วันเสาร์, สิงหาคม 24, 2567

หากเปรียบปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกทะลักเข้าไทยเสมือน ‘ปัญหาน้ำท่วม’ การจะแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าทำไม ‘น้ำ’ (สินค้าจากจีน) ถึงล้นและ นำ้เหล่านี้ไหลผ่าน‘แม่น้ำ’ (ช่องทางการขาย)สายไหนบ้างมาที่ไทย

เส้นทางการนำเข้าสินค้าในยุคแรกๆของอีคอมเมิร์ซ


เส้นทางการนำเข้าสินค้าในปัจจุบัน (อีคอมเมิร์ซพัฒนาไปไกลขึ้น, บรรษัทข้ามชาติย้ายโรงงานผลิตเพื่อรับมือสงครามการค้า, จีนประสบสภาวะสินค้าล้นตลาด)



สันติธาร เสถียรไทย - Dr Santitarn Sathirathai
August 21
·
หากเปรียบปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกทะลักเข้าไทยเสมือน ‘ปัญหาน้ำท่วม’ การจะแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าทำไม ‘น้ำ’ (สินค้าจากจีน) ถึงล้นและ นำ้เหล่านี้ไหลผ่าน‘แม่น้ำ’ (ช่องทางการขาย)สายไหนบ้างมาที่ไทย
ในฐานะคนที่เคยทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์มและวิเคราะห์การค้า-การลงทุนระหว่างประเทศมานาน วันนี้ อยากชวนแกะประเด็นใหญ่ของประเทศนี้ที่ผมคิดว่ามีความซับซ้อนสูงเพราะมีหลายปัญหาถูกมัดรวมอยู่ด้วยกัน
เริ่มจาก 6 แม่น้ำที่เป็นเส้นทางสำคัญที่สินค้าไหลเข้าประเทศตามภาพแผนผังประกอบด้านล่างครับ
1)Trader คนไทย (offline/online) - ผู้ขายไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อขายในร้านค้าทั่วไปในไทยหรือ ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee Lazadaและ Tiktok เพื่อขายให้ผู้บริโภคไทย
ผลกระทบ: อาจมีผลเสียต่อผู้ผลิตในประเทศเพราะต้องแข่งกับสินค้านำเข้าราคาถูก แต่อย่างน้อยรายได้ยังอยู่กับคนไทยที่นำสินค้าเข้ามาขาย
2)Crossborder sellers - ผู้ขายในต่างประเทศใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคไทยโดยไม่ต้องจดทะเบียนในประเทศ
ผลกระทบ: เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศอาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ
3)Trader ต่างชาติแปลงตัวเป็นไทย - ผู้ขายต่างชาติ เปิดธุรกิจและร้านค้าออนไลน์ในไทย แต่ส่วนใหญ่ขายสินค้านำเข้าจากจีน
ผลกระทบ: ผู้ขายต่างชาติในร่างไทยเหล่านี้ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายและมักหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้เกิดความได้เปรียบเหนือธุรกิจในท้องถิ่นในหลายมิติ (และปัญหานี้ก็ไม่ได้อยู่แต่ในภาคการค้าเท่านั้นแต่กระทบหลายอุตสาหกรรมเลย)
4)Factory2consumer โมเดล - แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเช่น Temu อาจช่วยให้โรงงานในจีนสามารถ bypass ร้านค้า ขายตรงให้กับผู้บริโภคไทย ถือเป็นรูปแบบใหม่ล่าสุด
ผลกระทบ: เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศอาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ และสามารถขายได้ในราคาถูกมาก นอกจากนี้การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการอาจยากยิ่งขึ้นเพราะไม่มี “ผู้ขาย” ชัดเจน
โจทย์สำคัญ: จะสังเกตได้ว่าปัญหาสำคัญของช่องทาง 2)-4) คือการไม่บังคับใช้กฎกติกาที่มีของไทย ทั้งเรื่องมาตราฐานสินค้า ภาษีต่างๆ ฯลฯ กับคนขายต่างชาติทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศ (crossborder) กลายเป็นว่าทำให้กฎกติกาของไทยทำให้คนไทยเสียเปรียบเสียเอง
หัวใจคืออย่างน้อยควรสร้าง Level playing field ทางกฎกติกา ด้วยการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่มีอยู่แล้วกับธุรกิจและคนขายต่างชาติที่อยู่ในและนอกประเทศทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค, ภาษีและพรบ ธุรกิจต่างด้าว
เท่าที่ผมเข้าใจบางส่วนเป็นปัญหาเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายที่ต้องมีการอุดรอยรั่วแต่บางส่วนเป็นแค่เรื่องการบังคับใช้กฎที่มีอยู่แล้วแต่ขอยังไม่ลงรายละเอียดตรงนี้
5) China +1 โมเดล - สงครามการค้าทำให้บริษัทข้ามชาติเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากที่เคยส่งออกจากโรงงานในจีนไปอเมริกาตรง เปลี่ยนเป็นส่งจากจีนมาไทยก่อนแล้วค่อยไปอเมริกา ในกรณีนี้ไทยนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากจีนเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ
ผลกระทบ: การนำเข้าประเภทนี้ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้ากับจีนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ อาจทำให้เกินดุลกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น (เช่น สหรัฐฯ) จึงไม่ควรดูแต่ดุลการค้าไทย-จีนเท่านั้น อาจได้ภาพไม่ครบ และหากกีดกันสินค้าประเภทนี้อาจมีต้นทุนกับผู้ผลิตในประเทศไทยสูง
โจทย์สำคัญ: ในอนาคตต้องพยายามดึงการผลิตให้มาอยู่ในประเทศให้มากที่สุดและพัฒนาศักยภาพแรงงาน ให้สร้าง Value added ได้มากขึ้น จะได้ลดการนำเข้า, เพิ่มมูลค่าให้การส่งออก, สร้างงาน-รายได้ในประเทศ (เช่น อุตสหากรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย)
6) แพลตฟอร์มต่างชาติ - แพลตฟอร์มเป็นของคนสัญชาติใด จดทะเบียนในไทยหรือไม่
เรื่องนี้ชอบถูกผสมเข้าไปกับประเด็นที่ว่าคนขายเป็นคนไทยหรือเปล่า และ ผู้ผลิตสินค้าอยู่ในไทยหรือเปล่า ซึ่งล้วนแต่เป็นคนละประเด็นกัน
โจทย์สำคัญ: ความจริงประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่แพลตฟอร์มเป็นสัญชาติไหน เพราะแพลตฟอร์มไทยก็อาจนำสินค้าเข้าจากจีนหากต้นทุนถูกกว่าผลิตเอง และแพลตฟอร์มต่างชาติก็มีคนขายสัญชาติไทย
หัวใจ คือไม่ว่าเป็นแพลตฟอร์สัญชาติไหนหากมีธุรกิจในไทยก็ควร:
- ปฏิบัติตามกฎหมายไทย
- จ่ายภาษีในไทย
- และจะให้ดีต้องช่วยพัฒนา SME ไทยด้วย โดยเราควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใช้แพลตฟอร์มต่างชาติที่มีสาขาในหลายประเทศเป็นช่องทางช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทย พัฒนา SME ให้กลายเป็น exporter ได้เจาะตลาดใหม่ๆ อย่างที่หลายประเทศก็ทำมาแล้ว
แต่ประเด็นที่แก้ยากที่สุดและเป็น ’ต้นน้ำ‘ของปัญหาก็คือสภาวะกำลังผลิตเกินในประเทศจีน (Oversupply/Overcapacity) - ทำให้ต้องระบายส่งออกสินค้าในราคาถูกสู่โลก ซึ่งทำให้ไปแข่งกับสินค้าส่งออกไทยในตลาดอื่นอีกด้วย
เสมือนน้ำที่ล้นเขื่อนต่อให้เราพยายามกั้นแม่น้ำต่างๆสุดท้ายน้ำก็จะไหลมาอยู่ดีในช่องทางใหม่ๆ ต่อให้ปิดรูรั่วทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมก็ต้องยอมรับว่าหลายสินค้าจากจีนก็อาจจะต้นทุนถูกกว่าไทยอยู่ดี
เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่ได้แก้ได้ง่ายๆ หลายธุรกิจหาตลาดส่งออกใหม่, สร้างแบรนด์, และ ขยับขึ้น value chainเพื่อไม่ต้องแข่งกับสินค้าราคาถูกโดยตรง แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคนทำได้ ส่วนบางประเทศเลือกใช้กำแพงภาษีหรือมาตราการป้องกันการทุ่มตลาดในบางสินค้า แต่ก็ต้องระวังเพราะหากทำผิดพลาดอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจในประเทศและทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอีก
ขอส่งท้ายว่าในบทความสั้นๆคงไม่สามารถพูดถึงการแก้ปัญหาอย่างลงลึก แต่ที่แน่ๆนี่คงไม่ใช่ปัญหาที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะแก้ได้แต่ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงานและมียุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ชัดเจน
ปล. บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษประเทศใดเป็นพิเศษเพราะปัญหานี้อาจมาจากประเทศไหนก็ได้ และหลายข้อก็เป็นปัญหาที่ประเทศเราต้องรีบแก้ไขที่ตัวเราเอง