วันอาทิตย์, สิงหาคม 25, 2567

นอกจาก “ประชาธิปไตยแบบไทย” เรามี “ศีลธรรมแบบไทย” ด้วย ทำความเข้าใจ "การเมืองคนดี" ยุคปี 67 เมื่อศาลเป็นผู้คุมกฎ "ศีลธรรมแบบไทย ๆ"


ที่มา บีบีซีไทย

นักรัฐศาสตร์แสดงความกังวลต่อการที่จริยธรรมเข้ามาอยู่ในพรมแดนของการเมือง โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด และใช้ “ดาบศีลธรรม” อย่างไม่มีเกณฑ์ชัดเจนตายตัว
.
“ถามว่าคนทำรัฐประหารควรมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ไหม ถ้าเอาแว่นจริยธรรมแบบประชาธิปไตย อันนี้ศีลคุณขาดไปแล้ว… แต่เราก็ให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งได้ มาตั้งพรรคได้ มาเป็นหัวหน้าพรรคได้ แสดงว่าชุดศีลธรรมของไทยมีลักษณะเฉพาะมาก เราไม่ได้เดือดร้อนกับหลายเรื่องที่เป็นเกณฑ์จริยธรรมสากลที่ควรจะผิด” รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าว
.....

ทำความเข้าใจ "การเมืองคนดี" ยุคปี 67 เมื่อศาลเป็นผู้คุมกฎ "ศีลธรรมแบบไทย ๆ"


เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนที่ 30 ร่วมรับฟังการแถลงข่าวของ แพทองธาร ชินวัตร หลังพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ คนที่ 31 เมื่อ 18 ส.ค.

โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
24 สิงหาคม 202

การจัดตั้งรัฐบาล “แพทองธาร” ต้องใช้เวลานานกว่าปกติในการตรวจสอบคุณสมบัติของแคนดิเดตรัฐมนตรีทั้ง 35 ชีวิตอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้นายกฯ คนที่ 31 ต้องมีชะตากรรมซ้ำรอยนายกฯ คนที่ 30

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จากการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ

ผลที่ตามมาจากคำวินิจฉัยคดี 14 ส.ค. หาได้ทำให้อำนาจในมือนายกฯ เศรษฐา ต้องหลุดลอยไปเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อการใช้ดุลพินิจ-ตัดสินใจเลือกฝ่ายบริหารชุดใหม่ และอาจกระทบชิ่งไปสกัดกั้นการขึ้นสู่อำนาจของเหล่า “คนดี” จากวีรกรรมในอดีต

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แสดงความกังวลต่อบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่กลายเป็น “อนุญาโตตุลาการทางศีลธรรม” ไม่ใช่แค่ผู้ชี้ขาดว่าอะไรผิด-ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ คือตัดสินความชอบด้วยกฎหมาย แต่กลายเป็นผู้ตัดสินศีลธรรม ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากขนาดนี้

“สิ่งที่ศาลทำไม่ใช่การตรวจสอบถ่วงดุล มันมากกว่านั้น ตอนนี้ไม่มีสมดุลแล้ว ศาลธรรรมนูญมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และประชาชน และเป็นอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม เหนือกว่าอำนาจของสงฆ์ ของศาสนาอีก มันน่ากลัวมาก พอเอาการเมืองศีลธรรมมาใช้แบบสุดขั้ว กระทั่งแปลงมันมาเป็นข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม เอาอำนาจตีความมาให้กับคณะบุคคล อันนี้คือผลผลิตเชิงรูปธรรมของการเมืองศีลธรรมแบบสุดขั้ว” เขากล่าวกับบีบีซีไทย

10 ปีในสายธารวาทกรรม “คนดี” คนเดิม

รศ.ดร.ประจักษ์ เป็นผู้เขียนหนังสือ “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย” มีเป้าหมายเพื่ออธิบายปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ในระหว่างปี 2556-2557 เพื่อขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อชวนพินิจอัตลักษณ์ “การเมืองของคนดี” ในยุค 2557 กับยุค 2567 เขาเห็นว่า “ไม่ต่างกัน” เพราะเป็นผลผลิตที่มีมาก่อนหน้านั้น เนื่องจากกระแสวาทกรรมการเมืองคนดีเป็นสายธารที่มีอยู่แล้วในการเมืองไทย แต่มาชัดเจนหลังรัฐประหาร 2549 โดยถูกนำมาเป็นคู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย กล่าวหาพรรคการเมือง-นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่าขาดศีลธรรม เป็น “คนไม่ดี” วาทกรรมนี้ปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2550 และมาเด่นชัดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2560 สะท้อนผ่านคำปรารภที่สอดแทรกถ้อยคำต่าง ๆ ลงไป

คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่ผู้ยกร่างตั้งฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ระบุถึง “การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีอํานาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อํานาจตามอําเภอใจ” โดยศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึงเจตนารมณ์นี้ในคำวินิจฉัยคดี เศรษฐา ด้วย


สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ชวน “คนไทยผู้รักชาติ รักแผ่นดิน” เข้าร่วมการชุมนุมที่เขาเรียกว่า “ม็อบคนดี”

นอกจากตัวรัฐธรรมนูญ รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้ว่า การเคลื่อนไหวของ กปปส. ได้เอาแนวคิดคนดีมาขับเคลื่อนเป็นอุดมการณ์หลักของขบวนการอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง

อัตลักษณ์คนดีที่แกนนำ กปปส. สร้างขึ้นผ่านการใช้ภาษา-ชุดคำเรียกแทนผู้ร่วม “ปฏิบัติการนกหวีด” อาทิ คนดี, รักชาติ รักแผ่นดิน, รักในหลวง, คนซื่อมือสะอาด, มาชุมนุมแบบสันติอหิงสา, มามือเปล่า ปราศจากอาวุธ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามบทสรุปส่งท้ายการเมืองแบบคุณธรรม 2 ยกนี้ แตกต่างกัน

ปี 2557 ขบวนการ กปปส. ทำให้ “รัฐบาลน้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่นอก “ขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้ชุมนุม” เมื่อนายกฯ หญิงพ้นทางไป สุดท้ายได้คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนที่ 29 และเป็นจุดกำเนิดของ “ระบอบประยุทธ์”

ปี 2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้นายกฯ เศรษฐา ตกเก้าอี้ สุดท้ายได้ “รัฐบาลลูกสาว” แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ คนใหม่ สังคมการเมืองไทยเคลื่อนกลับไปหา “ระบอบทักษิณ” ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่เกลียด-กลัวของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม

“มันก็ย้อนแย้งนะ” อาจารย์ประจักษ์บอก แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะจบเพียงเท่านี้

“สิ่งที่เห็นเป็นแค่ฉากตอนหนึ่ง เพราะแนวคิดเรื่องการเมืองคนดีกลายเป็นอุดมการณ์หลักแห่งรัฐไปแล้ว ต้องให้คนดีปกครองบ้านเมือง โดยมีศาลเป็นเสมือน Gatekeeper เป็นผู้คุมกฎ 9 คนนี้เป็นผู้ตัดสินว่าแบบไหนมีจริยธรรม แบบไหนไม่มีจริยธรรม พอศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากล้นแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน ย่อมหมายความว่าดาบนี้จะเอามาฟันอีกเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นคุณเศรษฐาอาจไม่ใช่คนสุดท้ายที่โดน” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว


รทสช. ปล่อยแคมเปญในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ว่า “ปกป้องสิ่งที่เรารัก เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้ง 2 ใบ” ก่อนนำ สส. เข้าสภาได้ 36 คน

เขาชี้ว่า การได้ “ดีเอ็นเอทักษิณ” ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 31 สะท้อนภาวะที่ชนชั้นนำไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะการเมืองคนดีทำงานได้ดีภายใต้ระบอบรัฐประหารเป็นหลัก แต่พอมีการเลือกตั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่เอาอุดมการณ์แบบ กปปส. ไปใช้หาเสียง ขาย พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ได้ขายนโยบายอะไร ไม่ประสบความสำเร็จและถูกปฏิเสธจากผู้เลือกตั้ง จึงต้องดิ้นรนหาหนทางที่ไม่ทำให้หลุดลอยจากอำนาจไป และไม่ปล่อยให้ฝ่ายที่ตนเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นนำที่สุด เป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของการเมืองคนดี นั่นคือ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าสู่อำนาจได้ จึงเกิดการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว กลับไปจับมือกับศัตรูเก่าซึ่งสำหรับชนชั้นนำอาจรู้สึกว่าเป็นศัตรูที่คุ้นเคยกว่า ควบคุมได้ เจรจาต่อรองได้ ดึงมาเป็นพวกได้ แต่มันวางอยู่บนฐานความไม่ไว้วางใจ เป็นปลาคนละน้ำที่มาร่วมกันเพราะผลประโยชน์และสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้า แต่ชุดอุดมการณ์การเมืองคนดีของฝ่ายชนชั้นนำยังทำงานอยู่ และยังมีองคาพยพหลายอย่างที่พร้อมเล่นงานแม้แต่พันธมิตรที่มาจับมือด้วยก็คือ ทักษิณ และพรรค พท.

ศีลธรรมแบบไทย ๆ

แม้การเมืองทุกประเทศ ไม่เว้นกระทั่งการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีมิติศีลธรรมกำกับเพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดความดี-ชั่ว ทว่าชุดคุณค่าศีลธรรมที่เกี่ยวกับการเมือง (Moral Politics) ส่วนใหญ่เป็นคุณค่าที่ไปด้วยกันกับประชาธิปไตย

“การเมืองไม่ดี” ตามนิยามของต่างประเทศ จึงหมายถึงการเมืองที่ละเมิดคุณค่าประชาธิปไตย เช่น รัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง หรือคอร์รัปชัน ซึ่ง รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า “เป็นศีลธรรมในความหมายปกติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ของไทยเวลาพูดถึงศีลธรรมมันเป็นศีลธรรมอีกชุดที่ถูกนิยามแบบเฉพาะเจาะจงมาก เหมือนประชาธิปไตยแบบไทย เราก็มีการเมืองคนดีแบบไทย ซึ่งอาจไม่เหมือนคนดีในความหมายอื่น เราไม่ได้เดือดร้อนกับคอร์รัปชันจริง”

เขายกตัวอย่างกรณีรัฐบาล “ประยุทธ์” แต่งตั้งรัฐมนตรีหน้าเดิม ๆ ซึ่งสังคมตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรม แต่ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีปัญหา ไม่เคยโดนตรวจสอบ วันนี้ชื่อคนเหล่านั้นกลับมาเป็นประเด็นและกำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพียงแต่มาอยู่ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่


ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นำทีม สส.พปชร. “ประกาศอิสรภาพ” จาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อ 20 ส.ค. หลังหัวหน้าพรรค พปชร. ให้ข่าวว่า “พรรคแกนนำเขาไม่เอา” ร.อ.ธรรมนัส เป็น รมต. ในรัฐบาล “แพทองธาร 1”

“ชุดคุณค่าของศีลธรรมแบบไทย ๆ มันมีนิยามเฉพาะซึ่งไปผูกกับอุดมการณ์หลักของรัฐ เรื่องความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การเมืองศีลธรรมของไทยผูกติดอยู่กับชุดอุดมการณ์นี้”

“การเมืองแบบคนดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้นไม่ใช่แค่นิติสงคราม (Lawfare) ที่เราพูดกันว่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือประหัตประหารนักการเมือง นักกิจกรรม หรือประชาชน เพราะนิติสงครามไม่ได้ทำงานลอย ๆ แต่ข้อหาอะไรละ เนื้อหาอะไรละที่เอาไปกล่าวหา ก็คือศีลธรรมที่ถูกเอามาใช้เป็นอาวุธ ดังนั้นเรามีสงครามศีลธรรมด้วย ไม่ใช่แค่นิติสงคราม” นักรัฐศาสตร์จากสำนักธรรมศาสตร์กล่าว

ครม. “คนดี”

การ “ฟัน” นายกฯ หน้าเดิม ทำให้เกิดแนวปฏิบัติใหม่ขึ้นกับกระบวนการเลือกเฟ้นรัฐมนตรี มีแคนดิเดตรัฐมนตรีอย่างน้อย 5 คนจากพรรคร่วมรัฐบาล ต้องเผชิญกับการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้นจากข้อกล่าวหาและคดีความในอดีต ในจำนวนนี้คือ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. และอดีตเลขาธิการ กปปส.

เอกนัฏ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีปัญหาขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี เพราะเคยนอนคุก 1 คืนในระหว่างยื่นขอประกันตัว ภายหลังศาลอาญาพิพากษาเมื่อ 24 ก.พ. 2564 ให้จำคุก 1 ปี ในความผิดฐานร่วมมั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง และข้อหาอื่น ๆ จากการชุมนุมปี 2556-2557 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยกฟ้องเมื่อ 27 มิ.ย. 2567

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (7) กำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรีเอาไว้ว่าต้อง "ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด"

ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นอีกคนที่ถูกเพ่งเล็งคุณสมบัติ แต่พรรคต้นสังกัดยืนกรานส่งชื่อรัฐมนตรีหน้าเดิมให้พรรคแกนนำแต่งตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งเดิม

“คุณสมบัติของผมไม่พร้อมตรงไหน ผมไม่ได้มีคดีหรือมีอะไร มีคดีก็ชนะหมด ตรวจสอบไปแล้วครั้งหนึ่ง หน้าตาผมคุณสมบัติไม่ดีหรือ” เสนาบดี-เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง” ตั้งคำถามเสียงดังผ่านสื่อ

การแต่งตั้ง ครม. “แพทองธาร 1” ถือเป็นครั้งแรกที่ดึงเอาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาร่วมตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี จากเดิมเป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเท่านั้น และใช้เวลาคัดกรองราว 2 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ “ครม. คนดี” ที่ไม่สร้างปัญหาให้ “นารี 1” ต้องร่วงหล่นจากเก้าอี้


ทักษิณ อดีตนายกฯ คนที่ 23 ร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แพทองธาร เป็นนายกฯ คนที่ 30 เมื่อ 18 ส.ค.

“ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีการะบุเป็นลายลักษณ์อักษรออกมา ผ่านก็คือผ่าน ไม่ผ่านคือไม่ผ่าน ไม่เช่นนั้นนายกฯ จะอยู่ในฐานะแบบคราวที่แล้ว ไม่ดีเลย” ทักษิณ บิดาของนายกฯ กล่าว และฝากถึงคนที่สุ่มเสี่ยงว่าไม่ควรเข้ามาร่วม “ทุกคนควรต้องเสียสละให้การเมืองต่อเนื่อง”

ถึงขณะนี้ รศ.ดร.ประจักษ์ เห็นว่า เร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าบุคคลที่มีชื่อปรากฏในโผ ครม. จะหมดสิทธิเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ แต่ชี้ชวนให้จับตาดูกรณี เอกนัฏ เพราะเป็นความผิดจากการกระทำในนามการเมืองคนดี

“ตอนไปเป่านกหวีด กปปส. บอกว่าเขาทำความดี คนที่ชั่วคือนักการเมืองที่โกงชาติโกงแผ่นดิน ก็ต้องดูว่าอันนี้จะผิดหรือไม่ จะรอดหรือไม่ ถ้ารอดมาเป็นรัฐมนตรีได้ ก็แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีปัญหากับการกระทำนี้ หรือมองว่าเป็นหน้าที่พลเมืองไทยด้วยซ้ำ”

ข้อสังเกตจากนักรัฐศาสตร์รายนี้คือ เราอยู่ในสถานการณ์ที่ “น่ากลัว” เมื่อหยิบยื่นอำนาจในการตีความจริยธรรมซึ่งเป็นประเด็นนามธรรมไปให้คณะบุคคล และทำให้อำนาจในการบังคับใช้ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองและดุลอำนาจ ณ ตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร


แกนนำพรรคร่วมฯ เปิดแถลงข่าวสนับสนุน อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร เป็นนายกฯ คนที่ 31

9 ตุลาการ = “อนุญาโตตุลาการทางศีลธรรม” ?

เมื่อจริยธรรมเข้ามาอยู่ในพรมแดนของการเมือง โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในพื้นที่ศีลธรรม (Moral Universe) กำหนดความดี-ชั่ว ถูก-ผิด ขาว-ดำ รศ.ดร.ประจักษ์ จึงมองเห็นปัญหาตามมา เพราะ “ดาบศีลธรรม” นี้จะฟันใคร ไม่มีเกณฑ์ชัดเจนตายตัว

“ถามว่าคนทำรัฐประหารควรมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ไหม ถ้าเอาแว่นจริยธรรมแบบประชาธิปไตย อันนี้ศีลคุณขาดไปแล้ว คุณก่ออาชญากรรมร้ายแรง ผิดกฎหมายบ้านเมือง และในแง่จริยธรรม เอากำลังมาล้มล้างการปกครอง ลิดรอนสิทธิคนอื่น จับคนไปขังคุก ปรับทัศนคติ ละเมิดสิทธิผู้อื่น อันนี้ศีลคุณขาดไปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ อดีตรองหัวหน้า คสช.) หรือใครก็ตามที่ไปร่วมกับคณะรัฐประหาร แต่เราก็ให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งได้ มาตั้งพรรคได้ มาเป็นหัวหน้าพรรคได้ แสดงว่าชุดศีลธรรมของไทยมีลักษณะเฉพาะมาก เราไม่ได้เดือดร้อนกับหลายเรื่องที่เป็นเกณฑ์จริยธรรมสากลที่ควรจะผิด มันถูกใช้เป็นอาวุธแบบเปลือยเปล่า คดีคอร์รัปชันหลายคดีก็หลุดไป เพียงเพราะคุณอยู่ในรัฐบาลคนดี รัฐบาลของ ‘ลุงตู่’ ซึ่งบอกว่าเข้ามาทำภารกิจปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดังนั้นคุณทำอะไรก็ได้ พอเป็นคนดีในชุดหลักศีลธรรมแห่งรัฐ ที่เหลือไม่สนแล้วว่าคุณจะไปทำอะไร ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. ก็หลับตามาตลอด มันเป็นศีลธรรมแบบเลือกข้าง”

เมื่อมองผ่านคดีถอดนายกฯ เศรษฐา นักวิชาการจากท่าพระจันทร์เห็นว่า 9 ตุลาการกำลังสวมบทบาท “อนุญาโตตุลาการทางศีลธรรม” และตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วใครจะเป็นผู้ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ


คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า นายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นที่วิจารณ์อย่างหนักจากการแสดงทัศนะในเวทีสาธารณะของ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ที่สื่อสารในทำนองประชดประชัน เสียดสี ถากถางนักการเมือง จนถูกตั้งคำถามเรื่องอคติในการตัดสินคดี และมีผู้เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. ตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการรายนี้ ทั้งนี้ อุดม เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกล จากนโยบายแก้ไขมาตรา 112, ให้ เศรษฐา หลุดจากตำแหน่งนายกฯ, ให้ พล.อ.ประยุทธ์ รอดคดี “นายกฯ 8 ปี”

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันได้รับการคัดเลือกจากกลไก คสช. คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. อีกทอดหนึ่ง

รศ.ดร.ประจักษ์ ให้ความเห็นว่า ศีลธรรมเป็นเรื่องมโนธรรมภายใน ถ้าใครทำได้ดีก็เป็นคนต้นแบบ (Role Model) ที่ดี “คำถามคือคนที่ใช้อันนี้ เป็น Role Model ให้คนไทยทั่วไปไหมในเรื่องคุณธรรมศีลธรรมถึงมาตัดสินคนอื่น ถ้าตัวคุณเองยังโดนตั้งคำถามในการใช้อำนาจ มันก็ยากที่จะมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยอมรับ”

ฮาร์ดแวร์ กับ ซอฟต์แวร์

เมื่อให้ประเมินว่าวาทกรรม “คนดีปกครองบ้านเมือง” จะคงความศักดิ์สิทธิ์ไปถึงเมื่อไร ตราบที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังอยู่ หรืออยู่ไปนานเท่านานเพราะมีคำวินิจฉัยคดีนายกฯ เศรษฐา วางบรรทัดฐานคดีจริยธรรมของนักการเมืองไว้แล้ว

“ฮาร์ดแวร์มันยังอยู่ แต่ซอฟต์แวร์มันอ่อนกำลังลงเรื่อย ๆ” รศ.ดร.ประจักษ์ ตอบ

สำหรับ ฮาร์ดแวร์ ที่เขาพูดคือ รัฐธรรมนูญ 2560 และศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนซอฟต์แวร์ก็คือชุดอุดมการณ์การเมืองคนดี ซึ่งเขาเห็นว่าอุดมการณ์นี้อ่อนกำลังลง เพราะถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ มีข้อน่ากังขามากขึ้น เพราะไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ และขัดกับหลักสามัญสำนึกของคนทั่วไป

“ปัญหาคือตราบที่เรายังแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ อาวุธนี้ยังดำรงอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรที่ใช้อาวุธนี้ยังดำรงอยู่ แม้ชุดอุดมการณ์อ่อนแอลง... ถ้าไม่แก้ เราก็จะอยู่กับการเมืองศีลธรรมแบบเลือกข้างอย่างนี้ต่อไป ซึ่งสามารถเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อีก ทำให้การเมืองไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน พรรคที่ชนะเสียงมากสุดในสภาโดนยุบไป ภายในสัปดาห์เดียวหัวหน้าฝ่ายบริหารหลุดจากตำแหน่งทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นเช่นนั้น”

การเมืองคนดีเคยเป็น “อำนาจละมุน” หรือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ของฝ่ายขวา แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนสถานะมันให้เป็น “อำนาจหนัก” หรือฮาร์ดพาวเวอร์ ผ่านคำวินิจฉัยคดี 14 ส.ค. ย่อมทำให้อาวุธนี้ “แหลมคมขึ้น” ตามทัศนะของอาจารย์ประจักษ์ ผู้ศึกษาการเมืองวัฒนธรรม ทว่าหากฮาร์ดพาวเวอร์บังคับใช้โดยไม่มีฐานความชอบธรรม ไม่สนใจหลักการให้เหตุผล ก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามจากคนในสังคมมากขึ้น ๆ พอถึงจุดหนึ่งจะกลายเป็นการต่อต้าน

“นักนิติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าคำวินิจฉัยมันอ่อนลงเรื่อย ๆ ปกติการเขียนคำวินิจฉัยต้องอิงกับข้อกฎหมายที่ชัดเจน มีหลักฐานประจักษ์แจ้ง ให้เหตุผลประกอบหนักแน่น แต่ตอนหลังเหมือนการเขียนไม่ใช่เอกสารทางกฎหมาย เน้นบริบทและสอดแทรกถ้อยคำที่เป็นเชิงอุดมการณ์ส่วนตัวของศาลอยู่ในนั้น ความคิดทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองของศาล ไอ้ตรงนี้ละที่อันตราย”


ในคืนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 2562 ทรท. เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อเวลา 22.44 น. วันที่ 23 มี.ค. 2562 ว่า ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของ ร.9 มาเผยแพร่ เพื่อ “เตือนสติ ให้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่”

ท้ายที่สุดเมื่อย้อนไปทบทวนรากเหง้า-ที่มาที่ไปของวาทกรรมชุดนี้ จะพบว่า "ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง" คือเนื้อความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในหลวง ร.9 ที่พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ จ.ชลบุรี เมื่อ 11 ธ.ค. 2512

รศ.ดร.ประจักษ์ เชื่อว่า คนที่อ้างถึงการเมืองคนดีอาจมีทั้งที่อ้างไปถึงพระราชดำรัส และอาจไม่รู้และไม่ได้โยงกลับไปที่ตัวพระราชดำรัส

ถ้ากลับไปดูบริบทเราจะยิ่งเห็นชัด พระราชดำรัสนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ถนอม กิตติขจร โดยที่ ถนอม เรียกตัวเองตลอดว่าเป็น “นายกฯ คนดี” เวลาให้คำขวัญวันเด็กจะบอกว่า “จงทำดี จงทำดี จงทำดี” แล้วพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าตัวเองเป็นนายกฯ ใจซื่อ มือสะอาด มีคุณธรรม ศีลธรรม ดังนั้นเผด็จการก็มีคุณธรรมได้ เป็น “เผด็จการผู้ทรงธรรม”

“วาทกรรมคนดีปกครองบ้านเมืองมาพร้อมกับบริบทของการเมืองแบบเผด็จการทหาร ดังนั้นศีลธรรมการเมืองแบบไทยไม่ได้สนใจว่าคุณเป็นเผด็จการหรือเปล่า เผด็จการก็เป็นคนดีได้ในความหมายศีลธรรมแบบไทย ๆ”

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า วาทกรรมคนดีจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปเรื่อย ๆ เพราะขบวนการหรือกลุ่มที่เอามาใช้เอามาอ้างล้วนเต็มไปด้วยข้อกังขาทั้งสิ้น

“ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็มีที่มายึดโยงกับคณะรัฐประหาร จึงไม่มีทางมองเป็นอื่นนอกจากศีลธรรมเป็นเรื่องของอำนาจ” เขากล่าวทิ้งท้าย

ปัญหา “จริยธรรม” ที่ตีความโดยรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ เศรษฐา พ้นจากเก้าอี้นายกฯ เพราะ “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” มีเนื้อหาหลายส่วนที่พยายามตีกรอบจริยธรรม-กำหนดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นในสังคมการเมือง ทว่าคำอธิบายระหว่างบรรทัดกลับชวนให้เกิดความฉงนสงสัย

บีบีซีไทยขอให้ รศ.ดร.ประจักษ์ ช่วยตีความ และแปลงศัพท์กฎหมาย-การปกครองให้เป็นภาษาที่วิญญูชนพอจะเข้าใจได้ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นนี้

หนึ่ง ให้คำจำกัดความคำว่า ซื่อสัตย์ และ สุจริต “มิใช่เป็นเพียงเรื่องของการกระทำทุจริตหรือประพฤติโดยมิชอบเท่านั้น แต่ต้องให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา เชื่อถือได้ ซึ่งต้องเป็นการทำให้วิญญูชนทั่วไปทราบและยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต หากเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้นย่อมถือได้ว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”

เห็นว่า เป็นการตีความแบบครอบจักรวาล และใช้คำนามธรรมมาก “เชื่อมั่น ศรัทธา เชื่อถือได้” ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมโดยตรง แต่เกี่ยวกับภาวะผู้นำ

“สมมติไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เป็นนายกฯ ที่มีบุคลิกที่คนไม่เชื่อมั่น ก็กลายเป็นผิดจริยธรรมแล้วหรือ ไม่ต้องพูดถึงนายกฯ หรอก มีหัวหน้าองค์กรมากมายที่ลูกน้องไม่เชื่อมั่น ศรัทธา เชื่อถือ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีจริยธรรม มันคนละเรื่องกัน เขาอาจทำงานไม่ได้เรื่อง ไม่มีภาวะผู้นำ มันเป็นเรื่องความสามารถในการบริหารและความสามารถในการครองใจคน”


ประจักษ์ ก้องกีรติ บอกว่า หากยังฝืนใช้การเมืองศีลธรรมตัดสินคดีต่อไป การเมืองไทยจะไปถึงทางตัน เพราะในโลกสมัยใหม่ การเมืองควรต่อสู้ด้วยนโยบาย ใครบริหารผิดพลาดก็ถูกตัดสินลงโทษทางการเมืองอยู่แล้ว

สอง เอ่ยถึง มาตรฐานวิญญูชน โดยระบุว่า “การที่นายกฯ เสนอแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้อาศัยความไม่ไว้วางใจส่วนตน เพราะ ครม. ต้องได้รับความไว้วางใจจากสภา ซึ่ง ครม. หมายถึงนายกฯ และรัฐมนตรี ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วย อันเป็นการเชื่อถือทางความเป็นจริง... รัฐมนตรีต้องน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนตามมาตรฐานวิญญูชน”

เห็นว่า ถ้าเอาตามมาตรฐานวิญญูชนคือคนทั่ว ๆ ไปที่คิดได้รู้ได้ ถ้ามันชัดเจนขนาดนั้นจริง ทุกคนต้องเห็นประจักษ์ชัดแจ้งเหมือนกันหมด

“มันต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นไปในทางเดียวกัน หรือเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคม คน 70 ล้านคน อย่างน้อยผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว อ่านออก เขียนได้ ติดตามข้อมูลข่าวสาร ต้องเห็นตรงกันหมดนะ อันนี้ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าคำวินิจฉัยที่อ้างวิญญูชน แต่คนกลับไม่เห็นด้วยกับศาล ทั้งชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป นักวิชาการ คนในแวดวงการเมือง เพราะมันอาจไม่ได้ประจักษ์ชัดแจ้งอย่างที่ศาลกล่าวอ้างหรือไม่”

สาม ห้าม “สมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย” อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ขัดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ

เห็นว่า ถ้ามีความผิดแล้วเพียงเพราะไปเกี่ยวข้องกับใคร เป็นการตีความไปไกลมาก มันไม่ใช่ความผิดที่คุณก่อเอง แค่มีคนที่คุณไปสัมพันธ์รู้จักเขาผิด คุณก็ผิดไปด้วย ทั้งที่ในหลักกฎหมายไม่ถือเป็นความผิด ตรงนี้ยิ่งชี้ให้เห็นปัญหาในการเอาจริยธรรมมาอยู่ในพรมแดนทางการเมือง และให้อำนาจคณะบุคคลมาตัดสินชี้เป็นชี้ตายด้วยเรื่องจริยธรรมทั้งที่ถกเถียงและตีความต่างกันได้