปก็กลัวเดือดร้อน เรื่องขโมยในเรือนจำแห่งนี้ก็เป็นปัญหา แจ้งผู้คุมแล้วแต่ไม่มีการแก้ไข สุดใจขอให้ทนายช่วยเช็คเรื่องการขอย้ายกลับไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะอยู่ที่นี่ลำบากมาก ส่วนเรื่องสุขภาพแข็งแรงดี

จนช่วงวันที่ 15-16 ส.ค. 2567 สุดใจถูกนำตัวไปร่วมการสืบพยานในคดีสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในจำเลย 61 คน ที่ถูกฟ้องด้วย ทำให้เขาถูกย้ายตัวมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อรอสืบพยาน ซึ่งมีนัดสุดท้ายอีกครั้งวันที่ 6 ก.ย. 2567

วันที่ 20 ส.ค. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมสุดใจอีกครั้ง เขาแจ้งว่าเมื่อถูกย้ายเรือนจำใหม่ ทำให้ต้องอยู่ระหว่างการกักตัวอีกครั้ง สุดใจดูน้ำเสียงสดใส บอกว่าตอนนี้อยู่แดน 2 วันที่ 23 ส.ค. จะมีการจำแนกแดน ไม่แน่ใจว่าทางเรือนจำจะให้จำแนกหรือไม่ เพราะมาอยู่แค่ชั่วคราว ทนายถามเรื่องการอภัยโทษ สุดใจเล่าว่าเขาเข้าเงื่อนไขตามเกณฑ์ที่จะได้รับอภัยโทษ ก่อนเล่าถึงการได้กลับมาอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า ดีกว่าที่มีนบุรีมาก อยู่ที่นั่นไม่มีน้ำกินน้ำใช้

แต่กลับมาที่นี่ยังไม่ได้เจอผู้ต้องขังคดีทางการเมืองคนไหนอีก นอกจากอารีฟที่ออกไปศาลด้วยกัน เมื่อเล่าถึงตอนออกศาล ผู้พิพากษาถามสุดใจว่าประสงค์จะออกมาศาลตามที่ทนายยื่นคำร้องหรือไม่ ในตอนนั้นสุดใจอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ จนทนายต้องตอบแทนไปว่าประสงค์จะออกมา สุดใจเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า “ตื่นเต้นที่ผู้พิพากษาถาม ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แต่ดีใจที่ได้ออกไปเจอข้างนอกบ้าง”

เมื่อถามว่าหากได้ปล่อยตัวออกไป สิ่งแรกที่สุดใจจะทำคืออะไร เขาบอกว่าจะไปหาเถ้าแก่ที่โรงเกลือ ที่ทำงานที่เดิม คิดว่าเถ้าแก่ก็ยังคงรอเขาอยู่

จนถึงปัจจุบัน (26 ส.ค. 2567) สุดใจถูกคุมขังในฐานะผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดมาแล้ว 10 เดือนเศษ หรือ 318 วัน หลังถูกดำเนินคดีครอบครองระเบิดปิงปอง ในช่วงเวลาการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 บริเวณคอนโดแห่งหนึ่งย่านดินแดง ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ทำให้คดีสิ้นสุดลง

.
บุ๊ค ธนายุทธ: “ระยะนี้เราต้องใจแข็งหน่อย อดทนรอเวลา รอจังหวะ”



วันที่ 16 ส.ค. 2567 ทนายเยี่ยมบุ๊คผ่านโทรศัพท์ บุ๊คบอกว่าช่วงนี้สบายดี สุขภาพก็ดีขึ้น ก่อนหน้านี้ช่วงฝนตกหนัก ๆ เขามีไข้ มีน้ำมูกไหล กินยาพาราฯ กับยาแก้แพ้ไป จนค่อย ๆ ดีขึ้นแล้ว

เมื่อคุยเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่มาจากพรรคเดิม บุ๊คบอกว่าพอการเมืองเป็นแบบนี้แล้ว คิดว่าเรื่องนิรโทษกรรมก็อาจช้าลงอีก ส่วนเรื่องอภัยโทษถ้าเกิดมีขึ้นมา เพื่อนบางคนก็จะได้กลับบ้าน

บุ๊คเล่าอีกว่าการเคลื่อนไหวในปี 2563 คนส่วนหนึ่งที่ออกมาไม่ได้เตรียมตัว คือคนที่มีชีวิตเปราะบาง คนจน คนชั้นรากหญ้า เป็นประเภทที่มองหาโอกาสก้าวหน้าในชีวิตได้ยาก พอมันเห็นหนทางที่จะทำให้การเมืองดีขึ้นโดยภาพรวม และอาจส่งผลให้ชีวิตแต่ละคนดีขึ้นด้วย ก็เลยออกมาร่วมเคลื่อนไหว พอโดนคดีมา ก็จะเห็นว่ามีคนที่ไม่พร้อมอยู่เยอะ

บุ๊คเห็นว่าการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ จะเป็นงานระยะยาว เพราะการพูดอะไรก็มีเพดานที่กดต่ำลง มาตรา 112 ก็พูดยากขึ้น ยิ่งข่าวเบี่ยงเบนหลายอย่าง ทำให้คนไม่โกรธพอจะออกมาเคลื่อนไหว พอมีเรื่องมาทีหนึ่ง ก็จะมีกระแสข่าวอื่นมากลบตลอด จึงควรทำงานแบบลึก ๆ ให้เยอะขึ้น เน้นเตรียมตัวกันยาว ๆ เพื่อให้พร้อมมากขึ้น

บุ๊คคิดว่าเรื่องนิรโทษกรรมคงไม่ง่าย แต่อาจจะไม่ได้รอนานมากมายนัก เขากำลังสนใจอยากอ่านเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคก้าวไกล เขาคิดว่ามันคือการพยายามของชนชั้นนำอีกครั้งในการปิดปากประชาชน

“ผมคิดว่าจะมีคนเข้าคุกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะทับถมปัญหาไปมากขึ้น ทับถมสูงขึ้นจนไปจ่อที่คอของผู้มีอำนาจ ผู้คนจะมองเห็นมากขึ้น ผมว่าระยะนี้เราต้องใจแข็งหน่อย อดทนรอเวลา รอจังหวะ เพราะเราข้างในก็นั่งคุยกัน ประเมินสถานการณ์และถอดบทเรียนทุกวัน”

จนถึงปัจจุบัน (26 ส.ค. 2567) บุ๊คถูกคุมขังมาแล้ว 339 วัน โดยคดีของเขาเพิ่งสิ้นสุดไป และบุ๊คต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

.
ยงยุทธ: รอวันออกจากเรือนจำ ยังคาดหวังรัฐบาลเห็นใจผู้ต้องขังการเมือง



ในวันที่ 16 ส.ค. 2567 และ 21 ส.ค. 2567 ยงยุทธส่งสารเกี่ยวกับเรื่องอภัยโทษ ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อ 17 ส.ค. 2567 ก่อนหน้านั้น คนในเรือนจำยังเฝ้ารอเรื่องนี้ หลายคนเครียดหนักมาก ตัวเขาเองก็พยายามติดตามอยู่เหมือนกันว่า จะได้อภัยโทษอย่างที่ว่ากันไหม แล้วถ้าได้จะถูกปล่อยตัว ก่อนกำหนดไหม เพราะไม่มีอะไรแน่นอนเลยสำหรับคนในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ก็ตอบอะไรไม่ได้ ผู้ต้องขังซึ่งทำงานที่หน้าแดนด้วยกัน ก็คุยกันต้องรอเอกสารรายชื่อมาก่อน ตอนนี้ทำได้แค่รอ

ยงยุทธให้ความเห็นว่า อยากให้รัฐบาลชุดนี้พิจารณาเรื่องนักโทษทางการเมือง อยากให้เห็นใจประชาชนที่โดนคดีทางการเมือง ประชาชนเรียกร้องเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น กลับถูกส่งเข้าเรือนจำเพราะมาตรา 112 หรือคดีการเมืองอื่น ๆ ทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ สูญเสียโอกาสดูแลครอบครัว

“พวกผมเองก็เป็นอนาคตของประเทศ พวกผมไม่ได้ฆ่าใครตาย ไม่เคยหนีคดี แต่หลายคนรวมทั้งผมต้องมาติดคุกอย่างนี้ มันต่างกับตำรวจที่ยิงพายุตาบอด ยิงลูกนัทตาบอด ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดี ถูกส่งเข้าคุกเลย ก็อยากให้รัฐบาลเพื่อไทย นายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย รักษาคำพูดที่หาเสียงไว้”

จนถึงปัจจุบัน (26 ส.ค. 2567) ยงยุทธถูกคุมขังมาแล้ว 79 วัน เขาถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าสับศอกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนการชุมนุม #ม็อบ6มีนา64 โดยหลังประกาศเรื่องอภัยโทษเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567 ยงยุทธเข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังที่ได้รับอภัยโทษ คาดว่าเขาจะถูกปล่อยจากเรือนจำในช่วงต้นเดือน ก.ย. 2567

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม

บันทึกเยี่ยม 4 ผู้ต้องขังคดีการเมือง: ยังหวังนิรโทษกรรม ทุกคนควรได้กลับบ้าน

(https://tlhr2014.com/archives/69385)