วันอาทิตย์, สิงหาคม 25, 2567

รัฐสภา มาตรฐาน การก่อสร้างไร้คุณภาพ ต่ำตมมาก สว. เทวฤทธิ์ มอง ไม่ใช่ปัญหาก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่คือชีวิตคน จี้สภาสร้างหลักประกันความปลอดภัย

.....


THE STANDARD
10 hours ago
·
UPDATE: สว. เทวฤทธิ์ มองเหตุ ‘ผนังร่วง ต้นไม้ล้ม กระจกแตก น้ำทะลัก’ ในสภา ไม่ใช่เพียงปัญหาก่อสร้าง แต่คือชีวิตคน จี้สภาสร้างหลักประกันความปลอดภัย
.
จากเหตุการณ์ผนังอิฐของอาคารรัฐสภาบวมน้ำจนพังถล่มลงมา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 จนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 2 รายนั้น
.
วันนี้ (24 สิงหาคม) เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มสื่อสารมวลชน กล่าวว่า หากจำกันได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมาอาคารรัฐสภามูลค่าการก่อสร้าง 12,280 ล้านบาทแห่งนี้ เผชิญกับเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งหากลองย้อนประมวลดูแล้วจะพบว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ทั้งปัญหาเกี่ยวกับน้ำ โครงสร้าง กระจก ไปจนถึงต้นไม้
.
วันที่ 1 กันยายน 2563 เกิดเหตุน้ำทะลักเข้ามาภายในอาคารบริเวณโถงชั้น 1 ใกล้กับที่ทำการไปรษณีย์และจุดแถลงข่าวหลังฝนตกหนัก
.
วันที่ 3 มีนาคม 2565 ท่อประปาแตกบริเวณชั้น 8 ทำให้น้ำไหลทะลักและท่วมขังจนถึงชั้นล่าง
.
วันที่ 26 เมษายน 2565 ยังคงเกิดเหตุน้ำรั่วบริเวณชั้นจอดรถ เนื่องจากลูกลอยในถังน้ำขนาดใหญ่ที่ชั้น B1M ไม่ทำงาน ทำให้น้ำจำนวนมากล้นแท็งก์ไหลลงสู่ชั้น B1
.
วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 น้ำเจิ่งนองทั่วบริเวณพื้นไม้ชั้น 1 หลังฝนตกหนัก
.
วันที่ 1 สิงหาคม 2565 น้ำยังรั่วซ้ำซาก โดยไหลจากชั้น 5 มาตามมุมผนังจนถึงชั้น 1 มีการนำกะละมังพลาสติกสีดำมารองรับน้ำ และใช้ผ้าห่มมาซับเป็นเขื่อนกั้นน้ำ
.
วันที่ 6 กันยายน 2565 เกิดเหตุน้ำนองบริเวณพื้นทางเดินชั้น 1 ประตูฝั่งวุฒิสภา แม้ฝนจะตกไม่หนัก
.
วันที่ 2 ตุลาคม 2565 เกิดฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำรั่วที่ชั้นดาดฟ้า ตั้งแต่ลานออกกำลังกาย ชั้น 5 ฝั่งวุฒิสภา ล้นบันไดหนีไฟลงมาถึงชั้น 1 รวมทั้งเกิดเหตุน้ำรั่วที่ห้องสมุดรัฐสภา ชั้น 9 จนฝ้าเพดานห้องสมุดถล่มลงมา ทำให้หนังสือได้รับความเสียหาย
.
วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ต้นไม้ใหญ่ล้มขวางทางเดินหลังฝนตกหนัก ประตูกระจกทางเข้า-ออกอาคารบริเวณชั้น 9 แตก เนื่องจากลมแรงจนทำให้ประตูหลุดล้มลงพื้น
.
วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ผนังอิฐบวมน้ำฝนจนถล่มระหว่างคนงานซ่อมแซม บาดเจ็บ 2 ราย
.
เทวฤทธิ์กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าชีวิต ‘คนสภา’ ไม่ว่าจะเป็น สส. สว. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พ่อค้าแม่ค้า นักการภารโรง ตลอดจนคนงานก่อสร้าง ต่างตกอยู่ในความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันสารพัดรูปแบบที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่มีหลักประกันถึงความปลอดภัยในชีวิตเมื่ออยู่ใต้ชายคา ‘สถานที่ประกอบกรรมดี’ แห่งนี้
.
สิ่งเหล่านี้ยังสามารถสาวไปถึงปัญหาใหญ่อย่างการก่อสร้างที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าสร้างไปซ่อมไป ทั้งการก่อสร้างอันล่าช้า ขยายเวลาก่อสร้างมาถึง 4 ครั้ง จากกำหนดแล้วเสร็จเดิมปี 2558 แต่เสร็จจริงปี 2564 ซึ่งผู้รับเหมาไม่ต้องเสียค่าปรับแม้แต่บาทเดียว กลับยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐสภาเป็นจำนวน 1,596 ล้านบาท กรณีส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า จนราคาวัสดุก่อสร้างต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่การก่อสร้างไม่ตรงปกจากที่ออกแบบไว้หลายกรณี จนมีผู้ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาแล้ว
.
เทวฤทธิ์กล่าวว่า ปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาถูกฉายภาพอย่างเป็นรูปธรรมผ่านเหตุการณ์นานัปการตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาและแก้ไข เพื่อรับประกันความปลอดภัยให้กับทุกชีวิตในสภา หาไม่แล้วความสูญเสียครั้งต่อไปอาจไม่ใช่เพียงน้ำท่วมหรือกระจกแตก แต่อาจหมายถึงความสูญเสียถึงชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้
.
#TheStandardNews